โซเชียลมีเดีย สื่อป่วนโลก : เฟค นิวส์ ข่าวป่วนเมือง
สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับโซเชียลมีเดียต่อการเผยแพร่ข่าวปลอมในภาวะวิกฤติ คือ ความจริงใจการใช้อัลกอริทึมที่มีประสิทธิภาพในการคัดกรองข่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของโซเชียลมีเดียเอง และหามาตรการหลีกเลี่ยงไม่ให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือของเด็กเลี้ยงแกะที่กำลังใช้สื่อโซเชียลในการสร้างและเผยแพร่ข่าวเท็จเพื่อซ้ำเติมความตระหนกให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
วิกฤติไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเชื่อว่า ต้นตอของเชื้อโรคมาจากสัตว์ได้สร้างความตื่นตระหนกและเชื้อโรคได้ลุกลามไปหลายประเทศจนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศทำให้ประชาชนทั้งโลกต่างอยู่ในภาวะเตรียมรับมือและหาวิธีป้องกันตัวเอง รวมทั้งหามาตรการยับยั้งการแพร่กระจายของโรคอย่างเข้มข้น
สิ่งที่แพร่ออกไปพร้อมๆกันกับเชื้อไวรัสโคโรน่าคือ ข่าวปลอม ที่ถูกสร้างด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง ซึ่งไม่เพียงสร้างความสับสนวุ่นวายต่อสังคมและรัฐบาลของประเทศที่ได้รับผลกระทบแล้วยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับภาครัฐที่ต้องมานั่งแถลงข่าวการจับผู้ปล่อยข่าวปลอมไม่เว้นแต่ละวันต้องเสียเงินเสียทอง เสียเวลาแก้ข่าวและบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาของภาครัฐอยู่ไม่น้อย
ข่าวปลอมจากโซเชียลมีเดีย มิใช่เกิดเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น การปล่อยข่าวปลอมผ่านสื่อโซเชียลเกิดขึ้นกับหลายประเทศในโลกและเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีความอ่อนไหวต่อการเกิดความรุนแรง เพราะข่าวปลอมสามารถทำให้คนบริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิตดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศอินเดียซึ่งมีผู้ถูกรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิตจากข่าวลือผ่านโซเชียลมีเดียและมีผู้ถูกเผาทั้งเป็นจากการเผยแพร่ข่าวลือผ่านโซเชียลมีเดียในประเทศเม็กซิโก เป็นต้น
ในช่วงที่ไวรัสโคโรน่ากำลังแพร่ระบาดมีการเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านสื่อโซเชียลต่างๆในประเทศไทยจำนวนมาก เป็นต้นว่า ข่าวการเดินทางของคนจีน 5 ล้านคนมายังประเทศไทยที่มีสื่อนำเสนอและเผยแพร่ต่อทางโซเชียลมีเดีย การแพร่ข่าวการติดเชื้อของผู้คนตามสถานที่ต่างๆโดยคิดเอาเองว่า เป็นความจริงหรือแชร์ต่อจากเพื่อน การแพร่ข่าวตลาดที่เชื่อว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ข่าวและรูปแสดงการกินสัตว์แปลกๆ หรือแม้แต่การแนะนำให้กินสมุนไพรเพื่อรักษาอาการติดเชื้อไวรัส ซึ่งข่าวสารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวปั้นน้ำเป็นตัวที่มาจากโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น
ข่าวปลอมที่ถูกแพร่ออกมาจากโซเชียลมีเดียในขณะที่โลกอยู่ในภาวะวิกฤติได้สร้างความแตกตื่น รวมทั้งสร้างความเชื่อที่ผิดต่างๆแก่ผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ผู้คนยังขาดความรู้ ขาดวิจารณญาณและใช้สื่อโซเชียลด้วยความคึกคะนองหรือต้องการสร้างเครดิตจากยอดไลค์แก่ตัวเองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ยิ่งจะทวีความสับสนให้กับผู้คนที่บริโภคข่าวผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย โซเชียลมีเดียจึงเป็นสื่อตัวแม่ที่ช่วยกระพือข่าวปลอมไปยังทุกมุมโลกด้วยระยะเวลาเพียงแค่เสี้ยววินาที
สิ่งน่ารังเกียจเป็นอย่างยิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นในสถานการณ์วิกฤติก็คือ การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อหวังผลทางการเมือง ทั้งจากตัวนักการเมืองเองและพลพรรคที่สนับสนุนกลุ่มการเมืองโดยใช้ความมีชื่อเสียงของตัวเองในการเผยแพร่ข่าว ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าความเห็นที่ไร้ความสร้างสรรค์ต่างๆจะออกมาจากปากของนักการเมืองที่มักถูกเรียกว่า ผู้ทรงเกียรติและชอบอ้างตัวเองอยู่เสมอว่ามาจากประชาชน เพราะแทนที่นักการเมืองเหล่านี้จะให้คำแนะนำที่สร้างสรรค์หรือให้กำลังใจต่อรัฐบาลหรือประชาชน แต่กลับเพิ่มความเลวร้ายของสถานการณ์ให้มากขึ้นไปอีกด้วยการฉกฉวยสถานการณ์ปล่อยข่าวด้านลบเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวก ซึ่งในที่สุดจะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดเลย เพราะนอกจากการกระทำดังกล่าวจะประจานความไม่เอาไหนของตัวเองแล้วยังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลภายใต้สถานการณ์อ่อนไหว รวมถึงลดทอนความน่าเชื่อถือของสถาบันผู้แทนราษฎรของประเทศไทยอีกด้วย
ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่โซเชียลมีเดียถูกนำมาใช้ในการเผยแพร่ข่าวปลอมในภาวะวิกฤติ ประเทศต่างๆล้วนแต่เผชิญปัญหาการเผยแพร่ข่าวปลอมไม่แพ้กัน เป็นต้นว่า พม่าประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรากำลังผจญกับปัญหาข่าวปลอมจากสื่อโซเชียลอยู่เช่นกัน ด้วยความเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับจีนจึงทำให้ผู้คนในพม่าสนใจเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรน่าเป็นพิเศษและมีการเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับการรักษาไวรัสโคโรน่ากันอย่างกว้างขวาง เช่น การแพร่ข่าวว่าหัวหอมมีสรรพคุณช่วยป้องกันไวรัสได้ เพราะพบว่า มีคนป่วยใกล้ตายนำหัวหอมวางไว้ใกล้ตัวขณะนอนแล้วเห็นผลในการรักษาหรือการแพร่ข่าวว่าการดื่มสุราสามารถป้องกันไวรัสโคโรนาได้ เป็นต้น
การระบาดของข่าวปลอมไม่ได้สร้างความเสียหายต่อมนุษย์เฉพาะในยุคของการเบ่งบานของข้อมูลข่าวสารเช่นในปัจจุบันเท่านั้น ในยุคที่มนุษย์เริ่มใช้เครื่องพิมพ์เมื่อหลายร้อยปีก่อน มีการเผยแพร่ข่าวสารที่ผิดๆและสร้างความหายนะให้กับมนุษย์ผู้บริสุทธิ์อย่างมากมาย เพราะทันทีที่การพิมพ์ได้เริ่มขึ้นปัญหาความขัดแย้งก็เริ่มปรากฏในชั่วเวลาไม่นาน การแพร่กระจายของสิ่งพิมพ์ นอกจากจะทำให้ความรู้ของผู้คนเพิ่มอย่างรวดเร็วแล้ว การเผยแพร่สิ่งพิมพ์ได้นำไปสู่เหตุการณ์น่าเศร้าสลด เมื่อมีการพิมพ์ คู่มือล่าแม่มด เผยแพร่สู่สารธารณะทำให้หญิงที่ถูกตราหน้าว่า เป็นแม่มดถูกไล่ล่าและถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ หมู่บ้านสองแห่งใกล้กับเมือง เทรียร์ (Trier) ในเยอรมันซึ่งปัจจุบันเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องโลก บรรดาผู้หญิงในหมู่บ้านถูกฆ่าเกือบทั้งหมดเหลือไว้แค่ผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้น
ที่น่าเศร้าสลดไปกว่านั้นก็คือระหว่างปี 1623 ถึง 1631 หัวหน้าบาทหลวงแห่งเมือง เวือทซ์บวร์ค (Bishop of Wurzburg) ได้สั่งประหารเด็กหญิงอายุเพียง 7 ถึง 11 ปี ไปถึง 41 คน
ความชั่วร้ายเหล่านี้ล้วนมาจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกิดจากความเชื่อที่ผิดสู่สาธารณะไม่ต่างจากการระบาดของข่าวปลอมมากมายที่เผยแพร่จากบุคคลร้อยพ่อพันแม่สู่สายตาชาวโลกด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลบนแพลทฟอร์มอันทรงพลังที่เรียกกันว่าโซเชียลมีเดีย ในปัจจุบัน
ความปั่นป่วนที่เกิดจากจากการปล่อยข่าวปลอมสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมจากการใช้โซเชียลมีเดียอย่างน้อยที่สุด 5 ประการ คือ
- การขาดความสมดุลระหว่างศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลกับความสามารถของมนุษย์ในการควบคุมอารมณ์ตัวเองในการใช้เทคโนโลยี เพราะโซเชียลมีเดียเป็นเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาอย่างแยบยลราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตจนยากที่ผู้ใช้จะหักห้ามใจที่จะหยุดหรือเลิกใช้โซเชียลมีเดียนั้นได้แม้ช่วงเวลาสั้นๆ
- มนุษย์ให้น้ำหนักของประโยชน์ของเทคโนโลยีมากจนเกินไปจนขาดความระมัดระวังและลืมผลกระทบในทางลบซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมโดยคาดไม่ถึง
- โซเชียลมีเดียถูกออกแบบมาเพื่อการเรียกร้องความสนใจของผู้คนเพื่อหวังผลทางธุรกิจ แต่ขาดมาตรการการกำกับดูแลผลกระทบในทางลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดกลไกการตรวจสอบความจริง-ความเท็จและมีความเป็นไปได้ที่การสกัดกั้นข่าวที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนออกไปจากโซเชียลมีเดียจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการโซเชียลมีเดีย แม้ว่าข่าวนั้นอาจมีความโน้มเอียงที่จะเป็นข่าวที่ไม่จริงก็ตาม
- ผู้คนขาดความรู้ความเข้าใจต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลซึ่งเป็นโลกใหม่ที่มีสื่อโซเชียลแทรกอยู่แทบจะทุกกิจกรรมของการใช้ชีวิต
- โซเชียลมีเดียถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือของบุคคลหรือกลุ่มคนเพื่อฉกฉวยสถานการณ์โดยใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง โดยมิได้คำนึงถึง ความเหมาะสม จริยธรรมและความสงบของสังคม
การแพร่ระบาดของข่าวปลอมในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะเลวร้ายทำให้โซเชียลมีเดียรายใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อคนทั้งโลกเริ่มขยับตัวเพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่เกิดขึ้นจากสื่อของตัวเองและแสดงให้โลกได้รับรู้ว่าพวกเขาเองไม่ได้นิ่งดูดายเมื่อโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤติ รวมทั้งต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า โซเชียลมีเดียมีประโยชน์ต่อชาวโลกมากกว่าการถูกประณามว่าเป็นสื่อป่วนโลกดังเช่นปรากฏตลอดมาทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ
วิกฤติไวรัสโคโรน่าทำให้ Facebook ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลยอดนิยมเริ่มที่จะคัดกรองข้อความเท็จด้วยการใช้อัลกอริทึมที่ออกแบบมาเพื่อช่วยนำทางให้ผู้ใช้เข้าไปหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เมื่อผู้ใช้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า เพราะ Facebook รู้แล้วว่าข่าวปลอมเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าคือมหันตภัยของสังคม ไม่ใช่แค่สิ่งรบกวนที่สร้างความรำคาญใจแก่ผู้ใช้อีกต่อไป
ในทำนองเดียวกัน Tweeter ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่ส่งข้อความแค่ไม่กี่ตัวอักษรแต่ทรงพลังในการแพร่กระจายข่าวด้วยความรวดเร็ว ได้ใช้อัลกอริทึมเพื่อนำทางผู้ใช้ไปยังแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเมื่อใดก็ตามที่มีผู้ค้นหาคำว่า ไวรัสโคโรน่า ระบบจะนำไปยังเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค
Google ซึ่งเป็นเครื่องมือสืบค้นที่มีประสิทธิภาพที่สุดได้เพิ่มฟังชั่นที่เรียกว่า SOS Alert เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาช่วงวิกฤติไวรัสโคโรน่า โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งระบบจะแจ้งข่าวเมื่อสถานการณ์เกี่ยวกับไวรัสโคโรน่ามีการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่แหล่งข่าวน่าเชื่อถือต่างๆเมื่อมีผู้คนค้นหาคำว่า ไวรัสโคโรน่า
ในขณะที่ YouTube ยังไม่มีมาตรการเฉพาะเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติไวรัสโคโรน่า แต่ก็มีมาตรการต่อสู้ข่าวปลอมโดยแสดงข้อความสั้นๆเกี่ยวบทความและข่าวที่เกี่ยวกับการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าที่น่าเชื่อถือได้เอาไว้บนช่องการสืบค้น
สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับโซเชียลมีเดียต่อการเผยแพร่ข่าวปลอมในภาวะวิกฤติ คือ ความจริงใจการใช้อัลกอริทึมที่มีประสิทธิภาพในการคัดกรองข่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของโซเชียลมีเดียเองและหามาตรการหลีกเลี่ยงไม่ให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือของเด็กเลี้ยงแกะที่กำลังใช้สื่อโซเชียลในการสร้างและเผยแพร่ข่าวเท็จเพื่อซ้ำเติมความตระหนกให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตามการต่อสู่กับ ข่าวปลอม ที่หลายฝ่ายมีความพยายามรับมือกันอย่างขะมักเขม้นอยู่นั้นแม้ว่าจะได้ผลระดับหนึ่งแต่เป็นเพียงมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและข่าวปลอมไม่มีทางที่จะหายไปจากโลกนี้ได้ ตราบใดผู้คนยังใช้โซเชียลมีเดียด้วยความไม่รู้เท่าทัน เพราะข่าวปลอมคืออาหารอันโอชะของโซเชียลมีเดียและการคอร์รัปชันทางข้อมูล(Information corruption) เป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจทางลับที่สร้างความมั่งคั่งแก่โซเชียลมีเดีย ตลอดมา
อ้างอิง
1.https://www.isranews.org/isranews-article/71794-aticle-71794.html
2.https://www.scmp.com/week-asia/health-environment/article/3048453/wuhan-coronavirus-how-facebook-clickbait-fuels-perfect
3.https://www.japantimes.co.jp/news/2020/01/31/business/tech/facebook-coronavirus-fake-news-plan/#.XjTKy4jgrIU
4.The Age of Surveillance Capitalism โดย Shoshana Zuboff
5.Glut โดย Alex Write
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/