คำวินิจฉัยศาล รธน. คดียุบ 'อนาคตใหม่' มีความชอบในการให้เหตุผลทางกฎหมาย
...เมื่อพิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ตลอดจนหลักในการวินิจฉัยความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนของพรรคการเมืองไทยที่มีความเป็นมาแตกต่างจากพรรคการเมืองในต่างประเทศเพราะเกิดจากการที่กฎหมายรับรองและจัดตั้งให้มิใช่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติของการรวมตัวของบุคคลที่เป็นนิติบุคคลเอกชน รวมถึงข้อเท็จจริงแห่งคดีที่มีหลักฐานปรากฏแก่ศาลอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำฝ่าฝืนเข้ามาตรา 72 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้อ่านคำวินิจฉัยไปกรณีมีคำสั่งให้ยุบพรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาจึงมีความชอบในการให้เหตุผลทางกฎหมายแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากคำวินิจฉัยฉบับเต็มยังไม่ได้มีการเผยแพร่ออกมาจึงไม่อาจทราบถึงข้อเท็จจริงแห่งคดีและการให้เหตุผลโดยละเอียดของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้นำไปสู่การวิเคราะห์คำวินิจฉัยอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไปในอนาคต
ปัจจุบันตามที่ได้มีการแสดงความคิดเห็นของหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ในหมู่สาธารณชน เยาวชนคนรุ่นใหม่นักวิชาการ โดยเฉพาะได้มีแถลงการณ์ขององค์กรหลายกลุ่มที่แสดงออกและล่าสุดที่ได้มีแถลงการณ์ของคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 36 ท่านในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 (อ่านประกอบ:36 คณาจารย์นิติฯ มธ.: พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน กู้ยืมได้)ที่ได้ตั้งข้อสังเกตและความเห็นทางกฎหมายรวม 4 ประเด็น โดยไม่เห็นด้วยกับการให้เหตุผลทางกฎหมาย ทั้งในส่วนหลักกฎหมายสำคัญในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้วินิจฉัยและปัญหาการให้เหตุผลทางกฎหมายที่การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 72 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งลงโทษให้ยุบพรรคการเมืองได้นั้น
บรรยากาศที่เกิดขึ้นในการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลทางวิชาการของหลายฝ่ายและคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยหนักในวงวิชาการที่น่าชื่นชมยินดีอันจะมีส่วนช่วยพัฒนาความคิดของกฎหมายไทยให้ก้าวหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อได้อ่านแถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังกล่าว ก็มีประเด็นที่ควรจะได้มีการถกเถียงอภิปรายทางวิชาการ เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามทางปัญญาต่อไป
ทั้งนี้ ด้วยความเคารพต่อคณาจารย์ที่ได้ออกแถลงการณ์ดังกล่าว ในความเห็นส่วนตัวนั้นไม่เห็นด้วยกับการอธิบายให้เหตุผลตั้งข้อสังเกตต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจไม่ได้พิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ อย่างครบถ้วนรอบด้านและแท้จริง โดยยังติดอยู่กับกรอบความคิดทฤษฎีกฎหมายมหาชนของต่างประเทศ ขณะที่หลักกฎหมายมหาชนไทยเองก็มีข้อยกเว้นที่อาจไม่ได้เดินตามรอยของต่างประเทศทั้งหมดแต่ก็สามารถอธิบายและยอมรับกันในระบบของกฎหมายมหาชนไทย
ซึ่งบทความนี้จะขอนำเสนอมุมมองวิชาการอีกด้านหนึ่งเพื่อชี้ให้เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคอนาคตใหม่มีความชอบในการให้เหตุผลทางกฎหมายแล้ว โดยเบื้องต้นจะขอสรุปใจความสำคัญในคำแถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.ก่อนแล้วจึงจะได้อธิบายเป็นลำดับไป ดังต่อไปนี้
1. พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ทางคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.ที่ออกแถลงการณ์ฯ ไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน เพราะไม่ถูกตรงตามหลักกฎหมายมหาชนที่เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยถึงความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนที่ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ
1)พิจารณาจากกฎหมายที่จัดตั้งนิติบุคคลว่าเป็นกฎหมายมหาชนหรือไม่
2)พิจารณาจากอำนาจที่องค์กรนั้นใช้ว่าเป็นอำนาจมหาชนที่มีอำนาจเหนือหรืออำนาจฝ่ายเดียวหรือไม่
3)พิจารณาจากกิจกรรมที่นิติบุคคลนั้นดำเนินการว่ากิจกรรมที่ทำเป็นเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะหรือไม่ โดยที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนได้นั้นจะต้องเข้าองค์ประกอบครบถ้วนทั้งสามประการ
เมื่อวินิจฉัยตามองค์ประกอบดังกล่าว พรรคการเมืองควรถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน เพราะ กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้พรรคการเมืองสามารถใช้อำนาจมหาชนหรือหรือใช้อำนาจในลักษณะที่มีอำนาจเหนือหรืออำนาจฝ่ายเดียวแต่อย่างใด และพรรคการเมืองไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรงและเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักร เยอรมนี หรือฝรั่งเศส พรรคการเมืองทั้งหลายต่างมีสถานะเป็นเพียงนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น
