ค้นคำวินิจฉัยกฤษฎีกา-เทียบคุณสมบัติ 'ธรรมนัส' เคยติดคุกตปท หลุดเก้าอี้ รมต. หรือไม่?
"...ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย..."
"ร.ท. พชร พรหมเผ่า เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน 2539 หลังจากพ้นโทษตามคําพิพากษาของศาลประเทศออสเตรเลีย "
"ร้อยโทพชร พรหมเผ่า ไม่เคยต้องโทษตามคําพิพากษาของศาล ออสเตรเลียและ ไม่เคยถูกลงทัณฑ์ทางวินัย กรณีขาดราชการ ซึ่งได้กระทําก่อนหรือใน วันที่ 9 มิถุนายน 2539"
คือ คำชี้แจงล่าสุดของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปรากฎอยู่ในเอกสารที่ทีมงาน ร.อ.ธรรมนัส ส่งถึงสื่อมวลชนสำนักต่างๆ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงข้อครหาต่างๆ รวมไปถึงการติดคุก 4 ปี ตามคำพิพากษาออสเตรเลีย ที่ถูกเผยแพร่โดยสื่อมวลชนต่างประเทศไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : 'ธรรมนัส' แจงทุกข้อครหา! กม.ล้างมลทินฯ มีผลช่วย คุณสมบัติครบเป็น ส.ส.-รมช.เกษตรฯ ได้)
ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเห็นทางกฎหมาย ต่อ กรณีที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกทั้งในและต่างประเทศ ว่าสามารถสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้หรือไม่
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วเมื่อปี 2525 ว่า ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ปรากฎข้อมูลตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
เรื่องเสร็จที่ 276/2525
เรื่อง หารือบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(ปัญหาการตีความมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ที่ มท 0314/5574 ลงวันที่ 20 เมษายน 2525 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า มาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ รวม 7 ลักษณะและมาตรา 96 (5) ได้กำหนดผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ
"เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท"
การจำคุกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 96 (5) ดังกล่าว จะหมายความเฉพาะการถูกจำคุกในประเทศไทยเพียงกรณีเดียว หรือหมายความรวมถึงการถูกจำคุกในต่างประเทศด้วย
กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้ว เห็นว่า การถูกจำคุกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตามมาตรา 96 (5) น่าจะหมายถึงการถูกจำคุกในประเทศไทยและรวมถึงการถูกจำคุกในต่างประเทศด้วย เพราะ
1. เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดห้ามบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปเข้าสมัครรับเลือกตั้ง มูลเหตุน่าจะมาจากบุคคลที่เคยถูกจำคุกนั้น ความรู้สึกของคนในสังคมทั่วไปไม่ยอมรับนับถือโดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีพร้อมในทุกด้าน ปราศจากมลทินมัวหมอง ซึ่งแตกต่างกับผู้ที่กระทำผิดโดยประมาทเพราะความผิดดังกล่าวผู้กระทำผิดไม่มีเจตนากระทำผิด หรือความผิดลหุโทษ ซึ่งถือเป็นความผิดเล็กน้อยเพราะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ดังนั้น การที่บุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก กฎหมายจึงต้องให้พ้นโทษเกินกว่า 5 ปี เพื่อให้โอกาสประชาชนได้ติดตามพฤติการณ์ และเพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของตน
2. หากตีความให้การจำคุกตามมาตรา 96 (5) หมายถึงการจำคุกในประเทศไทยเพียงกรณีเดียว ย่อมจะเป็นผลทำให้ผู้ที่เคยถูกจำคุกในต่างประเทศมาแล้วใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายเป็นประโยชน์ ซึ่งจะเป็นผลทำให้สภาพบังคับตามข้อ 1. ไม่บังเกิดผลอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ลักษณะความผิดบางประเภทซึ่งผู้กระทำผิดได้กระทำลงในต่างประเทศเป็นความผิดที่ได้บัญญัติเป็นความผิดไว้เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ความผิดฐานลักทรัพย์ความผิดฐานปล้นทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญายังได้ให้อำนาจศาลไทยในการพิจารณาอรรถคดีและลงโทษผู้กระทำผิดที่ได้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรในลักษณะความผิดบางประเภทอีกด้วย ซึ่งพิจารณาได้จากมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ดังนั้น ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้งซึ่งไม่ใช่ความผิดอันได้กระทำลงโดยประมาทแล้ว หากกระทรวงมหาดไทยจะวางแนวทางปฏิบัติแก่จังหวัดไม่ให้รับสมัครบุคคลดังกล่าว โดยถือเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะถูกต้องหรือไม่ ประการใด จึงขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 5) ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าว และได้ฟังคำชี้แจงจากผู้แทนกระทรวงมหาดไทย(กรมการปกครอง)แล้วมีความเห็นดังต่อไปนี้
