"ไอโอ"การเมืองถึงชายแดนใต้...เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ฉีกกฎสงครามข่าว
ประเด็น "ไอโอ" กำลังฮิตในการกล่าวหากันทางโลกออนไลน์
ล่าสุดกรณีของ "คุณช่อ" ที่มีคนไปขุดภาพถ่ายในอดีตของเธอที่ถูกมองว่าไม่ค่อยจะเหมาะสม เธอก็ชี้แจงอ้างว่าเป็น "งานไอโอของทหาร" ทำให้หลายคนเข้าใจว่า "ไอโอ" ทำได้เฉพาะฝ่ายรัฐหรือกองทัพเท่านั้น บ้างก็ไปเชื่อมโยงกับการทำปฏิวัติรัฐประหารโน่นเลย ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ค่อยจะถูกต้อง
จริงๆ แล้ว "ไอโอ" ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Information Operation หรือ "ปฏิบัติการข่าวสาร" ซึ่งในอดีตถูกนำมาใช้ชิงความได้เปรียบในการรบหรือการทำสงคราม
หลักการสำคัญของ "ไอโอ" คือการเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของ "ฝ่ายเรา" ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และทำให้เกิดความคิดความเชื่อคล้อยตามความประสงค์ของ "ฝ่ายเรา" ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางระงับยับยั้ง ขัดขวาง หรือทำลายศักยภาพด้านการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้าม หรือ "ฝ่ายศัตรู" เพื่อไม่ให้สามารถเผยแพร่ความคิดความเชื่อต่อกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายของ "ฝ่ายเรา" ได้
นี่คือความหมายพื้นฐานแบบเข้าใจง่ายๆ ที่ได้มาจากอดีตผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบหน่วยงานด้านการข่าวของเมืองไทย
ส่วนวิธีการเผยแพร่ความคิดความเชื่อที่สามารถส่งถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด แน่นอนว่าจำเป็นต้องพึ่งพาสื่อทุกชนิด ฉะนั้นในอดีต ฝ่ายที่ทำไอโอหนักๆ ได้จึงเป็น "ฝ่ายรัฐ" เพราะคุมสื่อแทบทุกชนิดอยู่ในมือ แต่ในยุคปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย หรือ "สื่อสังคมออนไลน์" ที่ทุกคนเป็นสื่อและผลิตสื่อได้ด้วยตนเอง ทำให้งาน "ไอโอ" ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ภาครัฐอีกต่อไป ฉะนั้นหากใครมีขีดความสามารถ หรือ "ทักษะ" ในการใช้สื่อประเภทต่างๆ ได้มากกว่า ก็จะทำไอโอได้เหนือกว่าอีกฝ่าย
ที่สำคัญ ความเชี่ยวชาญการใช้ "สื่อใหม่" หรือ "นิวมีเดีย" ยังสามารถระงับหรือขัดขวางการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย เช่น วิธี report หรือวิธีใช้คนจำนวนมากเข้าไปใช้เว็บ เพจเฟซบุ๊ค หรืออินสตราแกรมของฝ่ายตรงข้ามพร้อมๆ กันจนเว็บหรือเพจล่ม หรือถ้าเป็นระดับมืออาชีพมากกว่านั้นอาจใช้การโจมตีด้วยไวรัสกันเลยทีเดียว
สถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการข่าว บอกว่า บางทีคนทั่วไปที่มีความรอบรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพิเศษ ก็อาจมีความสามารถในการทำ "ไอโอ" เหนือหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่ยังมีบุคลากรด้านนี้น้อย หรือบุคลากรไม่พัฒนาตัวเองด้วยซ้ำ
การทำ "ไอโอ" ที่เห็นชัดๆ ในบ้านเราในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ก็คือการทำสงครามข่าวสารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งว่ากันว่าเป็นพื้นที่ที่ "ข่าวลือ" ทำงานสำเร็จมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของประเทศ
วิธีการทำ "ไอโอ" ที่ใช้กันทั่วไป หลักสำคัญเริ่มจากการหา "จุดสนใจ" แล้วสร้าง "คีย์เวิร์ด" เพื่อสร้างชุดความคิดทำลายฝ่ายตรงข้าม เช่น โจมตีว่าอีกฝ่ายเป็นเผด็จการ แล้วยกตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย (ความจริงเป็นหรือเปล่า เป็นอีกเรื่อง) ซึ่งหาก "คีย์เวิร์ด" นี้เป็น "หัวใจ" หรือ "จุดอ่อน" หรือที่เรียกภาษาทหารว่า "จุดศูนย์ดุลย์" หรือ center of gravity ของฝ่ายตรงข้ามพอดี การทำไอโอก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ โดยใช้ "คีย์เวิร์ด" เดิมเป็นตัวเดินเรื่องพัฒนาชุดความคิดไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นหากฝ่ายไหนครอบครองสื่อได้มากกว่า ก็ถือได้ว่ามีเครื่องมือมากกว่า และมีโอกาสสูงกว่าที่จะชนะในสงครามข่าวสาร
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในทางทฤษฎีแล้วการทำ "ไอโอ" ที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว ต้องใช้ "ความจริง" ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น เพราะหากใช้ "ความเท็จ" หรือการ "ป้ายสี" แม้จะทำให้ได้ชัยชนะในช่วงแรกๆ แต่ก็จะเกิดปัญหาตามมา
คำถามที่เกิดตามการเปลี่ยนของยุคสมัยก็คือ หลักการนี้ยังใช้ได้จริงหรือไม่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอย่างรวดเร็วอย่างในปัจจุบัน เพราะหลายๆ ครั้งเราก็เห็นอยู่ตำตาว่า การปล่อยข้อมูลเท็จ หรือ fake news เพียงครั้งเดียว อาจทำให้คู่ต่อสู้ชนะศึกไปได้เลย
เมื่อไม่นานมานี้มีบทความในต่างประเทศ ซึ่งมีคนแปลเป็นภาษาไทย ยกระดับ "ไอโอ" ในยุคโซเชียลฯว่าเป็นดั่งอาวุธประหัตประหาร โดยมี Big Data เก็บรวบรวมข้อมูล และสามารถประมวลวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ทราบถึงพฤติกรรม รสนิยม ความคิด ความสนใจ ความเชื่อของคนในสังคมนั้นๆ ได้ ผู้ที่ทำ "ไอโอ" จึงสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างชุดความคิดเพื่อชี้นำได้ง่าย และสามารถสร้างกระแสให้เกิดความเชื่อในทิศทางเดียวกันของคนหมู่มากด้วยการใส่แฮชแท็ก (#) หากความคิดความเชื่อถูกท้าทาย ก็จะถูกแท็กทีมโจมตีกลับ หากผู้ใดอยู่ใต้บรรยากาศเช่นนี้นานๆ อาจจะถูกล้างสมองได้เหมือนกัน
นี่คือความน่ากลัวของ "ไอโอ" ที่สลับซับซ้อนขึ้นอีกหลายชั้นในโลกโซเชียลมีเดีย!
กล่าวโดยสรุปก็คือ บทบาทของโซเชียลมีเดีย ทำให้ "ไอโอ" เป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในการเอาชนะ โดยเฉพาะในสมรภูมิการเมือง และในยุคโซเชียลมีเดียครองโลก การทำ "เฟคนิวส์" ทำลายกัน อาจทำให้ "ข่าวจริง" สิ้นมนต์ขลัง
อันตรายของ "ไอโอ" ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คืออันตรายจากการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือโจมตีกันนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสารของบ้านเราก็ตระหนัก และออกมาเตือนเช่นกัน
อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ง่ายและทรงพลัง เพราะใครก็สามารถหยิบเรื่องราวในอินเทอร์เน็ตมาโจมตีใส่กันได้ เนื่องจากข้อความในอินเทอร์เน็ตไม่มีวันตายหรือหายไป คนที่คิดจะนำเรื่องเสียหายของฝ่ายตรงข้ามมาเผยแพร่ก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่คุณใช้เครื่องมือเหล่านั้นเป็นก็พอแล้ว ฉะนั้นการทำสงครามไอโอ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นที่จะทำได้ เพราะคนธรรมดาสามัญที่ไหนก็ทำได้ และเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะเป็นฝ่ายพายแพ้ก็ได้เช่นกัน
ส่วนแนวทางแก้ไข อาจารย์พันธ์ศักดิ์ มองว่า แทบจะไม่มีทางแก้ได้เลย ตราบใดที่คนยังมีความคิดขุดคุ้ยเรื่องราวมาประจานกัน มีแค่แนวทางป้องกัน ก็คือ ก็สร้างจิตสำนึกในการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร รวมถึงรู้เท่าทันจุดมุ่งหมายของคนที่ทำ "ไอโอ" โจมตีฝ่ายตรงข้ามให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ทั้งหมดจะต้องมาจากการวิเคราะห์และแยกแยะว่า ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมามีเจตนาอะไรกันแน่ (เพราะจริงๆ แล้ว การกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไอโอ ก็เป็นการไอโออย่างหนึ่งเหมือนกัน)