กล่าวโดยสรุป คณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่านิติบุคคลมหาชนจะต้องจัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น พรรคการเมืองซึ่งต้องขออนุญาตจดทะเบียนจัดตั้งและต้องได้รับอนุญาตให้จัดตั้งจากนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงไม่อาจและจะต้องไม่เป็นนิติบุคคลมหาชน ดุจเดียวกับสมาคม มูลนิธิ หรือแม้แต่บริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นข้างมาก ซึ่งล้วนแต่มีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ทั้งตามหลักทฤษฎีทางกฎหมายและตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุดที่วางบรรทัดฐานตลอดมาในระบบกฎหมายไทย โดยสอดคล้องหลักกฎหมายที่เป็นสากลทั่วโลก เมื่อพรรคการเมืองทั้งหลายไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองในฐานะนิติบุคคลนั้นจึงสามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจดังเช่นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนแต่อย่างใด แต่การที่พรรคการเมืองมีสถานะนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ย่อมทำให้พรรคการเมืองมีสิทธิและหน้าที่ในทำนองเดียวกับบุคคลธรรมดาซึ่งมีความสามารถและมีเสรีภาพในการเข้าทำสัญญาได้ตามใจสมัครภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของพรรคการเมือง
2.การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา
คณาจารย์ที่ออกแถลงการณ์มองว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำข้อเท็จจริงว่าในสัญญาของพรรคอนาคตใหม่ที่กู้เงินมีการคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือไม่คิดดอกเบี้ยถือเป็นการผิดปกติทางการค้า นั้นไม่ถูกต้องเพราะการคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป็นแต่เพียงการที่เจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมหรือค่าเสียโอกาสในการหาประโยชน์จากเงิน แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสียหรือเสียหายในทางทรัพย์สิน การไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้าแต่อย่างใด
การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ากฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่การบริจาคหรือการให้ประโยชน์อื่นใด ตามนัยของมาตรา 66 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หากแต่เป็นหนี้สินที่พรรคการเมืองอาจก่อขึ้นได้ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน
3.ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้ คณาจารย์นิติศาสตร์มธ.มีความเห็นว่า มาตรา 72 ไม่อาจนำมาใช้ตีความประกอบกับมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้ แม้ว่าบทบัญญัติทั้งสองมาตราจะอยู่ภายใต้หมวด 5 ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมืองก็ตาม เนื่องจากมาตรา 72 ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกระทำการไว้เป็นการชัดแจ้งแยกออกจากมาตราอื่นและเป็นมาตรการเฉพาะที่ห้ามพรรคการเมืองรับเงินรายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ย่อมมีเสรีภาพในการทำสัญญากู้ยืมเงินได้โดยไม่จำต้องมีกฎหมายให้อำนาจและการให้กู้เงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือแม้แต่ไม่คิดดอกเบี้ยเลยเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา เงินกู้ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินที่มีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา 72 เพื่อเป็นเหตุในการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา92 วรรคหนึ่ง (3) ได้
4.ความสำคัญของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ โดยคณาจารย์ที่ออกแถลงการณ์มองว่า “ การใช้อำนาจขององค์กรของรัฐจะต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อความเป็นอิสระ เสรีภาพ และการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมของพรรคการเมืองทั้งหลาย การยุบพรรคการเมือง ซึ่งหมายถึง การทำลายองค์กรที่เป็นผู้ทำหน้าที่ก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองและเป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชนในสังคมการเมืองนั้น ควรเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคการเมืองได้กระทำการอันขัดต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญมีความร้ายแรงถึงขนาดสมควรที่จะต้องถูกยุบพรรค
ศาลรัฐธรรมนูญอาจยุบพรรคการเมืองได้เฉพาะกรณีที่พรรคการเมืองนั้นกระทำความผิดอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่ไม่สามารถอ้างความคุ้มครองจากเรื่องเสรีภาพของพรรคการเมืองได้เท่านั้น การยุบพรรคการเมืองจึงต้องเป็นมาตรการสุดท้าย (ultima tatio) ของบรรดามาตรการอื่นๆ เมื่อไม่มีมาตการอื่นที่มีประสิทธิภาพและได้สัดส่วนแล้วเท่านั้น และในกรณีที่ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าพรรคการเมืองใดกระทำการในลักษณะดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องจำกัดอำนาจตนเอง ...”
จากประเด็นข้อสังเกตและความเห็นของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ที่สรุปมาข้างต้น จึงนำมาสู่ประเด็นข้อโต้แย้งทางวิชาการและสนับสนุนการให้เหตุผลทางกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยดังกล่าวว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายมหาชนของประเทศไทย ดังนี้
ประการแรก พรรคการเมืองในระบบกฎหมายมหาชนไทยมีประวัติความเป็นมาจากการเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติพรรคการเมืองที่รับรองและจัดตั้งขึ้นโดยต้องมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและผูกพันพรรคการเมืองต้องดำเนินงานต่างๆตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด มิได้เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของการรวมตัวกันของบุคคลเพื่อแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกที่ถือว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนตามที่ปรากฏอ้างอิงในแถลงการณ์คือสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ขณะเดียวกันเมื่อย้อนกลับไปดูวิวัฒนาการของกฎหมายพรรคการเมืองไทย กฎหมายพรรคการเมืองจะเข้าไปควบคุมการดำเนินการต่างๆของพรรคการเมืองโดลตลอดในหลายเรื่อง มิได้ปล่อยให้เป็นเสรีภาพอย่างอิสระที่จะกระทำอะไรก็ได้ตามอย่างนิติบุคคลกฎหมายเอกชน ทั้งนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็มิได้มีบทบัญญัติมาตราใดที่กล่าวถึงพรรคการเมืองเอาไว้เป็นการเฉพาะ ขณะที่พรรคการเมืองนั้นถูกรับรองไว้โดยชัดแจ้งจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆเอาไว้ครอบคลุมหลายเรื่องว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายโทษที่จะลงนั้นก็อาจนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบันจะปรากฏเจตนารมณ์ถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดหลายเรื่องกับพรรคการเมืองนับตั้งแต่ขั้นตอนการจัดตั้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การกำหนดให้มีทุนประเดิมในการจัดตั้งพรรคการเมือง การกำหนดให้ต้องมีสมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ จึงย่อมแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดที่ต้องตีความกฎหมายพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มุ่งควบคุมพรรคการเมืองไม่ได้ปล่อยให้มีอิสระที่จะดำเนินการใดก็ได้ถ้ากฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามเอาไว้
ประการที่สอง ปัญหาว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายเอกชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงทางวิชาการว่า ถ้าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนก็จะเข้าข่ายว่ากู้เงินไม่ได้เพราะกฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้กำหนดให้มีอำนาจกระทำได้ ขณะที่ถ้าตีความว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ก็จะเอาผิดไม่ได้เพราะต้องถือหลักที่ว่า ถ้ากฎหมายไม่ได้ห้ามก็จะมีเสรีภาพกระทำได้นั้น ประกอบกับถ้าพิจารณาตามหลักการจำแนกนิติบุคคลมหาชนออกจากเอกชน ที่ว่าองค์กรนั้นต้องอำนาจมหาชนและมีฐานะเหนือกว่าเอกชนที่จะสามารถออกคำสั่งกับประชาชนหรือมีการจัดทำบริการสาธารณะบางอย่างให้กับประชาชน ก็จะส่งผลให้การตีความว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนดูไม่สมเหตุสมผลและยอมรับได้ตามหลักทฤษฎีกฎหมายชนต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นวิชาการที่คณาจารย์คณะนิติศาสตร์มธ. ได้หยิบยกมาเป็นความสำคัญข้อแรกในแถลงการณ์ถึงความห่วงใยในการใช้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในการระบุว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนและใช้เป็นฐานคิดเชื่อมโยงกับเหตุผลในข้ออื่นๆ
ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลได้ให้เหตุผลผิดพลาดจริงหรือไม่ตามหลักทฤษฎีกฎหมายมหาชน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงระบบนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนไทย สามารถมองได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญถึงประเด็นกฎหมายอันเป็นที่มาของการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นหลักโดยดูว่าเป็นอำนาจจัดตั้งโดยกฎหมายมหาชนหรือไม่ เพราะพรรคการเมืองไทยเกิดขึ้นจากการที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กฎหมายมหาชนรับรองให้จัดตั้ง ดังจะเห็นจากมาตรา 4 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติว่า“พรรคการเมือง” หมายความว่า คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