สำหรับปัญหาที่กระทรวงมหาดไทยหารือมานี้ เมื่อได้พิจารณามาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติว่า บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แล้วเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ระบุว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก" เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำคุกของศาลในประเทศใด และบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผลในกรณี เช่น ความผิดอย่างเดียวกัน มีโทษอย่างเดียวกัน ถ้าทำผิดในประเทศ ต้องห้าม ถ้าทำผิดในต่างประเทศไม่ต้องห้าม ฉะนั้น บุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการถูกจำคุกในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ก็ต้องถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามเจตนารมณ์แห่งมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ดังนั้น ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(นายอมร จันทรสมบูรณ์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรกฎาคม 2525
(ดูความเห็นทางกฎหมายฉบับเต็มที่นี่ http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2525&lawPath=c2_0276_2525)
เมื่อย้อนกลับมาดูกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ต่อความเห็นทางกฎหมายดังกล่าวของกฤษฎีกา ตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่บังคับใช้ปัจจุบัน จะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ ในกรณีที่ปรากฎหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ติดคุก 4 ปี คำพิพากษาออสเตรเลีย ในช่วงปี 2539 จริงดังนี้
หนึ่ง ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ระบุลักษณะของบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใน (7) ว่า เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
แม้จะปรากฎหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ติดคุก 4 ปี คำพิพากษาออสเตรเลีย ในช่วงปี 2539 ร.อ.ธรรมนัส ก็ยังมีสิทธิสมัคร ส.ส. ได้ เพราะปัจจุบันเวลาล่วงเลยมาเกิน 10 ปีแล้ว
สอง อย่างไรก็ดี ในมาตรา 160 ระบุว่าคุณลักษณะของรัฐมนตรีไว้ใน (7) ว่า จะต้องไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
ในกรณีนี้ หากปรากฎหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ติดคุก 4 ปี คำพิพากษาออสเตรเลีย ในช่วงปี 2539
ร.อ.ธรรมนัส อาจจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทันที
เพราะในมาตรา 160 ระบุไม่ได้กำหนดเรื่องช่วงเวลาในการลงโทษไว้ เหมือนกรณีคุณสมบัติ ส.ส.
ส่วนประเด็นที่ว่า คำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกในส่วนของ รัฐมนตรี จะนับเฉพาะกรณีในประเทศ หรือ ต่างประเทศ
เมื่อเคยมีคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาชัดเจนของ ส.ส.ไปแล้ว ในส่วนของรัฐมนตรี ก็ไม่น่าจะต้องส่งเรื่องตีความอะไรให้ยุ่งยากกันอีก!
แต่ถ้าหาก ส.ส.ทั้งในฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ยังมีความสงสัยข้องใจในประเด็นนี้อยู่ ก็สามารถเข้าชื่อทำคำร้องยื่นให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตีความคุณสมบัติ รัฐมนตรี ของ ร.อ.ธรรมนัส ตามมาตรา 160 (7) เป็นทางการ
เหมือนกรณีนักการเมืองหลายรายที่ถูกตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติไปก่อนหน้านี้
อ่านประกอบ :
'ธรรมนัส' แจงทุกข้อครหา! กม.ล้างมลทินฯ มีผลช่วย คุณสมบัติครบเป็น ส.ส.-รมช.เกษตรฯ ได้
จับกระแสสื่อทั่วโลก! พุ่งเป้า 'ธรรมนัส' เผชิญข้อครหาคดียาเสพติด- 'บิ๊กตู่' ยืนเคียงข้าง
คำต่อคำ 'วิศณุ vs.ธรรมนัส' เปิดฉากดวลเดือดกลางสภาฯ กระทู้ร้อนคดียาเสพติดออสเตรเลีย
เปิดวาร์ป ม.แคลิฟอร์เนีย ผู้ให้ปริญญาเอก 'ธรรมนัส' มีที่อยู่ 3 แห่ง-ช่วยผู้อพยพด้วย
คำต่อคำ 'ธรรมนัส' แจงปมสื่อออสเตรเลียเสนอข่าวติดคุก 4 ปี มีโครงข่ายอยู่เบื้องหลัง?
มอบทีมงานส่งข้อมูลให้สื่อ! ‘ธรรมนัส’ แจ้งยกเลิกตั้งโต๊ะแถลงข่าวคุณสมบัติ 16 ก.ย.นี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage