บ.วิจัยระดับโลก พบไทยเป็นเป้าหมายซื้อขายงาช้าง ตัวเลขพุ่งจาก 18% อยู่ที่ 27%
WWF Thailand ชี้การค้างาช้างผิดกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่ต่างจากค้ายาเสพติด ระบุชัดนักท่องเที่ยวยังคิดไทยเป็นประเทศที่มีตลาดการค้าฯ ถูกกฎหมาย ยันทำไม่ได้ ผิดพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) จับมือร่วมกับ 5 พันธมิตร ลุยแคมเปญ “เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้าง”หลังจากประสบความสำเร็จโครงการ Travel Ivory Free เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้างปี 2562 ณ ลานน้ำพุ ชั้น G Teminal 21 สุขุมวิท 21
นายเจษฏา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย WWF Thailand กล่าวว่า จากการได้มีการรณรงค์เรื่องงานช้างในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ในปีนี้ WWF ประเทศไทยยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อลดทอนปัญหาการซื้อ และขายผลิตภัณฑ์จากงาช้าง อย่างเข้มข้น เพื่อรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่า การซื้อขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างสวนทางกับการอนุรักษ์
"ทุกปีช้างป่าแอฟริกันยังคงถูกล่าเพื่อฆ่าเอางามาแปรรูปและขายในตลาดโลก และในปี 2562 นี้มีการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อย้ำให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับทราบและระมัดระวัง ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จนถึงธันวาคม ปีนี้ WWF ต้องการเน้นย้ำให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว มีความเข้าใจในข้อบังคับทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และเกิดผลในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม"
นายเจษฏา กล่าวถึงการค้างาช้างผิดกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ เช่นเดียวกับการค้ายาเสพติด นักท่องเที่ยวหรือคนส่วนใหญ่คิดว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ยังมีตลาดการค้างาช้างถูกกฎหมาย เนื่องด้วยจากเหตุที่คิดว่า ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติ เป็นการคิดที่ผิด เพราะไม่ว่าจะนำเข้าหรือส่งออกนอกประเทศ ไม่สามารถทำได้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการเพิ่มบทลงโทษ กล่าวคือ ผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือส่งออกซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
ขณะที่ล่าสุดมีรายงานจากบริษัท GlobeScan ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยระดับโลก ยังคงพบว่า มีความต้องการซื้องาช้าง โดยไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาและซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างเป็นของฝากของที่ระลึก ตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ที่ 18% มาอยู่ที่ 27% ถือว่าการเพิ่มขึ้นนี้มีนัยสำคัญ
ด้านนายนุวรรต ลีลาพตะ ผู้อำนวยการส่วนด่านตรวจสัตว์ป่า กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างในกลุ่มนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า ทั้งทางอากาศยาน และภาคพื้นดิน และได้รับความร่วมมือจาก WWF มาร่วมประชาสัมพันธ์ ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญ
"ปัจจุบันบทลงโทษมีความเข้มข้มมากขึ้นจากเดิมและเป็นมาตรการที่เด็ดขาด ทั้งโทษจำคุก และโทษปรับ อ้างอิงจากตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งโทษที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ยกกรณีตัวอย่างเสือดำเห็นได้ชัดว่า ทางเจ้าหน้าที่เอาจริง ที่จะจัดการกับพวกคนเหล่านี้ ซึ่งอยากให้ทุกคนควรตระหนักถึงกฎหมายและศีลธรร" นายนุวรรต กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงาน มีตัวแทนจากองค์ต่างๆ มาร่วมพูดถึงผลงานออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์สำหรับกิจกรรมTraveIvory Free 2019-2020 นางสาวดวงกมล วงศ์วรจรรย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและการสื่อสารงานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการซื้อขายงาช้างในประเทศไทยยังมีอีกจำนวนมาก ทั้งที่ตรวจสอบได้และตรวจสอบไม่ได้ โดยเฉพาะในตลาดมืด ซึ่งทาง WWF ได้มีการจัดทำการวิจัยเชิงปริมาณในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยว 5 พื้นที่หลักรอบกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เยาวราช ประตูน้ำ มาบุญครอง เอเชียทีค และหน้าบิ๊กซีราชดำริ พบว่า จากการสำรวจนักท่องเที่ยวจีน จำนวน 214 คน มีนักท่องเที่ยวกว่า 81% ไม่คิดที่จะซื้องาช้างเป็นของฝากจากประเทศไทย ในขณะที่อีก 48% เข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์จากงาช้างเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวอีกกว่า 51% ยังคงเข้าใจว่า หากต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ประเทศไทยคือแหล่งซื้อเป้าหมายที่สามารถหาซื้อได้
“การรณรงค์ในครั้งนี้ เราต้องหากลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อที่จะได้กระจายข่าวสารได้ถูกต้อง โดยออกแบบร่วมกับบริษัทเอเจนซี่ระดับโลกร่วมออกแบบชิ้นงานประชาสัมพันธ์ในปีนี้ให้มีรูปแบบแปลกใหม่ สะดุดตา และเป็นที่จดจำสำหรับนักท่องเที่ยว” นางสาวดวงกมล กล่าว และว่า WWF ยังได้ทำงานร่วมกับทีมมัคคุเทศก์แห่งประเทศไทย เพื่อชักชวนให้ชาวต่างชาติมาเที่ยว โดยห่างไกลของฝากที่ทำมาจากงาช้าง ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์จากงาช้างเท่านั้น แต่รวมถึงจากผลิตภัณฑ์จากที่ทำจากสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต พร้อมทั้งรณรงค์ให้ทุกคนรู้จักคุณค่าชีวิตของเพื่อนร่วมโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไทยพ้นบัญชีดำลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย กรมอุทยานฯ เผยยังต้องทำตามแผนอย่างต่อเนื่อง
ช้าง งา และการเข่นฆ่า ส่องปัญหาผ่านศิลปะในงาน Travel Ivory Free
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/