โดยองค์ประกอบของความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนตามหลักทฤษฎีกฎหมายมหาชนต่างประเทศที่ยึดถือกันว่าองค์กรนั้นต้องมีลักษณะการใช้อำนาจทางมหาชนและมีการจัดทำบริการสาธารณะบางอย่างด้วยนั้น จะไม่เอามาใช้กับกรณีของพรรคการเมืองในประเทศไทย ด้วยเหตุที่เป็นข้อยกเว้นในกรณีนี้ เช่นเดียวกับการที่ ระบบกฎหมายมหาชนไทย ยอมรับว่า “วัดในพระพุทธศาสนา” ที่จัดตั้งขึ้นโดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ซึ่งวัดเองก็ไม่ได้มีอำนาจมหาชนจะไปบังคับกับใครได้และไม่ได้จัดทำบริการสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ประชาชน ขณะที่องค์กรในทางศาสนาอื่นๆกลับถือว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น ดังนั้นองค์ประกอบในข้อที่องค์กรนั้นต้องมีการใช้อำนาจมหาชนจึงไม่ใช้กับทุกองค์กร ซึ่งการเป็นนิติบุคคลมหาชนของวัดในพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ย่อมเกิดจากสภาพสังคมและพัฒนาการความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของรัฐไทยที่ถือว่างานในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของรัฐ
เมื่อย้อนกลับมาถึงความเป็นพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเป็นการรวมตัวกันของบุคคลผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันเพื่อมุ่งเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในการใช้อำนาจรัฐไปดำรงตำแหน่งได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐมนตรี ยิ่งจะมีความสำคัญยิ่งกว่าวัดในทางพระพุทธศาสนา ที่น่าจะมีการควบคุมโดยกฎหมายมากยิ่งขึ้น ถ้าจะมองว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนซึ่งมีเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้ถ้ากฎหมายไม่ได้ห้าม การกู้เงินก็จะทำได้โดยอิสระไม่มีการควบคุม
ฉะนั้นจึงมาถึงทางเลือกในการพิจารณาบทบาทความสำคัญของพรรคการเมือง ว่าจะมีการควบคุมมากน้อยเพียงใดในเรื่องต่างๆไม่จำเพาะแต่เรื่องการกู้เงิน การตีความว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนที่ต้องถูกควบคุมในการดำเนินการต่างๆต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนดหรืออนุญาตให้ทำได้จะมีความสอดคล้องกันเป็นระบบกฎหมายมหาชนและเจตนารมณ์ของความสำคัญของพรรคการเมืองที่ต้องมีการควบคุม มากกว่าที่จะมองว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนซึ่งจะทำให้มีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่กฎหมายไม่ได้ห้าม อันอาจจะส่งผลร้ายแรงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพิจารณาจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ในอดีตของปัญหาพรรคการเมืองไทยที่ถูกครอบงำของกลุ่มทุนไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ประกอบเมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่มุ่งควบคุมการดำเนินงานต่างๆของพรรคการเมืองมากกว่าปล่อยให้มีอิสระ โดยเฉพาะบรรดามาตรการต่างๆของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดหลักประชาธิปไตยในพรรคการเมืองและการไม่ถูกครอบงำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ดังนั้นในปัจจุบันการกู้เงินของพรรคการเมืองในประเทศไทยจึงไม่สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีบทกฎหมายใดรับรองให้กระทำได้ เงินที่ได้มาจากการกู้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามไปด้วย ซึ่งไม่ใช่ว่าเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะมีแต่เงินสกปรกของแหล่งที่มาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องความเป็นนิติบุคลตามกฎหมายมหาชนจึงชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้วตลอดจนสอดคล้องในการตีความของข้อยกเว้นในการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนในระบบกฎหมายไทยเทียบเคียงกับกรณีการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนของ วัดตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505
