ชำแหละไส้ในกองทุนหมู่บ้านอุดรฯ กระตุ้นศก.รากหญ้าประชารัฐ รบ.บิ๊กตู่ - 'ปุ๋ยปลอม' โผล่
"...กองทุนหมู่บ้านมีการจัดซื้อปุ๋ยเคมีที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้ หรือขายสินค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุน และมีสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านที่จำหน่ายปุ๋ยในพื้นที่อำเภอกุมภวาปี พบว่า กองทุนหมู่บ้านบางแห่งมีปุ๋ยคงเหลือจำนวนมาก คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการชี้แจงว่า ปุ๋ยที่กองทุนหมู่บ้านซื้อมาจำหน่ายเป็นปุ๋ยตรา“ทุ่งเงิน”ผลิตโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด แห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ เพราะปุ๋ยที่ซื้อไม่มีคุณภาพ ไม่ละลายน้ำ ไม่สามารถทำให้พืชที่ปลูกเจริญงอกงามได้..."
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอไปแล้วว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปรายงานผลตรวจสอบการดำเนินงานโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในพื้นที่ จังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2559 จำนวน 95 กองทุน 107 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 47.50 ล้านบาท ซึ่งพบประเด็นข้อตรวจสำคัญหลายประการ อาทิ การดำเนินงานโครงการมีความเสี่ยงต่อการบรรลุถึงผลสำเร็จของโครงการ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง และไม่เป็นไปตามระเบียบ คู่มือ แนวทางและวิธีการที่กำหนด การใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามกิจกรรมที่กำหนดไว้หรือเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในราคาสูงกว่าราคาตามท้องตลาด นอกจากนี้ การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา/ใบสืบราคา เสนอราคา ด้วย โดยโครงการที่มีความเสี่ยง ไม่บรรลุถึงผลสำเร็จของโครงการ มีจำนวนถึง 93 กองทุน จากทั้งหมด 95 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 97.89
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ทั้งในส่วนจังหวัดอุดรธานี และส่วนกลาง รับทราบปัญหาเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของกองทุนต่างๆ ที่ตรวจสอบพบปัญหาความไม่โปร่งใสด้วย (อ่านประกอบ : จัดซื้อวัวไม่มีหลักฐาน! สตง.สุ่มตรวจกองทุนหมู่บ้านอุดรธานี ยุค 'บิ๊กตู่' ส่อทุจริตเพียบ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายงานผลสรุปการใช้จ่ายเงินกองทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จังหวัดอุดรธานี ฉบับเต็มของ สตง. ระบุที่มาการดำเนินงานโครงการว่าอยู่ภายใต้โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,556 กองทุน ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ภายใต้วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ได้รับอนุมัติโครงการและงบประมาณ จ่านวน 1,839 กองทุน จ่านวน1,979 โครงการ เป็นเงิน 918.36 ล้านบาท
ส่วนลักษณะปัญหาการดำเนินงานโครงการ ที่ส่อว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ และมีปัญหาความไม่โปร่งใส มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ ปั๊ม/ตู้น้ำมัน/ตู้เติมเงินหยอดเหรียญ จำนวน 6 กองทุน ได้แก่
1) โครงการตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ของกองทุนชุมชนเมืองสระศรีพัฒนา หมู่ 5ตำบลศรีสุทโธ อำเภอบ้านดุง ตรวจสอบพบว่า สถานที่ตั้งตู้น้ำมันหยอดเหรียญอยู่ที่ศาลาประชาคม ไม่มีบ้านเลขที่ เทศบาลเมืองบ้านดุง จึงไม่สามารถออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 2 เพื่อนำไปประกอบการยื่นขอจดทะเบียน เป็นผู้ค้าน้ำมันกับสำนักงานพลังงานจังหวัดอุดรธานีได้
2) โครงการร้านค้าชุมชนหมู่บ้านประชารัฐ ของกองทุนหมู่บ้านโก่ย หมู่ 2ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี มีการจัดซื้อตู้น้ำมันหยอดเหรียญ จำนวน 2 ตู้ ยังไม่ได้เชื่อมต่อระบบไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย น้ำมันเชื้อเพลิงและเงินคงเหลือที่อยู่ในบัญชีประชารัฐ ยังไม่ได้นำไปจัดซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคมาจำหน่าย
3) โครงการตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ของกองทุนหมู่บ้านหมูม่น หมู่ 1 ตำบลหมูม่น อำเภอเมืองอุดรธานีจัดซื้อตู้น้ำมันหยอดเหรียญ จ่านวน 4 ตู้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 2ตู้เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายน้ำมันชนิดไวไฟมากจากสำนักงานพลังงานจังหวัดอุดรธานี จำนวน 1 ตู้ และหัวจ่ายน้ำมันชำรุดจ่านวน 1ตู้
4) โครงการตู้เติมเงินออนไลน์/ปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญ จำนวน 3กองทุน ได้แก่
- กองทุนหมู่บ้านหัวนาคำ หมู่ 1 ระบบเติมเงินเข้าโทรศัพท์มือถือของลูกค้า แล้วแต่ระบบยังไม่ได้รับเงินจากผู้ที่มาใช้บริการหรือได้รับไม่ครบถ้วน
- กองทุนหมู่บ้านนาฮี ระบบเติมเงินไม่มีสัญญาณท่าให้ลูกค้าไม่สามารถเติมเงินได้
- กองทุนหมู่บ้านห้วยเจริญ เครื่องชำรุดรอส่งอะไหล่ไปซ่อม
@ ปัญหาลาน/โรงตากพืชผลทางการเกษตร/ฉางข้าวชุมชน ได้แก่
1) โครงการก่อสร้างลานตากพืชผลทางการเกษตร ก่อสร้างภายในบริเวณวัดและบริเวณฌาปนกิจสถาน ซึ่งอยู่ห่างไกลชุมชน จึงมีประชาชนมาใช้บริการตากข้าวน้อยรายจำนวน 2 กองทุน
2) โครงการก่อสร้างโรงตากพืชผลทางการเกษตร มีประชาชนมาใช้ประโยชน์น้อยรายในการตากพืชผลทางการเกษตร จำนวน 2 กองทุน
3) โครงการยุ้งฉางชุมชน ของกองทุนหมู่บ้านดอนยาง หมู่ 13ตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญก่อสร้าง แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2559 ยังไม่มีการใช้ประโยชน์เนื่องจากไม่มีการกำหนดแนวทางสำหรับการบริหารจัดการ
@ ดำเนินการไม่ต่อเนื่อง/หยุดการดำเนินการ มีจำนวน 5กองทุน ดังนี้
1) โครงการปั้มน้ำมันชุมชน ของกองทุนหมู่บ้านดอนหัน หมู่ 13ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี กองทุนหมู่บ้านประสบปัญหาในการบริหารจัดการ การขายขาดทุน กองทุนไม่มีเงินทุน หมุนเวียนเพียงพอได้เปิดประมูลเพื่อหาคนมาบริหารโครงการ โดยประธานกองทุนหมู่บ้านเป็นผู้ประมูลได้และดำเนินการในลักษณะส่วนตัว
2) โครงการปั้มน้ำมันชุมชน ของกองทุนหมู่บ้านหนองไผ่ หมู่ 5 ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี กองทุนหมู่บ้านประสบปัญหาในการบริหารจัดการเนื่องจากกำไรจากการขายน้ำมันน้อย ไม่เหลือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน ไม่มีคนที่จะมาให้บริการเติมน้ำมันเพราะรายได้น้อยไม่คุ้มค่ากับเวลา ท่าเลที่ตั้งไม่เหมาะสม
3) โครงการเลี้ยงหมู ของกองทุนหมู่บ้านชัยคำเจริญ หมู่ 14 ตำบลขอนยูง อำเภอ กุดจับ กองทุนหมู่บ้านได้ขายหมูทั้งหมด และหยุดการบริหารโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 เนื่องจากด่าเนินการขาดทุนหมูมีราคาตกต่ำ
4) โครงการร้านค้าชุมชนเพื่อการเกษตร จ่านวน 2กองทุน ได้แก่ กองทุนชุมชนหนองหิน สามัคคีธรรม หมู่ 11และกองทุนชุมชนศรีบูรพา 1 หมู่ 12ตำบลศรีสุทโธ อำเภอบ้านดุง นำเงินบางส่วนไปจัดซื้อปุ๋ยเคมีเพื่อมาจำหน่ายแต่ได้รับปุ๋ยไม่ครบถ้วน และนำเงินที่เหลือไปปล่อยกู้ ทำให้ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารโครงการ
ทั้งนี้ รายงานสตง.ยังระบุว่า มีหลายโครงการที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ได้แก่ โครงการตลาดนัดชุมชนกองทุนหมู่บ้านถ่อนน้อย หมู่ 8ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี กองทุนหมู่บ้านนำเงินไปจัดซื้อที่ดิน มีการปรับพื้นที่ถมดินติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแต่ยังไม่ได้เชื่อมระบบไฟฟ้า เนื่องจากยังไม่ได้เทพื้นตลาดนัด และยังไม่ได้สร้างห้องน้ำ กองทุนหมู่บ้านมีเงินทุนคงเหลือ จำนวน 43,238.00 บาท ซึ่งไม่สามารถที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายเงินเพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดได้
