ผลสอบเครื่องฝึกบินเอแบคฉาว! ปมตั้งบ.ร่วมทุน ไม่ผ่านสภาฯ-สกอ. เสียหาย 60 ล.
เปิดละเอียดผลสอบกรณีเครื่องฝึกบินเอแบคฉาว ! คกก.สาวลึกข้อมูล "ฝ่ายบริหาร" ใช้เงินมหาวิทยาลัยซื้อหุ้น ปล่อยกู้เอกชน กว่า 300 ล้าน ไม่ผ่านมติสภาฯ -สกอ. คาดการณ์ตัวเลขความเสียหายเบื้องต้น 60 ล้าน
เกี่ยวกับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานโครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง แบบแอร์บัส เอ 320 ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปัจจุบันนายกสภามหาวิทยาลัย ได้มีการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปแล้ว และมีการสรุปผลออกมาอย่างเป็นทางการ
โดยพบว่า ฝ่ายบริหารมีความผิดจริง ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ โดยเฉพาะการนำเงินของมหาวิทยาลัย ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และเงินบางส่วนก็ถูกดึงมาจากเงินกองทุนและมูลนิธิ ที่มีข้อห้ามเรื่องการนำมาใช้จ่าย
"หลังจากที่ผลการสอบสวนออกมาชัดเจน ทางอธิการฯ ก็ยอมรับว่าทำไม่ถูกต้องตามระเบียบจริง แต่ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการลาออกแสดงความรับผิดชอบ แต่รับปากว่าจะปรับปรุงการบริหารงานให้ดีขึ้น "
นี่คือข้อมูลสำคัญล่าสุด ที่ สำข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อกรณีนี้
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น นับจากบรรทัดนี้ไป คือ เนื้อหาที่ปรากฎอยู่ในรายงานผลการสอบสวนฉบับเต็มต่อกรณีนี้ ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่สภามหาวิทยาลัยสั่งแต่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 มีความยาวกว่า 10 หน้า
และยังไม่เคยมีการถูกเปิดเผยที่ไหนมาก่อน!
----------------
@ ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญที่พบในเบื้องต้น
1. มหาวิทยาลัยได้มีการดำเนินการโครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง แบบแอร์บัส เอ 320 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะมีการขออนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัยในครั้งแรก ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2556 วันที่ 19 กันยายน 2556 การดำเนินการดังกล่าวได้แก่
1.1 การจัดตั้งบริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ เซนเตอร์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
1.2 การจัดตั้งบริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ทุนจดทะเบียน 35 ล้านบาท
1.3 การเพิ่มทุนจดทะเบียน บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เป็น 90 ล้านบาท ได้มีนายบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นผู้ถือหุ้น 41 % จำนวนเงิน 36.9 ล้านบาท เมื่อ 3 กรกฎาคม 2556
2. มีการนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการฯ เป็นครั้งแรกในคราวประชุมครั้งที่ 3 /2556 วันที่ 19 ก.ย.56
โดยมีหลักการและเหตุผลว่าเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริงแบบแอร์บัส เอ 320 มี ราคาแพง ประมาณ 8 ล้านยูโร หรือประมาณ 350 ล้านบาท ไม่คุ้มค่าที่มหาวิทยาลัยจะลงทุนเอง
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและหลักการของความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม คณะทำงานโครงการฯ มีข้อสรุปเพื่ออนุมัติดังนี้
ชักชวนเอกชนมาลงทุนจัดหาเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุน ดังนี้
2.1. ร่วมลงทุนด้วยในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท
2.2. เอกชนจะต้องจัดหาทุนเพื่อชำระเงินงวดแรกของเครื่องฝึกบินฯ (ประมาณ 20% ของยอดเงิน 8 ล้าน ยูโร) รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและดำเนินการงานของบริษัทฯ โดยมหาวิทยาลัยจะค้ำประกันเงินกู้ (80% ของยอดเงิน 8 ล้านยูโร) ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ถ้าบริษัทฯ ไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ตามเงื่อนไขของสถานบันการเงิน บริษัทต้องยกเครื่องบินฝึกจำลองให้มหาวิทยาลัย โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะเป็นเจ้าของเครื่องฝึกบินจำลองดังกล่าว และผ่อนชำระต่อกับสถาบันการเงินต่อไป