ประการที่สาม การที่แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวล่วงวินิจฉัยเรื่องการกำหนดดอกเบี้ยในสัญญากู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ ที่ควรเป็นแดนเสรีภาพของเอกชน และไม่ได้เป็นการผิดปรกติวิสัย เพราะอัตราดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น การจะกำหนดให้ต่ำกว่าก็เป็นเรื่องปกติที่สามารถกระทำได้ตามเจตจำนงของคู่สัญญา
สำหรับประเด็นเรื่องดอกเบี้ยในสัญญากู้เงินของพรรคอนาคตใหม่นั้น ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ให้เห็นเป็นเพียง ความน่าสงสัย โดยมิได้เข้าไประบุว่าการกำหนดนั้นทำไม่ได้หรือไม่อย่างไรตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ข้อพิจารณาสำคัญที่เป็นข้อเท็จจริงแห่งคดีน่าจะอยู่ที่พฤติการณ์ของการกู้เงินทั้งหมดมากกว่าที่น่าสงสัยยิ่งว่ากระทำไปเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงกฎหมายพรรคการเมืองในเรื่องการรับบริจาคที่ห้ามเกิน 10 ล้านบาทต่อปีตามมาตรา 66วรรคสองหรือไม่ เพราะเป็นการกู้เงินจำนวนมาก ทั้งที่ๆเมื่อพิจารณารายได้และรายจ่ายของพรรคก็มีจำนวนต่างกันไม่มากนักที่อาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินก็ได้
ประกอบกับผู้ที่ให้กู้นั้นมีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในเวลาเดียวกันด้วย จึงอาจเข้าข่ายการครอบงำพรรคการเมืองโดยบุคคลขัดต่อหลักประชาธิปไตยในพรรคการเมืองได้ อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของพฤติการณ์ในการกู้เงินครั้งนี้ จึงมีลักษณะที่ขัดต่อหลักความสุจริต มีพิรุธหลายข้อ แม้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญขอให้ส่งเอกสารประกอบต่างๆเพื่อประกอบการพิจารณาทางพรรคการเมืองก็ขอขยายเวลาอีกและใช้เวลานานผิดปกติ ดังนั้นสัญญาการกู้เงินของพรรค จึงอาจไม่ใช่การแสดงถึงความโปร่ใสของพรรคการเมือง เพราะแท้จริงแล้ว การกู้เงินอาจเป็นการอำพรางเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงข้อกำหนดตามกฎหมายในการรับบริจาคของพรรคการเมือง ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีจึงมีพยานหลักฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญเชื่อได้ว่าการกู้เงินดังกล่าวได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ประการที่สี่ ประเด็นของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์มธ.ที่ไม่เห็นด้วยในการกำหนดโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความร้ายแรงไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด อีกทั้งมองว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน การกู้เงินจึงสามารถทำได้ ทำให้ไม่มีความผิดตามไปด้วยนั้นซ้ำร้ายการยุบพรรคการเมืองยังถือว่าเป็นการทำลายเจตจำนงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองนั้นมา ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วยนั้น
ในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าคำแถลงการณ์เป็นการอธิบายให้เหตุผลโดยไม่ได้พิจารณาจากตัวบทบัญญัติของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างครบถ้วนเพราะหากพิจารณาในฐานความผิดอื่นที่ปรากฏโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายนั้น ก็มีความผิดฐานอื่นที่อาจพิจารณาได้ว่าแม้ไม่ได้มีการกระทำที่ร้ายแรงเป็นภัยต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่กฎหมายก็ยังกำหนดให้ลงโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้ดังจะเห็นจากมาตรา 92 (3) ที่มีการกำหนดการฝ่าฝืนไว้ จำนวน 9 มาตรา อีกทั้งบทบัญญัติของกฎหมายพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีดุลพินิจในการลงโทษโดยกำหนดเป็นอย่างอื่นได้ ดังจะเห็นได้จากมาตรา 92 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า “ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น “ ซึ่งถ้อยคำในมาตรานี้ ไม่ได้ระบุว่าต้องมีหลักฐานที่เห็นอย่างชัดเจนแต่อย่างใด