นอกจากนี้ ยังพบโครงการที่มีความเสี่ยงในการดำเนินโครงการที่จะไม่ต่อเนื่องและยั่งยืน อาทิ
1) ด้านสถานที่ในการดำเนินโครงการ กองทุนหมู่บ้านที่ดำเนินโครงการในพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่มีหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ ไม่มีการจัดท่าสัญญาเช่าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีสัญญาเช่าแต่มี รายละเอียดไม่ครอบคลุมไม่ครบถ้วน
2) การวิเคราะห์ต้นทุน จากการตรวจสอบพบว่า กองทุนหมู่บ้านคิดต้นทุนสินค้าเฉพาะค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าเท่านั้นแล้วบวกกำไรเพิ่มเพื่อกำหนดเป็นราคาขาย แต่กองทุนหมู่บ้านไม่ได้นำค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าจ้าง ค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หรือค่าความระเหยของน้ำมัน เป็นต้น มารวมเพื่อเป็นต้นทุนของสินค้า
3) ด้านการควบคุม จากการตรวจสอบ พบว่า กองทุนหมู่บ้านไม่ได้จัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สิน หรือมีการจัดทำแต่รายละเอียดยังไม่ครบถ้วน เพียงพอ การบันทึกบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่เป็นปัจจุบัน การลงรายรับ รายจ่ายไม่มีเอกสารหลักฐานอ้างอิงหรือมีแต่ไม่ครบถ้วน กรณีขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ ไม่มีการจัดทำสัญญาซื้อขายไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีการทำสัญญาไว้เป็นหลักฐานแต่รายละเอียดในสัญญายังไม่ครอบคลุม ทุกสิ้นเดือนไม่มีการตรวจนับสินค้าคงเหลือ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางในการบริหารงานให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร และการจัดเก็บเอกสารหลักฐานไม่เป็นระบบ ระเบียบ ไม่เป็นหมวดหมู่
4) ด้านบุคลากร จากการตรวจสอบพบว่า การบริหารโครงการขาดแคลนแรงงานที่จะมาช่วยในการด่าเนินการ การบริหารโครงการจึงมีแต่คณะกรรมการเพียงบางคนเท่านั้น อีกทั้งคณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบโครงการไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ ไม่ได้รับการพัฒนาฝีมือหรือทักษะที่เพียงพอที่จะผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับของเอกชน
5) การตลาดหรือผู้ใช้บริการ จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ที่มาใช้บริการมีเฉพาะคนในชุมชน ไม่มีตลาดรองรับการกระจายสินค้าหรือเพิ่มกลุ่มเป้าหมายในการใช้บริการให้มากขึ้น
6) ด้านการดูแลบ่ารุงรักษาจากการตรวจสอบพบว่า กองทุนหมู่บ้านไม่มีคู่มือส่าหรับใช้เป็นแนวทางในการดูแลบ่ารุงรักษา เพราะอุปกรณ์แต่ละอย่างมีอายุการใช้งาน มีหลักเกณฑ์วิธีการบ่ารุงรักษาตามรอบระยะเวลา
7) การมีส่วนร่วมของประชาชน จากการตรวจสอบพบว่า กองทุนหมู่บ้านเสนอโครงการโดยผ่านการประชุมประชาคมตามความต้องการของชุมชน แต่เมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณกลับด่าเนินโครงการใหม่โดยไม่ผ่านการประชุมประชาคม เพื่อแจ้งให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านทราบหรือแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับโครงการที่จะดำเนินการใหม่หรือไม่ และในระหว่างดำเนินการคณะผู้รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ติดประกาศเพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง ความต้องการวัสดุ ครุภัณฑ์ ปริมาณ คุณภาพ ให้ทุกคนในหมู่บ้าน/ชุมชนได้รับทราบ อีกทั้งโดยส่วนใหญ่ยังไม่มีการรับสมัครสมาชิกเพื่อให้มีการระดมทุน
8) การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของกองทุนหมู่บ้าน จากการตรวจสอบพบว่ากองทุนหมู่บ้านบางแห่งด่าเนินโครงการโดยไม่มีสัญญาซื้อขาย/จ้างทำของ/ จ้างก่อสร้าง จึงมีความเสี่ยงหากผู้รับจ้างส่งของ หรือก่อสร้างไม่เป็นตามที่ตกลง กองทุนหมู่บ้านจะได้รับความเสียหายและไม่อาจฟ้องร้องค่าเสียหายจากผู้รับจ้างได้
