‘เจ้าสัวธนินท์’ หวังปท.ฉวยโอกาส สงครามค้าจีน&สหรัฐฯ ดึงนักลงทุนซบไทย
"...ถ้าเมืองไทยทำเป็น นับเป็นโอกาสอย่างยิ่ง แต่รู้สึกว่า “ยังทำไม่เป็น” ยกตัวอย่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีปัญหา นับเป็นโอกาสของไทยอย่างยิ่ง จะมีการย้ายฐานจากจีนบางอย่างที่ขายให้สหรัฐฯ ซึ่งมาเมืองไทยดีที่สุด แต่ถ้าเราไม่ฉวยโอกาสนี้ เขาจะเลือกไปเวียดนามและอินโดนีเซีย จะทำให้โอกาสหายไป ซึ่งกว่าจะดึงกลับมาได้อาจหลายสิบปี"
หนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” เป็นหนังสือเล่มแรกและเล่มสำคัญที่รวบรวมแนวคิดปรัชญาการทำงานและเรื่องราวอัตชีวประวัติของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) โดยเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 มี “หนุ่มเมืองจันท์” สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง เป็นผู้ชวนพูดคุย ณ ห้อง The Portal Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี
เจ้าสัวธนินท์ บอกเล่าบางช่วงบางตอนถึงวิธีการเอาตัวรอดภายใต้วิกฤต โดยยอมรับว่า ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 เคยประสบกับคำว่า “มืดแปดด้าน” ในเวลานั้น บริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศจากไปกันหมด เพราะเดิมที่มีหนี้ต่างประเทศ 25 บาท กลับกลายเป็น 55 บาท เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะคืนได้อย่างไร เรื่องเหล่านี้ นักธุรกิจต่างคิดไม่ถึงและผมก็คิดไม่ถึงว่าจะร้ายแรงเช่นนี้
แม้บริษัทยิ่งใหญ่จะมีสัญญากู้กับธนาคาร 5 ปี แต่ข้อหนึ่งในสัญญาระบุไว้ว่า “กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารมีสิทธิเรียกเงินกู้กลับทันที โดยไม่ต้องรอ 5 ปี” ซึ่งหากไม่คืน จะต้องล้มละลาย ธนาคารของไทยมีข้อนี้ในสัญญาเช่นกัน แต่อะลุ่มอล่วย เพราะทราบว่า เราไม่ได้เป็นผู้ทำผิดพลาด แตกต่างจากธนาคารต่างชาติต้องทำตามหนังสือสัญญาและหากไม่ทวงก็จะมีความผิดเช่นกัน
ตอนวิกฤติ ผมไปขอกับสี่พี่น้อง โดยบอกว่า เอาล่ะ! ผมรับรองว่าธุรกิจเดิมของเราไม่ล้มละลายแน่นอน ผมรักษาได้แน่ ส่วนธุรกิจสร้างขึ้นมาใหม่ ให้ผมปวดหัวคนเดียว” ประธานอาวุโส ซี.พี. กล่าว และบอกว่า เขาเองจะขายธุรกิจที่สร้างขึ้นมาใหม่ก่อน และให้พี่น้องสามคนไปเที่ยว เหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ เพื่อให้พี่น้องสบายใจ
“ตอนวิกฤตต้องจำไว้ เรารักษาทุกอย่างไว้ไม่ได้ เราต้องทิ้งบางอย่าง เราต้องรู้ว่าอันไหนสำคัญ เราต้องรักษาไว้แล้วสำคัญถึงจะขายได้ตอนวิกฤต ถ้าไม่สำคัญไม่ดีก็ขายไม่ได้อีก จึงมีบทเรียนว่า เวลาจะทำอะไร ต้องทำอะไรที่โลกยอมรับ และเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มิฉะนั้นวิกฤตแล้วให้ฟรี เขายังไม่เอาเลย”
เจ้าสัวธนินท์ จึงตัดสินใจขาย “โลตัส”เป็นธุรกิจแรก ซึ่งโลตัสดีมาก อังกฤษมาซื้อ ได้พูดตรง ๆ กับผมว่า คุณทำเหนือกว่าที่อังกฤษอีก ราคาเท่าไหร่ ไม่ต่อรองเลย แล้วยังเหลือ 25% ให้เราด้วย
ธุรกิจต่อมาที่มีการขาย คือ “แมคโคร” ต้องทำเช่นนี้เพื่อต้องการคืนหนี้ให้หมด มิฉะนั้นจะล้มละลาย แล้วจะทำให้เครดิตทั่วโลกหายไปทั้งหมด
“ซื้อโลตัสคืนมา ต้องจ่าย 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแมคโคร 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอมรับว่า เสียดาย แต่ไม่ได้ เพราะเรือเจอพายุแล้ว เราต้องทิ้งของบางส่วน เพื่อรักษาเรือลำนี้ให้อยู่รอดไว้ แล้วเราค่อยหาคืนมา ตอนนั้นประสบการณ์บอกเราว่า ถ้าอันนี้จะรักษาไว้ อันนู้นจะรักษาไว้ สุดท้ายล้มทั้งลำ จึงต้องเหลือที่มีอนาคต โดยเฉพาะที่พี่น้องสร้างเอาไว้ ผมต้องรักษาไว้”
