พบกองทุนหมู่บ้านฯอุบล ยุคบิ๊กตู่ ถลุงงบซื้อของแพงเพียบ-ตู้น้ำมันเหรียญราคาเกินหลักล้าน
เปิดผลสอบกองทุนหมู่บ้าน จว.อุบลฯ ปี 59 ยุค บิ๊กตู่! สตง.ตรวจพบปัญหาจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ราคาสูงกว่าท้องตลาดเพียบ เฉพาะ 'ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ' 21 แห่ง แห่ซื้อแพงเกินจริง วงเงินรวมกว่า 3 ล้าน จี้ผู้บริหารตั้งกก.สอบหาผู้ตัวรับผิดทางละเมิด หากพบดำเนินการไม่สุจริตเอาผิดตามกม.ทันที
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวสรุปรายงานผลตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีการดำเนินงานโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในพื้นที่ จังหวัดอุดรธานีประจำปี 2559 จำนวน 95 กองทุน 107 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 47.50 ล้านบาท ซึ่งพบประเด็นข้อตรวจสำคัญหลายประการ อาทิ การดำเนินงานโครงการมีความเสี่ยงต่อการบรรลุถึงผลสำเร็จของโครงการ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง และไม่เป็นไปตามระเบียบ คู่มือ แนวทางและวิธีการที่กำหนด การใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามกิจกรรมที่กำหนดไว้หรือเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในราคาสูงกว่าราคาตามท้องตลาด นอกจากนี้ การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา/ใบสืบราคา เสนอราคา ด้วย โดยโครงการที่มีความเสี่ยง ไม่บรรลุถึงผลสำเร็จของโครงการ มีจำนวนถึง 93 กองทุน จากทั้งหมด 95 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 97.89
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ทั้งในส่วนจังหวัดอุดรธานี และส่วนกลาง รับทราบปัญหาเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของกองทุนต่างๆ ที่ตรวจสอบพบปัญหาความไม่โปร่งใสด้วย นั้น (อ่านประกอบ : จัดซื้อวัวไม่มีหลักฐาน! สตง.สุ่มตรวจกองทุนหมู่บ้านอุดรธานี ยุค 'บิ๊กตู่' ส่อทุจริตเพียบ, ชำแหละไส้ในกองทุนหมู่บ้านอุดรฯ กระตุ้นศก.รากหญ้าประชารัฐ รบ.บิ๊กตู่ - 'ปุ๋ยปลอม' โผล่, ล่าสุดขาดทุน3แสน! เปิดชื่อ 'หจก.' โดน สตง.ชี้ขายปุ๋ยปลอมกองทุนหมู่บ้านอุดรฯยุค บิ๊กตู่)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในการตรวจสอบผลการใช้จ่ายเงิบงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในพื้นที่ จังหวัดอุดรธานี นั้น สตง. ได้ตรวจสอบพบปัญหาการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อนำมาใช้งาน ที่มีราคาสูงกว่าราคาท้องตลาดหลายชนิด อาทิ ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ถังดับเพลิง ลูกบอลดับเพลิง แผงโซล่าเชลล์ มีรายละเอียดดังนี้
ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ
จากการสืบราคาตู้น้ำมันหยอดเหรียญจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งมีคุณลักษณะไม่แตกต่างกัน จะได้ราคาตู้น้ำมันหยอดเหรียญประมาณตู้ละ 59,000 บาท และจากการสอบถามผู้ผลิตและจำหน่ายตู้น้ำมันหยอดเหรียญหรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง จะได้ราคาเฉลี่ยตู้น้ำมันหยอดเหรียญต่อการจำหน่ายจำนวน 1 ตู้ ราคาเฉลี่ยประมาณตู้ละ 59,800 บาท จำนวน 2 ตู้ ราคา เฉลี่ยประมาณตู้ละ 59,300 บาท และจำนวน 3 ตู้ ราคาเฉลี่ยประมาณตู้ละ 58,200 บาท
