"จรรยาบรรณเราก็มี":เปิดใจ"นักข่าว"รับค่าตอบแทนเอแบคโพลล์ 2.1ล.?
"...เราทำงานโดยที่จรรยาบรรณเราก็มี แต่ในส่วนนี้คือเราใช้ความรู้ความสามารถของเราในด้านการเป็นอาจารย์ด้วย มีบรรยายหลายที่ ที่ทำงานเดิมเราก็ชี้แจง หรือในที่ทำงานปัจจุบันเราก็ระบุในใบสมัครว่าเป็นที่ปรึกษาเป็นคณะนักวิจัยเอแบค ในใบสมัครเราก็ยืนยันและเมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นก็ชี้แจงกับผู้บริหารไปแล้วว่าทำหน้าที่อะไร ซึ่งในส่วนนี้ เราก็ถือว่าเป็นโปรไฟล์ เราก็มองว่ามันมีที่มาที่ไปของรายได้ ไม่มีว่าตู้ม! จู่ๆได้มา 2 ล้าน..."
เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เพียงสั่นสะเทือนองค์กรภายในของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ในกรณีปรากฎข้อมูลรายงานผลสอบข้อเท็จจริงการดำเนินงานของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์และหน่วยงานเครือข่าย พบประเด็นปัญหาในหลายประการ
ทว่า รายงานฉบับดังกล่าวยังสั่นสะเทือนต่อวงการสื่อมวลชนไทยด้วย
เนื่องจากมีการระบุถึงข้อมูลการนำเงินจากโครงการทำวิจัยไปใช้จ่ายนอกวัตถุประสงค์และรายการงบประมาณ โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนสื่อมวลชน รวมเป็นเงินจำนวน 4.4 ล้านบาท และมีการระบุชื่อนักข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า รับเงินค่าตอบแทนมากที่สุด คือ 2 ล้านกว่าบาท
(อ่านประกอบ : ชื่อ"นักข่าว"หราโผล่รับเงิน 2 ล.!ผลสอบระบุ"เอแบคโพลล์"ทุ่มจ่ายสื่อ 4.4 ล. )
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สอบถามนักข่าวรายดังกล่าวที่มีชื่อปรากฏอยู่ในรายงานผลสอบการดำเนินงานของเอแบคโพลล์
นักข่าวรายนี้ กล่าวว่า “ต้องชี้แจงก่อนว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลความจริงตั้งแต่แรก ตรงที่ว่าคุณไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนอยู่แล้ว ว่ายังไง มันไม่มี เรื่องอะไร คุณก็ไปสอบกันเอง มันเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยของเขา แต่ส่วนตัวแล้วต้องชี้แจงก่อนว่าทำหน้าที่ในฐานะคณะวิจัยเป็น คณะวิจัยมีตำแหน่งถูกต้องอย่างเป็นทางการ มีการแต่งตั้งถูกต้องและเป็นที่ปรึกษาโครงการ และเป็นอาจารย์พิเศษ มีลูกศิษย์ลูกหาจริงๆ และเป็น วิทยากรพิเศษอยู่แล้ว”
นักข่าวรายนี้ระบุว่า ไม่ได้ผิดอะไร ส่วนที่ตนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสำนักวิจัย องค์กรเก่าซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีช่องหนึ่ง ก็ทราบกันตลอด
เมื่อถามถึงการทำงานให้เอแบคโพลล์ว่าได้รับค่าตอบแทนอย่างไรเนื่องจากในรายงานระบุตัวเลขว่านักข่าวรายนี้ได้รับค่าตอบแทน มากกว่า2 ล้านบาท
นักข่าวรายนี้ตอบว่า “โอโห มันไม่ได้เป็นก้อนขนาดนั้น นักข่าวก็ไปรับงานวิทยากรบ้าง ส่วนตัวก็เป็นอาจารย์พิเศษ เอแบคจะมีผลสอบอย่างไร ก็ไม่รู้ แต่เลิกทำตั้งแต่ ปี 56 แล้ว ระยะเวลาในการเป็นที่ปรึกษาและคณะวิจัยก็คือช่วงปี 2549-2556"
ผู้สื่อข่าวถามว่า เก็บหลักฐานเอกสารทุกอย่างเกี่ยวกับการทำงานกับเอแบคโพลล์ ไว้หรือไม่
นักข่าวรายนี้กล่าวว่า “ตอนนี้ก็เลิกทำงานกับที่นั่นไปแล้ว เมื่อมาเห็นข่าวก็งง คือถ้าเอกสาร ก็ไม่ได้ทำมา 2 ปี แล้วก็ไม่รู้ว่าเก็บไว้ไหน แต่ยืนยันด้วยตัวเองแล้ว และที่ทำงานเดิมก็จะรู้ตลอดว่าเราไปเป็นที่ปรึกษาไปทำวิจัย ไปเป็นอาจารย์ ไม่เคยใช้ความเป็นช่อง 5 หรือใช้หน้าที่ของสื่อไปทำ"
