นัดตัดสิน10 ม.ค.นี้ ! ศาลปค.สูงสุด ชี้ชะตา 'กลุ่มซีพี' คดีอู่ตะเภาฯ 2.9 แสนล.
ชี้ชะตา กลุ่มซีพี ! ศาลปค.สูงสุด นัดตัดสินคดีค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ 2.9 แสนล.- 10 ม.ค.63 นี้ เวลา 10 โมงตรง หลังการพิจารณาคดีนัดแรก ตุลาการแถลงคดีเสนอกลับคำตัดสินใหม่ให้ชนะร่วมประมูลได้ เหตุกระบวนยื่นข้อเสนอไม่ได้ยึดถือการขน ลำเลียงเอกสาร ผ่านจุดลงทะเบียน 15.00 น. ขณะที่ตัวแทนกองทัพเรือ แย้งทำลายระบบจัดซื้อจ้างมาตรฐานคำตัดสิน สร้างค่านิยมใหม่ เอาเงินชดเชยความผิดได้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด กรณีบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ประกอบไปด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) 4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5. Orient Success International Limited ยื่นฟ้องคดีคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่า ในวันที่ 10 ม.ค.2562 นี้ เวลา 10.00 น. ศาลปกครองสูงสุด ออกนั่งบัลลังก์ตัดสินคดีนี้เป็นทางการ หลังจากเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา ได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก และได้ให้ตัวแทนทั้งจากฝ่ายผู้ที่ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีแถลงด้วยวาจาต่อหน้าบัลลังก์ศาลปกครองสูงสุดไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับการตัดสินคดีครั้งนี้ ถือเป็นการชี้ขาดปัญหาข้อพิพาทในการที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติไม่รับซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ที่ยื่นมาเกินเวลาที่กำหนด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซองข้อเสนอด้านราคา ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันคณะอนุกรรมการคัดเลือกฯ ได้ตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องข้อมูลซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอการนำเสนอผลเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชุดใหญ่
สำหรับการออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรกของ ศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า นายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองชั้นต้น ประจำศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า จากที่ได้ศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประกาศของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ข้อเท็จจริงในคดีแล้ว เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ การจะดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรับเอกสาร ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน มีการแจ้งให้ผู้เข้าร่วมประมูลทราบล่วงหน้า เพื่อความโปร่งใส แต่ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีกระบวนการรับและตรวจเอกสารโดยวิธีการใดอย่างชัดเจน
ในวันที่ 21 มี.ค. 62 ซึ่งเป็นวันยื่นข้อเสนอมีเพียง ให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูลลงทะเบียนก่อน และให้ไปพักรอในห้องพักคอย ทำให้ บริษัทธนโฮลดิ้งสามารถทำการจัดและเพิ่มเอกสารบางรายการได้ จนเมื่อใกล้เวลา จึงให้บริษัทที่ประสงค์จะยื่นข้อเสนอไปยื่นเอกสาร ซึ่งเป็นกระบวนการรับและมีการตรวจเอกสารที่ละราย โดยรายแรกยื่นในเวลา 15.00 น. แสดงให้เห็นว่ากระบวนยื่นข้อเสนอดังกล่าวไมได้ยึดถือการขน ลำเลียงเอกสาร ให้ต้องผ่านจุดลงทะเบียนในเวลา 15.00 น.
