ทอท.ไขปม!ทำไมเลือกทำ โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ สนามบินสุวรรณภูมิ
ทอท. แจงละเอียด ทำไมเลือกทำส่วนต่อขยายทางทิศเหนือ สร้าง North Expansion ระบุชัดไม่ได้เมินหน่วยงานรัฐ ยันดำเนินการตามกระบวนการ หลังจากนี้ให้บอร์ดเห็นชอบ 20 พ.ย.นี้ ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม และครม.ต่อไป
หลังจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ 12 องค์กรวิชาชีพ คัดค้านแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.มีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หรือเทอร์มินัล 2 บนตำแหน่งที่ผิดไปจากแผนแม่บทนั้น
ล่าสุด ทอท. ได้ชี้แจงถึงความก้าวหน้าในการศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่า
ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ ทอท. ดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และตอบข้อซักถามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน รอบด้าน ประกอบการตัดสินใจในโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) นั้น นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้ดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และชี้แจงข้อซักถามกับผู้เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ดังกล่าวแล้ว โดยสรุปได้ในประเด็นสำคัญ ดังนี้
@ ทำไม ทอท. จึงไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บทเดิม
ในประเด็นนี้ ทอท. ขอชี้แจงว่า ทอท. ปฏิบัติตามหลักการของแผนแม่บทเดิม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงทุก 5 ปี ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล
ทอท. ได้เริ่มจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ทสภ. ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) ได้ศึกษา และแนะนำให้มีการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยานทุกๆ 5 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจการบินที่เปลี่ยนแปลงไป โดย ทอท. ได้เร่งรัดดำเนินการตามหลักการของแผนแม่บทเดิม ซึ่งยังคงดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานจากด้านทิศเหนือไปยังทิศใต้ โดยมิได้มีการชะลอโครงการแต่อย่างใด
แต่เมื่อ ICAO ได้ปรับปรุงแผนแม่บทตามเกณฑ์กรอบระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นในปี 2554 ซึ่งเป็นภาวะที่ ทสภ. รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถนั้น ICAO ได้แนะนำให้ปรับปรุงแผนแม่บทเดิม โดยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในแผนแม่บทฉบับดังกล่าวว่า
“จากข้อเสนอเดิมที่ให้ขยายอาคารที่ปลายทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกนั้น จะยากมาก สำหรับการดำเนินการเมื่ออาคารยังถูกใช้งานที่เต็มขีดความสามารถอยู่ ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาคือการย้ายกระบวนการผู้โดยสารในประเทศไปยังบริเวณอื่น และปรับบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศทดแทน ซี่งจะส่งผลกระทบต่อการบริการน้อยกว่า”
โดย ICAO ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า
“วิธีการที่ดีที่สุดในระยะสั้นคือ การพัฒนาอาคารที่แยกเป็นอิสระต่อเนื่องกับอาคารเทียบเครื่องบิน A เพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศทั้งขาเข้าและขาออก”
ซึ่งแผนแม่บทปัจจุบันที่เขียนขึ้นในภาวะที่ ทสภ. รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถเช่นกัน แนวทางการก่อสร้าง จึงยังยึดหลักการเดิมของ ICAO ที่แนะนำให้ต่อขยายอาคารเทียบเครื่องบิน A ออกไปในตำแหน่งเดิมที่ ICAO เคยแนะนำทางด้านทิศเหนือ จะมีปรับก็เพียงวิธีการบริหารจัดการอาคารดังกล่าวให้เหมาะสมกับจำนวนและแนวโน้มผู้โดยสารตามคำแนะนำของผู้ใช้งานโดยตรงรวมถึง IATA ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้มีการปรับปรุงแผนแม่บททุก 5 ปีด้วยเช่นกัน เท่านั้น
ดังนั้น ทอท. จึงขอยืนยันว่า ในอุตสาหกรรมทางการบิน จำเป็นต้องไม่ยึดติดกับแผนแม่บทที่อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยองค์กรระหว่างประเทศแนะนำให้ต้องปรับปรุงแผนแม่บทให้ทันสมัยทุก 5 ปี เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการบินอย่างแท้จริง
@ ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) แก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่
