เบื้องหลังศาล รธน.ไฟเขียว พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.สถาบันครอบครัวฯ-สภาโหวตผ่านเป็น กม.
เปิดเบื้องหลังคำวินิจฉัยศาล รธน.ไฟเขียว พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.สถาบันครอบครัวฯ ชี้ รบ. ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ม.172 เหตุประชาชนผู้ถูกกระทำความรุนแรงกระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่อาจเข้าถึงการคุ้มครอง ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรีบด่วน
จากกรณีเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 244 เสียง ไม่เห็นด้วย 73 เสียง งดออกเสียง 148 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โหวตผ่านร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.สถาบันครอบครัวฯ ฉบับดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมาย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าว สรุปได้ว่า ศาลได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวมถึงเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่า คดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอจะวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวน
ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น รัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนเป็นผู้ทำหน้าที่นิติบัญญัติในการตรากฎหมายตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย การตรากฎหมายของรัฐสภาถือเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชน แต่ด้วยเหตุแห่งความจำเป็นในบางสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตการณ์หรือภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อประเทศ และมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นมาใช้บังคับทันที เพื่อแก้ไขปัญหาและภัยคุกคามดังกล่าว แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาของกระบวนการตรากฎหมายของรัฐสภาที่ไม่อาจตรากฎหมายออกมาใช้บังคับเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์หรือภัยคุกคามของประเทศได้อย่างทันท่วงทีจึงจำต้องมีช่องทางยกเว้นขึ้น
เนื่องจากในการตรา พ.ร.บ.นั้น รัฐธรรมนูญ หมวด 7 รัฐสภาส่วนที่ 4 บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง ได้กำหนดกระบวนการตราไว้ตั้งแต่มาตรา 133 ถึงมาตรา 147 กล่าวคือ ต้องมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาตามลำดับ โดยอาจจะมีการส่งร่าง พ.ร.บ.ให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของแต่ละสภาพิจารณาหลังจากมีการรับหลักการในวาระหนึ่งแล้ว จึงพิจารณาในวาระที่สอง และวาระที่สามของทั้งสองสภาตามลำดับ ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.นั้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 ทำให้กรอบเวลาในการพิจารณาและอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ของรัฐสภา เป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะสามารถดำเนินการตรา พ.ร.บ.ให้เสร็จสิ้นได้แน่นอนเมื่อใด หากจะใช้กระบวนการเสนอกฎหมายในรูปแบบ พ.ร.บ.สำหรับการแก้ไขปัญหาวิกฤติที่จะต้องดำเนินการโดยด่วนแล้ว อาจทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติโดยรวมได้
ดังนั้นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรต่างบัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจตรากฎหมายขึ้นมาใช้บังคับเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการณ์หรือภัยคุกคามได้ทันทีก่อน แล้วจึงนำกฎหมายนั้นมาเสนอให้รัฐสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติในภายหลัง สำหรับประเทศไทยรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา ต่างบัญญัติให้ฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรีมีอำนาจถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกำหนด เพื่อให้ใช้บังคับดังเช่น พ.ร.บ. เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชนได้ ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด แล้วเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติอีกครั้งหนึ่ง
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำร้องและคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดประกอบกันแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงขึ้นประกอบกับอัตรากำลังของข้าราชการสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการตามกฎหมายมีอัตราโดยเฉลี่ยแต่ละจังหวัดจำนวน 12 ถึง 16 ราย ที่ต้องทำกิจกรรมการให้บริการสังคมตามที่กฎหมายจำนวน 24 ฉบับ รวมเป็น 44 กิจกรรม รวมทั้งมีกิจกรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับการคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาทางสังคม เช่น เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และผู้ด้อยโอกาส
เมื่อมีการตรา พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ซึ่งมีเจตนารมณ์กำหนดมาตรการในการลดการกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่ประสงค์ให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีโอกาสกลับตัวและยับยั้งการกระทำความผิดซ้ำ และหน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปัจจุบัน
นอกจากนี้ไม่มีบทบัญญัติบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา การที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความพร้อมของบุคลากรในด้านความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ โดยเฉพาะจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้หน่วยงานที่จะเป็นผู้ปฏิบัติหรือผู้ใช้บังคับตามกฎหมายได้เตรียมความพร้อมในการรองรับและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบในทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการคุ้มครองสวัสดิภาพของสถาบันครอบครัว และการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว จึงต้องมีการขยายกำหนดเวลา ในการใช้บังคับ พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปก่อน โดยยังคงให้นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้เมื่อปี 2550 มาใช้บังคับไปพลางก่อน ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรา พ.ร.ฎ. หากปล่อยให้ พ.ร.บ.ฉบับปี 2562 มีผลใช้บังคับในวันที่ 20 ส.ค. 2562 ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับปี 2550 ด้วย ย่อมจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสังคมสองด้าน
ด้านแรก ประชาชนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ตั้งแต่ระดับจังหวัดลงไปจนถึงหมู่บ้าน และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่อาจเข้าถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพตามที่ พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงกิจกรรมการบำบัดฟื้นฟูเพื่อมิให้กระทำความผิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านที่สอง ประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคมจำนวนมากซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ได้แก่ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงคนขอทาน ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ย่อมขาดโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือหรือถูกละเลยหรือได้รับการช่วยเหลือน้อยลงทั้งในส่วนของปริมาณ และคุณภาพ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นผลร้ายต่อสังคมและสาธารณะ ฝ่ายบริหารจึงมีความจำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการยับยั้ง ป้องกันเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ และความปลอดภัยสาธารณะ
ดังนั้น การตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สถาบันครอบครัวฯ พ.ศ.2562 จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศและความปลอดภัยสาธารณะตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แล้ว
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า การตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สถาบันครอบครัวฯปี 2562 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง
อ่านประกอบ :
รมว.พม.เผย 3 เหตุต้องออก พ.ร.ก.ชะลอ กม.สถาบันครอบครัวฯ-‘ชวน’ส่งศาล รธน. แล้ว
ฝ่ายค้านชง ปธ.สภาส่งศาล รธน.ตีความ พ.ร.ก.ชะลอ พ.ร.บ.สถาบันครอบครัวฯ-รบ.แจงต้องรีบใช้
สภาคว่ำพร้อมรับผิดชอบ!'จุติ'แจง พ.ร.ก.เบรก กม.สถาบันครอบครัวฯ ดันทุรังใช้ จนท.เสี่ยงผิด
'ปิยบุตร'ลุยอภิปราย พ.ร.ก.ชะลอ กม. สถาบันครอบครัวฯขัด รธน.-ถ้าสภาตีตก รบ.รับผิดชอบยังไง
ฝ่ายค้านจ้องขย่มในสภา!แพร่ พ.ร.ก.ชะลอ กม. ส่งเสริมสถาบันครอบครัวฯ พม.อ้างคนไม่พร้อม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/