- Home
- Thaireform
- ข่าวเด่น นโยบายสาธารณะ
- ช้าง งา และการเข่นฆ่า ส่องปัญหาผ่านศิลปะในงาน Travel Ivory Free
ช้าง งา และการเข่นฆ่า ส่องปัญหาผ่านศิลปะในงาน Travel Ivory Free
สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจ ทำไมยังมีใครบางคนที่คิดไม่ได้ว่า ไม่มีทางที่เครื่องประดับชิ้นไหนจะสร้างความสวยงาม ความภาคภูมิใจ ภูมิฐาน และเสริมศิริมงคลให้กับใครได้ ถ้าสิ่งนั้นถูกสร้างขึ้นมาจากความทรมาน ความสูญเสีย และความตาย
"เมื่อตอนที่ผมคิดทำงานชิ้นนี้ ผมอยากให้งานชิ้นนี้ดู โหดร้าย และมีความรุนแรงเหนือจริง
แต่พอยิ่งได้รับข้อมูลต่างๆ และเห็นภาพถ่ายที่ถูกส่งมามากขึ้น ทำให้ผมรู้ว่า ไม่มีทางเลยที่เราจะสร้างจำลองความรู้สึก หรือสร้างงานที่แสดงออกได้ถึงความเจ็บปวด ความเศร้า และสร้างความหดหู่ได้เทียบเท่ากับ ‘ความจริง’ ที่ยังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจ ว่าทำไมยังมีใครบางคนที่คิดไม่ได้ว่า ไม่มีทางที่เครื่องประดับชิ้นไหนจะสร้างความสวยงาม ความภาคภูมิใจ ความภูมิฐาน และเสริมศิริมงคลให้กับใครได้ ถ้าสิ่งนั้นถูกสร้างขึ้นมาจากความทรมาน ความสูญเสีย และความตาย
ในวันนี้ เรารับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ง่าย และมากขึ้น แต่ถ้าเราแค่รู้สึก และมองสิ่งนั้นเป็นแค่อีกเรื่องที่ไกลตัว เราไม่มีทางที่จะหยุด การเข่นฆ่าที่เหี้ยมโหดเหล่านี้ได้"
"วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์" ศิลปินเจ้าของผลงานรูปช้างแอฟริกันแม่ลูกหล่อเรซิน ขนาดความกว้าง 7 เมตร สูง 1.8 เมตร จัดแสดงอยู่ด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เขากำลังบอกเล่าถึงแนวคิดสร้างชิ้นงานศิลปะรูปช้างขนาดใหญ่เป็นครั้งแรก ในงานเปิดตัวนิทรรศการศิลปะ "เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้าง" (Travel Ivory Free) จัดโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF-Thailand) จับมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สายการบินนกสกู๊ต และหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งระหว่างวันที่ 1-10 ตุลาคม 2561 เพื่อรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวมีความตระหนักรู้ เข้าใจ และมีความรับผิดชอบร่วมกันในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำจากงาช้าง
ศิลปินผู้มีชื่อเสียงจากงานประเภทเซรามิค ชี้ให้เห็นถึงสัญลักษณ์หลายอย่างที่เขาพยายามใส่ไว้ในผลงานศิลปะชิ้นนี้ เพื่อให้เกิดคำถาม และความสงสัยสำหรับคนที่ได้เยี่ยมชมผลงานช้างแอฟริกันแม่-ลูก เช่น แววตาของลูกช้างที่กำลังวิ่งไปหาแม่ ซึ่งแม่ช้างที่คิดก็ไม่ใช่แม่ช้างที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่กำลังใกล้จะไป ในแววตาจึงมีน้ำตาที่กำลังรินไหล
