- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- รู้จัก 13 ชื่อโรคติดต่ออันตราย!ก่อนสธ.ประกาศ 'ไวรัสโควิด-19' เป็น’น้องใหม่‘
รู้จัก 13 ชื่อโรคติดต่ออันตราย!ก่อนสธ.ประกาศ 'ไวรัสโควิด-19' เป็น’น้องใหม่‘
การประกาศให้ไวรัสโควิด-19 เป็น "โรคติดต่ออันตราย" ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นั้น จะทำให้การบริหารจัดการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายนี้ถือเป็นเครื่องมือในการทำงานเวลาที่มีผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (coronavirus) สายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด -19 เป็น "ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC)" ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณาอยู่ 4 ข้อ
1.เป็นโรคใหม่ ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
2.มีความรุนแรง อัตราการป่วย และเสียชีวิตสูง มีการแพร่ระบาดเร็ว
3.มีการแพร่ระบาดข้ามประเทศ
และ4.มีการจำกัดการเดินทาง
"เดือนมกราคม แรกๆ สถานการณ์ในประเทศไทยเรายังไม่พบการติดต่อระหว่างคนสู่คน กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์ไวรัสโควิด -19 เปลี่ยนไป เรารู้จักโรคดีขึ้น มีข้อมูลมีเพียงพอต่อการตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน ซึ่งหลายประเทศก็มียกระดับโรคไวรัสโควิด-19 มีความสำคัญมากกว่าโรคโดยทั่วๆ ไป
โรคไวรัสโควิด-19 ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการด้านวิชาการแล้ว อยู่ระหว่างการทำร่างประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยเสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เตรียมประชุมรับรอง ก่อนประกาศให้ โรคไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย" นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ระบุ
นพ.โสภณ บอกว่า การประกาศให้ โรคไวรัสโควิด-19 เป็น "โรคติดต่ออันตราย" ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นั้น จะทำให้การบริหารจัดการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายนี้ถือเป็นเครื่องมือในการทำงานเวลาที่มีผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
"ตอนมีผู้ป่วยน้อยๆ เราสามารถเจรจาได้ ขอความร่วมมือ แต่หากการระบาดในหลายประเทศ และมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก การบริหารจัดการจะซับซ้อนมากกว่านี้ บางครั้งเรามีคนหลากหลาย การมีกฎหมายเป็นเครื่องช่วย เช่น ประเทศสิงคโปร์ ให้กักตัวอยู่บ้านเป็นเวลา 14 วันหากกลับมาจากประเทศที่มีการระบาด นี่คือตัวอย่างการใช้กฎหมายเป็นตัวนำ"
สำหรับ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พัฒนาและปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังการป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีการแพร่กระจายของโรคติดต่อที่รุนแรงและก่อให้เกิดโรคระบาดมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งโรคติดต่อที่อุบัติใหม่และโรคติดต่อที่อุบัติซ้ำ และข้อกําหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศ
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่า พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จะมีเรื่องของสิทธิ์ การรอนสิทธิ์ มีเรื่องของบทลงโทษ และเข้าสู่มาตรการของการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม รวมทั้งให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุม ตามกฎหมาย
"การปฏิบัติจริง ณ ขณะนี้ของกระทรวงสาธารณสุข เราปฏิบัติเสมือนอยู่ในสถานการณ์รับมือภาวะฉุกเฉิน ทำอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ตั้งแต่การเฝ้าระวัง การติดตามผู้ป่วยทุกราย ควบคุม การเตรียมความพร้อมของทรัพยากร ห้องแยกโรค ชุดป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) เป็นต้น
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. 2559 ให้ 12 โรค เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยมีชื่อและอาการสําคัญ ดังนี้
(1) กาฬโรค (Plague) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่หนึ่ง กาฬโรคต่อมน้ําเหลือง (Bubonic plague) มีอาการไข้สูง หนาวสั่นเจ็บคอ ปวดศีรษะ ต่อมน้ําเหลืองบริเวณขาหนีบหรือรักแร้โตและมีหนอง หรือม้ามโตและมีหนอง
ประเภทที่สอง กาฬโรคชนิดโลหิตเป็นพิษ (Septicemic plague) มีอาการของโลหิตเป็นพิษไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน คอหอยและทอนซิลอักเสบ อาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และจ้ําเลือดตามผิวหนัง
ประเภทที่สาม กาฬโรคปอด (Pneumonic plague) มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ไอ มีเสมหะปนเลือด หอบ เมื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ที่ปอดจะพบลักษณะของปอดอักเสบ
(2) ไข้ทรพิษ (Smallpox) มีอาการไข้สูง ปวดตามตัว ปวดศีรษะ ปวดหลัง อ่อนเพลีย อาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ระยะก่อนที่จะมีผื่นขึ้น จะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หลังจากไข้สูงแล้ว จะปรากฏผื่นขึ้น ต่อมาจะกลายเป็นตุ่ม ตุ่มใส ตุ่มหนอง และตกสะเก็ดเป็นระยะเวลา 3 - 4 สัปดาห์ โดยผื่นจะปรากฏที่บริเวณใบหน้า แขน และขามากกว่าบริเวณลําตัว โดยเฉพาะบริเวณที่ได้รับการเสียดสีบ่อย ๆ แผลที่ตกสะเก็ดเมื่อหายแล้วอาจทําให้เกิดแผลเป็นรอยบุ๋ม และอาจทําให้เกิดความพิการจนถึงขั้นตาบอดได้