นายเชี่ยวชาญ แถลงต่อว่า นอกจากนี้ เมื่อบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด ยื่นเอกสารแล้วมีการตรวจรับโดยไม่มีการทักท้วง หรือออกใบรับอย่างมีเงื่อนไขให้แต่อย่างใด จึงถือได้ว่า คณะกรรมการคัดเลือกได้มีการตรวจสอบเอกสารจนครบถ้วนแล้ว ส่วนที่มีการอ้างถึงรายงานคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอ รวมถึงภาพถ่ายการลำเลียงเอกสารผ่านจุดลงทะเบียนในเวลา 15.09 น. ก็เป็นการอ้างเอกสารที่เกิดขึ้นภายหลัง และเมื่อพิจารณาเอกสารกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคาและแผนธุรกิจแล้วก็ไม่ใช่เอกสารที่กำหนดให้ต้องมีการเปิดซอง ณ ขณะนั้น ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถที่จะนำไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือล่วงรู้ข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้ ดังนั้น รายงานของคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสาร รวมถึงภาพถ่ายการลำเลียงเอกสารจึงไม่อาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อมีมติไม่รับพิจารณาข้อเสนอด้านราคาและแผนธุรกิจของบริษัทธนโฮลดิ้งกับพวก จึงเสนอให้องค์คณะศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
อย่างไรก็ดี คำแถลงคดีของนายเชี่ยวชาญนั้น ยังไม่ถือเป็นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด
ส่วน น.ส.ปะราลี เตชะจงจินตนา ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด ในฐานะตัวแทนฝ่ายผู้ฟ้องคดี แถลงต่อศาลฯ ว่า สถานที่ยื่นข้อเสนอที่มีการกำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการนี้ หรือ (RFP)ระบุชัดเจนว่าเป็นห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ไม่ใช่จุดลงทะเบียน ตามที่มีการนำมาอ้างและตัดสิทธิการยื่นข้อเสนอ
"โครงการนี้มีผู้ร่วมยื่นซองจำนวนมาก จึงมีการทยอยนำเอกสารมาทุกราย ซึ่ง ณ.เวลา 16.45 น. ที่บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัดกับพวก ได้เข้ายื่นเอกสารต่อคณะกรรมการคัดเลือกนั้น มีเอกสารครบถ้วนทุกรายการ และคณะกรรมการได้ตรวจรับไว้ทั้งหมด คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีหน้าที่ต้องพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด และหากศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกที่ตัดสิทธิบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ตรงกันข้ามจะทำให้รัฐได้รับประโยชน์สูงสุด ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกสามารถพิจารณาข้อเสนอของเอกชนทุกรายได้อย่าครบถ้วน สมกับเจตนารมณ์ในการเปิดประมูลครั้งนี้"
ด้าน พล.ร.ต. เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก ในฐานะของตัวแทนของผู้ที่ถูกฟ้องคดีแถลงแย้งว่า จุดลงทะเบียนบริเวณห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ยื่นข้อเสนอที่คณะกรรมการคัดเลือกกำหนด และคณะกรรมการได้ยึดถือในเรื่องเวลาเป็นสำคัญ โดยมีการกำหนดใน RFP ว่า เวลายื่นข้อเสนอคือ 09.00 น. -15.00 น หากมายื่นหลังเวลา 15.00 น.จะไม่รับพิจารณา เพื่อปิดช่องไม่ให้มีการใช้ดุลยพินิจเรื่องขยายเวลา และผู้ที่ปฏิบัติในสถานที่ดังกล่าวล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ หากมีการดำเนินการนอกจากหลักเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น การที่บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก อ้างว่าเจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติผิดพลาด เพื่อให้บริษัทตนเองได้มีสิทธิยื่นเอกสารประมูลครบถ้วนถือว่าไม่ถูกต้อง
“บริษัทธนโฮลดิ้งเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับบริษัทที่ได้สัมปทานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เพิ่งลงนามกันไปเมื่อเร็ว ๆนี้ ซึ่งในการดำเนินการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ก็ใช้หลักการและระเบียบวิธีการเดียวกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงดังกล่าว โดยมีเงื่อนเวลาเป็นหลักสำคัญ ซึ่งทางกลุ่มผู้ฟ้องก็ปฏิบัติได้ แต่มีข้อสังเกตว่าทำไมในโครงการนี้ถึงทำไม่ได้"