"ช้างตัวแม่ เป็นช้างที่ใส ทำจากเรซิ่น ผมต้องการสื่อเรื่องราวของช้างใกล้ตาย และมันกำลังค่อยๆ จางหายไปใช่หรือไม่ ส่วนเลือดช้างที่ไหลเป็นทางยาวบนพรมแดง ก็ต้องการสื่อว่า มนุษย์เรากำลังเหยีบย่ำบนความตายของช้าง รวมถึงขาช้างที่ขาด หลุดออกมาอยู่คนละท่อน และงา ขณะที่ลูกช้างใช้สีขาว เพื่อแทนความบริสุทธิ์ ความใส และมีชีวิตอยู่" วศินบุรี อธิบายถึงแนวคิดของเขาเพิ่มเติม
และแม้ว่า ในสภาพความเป็นจริงๆ ช้างในแอฟริกาการฆ่าช้างเอางาจะต้องควักออกจากกระโหลกช้าง วศินบุรี บอกว่า ที่เขาไม่เลือกสื่อสารแบบนั้น เพราะไม่ต้องการให้ผลงานศิลปะชิ้นนี้มีความเหมือนจริง แต่ต้องการสื่อให้เห็นถึงสัญลักษณ์ว่า สุดท้ายแล้วมนุษย์ไม่มีเหตุผล สักแต่ว่าได้ฆ่า ชีวิต 1 ชีวิตต้องเสียไปเพื่อแลกกับความมั่นคั่งส่วนตัวของมนุษย์ ข้อดีของศิลปะสามารถสร้างจินนาการได้ และเชื่อมโยงกับความทรงจำส่วนตัวของแต่ละคน
"ตอนผมทำงานศิลปะชิ้นนี้ขึ้นมา ผมไม่คิดถึงช้างที่โดนกับระเบิดจนขาขาดเลย แต่เมื่อคนเห็นช้างของผมที่ขาขาด เขาเชื่อมโยงไปถึงช้างพังโม่ตาลา ที่เหยียบกับระเบิดจนขาขาด เชื่อมโยงไปถึงช้างที่เดินตกท่อและโดนไฟดูดตาย ผมว่าจุดนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับศิลปะ ทำให้จิตนาการที่หลงลืมไปกลับมาอีกครั้งหนึ่ง"
สำหรับสถานการณ์ตลาดงาช้างไทย "สุรพงศ์ ฉวีศักดิ์" นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่า ในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส ครั้งที่ 16 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้างาช้าง โดยเป็น 1 ใน 8 ประเทศที่ไซเตสขึ้นบัญชีว่ามีการ ลักลอบค้างาช้างแอฟริกาผิดกฎหมาย หรือ primary concern โดยประเทศไทยต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นอาจมีการห้ามทำการค้ากับประเทศไทย
จากนั้น รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างแอฟริกา เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการครอบครองงาช้าง พ.ศ.2558 ออกกฎกระทรวงให้ช้างแอฟริกันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีกฎหมายควบคุมตรวจสอบการค้าและการครอบครองด้วย รวมถึงการจัดทำตั๋วรูปพรรณรูปแบบใหม่ให้รัดกุม ป้องกันการสวมสิทธิ์ พัฒนาระบบฐานข้อมูล ระบบทะเบียนการแจ้งและครอบครองงาช้างทั่วประเทศ และสำรวจสต๊อกงาช้างของกลางทั้งหมด เป็นต้น
สุรพงศ์ ชี้ว่า ที่ผ่านมาส่วนราชการหลายหน่วยงานได้ร่วมกันบังคับใช้กฎหมาย ทั้งตรวจปราบปรามจับกุมได้ถึง29 คดี ปริมาณของกลางเป็นงาช้างกว่า 7 ตัน ซึ่งจากการรณรงค์เพื่อลดความต้องการงาช้าง เราพบว่า เหตุผลหลักของคนที่ต้องการซื้องาช้าง มีความเชื่อว่า งาช้างนำโชคดีมาให้ ป้องกันอันตราย หรือมีความศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงความสำเร็จ สถานะสังคม ทั้งหมดส่งผลให้มีการซื้อขายและครอบครองงาช้าง
"ผลจากการดำเนินการของภาครัฐไทย วันนี้ไซเตส ลดระดับประเทศไทย จาก Primary Concern เป็น Secondary Concern แล้ว" เขาระบุ และเชื่อว่า หากเรายังทำงานอย่างต่อเนื่องต่อไป ไทยอาจหลุดพ้นจากการจัดอันดับทั้งหลายที่เกี่ยวกับการลักลอบค้างาช้างได้ในที่สุด
