ครม.อนุมัติแพกเกจช่วยเหลือท่องเที่ยว รับมือผลกระทบ 'ไวรัสโคโรน่า'
ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือท่องเที่ยว รับมือผลกระทบ 'ไวรัสโคโรน่า' กันเงินกู้ 1.25 แสนล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ พร้อมให้ 5 แบงก์รัฐขยายเวลาชำระหนี้ แถมลดภาษีน้ำมันเครื่องบินเหลือ 20 สต./ลิตร คาดสูญรายได้ 2,300 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนสูงถึง 27.5% ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด
สำหรับมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย 1.มาตรการด้านการเงิน โดยให้สถาบันการเงินของรัฐดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และปรับปรุงสถานประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการ และมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือรวม 1.25 แสนล้านบาท ได้แก่
-โครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทย ของธนาคารออมสิน วงเงินคงเหลือ 40,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) เป็นระยะเวลา 4 ปี
-โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินคงเหลือ 15,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก วงเงินต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี (ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี)
-โครงการสินเชื่อ กรุงไทย SME ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินคงเหลือ 55,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี วงเงินต่อรายสูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี
-โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) ของธนาคารออมสิน วงเงินคงเหลือ 15,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการอัตรา 0.1% ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการคิดดอกเบี้ยกับ SMEs ในอัตรา 4% ต่อปี วงเงินต่อรายสูงสุด 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี (ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี)
พร้อมกันนั้น สถาบันการเงินของรัฐยังมีมาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียมเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในช่วงที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่
-ธนาคารออมสิน มีมาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 2 เท่า ของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญา สูงสุดไม่เกิน 5 ปี สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยว
-ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นสำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวที่มีวงเงินคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยต้องมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันเข้าร่วมโครงการและต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan : NPL) สำหรับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมาตรการผัดผ่อนการชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน ต่อเนื่องไม่เกิน 5 ครั้ง หรือสามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 20 ปี สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร หรือกองทุนหมู่บ้านที่ประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจ มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ หรือมีผลประกอบการขาดทุน
-ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และงวดผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เช่น ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
-บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีมาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ 12 เดือน สำหรับลูกค้า SMEs เดิมของ บสย. สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรมที่พัก
2.มาตรการด้านภาษี ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรการย่อย ได้แก่ (1)การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 เป็นเวลา 3 เดือน หรือเป็นภายในเดือนมิ.ย.2563 เพื่อช่วยเหลือผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่อาจส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทย
(2) มาตรการภาษีเพื่อสนับสุนนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวฯ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2563 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
โดยมาตรการภาษีดังกล่าว คาดว่าจะมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีประมาณ 1,000 ราย และมีจำนวนเงินที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 435 ล้านบาท จึงจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 87 ล้านบาท
(3) มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมหักรายจ่าย สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เป็นจำนวน 1.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยจะต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. และทรัพย์สินต้องพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2563
สำหรับทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ ได้แก่ (1) อาคารถาวรที่มีไว้ใช้ในการประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และ (2) เครื่องตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นส่วนประกอบและยึดติดกับอาคารตาม (1) เป็นการถาวร
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมปรับปรุงกิจการ 1,000 ราย คิดเป็นจำนวนเงินที่ใช้ในการปรับปรุงโรงแรมประมาณ 24,000 ล้านบาท ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล 120 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี ส่วนการลงทุนในเครื่องตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ฯ คาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 25 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี รวมสูญเสียรายได้ทั้งสิ้นประมาณ 2,900 ล้านบาท
(4) มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ) เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย โดยจะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 30 ก.ย.2563 หรือประมาณ 8 เดือน
โดยคาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ 2,300 ล้านบาท แต่จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงทางสภาวะเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจไทย
อ่านประกอบ :
‘ไวรัสอู่ฮั่น’ สะเทือนขวัญแรงงาน ‘ไกด์ทัวร์’ เตะฝุ่น 1 หมื่น-ลูกจ้างรายวัน 4 แสนคน สูญรายได้
‘ไวรัสโคโรน่า-งบปี’63 ช้า’ ฉุดศก.ไตรมาสแรก ‘ลงลึก’ แบงก์ชาติจ่อหั่นจีดีพีต่ำ 2.8%
ร่างพ.ร.บ.งบปี’ 63 ส่อ ‘แท้ง’ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยซบยาว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/