แกะรอยเว็บ Pulony ไม่ใช่ของทหารแล้วจะของใคร?
ควันหลงจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือการที่ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ออกมากล่าวหากองทัพว่าจัดงบประมาณของรัฐให้กำลังพลทำภารกิจไอโอ หรือ ปฏิบัติการข่าวสาร คุกคามโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
มีพาดพิงถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อภิปรายอ้างว่ามีการใช้เว็บไซต์ที่ชื่อว่า Pulony.blogspot.com เป็นเว็บหลักเดิมเกมถล่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ตลอดจนนักสิทธิมนุษยชน และขบวนการนักศึกษา ภาคประชาสังคมในพื้นที่
ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ที่อภิปรายเรื่องนี้ คือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โดยได้นำเอกสารของ กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มาอ้างอิงว่า กอ.รมน.ให้การสนับสนุนงบประมาณกับเว็บไซต์ Pulony ในการทำ "ไอโอ" ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการโจมตีฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ ทำให้เกิดความแตกแยกรุนแรง และใช้คุกคามนักสิทธิมนุษยชน
ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.พ.63 พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน. ได้ออกมาชี้แจงว่า เว็บไซต์ Pulony ไม่ใช่ของ กอ.รมน. ส่วนการที่เว็บไซต์นี้นำเสนอข่าวสารในลักษณะช่วยชี้แจงแทน กอ.รมน. และโจมตีฝ่ายอื่นนั้น เป็นการพิจารณาของเว็บไซต์เอง ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับ กอ.รมน. และ กอ.รมน.ไม่ได้ไปจ้าง หรือขอให้เขาลงข่าวด้วย หนำซ้ำยังบอกว่า เว็บไซต์ Pulony เป็นเว็บที่ กอ.รมน.จับตาและเฝ้าระวัง
เพื่อไขข้อข้องใจ "ทีมข่าวอิศรา" ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังในเว็บ Pulony พบว่าทางเว็บไซต์มี "ม็อตโต้" ที่ประกาศไว้บนหน้าเว็บว่า "ความจริงจากจังหวัดชายแดนใต้" เริ่มนำเสนอบทความครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.54 และนำเสนอเรื่อยมาจนถึงบทความล่าสุด วันที่ 23 ก.พ.63 คือปีนี้ รวมบทความทั้งหมด 861 บทความ มีทั้งที่เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษามาเลย์ และภาษาอาหรับ มีการเข้าชมกว่า 3 ล้านครั้ง
แต่หลังจากที่ถูกพาดพิงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เว็บไซต์นี้ก็นิ่งสนิท ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ มีแต่ยอดผู้เข้าชมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลายแสนวิว ซึ่งเป็นผลมาจากในสภา
สำหรับเนื้อหาในเว็บ เป็นการเสนอข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อ้างอิงคำสอนของศาสนาอิสลามที่ทางเว็บมองว่าถูกต้อง เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปในทางตอบโต้และชี้แจงแทนฝ่ายความมั่นคงอย่างทันสถานการณ์ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา
สาเหตุที่ทำให้เว็บ Pulony ไม่เหมือนเว็บข่าวทั่วไป คือการเขียนบทความโจมตีการทำงานของกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวในพื้นที่ ตลอดจนทนายมุสลิม และสื่อมวลชนที่นำเสนอหรือเคลื่อนไหวเป็นลบต่อฝ่ายความมั่นคง โดยทางเว็บใช้วิธีเขียนบทความเปิดโปง อ้างว่ากลุ่มหรือบุคคลเหล่านั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ เมื่อบทความถูกนำเสนอก็จะมีเครือข่ายที่สนับสนุนฝ่ายรัฐนำไปเผยแพร่แชร์ต่ออย่างกว้างขวาง ทำให้เว็บกลายเป็นที่รู้จัก
แม้จะไม่สามารถสรุปได้ว่า เว็บ Pulony ใครเป็นผู้จัดทำขึ้นมา และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง เพราะผู้ที่เขียนบทความใช้นามปากกาและภาพกราฟฟิกทั้งสิ้น แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ช่วงเวลาที่มีการก่อกำเนิดเว็บไซต์ Pulony เป็นช่วงที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้กำลังเร่งระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ในส่วนงานด้านการสื่อสารเพื่อสร้างเป็นทีมขนาดใหญ่เพื่อเร่งเครื่องงานประชาสัมพันธ์ และเสนอข่าวตอบโต้ข่าวสารจากฟากฝั่งของกลุ่มก่อความไม่สงบ มีการระดมนักข่าวในเครือข่ายสื่อของกองทัพลงพื้นที่รายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง
จากความเคลื่อนไหวนี้ จึงอาจเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่บางกลุ่มหรือบางคนที่รับผิดชอบงานด้านนี้ อาจใช้ช่องทางการเปิดเว็บ Pulony ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวสาร และโต้ตอบ หรือ counter ข่าวที่เป็นลบกับฝ่ายความมั่นคง แต่ไม่สามารถเปิดตัวตนจริงหรือชื่อหน่วยงานได้ จึงใช้เว็บไซต์ที่ไร้ที่มาแทน
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือบทความหนึ่งของเว็บไซต์ซึ่งนำเสนอไว้นานแล้ว มีการเขียนโจมตีการทำหน้าที่ของนักข่าวอาวุโสรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่นักข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้นับหน้าถือตาเป็นอย่างมาก โดยช่วงที่นำเสนอบทความนี้เป็นช่วงจังหวะประจวบเหมาะพอดีกับที่สื่ออาวุโสรายนี้กำลังถูกนายทหารระดับสูงที่ดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์ของฝ่ายความมั่นคงตำหนิ เพราะไม่พอใจการนำเสนอข่าว และนำไปเดินสายพูดโจมตีบนเวทีสัมนาหลายครั้ง
หลายๆ ข่าว หลายๆ บทความที่ทางเว็บนำเสนอ ก็มีจังหวะเวลาสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของสายงานประชาสัมพันธ์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อย่างพอเหมาะพอดีแทบทุกครั้ง
ที่น่าสังเกตอีกประเด็นหนึ่งก็คือ เนื้อหาในบางบทความเป็นเรื่องที่รับรู้กันในวงจำกัด และเป็นข้อมูลที่น่าจะอยู่ในเอกสารของหน่วยข่าวกรองความมั่นคงเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลที่คนทั่วไปจะเข้าถึงได้ แม้แต่สื่อมวลชนในพื้นที่เอง แต่ผู้เขียนบทความในเว็บไซต์นี้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ออกมาเปิดเผยได้อย่างละเอียดและลึกถึงแก่น จนน่าสงสัยว่าผู้เขียนเป็นคนของหน่วยงานนั้นเอง หรือเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้นำข้อมูลออกมาเขียนบทความหรือไม่
อย่างเช่นบทความชิ้นนี้ ขบวนการบีอาร์เอ็นป่วนใต้...หลอกใช้เยาวชนร่วมก่อเหตุห้วงปิดเทอม มีภาพการฝึกเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่ใช่ภาพที่สื่อมวลชนทั่วไปจะหาได้
ส่วนบทความชิ้นนี้ เป็นการเปิดข้อมูลเงินบริจาค หรือเงินเรี่ยไรที่เก็บส่งให้คนในขบวนการก่อความไม่สงบ หรือผู้ก่อเหตุรุนแรง ใช้เป็นทุนรอนในการหลบหนี ซ้ำยังอ้างว่ามีองค์กรภาคประชาสังคมบางแห่งที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ รับเงินสนับสนุนจากเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมายด้วย (แฉ..PerMAS รับเงินสนับสนุนจากใคร?)
หรืออย่างชิ้นนี้ เป็นบทความที่เปิดคำให้การ (คำสารภาพ) ของผู้ต้องสงสัยก่อเหตุรุนแรงที่ถูกควบคุมตัวเข้ากระบวนการซักถาม โดยเป็นคำให้การแบบละเอียดที่น่าจะได้จากเอกสารของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการโดยตรง (แฉพฤติกรรมเครือข่ายโจรใต้ BRN)
และอีกชิ้นหนึ่งที่มีการเปิดภาพกราฟฟิกความเชื่อมโยงการก่อเหตุรุนแรง ที่โยงกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ซึ่งเป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองท้องถิ่น มีการเปิดประวัติและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด (เผยวิธีใหม่ที่ ผกร. ใช้ชักจูงสมาชิกเข้าร่วมขบวนการ)
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่าง "ความไม่ธรรมดา" ของ "สาร" ที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ Pulony
แม้ว่าวันนี้ทาง กอ.รมน.ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า ไม่ได้ให้การสนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บ Pulony และทาง กอ.รมน.ทำได้แค่เพียงจับตาเว็บนี้ โดยไม่ทำอะไร แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ตราบใดที่เจ้าของเว็บ Pulony ยังเป็นปริศนา คำชี้แจงของ กอ.รมน.ก็ยากที่จะทำให้สังคมเชื่อ
และสุดท้ายหลายคนก็คงยังปักใจว่าเว็บนี้เป็นไอโอของฝ่ายความมั่นคงอยู่ดี!
-----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ไอโอรัฐพ่าย สาดโคลนทั้ง 2 ฝ่าย คนเสียหายคือประชาชน
กอ.รมน.แจง 2 รอบ ย้ำไม่ใช่เจ้าของเว็บ Pulony
ย้อนดู"ไอโอ"ชายแดนใต้ - สองฝ่ายระดมสร้างเกลียดชัง?
"ไอโอ"การเมืองถึงชายแดนใต้...เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ฉีกกฎสงครามข่าว
"กราบรถ" ถึง "ไฟใต้" โซเชียลฯล่าทำลาย และ "ไอโอสีดำ"