ด้าน "เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์" ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลฯ ได้ตอกย้ำและชี้ให้เห็นถึงการฆ่าช้างทุกตัวเพื่อเอางาว่า ต้องผ่ากระโหลกทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นช้างไทยหรือช้างแอฟริกา งาอยู่ลึกเข้าไปไม่ใช่จะดึงออกมาได้ ช้างตัวหนึ่งที่ตายไปไม่ได้ถูกยิงตาย แต่มันต้องถูกผ่ากระโหลกเพื่อดึงงาช้างออกมา ส่วนที่ดีที่สุด คือส่วนที่ลึกที่สุด ฉะนั้นการตายของช้างไม่ตายแบบธรรมดา มันต้องตายแบบน่ากลัว
"คนที่เข้าใจจะรู้ว่า กว่าจะได้งาช้างมาต้องอาบไปด้วยเลือดของแม่ช้าง ลูกช้างโตขึ้นหากรอดชีวิตไปได้ก็ต้องเป็นแบบเดียวกัน ทุกปีช้างป่าแอฟริกันกว่า 2 หมื่นตัวถูกฆ่าเพื่อเอางา และงาเหล่านั้นถูกป้อนไปยังตลาดค้างงาช้างขนาดใหญ่ในเอเชีย"
แล้วเราจะรักษาช้างแอฟริกาซึ่งอยู่อีกซีกโลกหนึ่งของเราได้อย่างไร นี่กลายเป็นคำถาม ที่ WWF-Thailand อยากให้คนไทยตระหนักรู้ และไม่ยินยอมให้บ้านเราเป็นทางผ่าน หรือเป็นตลาดที่ยังมีการซื้อขายงาช้าง
การค้างาช้างผิดกฎหมาย ถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ เช่นเดียวกับการค้ายาเสพติด ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการค้างาช้างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี บ้านเรามีความพยายามในการแก้ไขปัญหาตรงนี้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เช่น การออกพระราชบัญญัติการครอบครองงาช้าง พ.ศ.2558 และการรวมช้างแอฟริกันเป็นหนึ่งในสัตว์คุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
ผอ.องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลฯ มองว่า แม้ที่ผ่านมาภาครัฐใส่ใจ รับผิดชอบ และทำอย่างจริงจังเรื่องค้างาช้างผิดกฎหมาย แต่พบว่า ยังคงมีการลักลอบค้างาช้างที่ผิดกฎหมายอยู่
เธอหวังว่า ประเทศไทยจะยุติปัญหานี้ได้อย่างถาวร เฉกเช่นเดียวกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศปิดการซื้อขายงาช้างตั้งแต่ต้นปี 2561 ทั้งที่จีนเคยเป็นตลาดค้างาช้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การปิดตลาดของจีนทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยพยายามไขว้คว้าเพื่อให้ได้งาช้างมาครอบครอง
ขณะที่ฮ่องกงคาดว่า จะปิดตลาดการซื้อขายงาช้างภายในปีนี้ แม้แต่ที่เวียดนามก็มีการเพิ่มโทษ รวมไปถึงที่สิงคโปร์ และไต้หวันด้วย
"ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ทำไมเราถึงไม่ทำให้สำเร็จ ยุติขบวนการค้างาช้างอย่างถาวร" ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลฯ กล่าวอย่างมีความหวังทิ้งท้าย
และในส่วนของประชาชนคนธรรมดา ทุกคนก็สามารถทำในส่วนของเราได้ง่ายๆ ด้วยการส่งผ่านข้อมูล ไม่ซื้องาช้าง ไม่ให้งาช้างเป็นของขวัญ และเดินทางท่องเที่ยวอย่างไร้การซื้อขายงาช้าง..