(2) มหาวิทยาลัยครองสิทธิ์ในการซื้อเครื่องบินจำลอง เป็นรายแรกกับบริษัทฯ มีความประสงค์จะขายหรือเลิกกิจการ
3. ในทางปฏิบัติฝ่ายบริหาร มิได้ดำเนินการตามที่ขออนุมัติไว้ในข้อ 2.2 ข้างต้น ที่ว่าโครงการฯ ไม่คุ้มค่าที่มหาวิทยาลัยจะลงทุนเอง แต่ให้ชักชวนเอกสารมาลงทุน โดยมหาวิทยาลัยจะร่วมทุนด้วยในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท
ซึ่งฝ่ายบริหารได้ดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเหตุผลในหลายประเด็นดังนี้
3.1 การดำเนินการต่อสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)
(1) วันที่ 2 ตุลาคม 2556
ส่งหนังสือถึง สกอ. เพื่อขอความเห็นชอบในการซื้อเครื่องฝึกบินฯ ในวงเงิน 350 ล้านบาท โดยลงทุนร่วมกับ บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด และขอกู้เงินร่วมในวงเงิน 290 ล้านบาทจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา
(2) วันที่ 10 มีนาคม 2557
สกอ.ได้ส่งหนังสือถึงมหาวิทยาลัย โดยแจ้งความเห็นและข้อเสนอแนะว่า ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดซื้อว่าทรัพย์สินจะเป็นของใคร กรณียังไม่ชำระหมด และมหาวิทยาลัยต้องรับภาระหนี้กรณีบริษัทฯ ไม่ชำระหนี้อย่างไร จึงได้ส่งเรื่องคืน เพื่อความชัดเจน และให้ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย
(3) วันที่ 20 ตุลาคม 2557
มหาวิทยาลัย ทำหนังสือที่ มอช.153/2557 ขอถอนเรื่องเครื่องฝึกบินจาก สกอ.
3.2 การจดทะเบียนเปลี่ยนผู้ถือหุ้น (บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด และกรรมการบริษัทฯ)
(1) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2556
จดทะเบียนเปลี่ยนผู้ถือหุ้น ทุน 90 ล้านบาท (900,000 หุ้น) เป็นชื่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัย คือ นายบัญชา แสงหิรัญ 899,998 หุ้น นายกมล กิจสวัสดิ์ 1 หุ้น นางสางณัฐทยามนฑ์ พยนต์รักษ์ 1 หุ้น
ทั้ง 3 ท่านเป็นกรรมการ โดยมีนายบัญชา อธิการบดี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและประทับตรา
(2) มหาวิทยาลัย ได้ซื้อหุ้น บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด จำนวน 900,000 หุ้น เป็นเงิน 90 ล้านบาท และจ่ายค่า Premimum ให้กับผู้ถือหุ้นเอกชนเดิมอีก 4,332,960 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 94,332,960 บาท เพื่อนำมาบริหารจัดการเอง
3.3 การให้เงินกู้ยืมแก่บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด จำนวน 235,422,904.55 บาท เพื่อนำไปจ่ายค่าเครื่องฝึกบินที่บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ค้างชำระ
4. ผลและปัญหาที่ตามมาจากการดำเนินงานของฝ่ายบริหารตามที่กล่าวไว้ในข้อ 3 ตามรายละเอียดใน ข้อ 3.1 ข้อ 3.2 และข้อ 3.3
4.1 มหาวิทยาลัยจากผู้ร่วมทุนเป็นผู้ลงทุนเพียงคนเดียว
(1) การดำเนินงานไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผล และมติที่ขอไว้กับสภามหาวิทยาลัย ดังรายละเอียดในข้อ 2.ที่ว่าการลงทุนในเครื่องฝึกบินจำลอง ไม่คุ้มค่าที่มหาวิทยาลัย จะลงทุนเอง โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน และมหาวิทยาลัยจะร่วมลงทุนในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท
แต่ฝ่ายบริหารผู้ดูแลโครงการได้ดำเนินการให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ลงทุนผ่านบริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด โดยเข้าไปถือหุ้น 100% จำนวน 90 ล้านบาท โดยการซื้อหุ้นจากเอกชนและจ่ายค่า Premimum อีก 4,332,960 บาท พร้อมทั้งให้ บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด กู้ยืมเงินอีกจำนวน 235,422,904.55 บาท เพื่อนำไปจ่ายค่าเครื่องฝึกบิน
การดำเนินงานดังกล่าวมีผลทำให้ผู้ร่วมทุนภาคเอกชนที่เป็นผู้ขายเครื่องฝึกบิน ไม่ต้องร่วมลงทุนแต่อย่างใด
(2) ประมาณการว่า บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมหาวิทยาลัย เป็นผู้ถือหุ้น 100 % จะมีผลขาดทุนประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับหลักการและเหตุผลที่ได้นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
4.2 การลงทุนโครงการฯ โดยยังมิได้รับความเห็นชอบจาก สกอ.
