ราชกิจจาฯ ประกาศ ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14
ราชกิจจาฯ ประกาศ ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 แล้ว ระบุอาการ มีไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว อาจถึงขั้นเสียชีวิต พร้อมกับให้เชื้อไวรัสโคโรนาฯ เป็นเชื้อกลุ่ม 3 ที่จะต้องควบคุม ตามพ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ฯ
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 โดยที่เป็นการสมควรให้มีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ
จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (14) ของข้อ 1 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข
เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. 2559
"(14) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต”
ประกาศ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563
อนุทิน ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ขณะเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง รายการเชื้อโรคที่ประสงค์ควบคุมตามมาตรา 18 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้รายงานการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus that was discovered in 2019) และมีการพบผู้ป่วยด้วยเชื้อไวรัสดังกล่าว ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ประกอบกับองค์การอนามัยโลกได้ประกาศการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) เพื่อให้รัฐบาลทั่วโลกเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการควบคุมเชื้อไวรัสดังกล่าว จึงสมควรกำหนดให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเชื้อโรคที่ต้องควบคุม ตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 (อ่านปรระกอบ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/048/T_0002.PDF)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประสบความสำเร็จแยกเชื้อ COVID-19
รู้จัก 13 ชื่อโรคติดต่ออันตราย!ก่อนสธ.ประกาศ 'ไวรัสโควิด-19' เป็น’น้องใหม่‘
กันติดเชื้อโควิด-19 บ.ไอทียักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น พร้อมใจสั่งพนง.ทำงานที่บ้าน-เลี่ยงเดินทางช่วงเร่งด่วน
สธ.แนะนำคนไทย ไม่จำเป็น 'เลื่อน' เดินทางไปญี่ปุ่น-สิงคโปร์
อนุทิน ยันสาธารณสุขไทย พร้อมช่วยกัมพูชาป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19