ขอให้มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองได้กระทำการตามที่มาตรา 92 บัญญัติไว้ก็เพียงพอ ซึ่งในกรณีการกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่นั้น เข้าตาม (3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การบัญญัติกำหนดโทษร้ายแรงในการยุบพรรคการเมืองไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้นสามารถตีความได้ว่าเป็นความพยายามในการสร้างระบบให้เกิดความรับผิดชอบของพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมือง ร่วมกันที่ต้องควบคุมตรวจสอบกันภายใน และจะมีนายทะเบียนพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้งมาช่วยตรวจสอบให้การดำเนินงานต่างๆเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้รับรองให้สามารถกระทำได้
ถึงแม้พรรคการเมืองจะเกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลที่มีอุดมการณ์จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองตามหลักเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองคุ้มครองไว้ให้ แต่เมื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองแล้วก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด อีกทั้งถ้าพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก็ยังมีหลักการพื้นฐานที่สามารถตีความได้ว่าเป็นหลักประชาธิปไตยในพรรคการเมือง และหลักการดำเนินงานที่ต้องยึดกฎหมายเป็นหลักที่จะต้องใช้ประกอบกับการพิจารณากับหลักเสรีภาพของบุคคลที่รวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองที่ถูกตีกรอบด้วยกฎหมายในการให้อำนาจกระทำการ ดังจะเห็นได้จากมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560ที่บัญญัติว่า
มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
โดยเจตนารมณ์เรื่องนี้ยังเชื่อมโยงย้อนกลับไปยังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557มาตรา 35 (5) ซึ่งกำหนดว่า “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องกลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ ซึ่งถูกบันทึกไว้ในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
หากกล่าวโดยสรุปเมื่อพิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ตลอดจนหลักในการวินิจฉัยความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนของพรรคการเมืองไทยที่มีความเป็นมาแตกต่างจากพรรคการเมืองในต่างประเทศเพราะเกิดจากการที่กฎหมายรับรองและจัดตั้งให้มิใช่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติของการรวมตัวของบุคคลที่เป็นนิติบุคคลเอกชน รวมถึงข้อเท็จจริงแห่งคดีที่มีหลักฐานปรากฏแก่ศาลอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำฝ่าฝืนเข้ามาตรา 72 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้อ่านคำวินิจฉัยไปกรณีมีคำสั่งให้ยุบพรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาจึงมีความชอบในการให้เหตุผลทางกฎหมายแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากคำวินิจฉัยฉบับเต็มยังไม่ได้มีการเผยแพร่ออกมาจึงไม่อาจทราบถึงข้อเท็จจริงแห่งคดีและการให้เหตุผลโดยละเอียดของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้นำไปสู่การวิเคราะห์คำวินิจฉัยอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไปในอนาคต
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านเรื่องประกอบ:
คดีอาญาติดตัว‘ธนาธร-กก.บห.อนค.’ โทษสูงสุดคุก 3-18 ปี-เงินกู้ต้องคืนหลวงเท่าไหร่?
ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาล รธน.ฟัน อนค.ทำพรรคเป็นธุรกิจการเมือง-บงการเพียงผู้เดียว
เปิดมติศาล รธน. 7:2 ยุบ อนค.คดีกู้เงิน‘ชัช-ทวีเกียรติ’เสียงข้างน้อย
ยุบพรรคอนาคตใหม่! คำวินิจฉัย ศาล รธน.คดีเงินกู้-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กก.บห.10 ปี
คำต่อคำ 'ธนาธร-ปิยบุตร' : การเดินทาง1ปี4 ด.18 วันที่สวยงาม-นิติสงคราม เล่นจริง เจ็บจริง
'ธนาธร'ประกาศตั้งคณะอนาคตใหม่ลุยการเมือง- 'ปิยบุตร'เย้ยผกก.เบื้องหลังหยุดปีศาจไม่ได้
ย้อนดูสัญญาเงินกู้ 2 ฉบับ 191.2 ล. เอื้อ ปย. อนาคตใหม่ ชนวนปิดฉาก ‘ธนาธร-พวก'
เปิดมติศาล รธน. 7:2 ยุบ อนค.คดีกู้เงิน‘ชัช-ทวีเกียรติ’เสียงข้างน้อย