นอกจากนั้นยังพบว่า กองทุนหมู่บ้านมีการจัดซื้อปุ๋ยเคมีที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้ หรือขายสินค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุน และมีสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมาก
โดยจากการตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านที่จำหน่ายปุ๋ยในพื้นที่อำเภอกุมภวาปี พบว่า กองทุนหมู่บ้านบางแห่งมีปุ๋ยคงเหลือจำนวนมาก คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการชี้แจงว่า ปุ๋ยที่กองทุนหมู่บ้านซื้อมาจำหน่ายเป็นปุ๋ยตรา“ทุ่งเงิน”ผลิตโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด แห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ เพราะปุ๋ยที่ซื้อไม่มีคุณภาพ ไม่ละลายน้ำ ไม่สามารถทำให้พืชที่ปลูกเจริญงอกงามได้
เบื้องต้น สตง. ได้ขอความอนุเคราะห์สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี ดำเนินการเก็บตัวอย่างปุ๋ยที่กองทุนหมู่บ้านจัดซื้อมาจำหน่าย เพื่อนำไปวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน จำนวน 3 กองทุน ได้แก่
- กองทุนหมู่บ้านทองอินทร์ หมู่ 5ตำบลเสอเพลอ อำเภอกุมภวาปี เก็บตัวอย่าง ปุ๋ยเคมีจ่านวน 3 สูตร ได้แก่ สูตร 20-8-20 สูตร 15-7-35 และสูตร 15-15-15
- กองทุนหมู่บ้านสวนมอน หมู่ 5 ตำบลเวียงคำ อำเภอกุมภวาปี เก็บตัวอย่างปุ๋ยเคมีจ่านวน 2 สูตร ได้แก่ สูตร 20-8-20 และสูตร 15-7-35
- กองทุนหมู่บ้านท่าม่วงน้อย หมู่ 12 ตำบลเวียงค่า อำเภอกุมภวาปี เก็บตัวอย่าง ปุ๋ยเคมีจำนวน 2 สูตร ได้แก่ สูตร 15-15-15 และสูตร 15-7-35
ผลการตรวจสอบปุ๋ยเคมีที่ส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน พบว่า ปุ๋ยเคมีทุกสูตรเป็นปุ๋ยเคมี “ปลอม”
เนื่องจากปุ๋ยเคมีดังกล่าวเป็นปุ๋ยเคมีเชิงผสม มีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสเฟต โพแทช เมื่อรวมกับค่าความคลาดเคลื่อนแล้วยังต่ำกว่าร้อยละสิบตามที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือที่ระบุไว้ในฉลาก ถือว่าเป็น ปุ๋ยเคมีปลอม
เบื้องต้น จากการตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านที่จัดซื้อปุ๋ยมาจำหน่าย จำนวน 34 กองทุน พบว่า มี กองทุนหมู่บ้านในอำเภอกุมภวาปี อำเภอศรีธาตุ และอำเภอบ้านดุง จัดซื้อปุ๋ยตรา “ทุ่งเงิน” มาจำหน่าย จำนวน 17กองทุน ไม่สามารถจำหน่ายปุ๋ยได้หรือจ่าหน่ายได้น้อย จำนวน 14กองทุน จึงน่าเชื่อว่าเป็นปุ๋ย“ปลอม” เช่นเดียวกัน
สำหรับโครงการที่มีการบริหารจัดการมีความไม่โปร่งใส่ หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ มี 3 กองทุน คือ 1.กองทุนหมู่บ้านป่าเลา หมู่ 2 ตำบลศรีธาตุ อำเภอศรีธาตุ ไม่มีเอกสารหลักฐานในการบริหารโครงการให้ตรวจสอบ และนำวัวของผู้อื่นมาสวมสิทธิ์แอบอ้างเป็นวัวของโครงการ 2.กองทุนหมู่บ้านศรีชมชื่น หมู่ 11ตำบลนิคมสงเคราะห์ อำเภอเมืองอุดรธานีเอกสาร หลักฐานไม่ตรงตามข้อเท็จจริงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการจัดซื้อวัวทั้งหมดจำนวนเท่าใด 3. กองทุนชุมชนศรีผดุง หมู่ 7 ตำบลศรีสุทโธ อำเภอบ้านดุง ประธานกองทุนฯ นำปุ๋ยเคมี ไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้ทำเอกสารหลักฐานการซื้อขายหรือเอกสารสัญญากู้ยืมปุ๋ย แต่ได้นำชื่อของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน (เงินทุนหมุนเวียน) ที่ไม่ได้ซื้อปุ๋ยมาทำสัญญากู้ยืมปุ๋ยแทนตนเองโดยที่สมาชิกที่ถูกนำชื่อมาทำสัญญาไม่ได้รับทราบ
ทั้งหมดนี่ คือ เนื้อหารายละเอียดการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของกองทุนหมู่บ้าน ในจังหวัดอุดรธานี ที่สตง.ตรวจสอบพบว่า ส่อว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ และมีปัญหาความไม่โปร่งใส
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับ หจก. ผู้จำหน่ายปุ่ยที่ถูกระบุว่ามีปัญหา เป็นใครมาจากไหนนั้น สำนักข่าวอิศรา จะตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอในตอนต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/