เบื้องต้น เพื่อความเป็นธรรม สตง.ได้ใช้ราคาเฉลี่ยสูงสุดในการเปรียบเทียบกับราคาที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจัดซื้อ พบว่า มีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 21 แห่ง จัดซื้อตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ในราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด รวมเป็นเงินกว่า 3,012,400 บาท
ถังดับเพลิง
จากการสืบราคาถังดับพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ขนาด 15 ปอนด์ ที่มีคุณลักษณะเช่นเดียวกับที่กองทุนหมู่บ้านจัดซื้อราคาเฉลี่ยถังละ 1,200 บาท จากการตรวจสอบ พบว่า มีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 4 แห่ง จัดซื้อถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ในราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด มูลค่าความเสียหายทั้งจำนวน รวมเป็นเงิน 18,400 บาท
ลูกบอลดับเพลิง
จากการสืบราคาลูกบอลดับเพลิง จากเว็บไซต์ต่าง ๆ พบว่า ลูกบอลดับเพลิง ซึ่งมีคุณลักษณะเช่นเดียวกับที่กองทุนหมู่บ้านฯ ราคาเฉลี่ยลูกละ 1,800 บาท จากการตรวจสอบพบว่ามีกองทุนหมู่บ้านฯ จำนวน 2 แห่ง จัดซื้อลูกบอลดับเพลิงสูงกว่าราคาท้องตลาด รวมเป็นเงิน 12,800 บาท
ตู้เติมเงินออนไลน์
จากการสืบราคาตู้เติมเงินออนไลน์ ซึ่งมีคุณลักษณะเช่นเดียวกับที่กองทุนหมู่บ้านฯ จัดซื้อมีราคาเฉลี่ยตู้ละ 26,800 บาท จากการตรวจสอบ พบว่า มีกองทุนหมู่บ้านฯ จำนวน 5 แห่ง จัดซื้อในราคาสูงกว่าราคาท้องตลาดรวมเป็นเงิน 116,200 บาท
แผงโซล่าเซลล์
จากการสืบราคาทางเว็บไซต์ พบว่าแผงโซล่าเซลล์ ขนาด 310 วัตต์ เฉลี่ยราคาแผงละ 6,600 บาท แต่จากการตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านดงไพรวัลย์ หมู่ 8 ตำบลบ้านชัย อำเภอบ้านดุง จัดซื้อแผงโซล่าเซลล์ ขนาด 40 วัตต์ จำนวน 8 แผ่น ราคาแผ่นละ 16,375 บาท แต่ผู้รับจ้างได้ส่งมอบ แผงโซล่าเชลล์ แบบโพลีคริสตัลไลน์ (Poly Grystaline) รุ่น PPV-D310-3ฺฺBB กำลังไฟสูงสุด 310 วัตต์ (Maximum Power :Pmax) จึงเป็นการส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ไม่ตรงกับใบสืบราคา เสนอราคา/ใบส่งมอบงาน/ใบเสร็จรับเงิน และเป็นการจัดซื้อแผงโซล่าเซล์ ในราคาสูงกว่าราคาท้องตลาดแผงละ 9,775 บาท
รวมเป็นเงิน 78,200 บาท (9,775 x8)
รายงานข่าวแจ้งว่า สตง. ได้ระบุสาเหตุที่กองทุนหมู่บ้านฯ จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในราคาสูงกว่าท้องตลาดดังกล่าว ว่า เป็นเพราะคู่มือ แนวทางและวิธีการดำเนินโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ กำหนดไม่ครอบครุมหรือไม่ชัดเจน
ขณะที่ คณะผู้รับผิดชอบโครงการที่ได้รับการแต่งตั้ง ไม่มีความรู้ประสบการณ์ในการดำเนินโครงการเช่นนี้มาก่อน ทำให้ไม่มีการสืบราคาวัสดุอุปกรณ์ที่จะจัดซื้อจากท้องตลาดมาเปรียบเทียบ แต่นำรายการและราคาที่ผู้ขายที่กองทุนหมู่บ้านฯ ตกลงจะซื้อ มาคัดลอกข้อมูลจัดทำเป็นใบเสนอราคา หรือผู้ขายเป็นผู้จัดทำเอกสารทั้งหมดให้คณะกรรมการเพียงแค่ลงลายมือชื่อในส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งให้ผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ พิจารณาทบทวนปรับปรุงการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด หากพบว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณให้ดำเนินการหาตัวผู้รับผิดทางละเมิด และหากพบว่ามีการดำเนินการไม่สุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงขยายผลการตรวจสอบไปยังการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของกองทุนหมู่บ้านฯ ในจังหวัดอื่นๆ ด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/