(1) หนังสือถึง สกอ. เพื่อขอความเห็นชอบในการซื้อเครื่องฝึกบินจำลอง เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ไม่เป็นไปตามมติที่ขอไว้กับสภาหมาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556
(2) การดำเนินการของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย ในข้อ 3.2. และข้อ 3.3 เป็นการดำเนินการแล้ว ก่อนโดยไม่มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจากสภามหาวิทยาลัย
ซึ่งต่อมา สกอ. ได้ส่งหนังสือขอความชัดเจน และส่งเรื่องคืนเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 จนในที่สุดมหาวิทยาลัย ได้ขอถอนเรื่องคืนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557
---------------
ทั้งหมดนี่ คือเนื้อหาที่ระบุไว้ในรายงานการสอบสวนช่วงแรก ซึ่งสะท้อนภาพกระบวนการทำงานในส่วนของฝ่ายบริหาร ในการใช้จ่ายเงิน โดยไม่ผ่านมติสภาฯ และของสกอ.อย่างชัดเจน
และอาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ "ฝ่ายบริหาร" บางคน ไม่ค่อยอยากจะพูดถึงเรื่องนี้สักเท่าไรนัก?
(ตอนหน้าว่าด้วยเรื่องผลกระทบต่อความถูกต้องของงบการเงิน ประจำปี 2557 สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.57 ที่ฝ่ายบริหารขอความเห็นชอบต่อสภามหาวิทยาลัยและนำส่งสกอ.)
อ่านประกอบ :
เบื้องหลัง!กรณีเครื่องฝึกบินฉาว เอแบคสั่งตั้งกก.สอบแล้ว "ฝ่ายบริหาร" ผิดจริง
หลักฐาน"บิ๊กเอแบค"ตั้งบ.จัดหาเครื่องบิน ก่อนมหาลัยใช้เงินซื้อหุ้นตัวเอง 94 ล.
ตามไปดู!"บ.ไฟล์ทฯ" ม.อัสสัมชัญ ใจดีให้กู้ 235ล. ช่วยซื้อเครื่องฝึกบิน
ชงตั้งกก.สอบอธิการฯ ปมเอแบคโพลล์ พ่วง2กรณีฉาว จี้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ชัดๆเงื่อนงำห้องปฏิบัติการฝึกบินฯ อีกชนวนเหตุชงตั้งกก.สอบ"อธิการฯเอแบค"
"นพดล"ยันทำทุกอย่างถูกต้อง หลัง'อัสสัมชัญ' สั่งสอบปมค่าใช้จ่ายงบเอแบคโพลล์ 48 ล.
จี้อธิการฯ ฟันผู้เกี่ยวข้องปม"เอแบคโพลล์"-ปธ.สอบฯ ระบุ"ทำหน้าที่จบแล้ว"
ข้อมูล"บัญชีลับ"เอแบคโพลล์!ฝาก-ถอนไม่ผ่านอัสสัมชัญ เงินขาด 8 ล้าน
ชำแหละปม"ค่าจ้างวิจัย"เอแบคโพลล์"รับจ๊อบงานนอก ไม่ส่งเงินคืนมหาวิทยาลัย
เปิดผลสอบเงิน"เอแบคโพลล์"จ่ายอุตลุด"ซื้อสุนัข-ค่าตอบแทนสื่อ-เลี้ยงอาหาร ตร."
เปิดคำให้การคดี"เอแบคโพลล์"ยัน"ผู้บริหาร"ใช้เงินสนง.ซื้อลูกหมาตัวละเกือบหมื่น
ชื่อ"นักข่าว"หราโผล่รับเงิน 2 ล.!ผลสอบระบุ"เอแบคโพลล์"ทุ่มจ่ายสื่อ 4.4 ล.
สภาฯหนังสือพิมพ์ สั่งสอบปม "นักข่าวทีวีปริศนา" รับเงิน เอแบคโพลล์ 2.1 ล.
"อดีตนักข่าวช่อง 5" อ้างรับค่าตอบแทนที่ปรึกษาวิจัยเอแบคโพลล์ 2.1 ล.
"จรรยาบรรณเราก็มี":เปิดใจ"นักข่าว"รับค่าตอบแทนเอแบคโพลล์ 2.1ล.?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google