นักข่าวรายนี้ระบุด้วยว่า ใช่ ตนเป็นนักข่าว แต่ก็มีไม่ใช่หรือ กรณีที่มีนักข่าวที่ไปทำงานวิจัย หรือไปเป็นอาจารย์ เป็นวิทยากร ตนเป็นนักข่าว ขณะที่ตนก็เป็นอาจารย์ เป็นวิทยากรในหลายที่เหมือนกัน นักข่าวหลายคนก็เป็นวิทยากร
“ข้อมูลที่เผยแพร่ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหน แต่ยอดเงินก็รับเป็นรายชิ้น รายงาน งานเป็นพาร์ทไทม์ บางเดือน ก็ 2-3 โครงการ บางเดือนก็รายการเดียว บางเดือนก็ไม่มีเลย แล้วก็มีการสอนเป็นอาจารย์พิเศษ คือ เราทำงานโดยที่จรรยาบรรณเราก็มี แต่ในส่วนนี้คือเราใช้ความรู้ความสามารถของเราในด้านการเป็นอาจารย์ด้วยมีบรรยายหลายที่ ที่ทำงานเดิมเราก็ชี้แจง หรือในที่ทำงานปัจจุบัน เราก็ระบุในใบสมัครว่าเป็นที่ปรึกษาเป็นคณะนักวิจัยเอแบค"
"ในใบสมัครเราก็ยืนยัน และเมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นก็ชี้แจงกับผู้บริหารไปแล้ว ว่าทำหน้าที่อะไร ซึ่งในส่วนนี้ เราก็ถือว่าเป็นโปรไฟล์ เราก็มองว่า มันมีที่มาที่ไปของรายได้ ไม่มีว่าตู้ม! จู่ๆได้มา 2 ล้าน เรายืนยันได้ มีที่มาที่ไป รับงงานรายชิ้น แต่ก็ไม่เคยรู้ว่ามียอดเท่านี้ เรายืนยันได้ และมีลูกศิษย์ที่ยืนยันได้ เราก็งง ตกใจ แต่เมื่อสอบถามมาก็ชี้แจงได้ พร้อมชี้แจง"
เมื่อสอบถามว่าประธานสภาการจะเชิญไปให้ข้อเท็จจริง พร้อมจะชี้แจงหรือไม่
นักข่าวรายนี้กล่าวว่า ประเด็นนี้ มีมูลความจริงอะไร ต้องมาว่ากันก่อนว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ในกรณีที่มีการพาดพิงถึงเรา เราไม่รู้ เพราะเรามีการแต่งตั้ง อย่างถูกต้องทุกอย่าง
ผู้สื่อข่าวถามว่าในรายงานระบุว่านอกจากระบุชื่อ นักกล่าวรายนี้แล้ว รายงานผลสอบข้อเท็จจริง ยังระบุด้วยว่าสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ภายในยุคของอดีตผู้บริหารรายหนึ่ง จ่ายค่าตอบแทนสื่อไป 163 รายการ รวม 4 ล้านกว่า เป็นการให้ แบบไหนในรูปแบบไหน และสื่อรายใดบ้าง
นักข่าวรายนี้กล่าวว่าไม่ทราบ เป็นงบพีอาร์องค์กรเหรือเปล่า แต่ในส่วนของตนคือการพัฒนาด้านวิจัย
เมื่อถามว่า การทำวิจัยหรือการเป็นที่ปรึกษาให้สำนักวิจัยเอแบคโพลล์นี้ต้องนำไปเสนอข่าวในสถานีโทรทัศน์ที่ตนสังกัดอยู่ ณ ขณะนั้นหรือไหม
ได้รับคำตอบว่า ในส่วนของการเชิญสื่อมวลชนไปทำข่าว เอแบคเขาก็มีเชิญไปทำข่าวปกติ ตนไม่เกี่ยว หน้าที่ตนจะมีเพียงการคิดประเด็น วางโครงสร้างกรอบการวิจัย ตัวอย่างเช่น หัวข้อเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ หากหัวข้อธรรมดาอาจไม่น่าสนใจ
"เราเป็นที่ปรึกษา ก็ต้องคิดประเด็น แก้แบบสอบถาม ประมวล เราต้องคิดว่า ประเด็นแบบไหน นักข่าวจะสนใจ”
นักข่าวรายนี้ ย้ำด้วยว่า "เราเป็นนักข่าวก็จริง แต่ก็ไปในฐาะนักวิชาการ ลงพื้นที่วิจัยเก็บตัวอย่างส่วนการพีอาร์ก็มีกระบวนการของเขาอยู่แล้วในการเชิญนักข่าวมาทำข่าว ต้องชี้แจงก่อนว่าเราทำหน้าที่ในฐานะคณะวิจัยเป็น คณะวิจัยมีตำแหน่งถูกต้องอย่างเป็นทางการ มีการแต่งตั้งถูกต้องและเป็นที่ปรึกษาโครงการ และเป็นอาจารย์พิเศษ มีลูกศิษย์ลูกหาจริงๆ และเป็นวิทยากรพิเศษอยู่แล้ว”
นักข่าวรายนี้ย้ำว่าแยกแยะบทบาทชัดเจนในการเป็นนักข่าวและการทำงานในบทบาทของนักวิจัยหรือการเป็นที่ปรึกษาและกล่าวว่า
"เราทำงานโดยที่จรรยาบรรณเราก็มี"
ภาพประกอบจาก : www.google.co.th