(3) ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean - Congo hemorrhagic fever) อาการจะเริ่มอย่างเฉียบพลัน โดยมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มึนงง ปวดคอร่วมกับคอแข็ง ปวดหลัง ปวดศีรษะ เจ็บตา ใบหน้าแดง และกลัวแสง บางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเจ็บคอในระยะแรก ซึ่งมักพบร่วมกับท้องร่วงและปวดท้อง ต่อมาจะมีอารมณ์แปรปรวน สับสน และก้าวร้าว จากนั้นอาจมีอาการง่วง ซึมเศร้า หัวใจเต้นเร็ว ต่อมน้ําเหลืองโต มีเลือดออกใต้ผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ปาก เพดานปาก ลําคอ และพบเลือดออกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร มีเลือดปนในปัสสาวะ มีเลือดกําเดา และเลือดออกจากเหงือก ในบางรายอาจพบอาการของตับอักเสบ
(4) ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever) มีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น มีเหงื่อออกมีผื่นที่ผิวหนัง อ่อนเพลีย ต่อมน้ําเหลืองอักเสบ ซึม ปวดข้อ และมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น สมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง คอแข็ง ซึม ชัก และหมดสติ
(5) ไข้เหลือง (Yellow fever) มีอาการไข้สูงเฉียบพลันเป็นระยะเวลา 5 - 7 วัน ปวดศีรษะปวดหลัง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีเลือดกําเดา เลือดออกในปาก และถ่ายเป็นเลือด จะมีอาการ ตัวเหลืองหรือตาเหลืองในระยะแรก อาจมีอาการมากขึ้นในระยะต่อมา และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
(6) โรคไข้ลาสซา (Lassa fever) มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อาเจียน ท้องร่วง เจ็บหน้าอก และปวดบริเวณช่องท้อง อาการไข้จะยังคงมีอยู่ตลอด หรืออาจไข้สูงเป็นระยะ มีอาการตาอักเสบ คออักเสบและเป็นหนอง บางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการเลือดออก ช็อก มีอาการบวมที่หน้าและคอ จะมีปริมาณเกล็ดเลือดลดลงและการทํางานของเกล็ดเลือดผิดปกติ บางรายอาจมีอาการหูหนวกจากพยาธิ สภาพที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 8
(7) โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus disease) มีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สมองอักเสบ บางรายอาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย หรืออาจมีอาการไข้ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น วิงเวียนศีรษะ เดินโซเซ ซึม สับสน หรือชัก มีการเคลื่อนไหว ของลูกตาผิดปกติ แขนและขามีการกระตุก ความดันโลหิตและชีพจรแปรปรวน และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
(8) โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease) มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะมาก ตามมาด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัวมีอาการเลือดออกง่ายซึ่งมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทําลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง ช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
(9) โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD) มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และเจ็บคอ ตามมาด้วยการอาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นขึ้น บางรายจะมีเลือดออกทั้งในอวัยวะ ภายในและภายนอก ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบว่ามีตับวายหรือไตวาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ส่วนใหญ่มักมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยหรือตายด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD)
(10) โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Handra virus disease) มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอวิงเวียนซึม และสับสน หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ในระยะแรกมักจะพบอาการปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
(11) โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) มีอาการไข้สูง ปวดตามตัว ปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ เล็กน้อย อาจมีอาการถ่ายเหลว อาการปอดอักเสบ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
(12) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome - MERS) มีอาการไข้ ไอ หอบ บางรายมีอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงมักมีอาการแสดงของโรคปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว อวัยวะล้มเหลว
โดยเฉพาะไตวาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ต่อมา กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
ให้ (13) วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (Extensively drug - resistant tuberculosis (XDR - TB)) เป็นวัณโรคที่มีการดื้อยา 4 ขนานร่วมกัน ได้แก่ ไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) กลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) และกลุ่มยาทางเลือกที่สองที่เป็นยาชนิดฉีด (Second - line injectable drugs) มีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ําหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบ การหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้”
หากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ลงมติรับรอง ก็จะทำให้โรคไวรัสโควิด -19 กลายเป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กันติดเชื้อโควิด-19 บ.ไอทียักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น พร้อมใจสั่งพนง.ทำงานที่บ้าน-เลี่ยงเดินทางช่วงเร่งด่วน
สธ.แนะนำคนไทย ไม่จำเป็น 'เลื่อน' เดินทางไปญี่ปุ่น-สิงคโปร์
อนุทิน ยันสาธารณสุขไทย พร้อมช่วยกัมพูชาป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19