ทั้งนี้ เวลานั้นเราจะขายธุรกิจอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องมีกำลังใจให้พนักงาน ต้องทำอะไรที่มีอนาคต โดยการขยายไปอีก ซึ่งมีลำบาก เพราะกู้เงินไม่ได้เลย เนื่องจากเราอยู่ในประเทศวิกฤต แต่เรายังต้องมีเงินมาลงทุนขยายธุรกิจที่เห็นว่าดี
“ถ้าเราไม่ขยาย แล้วกินของเก่า ทำไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลง ยุคอย่างนั้นเป็นโอกาสที่เราขยาย ถ้าตอนนั้นใครมีเงินจะได้เปรียบมากที่สุด”
เจ้าสัวธนินท์ ยังให้คำแนะนำนักธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาในขณะนี้ โดยให้มองว่า วิกฤตเป็นโอกาส “ผมชอบศึกษา เป็นบทเรียนของเรา และได้เพิ่มความรู้ของเรา”
อีกทั้งยังเตือนว่า ตอนดีที่สุด ตอนเรารุ่งเรืองที่สุด ต้องคิดตลอดเวลาว่า “ถ้าเกิดมันมืดลงมา วิกฤตมา เรารับได้หรือไม่” ฉะนั้น เราต้องทำการบ้าน อย่าเหลิงว่าเรายิ่งใหญ่หรือร่ำรวยแล้ว นอกจากเราไม่ทำ ขายธุรกิจไปทั้งหมด แล้วไปพักผ่อน ดังนั้น ถ้าเราทำธุรกิจอยู่ เมื่อวิกฤตมาก็กลายเป็นปัญหา หากไม่คิดไว้ก่อน สามารถล้มละลายได้
“คนเจอวิกฤตและมืดที่สุด อย่าท้อใจ แสงสว่างจะมา ถ้าเราผ่านวิกฤตได้ ต้องคิดแล้ว หลังจากวิกฤต มีโอกาสอะไร”
ถามว่าตอนนี้ประเทศวิกฤตแล้วหรือไม่ ประธานอาวุโส แสดงความเห็นว่า ถ้าเมืองไทยทำเป็น นับเป็นโอกาสอย่างยิ่ง แต่รู้สึกว่า “ยังทำไม่เป็น”
ยกตัวอย่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีปัญหา นับเป็นโอกาสของไทยอย่างยิ่ง จะมีการย้ายฐานจากจีนบางอย่างที่ขายให้สหรัฐฯ ซึ่งมาเมืองไทยดีที่สุด แต่ถ้าเราไม่ฉวยโอกาสนี้ เขาจะเลือกไปเวียดนามและอินโดนีเซีย จะทำให้โอกาสหายไป ซึ่งกว่าจะดึงกลับมาได้อาจหลายสิบปี
“ตอนนี้เรากำลังถอยอยู่ เรากำลังถดถอย วิเคราะห์ดูว่า เศรษฐกิจของเราพื้นฐานจริง ๆ 70% ญี่ปุ่นมาลงทุน ไปดูให้ดี ๆ ตอนนั้นรัฐบาลเซ็นสัญญากับญี่ปุ่น ต่างคนต่างไม่มีภาษีส่วนใหญ่ ยกเว้นเกษตร ญี่ปุ่นปกป้องอย่างแน่น เกษตรเป็นน้ำมันบนดิน เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ แต่เรายังละเลยสินค้าเกษตร”
เจ้าสัวธนินท์ สนับสนุนให้ปกป้องเกษตร โดยให้ราคาดี ซึ่งคนตกใจ คุณธนินท์พูดว่าสินค้าเกษตรแพง คนรายได้ต่ำก็เสียหาย เอาเงินที่ไหนไปซื้อ ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ สามารถพิมพ์เงินได้ เพราะมีของจริง มูลค่าสูง เราพิมพ์เงินเทียบเท่ามูลค่า ขึ้นเงินให้แรงงานขั้นต่ำ ข้าราชการขั้นต่ำ แต่กลัวว่า อุตสาหกรรมจะมีปัญหา ถ้าใช้แรงงานสูง
“ความจริงแล้ว รัฐบาลมีเงินมาก สามารถไปซื้อตราสารหนี้ (บอนด์)ของสหรัฐฯ 0.02 สัก 10% มากู้ให้นักธุรกิจจิ๋วและกลาง ซื้อเครื่องจักรผ่อนส่งระยะยาว เชื่อหรือไม่ว่า ในประเทศญี่ปุ่น ธนาคารกู้ให้นักธุรกิจ โครงการที่ดีมีทุน 10% กู้ได้ 90% ถึงทุกวันนี้ ดอกเบี้ยต่ำมาก แต่ของไทยเอาเงินตราของไทยไปซื้อบอนด์ของสหรัฐฯ มาใช้ 10% คืนแล้วหาย ต้องทบทวน ทำไมต่างประเทศไม่หาย” ประธานอาวุโส ซี.พี. เสนอแนะ .
อ่านประกอบ:เจ้าสัวธนินท์ ยอมรับรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มีความเสี่ยง เอกชน-รัฐต้องรับผิดชอบด้วยกัน
ระทึก! ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ซีพีจะถูกแบล็กลิสต์?
ผ่าปมร้อน รมต.ภูมิใจไทย เปิดหน้าไล่บี้ ซีพี ลงนามรถไฟความเร็วสูงสองแสนล. ใครได้-เสียปย.?
ครม.อนุมัติไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 149,650 ล้าน-คาดลงนามกลุ่มซีพี 15 มิ.ย.
'ศุภชัย เจียรวนนท์' ประกาศจุดยืนเครือซีพีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มุ่งประโยชน์เพื่อประเทศ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/