ตัวอย่างงาน "ไอโอ" ที่เห็นชัดเจนที่สุด และนำมากล่าวหากันด้วยว่าอีกฝ่ายทำ "ไอโอ" ถล่ม เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้
ตัวอย่างที่ว่านี้คือเหตุการณ์ยิงปะทะกันระหว่างทหารกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 27 พ.ค.62 แล้วเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านชาวบ้านที่อยู่ในจุดปะทะ จากนั้นก็มีปฏิบัติการข่าวสาร หรือ "ไอโอ" ตามมาทันที
ไอโอขั้นที่ 1 กลุ่มที่เชื่อว่าอยู่ตรงข้ามกับรัฐ ปล่อยข่าวว่าทหารเป็นฝ่ายเผาบ้าน และขโมยทรัพย์สินเจ้าของบ้าน ขณะที่ฝ่ายทหารก็โต้กลับว่าไม่ได้เผา ไม่มีทรัพย์สินหาย และอ้างว่าทุกครั้งที่มียิงปะทะ จะมีทีมปล่อยข่าวกล่าวหาเจ้าหน้าที่แบบนี้ตลอด
ไอโอขั้้นที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงที่ นายซูการ์โน่ มะทา ส.ส.ยะลา เขต 2 พรรคประชาชาติ ลงพื้นที่เกิดเหตุ แล้วกลับออกมานำภาพถ่ายและโพสต์เฟซบุ๊คอ้างเสียงจากชาวบ้านทำนองว่า "เจ้าหน้าที่น่าจะกระทำการเกินกว่าเหตุ" และเรียกร้องให้ตรวจสอบ หากกระทำเกินกว่าเหตุจริงจะได้ช่วยเหลือเยียวยา
ต่อมาฝ่ายทหารออกมาโต้กลับว่า เป็นการจงใจกล่าวหาเจ้าหน้าที่ การกระทำแบบนี้ควรระมัดระวัง เพราะอาจเป็น "แนวร่วมมุมกลับ" ของกลุ่มผู้ไม่หวังดีก็ได้
ความหมายของ "แนวร่วมมุมกลับ" คือ จริงๆ ไม่ได้เป็นแนวร่วมของกลุ่มผู้ไม่หวังดี แต่การแสดงความเห็นหรือกระทำการบางอย่าง อาจไปเข้าทางกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่จ้องดิสเครดิตเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว แบบนี้เรียก "แนวร่วมมุมกลับ"
ไอโอขั้นที่ 3 (ไม่แน่ว่าเป็นความจงใจหรือไม่) ทั้งนายซูการ์โน่ และพี่ชาย คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ออกมาโพสต์ข้อความชี้แจงทำนองว่า ถูกป้ายสีมาตลอดว่าเป็นแนวร่วม ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็น และการลงพื้นที่เกิดเหตุก็เป็นการทำหน้าที่ ส.ส. (จริงๆ แล้วคำชี้แจงจากฝ่ายทหารก่อนหน้านี้ ไม่ได้กล่าวหาว่านายซูการ์โน่เป็นแนวร่วมตรงๆ แต่เตือนว่าอาจเป็นแนวร่วมมุมกลับ)
จากนั้นก็มี "ไอโอขั้นสุด" ตามออกมา คือมีฝ่ายลึกลับแพร่ข้อมูลรณรงค์ให้ล่าชื่อถอดถอน นายซูการ์โน่ ออกจากการเป็น ส.ส. โดยอ้างว่าไม่ควรมีแนวร่วมโจรใต้อยู่ในสภา
จะเห็นได้ว่า ไอโอขั้นสุดที่ว่านี้อาจไม่ได้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่ายมากล่าวอ้างเลย แต่ใช้ข้อมูลที่เข้าใจกันผิด หรือสื่อสารไม่ชัด มาใช้ประโยชน์แทน
ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่า การสร้างข่าวรณรงค์ให้ถอดถอนนายซูการ์โน่ ไม่ใช่ "ไอโอ" จากฝั่งเจ้าหน้าที่ แต่น่าจะเป็นการกระทำของมือที่สาม ทำให้เจ้าหน้าที่เสียหาย และนายซูการ์โน่เองก็เสียหาย กลายเป็นรอยร้าวระหว่าง ส.ส.กับฝ่ายความมั่นคง
การตรวจสอบข้อเท็จจริงย้อนกลับในสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางกรณีก็มี "ไอโอซ้อนไอโอ" คืออำพรางตัวเป็นฝ่ายศัตรู และปฏิบัติการในนามศัตรูจนทำให้ฝ่ายศัตรูเสียเครดิตไปเองก็มี
นี่คือตัวอย่างของ "ไอโอ" ที่สร้างความสับสนอลหม่าน และถึงที่สุดแล้วฝ่ายที่ได้ประโยชน์อาจไม่ใช่คู่ขัดแย้งในตอนแรกเลยด้วยซ้ำ
-------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"กราบรถ" ถึง "ไฟใต้" โซเชียลฯล่าทำลาย และ "ไอโอสีดำ"