ในการขยายอาคารไปทางทิศเหนือตามคำแนะนำของ ICAO นี้ ทอท. ได้มุ่งแก้ปัญหาความแออัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเอาปัญหา (pain point) ของผู้ใช้งานเป็นที่ตั้ง เพื่อรวบรวมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างครบถ้วน จึงมั่นใจได้ว่ าจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยยังได้มุ่งเน้นการบรรเทาที่เกิดขึ้นจากแผนแม่บทฉบับก่อนหน้าควบคู่กันไปด้วย
ทอท. ได้พูดคุยกับผู้ใช้บริการ สายการบิน และผู้ประกอบการใน ทสภ. ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการใช้บริการ ทสภ. เช่น
- การจราจรติดขัดบริเวณชานชาลาอาคารผู้โดยสาร
- การใช้เวลารอนาน ทั้งในขั้นตอนการตรวจหนังสือเดินทาง ซึ่งมีจำนวนเคาน์เตอร์จำกัด
- จุดรับกระเป๋าและเคาน์เตอร์เช็คอินไม่เพียงพอ
ทอท.ได้เร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยมีการหารือร่วมกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติที่มีสัดส่วนเที่ยวบินมากที่สุด สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการบิน และส่งเสริมมาตรฐานการบริการด้านการขนส่งทางอากาศ คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Airline Operators Committee : AOC) Board of Airline Representatives Business Association (BAR) คณะกรรมการที่ปรึกษาท่าอากาศยาน (Airport Consultative Committee : ACC) และประชุมหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (กยผ.) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบ เรื่องการพัฒนาที่ดินแปลงด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) เป็นอาคารผู้โดยสาร (Optional Terminal) ตามที่ระบุในแผนแม่บทการพัฒนา ทสภ.ของ ICAO ฉบับ 2552 และ 2554 และมีความเห็นสอดคล้องกับ ทอท.ในการดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ทสภ. ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการได้รวดเร็วและส่งผลกระทบน้อยที่สุด
นอกจากการแก้ปัญหาจากคำแนะนำของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงข้างต้นแล้ว ส่วนต่อขยายทางทิศเหนือ (North Expansion) ยังบรรเทาปัญหาที่มีอยู่เดิม อาทิ การมีหลุมจอดด้านตะวันออก (จุดที่จะมีการต่อขยาย) แต่อากาศยานต้องไปขึ้นทางทิศตะวันตก ซึ่งเดิมจะทำให้เกิดการตัดของการจราจรทั้งรถบัสที่ไปส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องฯ และเกิดการตัดของการจราจรอีกครั้งเมื่อเครื่องฯ จะมาขึ้นในทางวิ่ง (Runway) ด้านตะวันออก เมื่อมีส่วนต่อขยายทางทิศเหนือแล้ว ก็จะสามารถลดปัญหาเดิมที่จะต้องนำรถบัสไปส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องได้ เป็นต้น
@ ทอท. ไม่ได้เมินหน่วยงานรัฐ
ทอท. ยืนยันดำเนินการตามกระบวนการ โดยหลังจากนี้จะต้องขอความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป มิได้ข้ามขั้นตอน หรือสามารถจะมีอภิสิทธิ์เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ
สำหรับประเด็นที่ว่า ทอท. ไม่สนใจคำทักท้วงและข้อเสนอแนะนั้น
ทอท. ขอยืนยันว่า นอกจาก ทอท. ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว ทอท. ได้ดำเนินการโครงการนี้ตามสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ให้มุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ อันนำมาซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และรวบรวมข้อเสนอแนะจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องข้างต้น และยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามกระบวนการลงทุนของประเทศทุกขั้นตอน โดยหลังจากนี้ ฝ่ายบริหาร ทอท. จะนำข้อมูลประกอบการตัดสินใจนี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562 หากคณะกรรมการฯ เห็นชอบก็จะนำเสนอกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นกระทรวงต้นสังกัด และ สศช. เพื่อกลั่นกรองความเหมาะสม และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"สามารถ" แนะทอท.ขยายเทอร์มินัล 1 ฝั่งตะวันตก-ออก ยันทำได้เร็วสุด ไร้ปัญหาตามมา
วงสัมมนา ACT สับ ทอท.เละ! ปมสร้างเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ-จี้ ก.คลังกำกับจริงจัง
บริษัทท่าอากาศยานไทย ขุมทรัพย์ของใครหรือ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/