"การจะอ้างเรื่องจราจรติดขัด ถามว่าทำไมบริษัทที่เข้าร่วมประมูลอื่นจึงทำได้ รวมทั้งยังมีข้อน่าสงสัยว่า เมื่อมาถึงจุดทะเบียนแล้วจริงอยู่ทุกบริษัทเอกสารไม่พร้อม แต่ก็ทยอยนำมาถึงสถานที่ยื่นข้อเสนอในเวลาถัดมาครบทั้ง 9 กล่อง มีแต่ของบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัดกับพวก ที่มีการทยอยนำมาถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 มาแค่ 7 กล่อง อีก 2 กลุ่มที่เหลือคือแผนธุรกิจ และข้อเสนอด้านราคา มาทีหลังเป็นเพราะ การมารอบแรกและรอบสองก็เพื่อมาประเมินคู่ต่อสู้ว่ายื่นราคาเท่าไร เพื่อที่ตัวเองจะได้แก้ไขเอกสาร แต่ปรากฎว่าเกิดปัญหาจราจรเลยทำให้เอกสารมาถึงจุดลงทะเบียนเกินเวลา 15.00น. โดยมาถึงในเวลา 15.09 น. ซึ่งถ้าศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเรื่องเวลาไม่ใช่สาระสำคัญ ทั้งที่ก่อนก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดก็เคยวินิจฉัยในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท โดยตัดสิทธิผู้เข้าประมูลที่มายื่นซองช้าหลังกำหนดปิดรับซองไป 39 วินาที โดยกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในดคีนี้ ให้บริษัทธนโฮลดิ้งได้สิทธิเข้าประมูล เท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่าต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง รวมทั้งอาจเกิดค่านิยมใหม่ ว่าแม้ทำผิดกฎ แต่มีเงินจ้างทนายเก่ง และให้ประโยชน์รัฐมาก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้งาน เพราะเงินชดเชยความผิดได้"
พล.ร.ต.เกริกไชย ยังแถลงด้วย คดีนี้มีมูลค่าโครงการ 2.7 แสนล้านบาท รัฐบาลมีความตั้งใจจะให้เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประมูลอย่างถูกต้อง 2 รายก็ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการคัดเลือกยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาถูกต้องเป็นธรรมแล้วและคัดค้านไม่ให้คณะกรรมการคัดเลือกให้สิทธิบริษัทธนโฮลดิ้งกับพวกอีก ดังนั้นเพื่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใสและยุติธรรม ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยื่นเรื่องต่อประธานศาลปกครองสูงสุด ขอให้นำคดีนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดแต่ก็ขึ้นกับดุลยพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุดว่าจะเห็นอย่างไร
ขณะที่ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการหารเรือและผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แถลงต่อศาลปกครองสูงสุดด้วยวาจาแก้คำอุทธรณ์ที่ได้จัดส่งให้ศาลปกครองสูงสุดไปก่อนหน้านี้แล้ว ว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม ส่วนการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคของกลุ่มบริษัทธนโฮลดิ้งฯ กับพวกตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุดก่อนหน้านี้
อนึ่ง สำหรับเอกชนที่แข่งเสนอรราคางานโครงการนี้ อีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบไปด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบมจ.ซิโน-ไทย และกลุ่ม Grand Consortium ประกอบไปด้วย บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (แกรนด์แอสเสท) บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น, ไทยแอร์เอเชีย
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นแนวคำพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินคดีกรณีเอกชนถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมการประมูลงานของรัฐอันเป็นผลมาจากการที่ผู้เสนอราคามาไม่ทันเวลากำหนดลงทะเบียนเข้าร่วมการเสนอราคาที่เคยตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว โดยพบนัยยะสำคัญของการตัดสินคดีส่วนใหญ่ว่า ข้อกำหนดเรื่องเวลา ถือเป็นสาระสำคัญของการเข้าร่วมประมูลไม่ว่าจะมาช้าหรือมาสายกี่วินาที หรือนาทีก็ตาม ถือเป็นแนวคำวินิจฉัยคดีมาโดยตลอด (อ่านประกอบ : ข้อสังเกตใหม่! คดีอู่ตะเภา'คำสั่งทุเลาฯรับซองกลุ่มซีพี-ตุลาการแถลงคดี' ยึดแนววินิจฉัยเดียวกัน, ชัดๆ จุดยืนคำแถลง'กลุ่มซีพีVS.ทร.' คดีอู่ตะเภา2แสนล. 'ให้ปย.รัฐมาก-ทำลายระบบซื้อจ้าง', ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที)
อ่านประกอบ :
ข้อสังเกตใหม่! คดีอู่ตะเภา'คำสั่งทุเลาฯรับซองกลุ่มซีพี-ตุลาการแถลงคดี' ยึดแนววินิจฉัยเดียวกัน
ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที
ตุลาการแถลงคดีศาลปค.สูงสุด เสนอให้กลุ่มซีพีฯ ชนะคดีอู่ตะเภา-ทร.แย้งทำลายระบบจัดซื้อจ้าง
ยกเหตุจราจรติดขัด-อย่ายึดถือเวลาสาย9น.! ศาลปค.สูงสุด นัดพิจารณาคดีอู่ตะเภาฯ 7พ.ย.นี้
กลุ่มซีพีสู้ต่อ! อุทธรณ์ศาลปค.สูงสุด ค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ-ทร.ชิงประกาศผู้ชนะ 24 ก.ย.
กลุ่มซีพีแพ้! ศาลปค.กลาง ยกฟ้องค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.-ยื่นซองเกินเวลา
รู้ผลแพ้ชนะ 21ส.ค.นี้! ศาล ปค.นัดอ่านคำพิพากษากลุ่มซีพี ฟ้องค้านมติอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.
กลุ่มซีพีฯพ่ายยกแรก! ศาลปค.ฯ ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวฟ้องมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ
อุบผลไต่สวนมูลฟ้องค้านมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ2แสนล.- รองผบ.ทร. ขอทำข่าวแจก17 พ.ค.นี้
ทร.ยันโครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นธรรม-คาดพิจารณาคุณสมบัติเสร็จก่อนสิ้น พ.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/