ศาลฎีกาฯออกหมายจับ 4 จำเลย 'ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง-ผู้รับเหมา' คดีบ้านเอื้ออาทร
ออกหมายจับ 4 จำเลยคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร 'ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง-กลุ่มผู้รับเหมา' ไม่มาฟังพิจารณาคดี 'อภิชาติ' ยันไม่เคยแทรกแซงประชุมบอร์ด กคช.-ไม่เคยถูกแนะนำว่าเป็นที่ปรึกษา รมว.พม. - ศาลฎีกาฯสั่งเข้มห้ามรายงานข่าวไม่ถูกต้อง-ชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ ประสงค์ให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกประชาชน-ศาล ทำให้ความยุติธรรมเสียไป
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 09.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีบ้านเอื้ออาทร พร้อมองค์คณะผู้พิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) หมายเลขดำ อม.42/2561 และ 102/2561 นัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่ 5 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 61 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และแกนนำพรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 1 นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการ กคช. และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548-2549 จำเลยที่ 2 นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีต ผอ.ฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย จำเลยที่ 3 , นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อดีตนักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ จำเลยที่ 4 , นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงษ์เรืองรอง อายุ 55 ปี อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย จำเลยที่ 10 และกลุ่มเอกชนรวม 14 ราย เป็นจำเลย
ในความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ มีจำเลย 4 รายที่ไม่มาศาลมีพฤติการณ์หลบหนีศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว คือ น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว , น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงานบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด จำเลยที่ 6-7 และผู้แทนนิติบุคคล บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด , บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 11-12
ขณะเดียวกัน นายวัฒนา, นายอริสมันต์ และจำเลยร่วมคนอื่น ๆ ที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล ขณะที่ศาลได้เบิกตัวนายอภิชาติ และ น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องนายอภิชาติ จำเลยที่ 5 ซึ่งถูกจำคุกในคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มาจากเรือนจำเพื่อร่วมฟังการพิจารณาด้วย
อัยการนำพยานเข้าไต่สวนรวม 5 ปาก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ใน กคช.ระดับอดีต ผอ.- รอง ผอ.กองการประชุม ที่เคยปฏิบัติหน้าที่ช่วงดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร , รอง ผอ.กองประมูลและสัญญาก่อสร้างรวมทั้งอดีตปลัดกระทรวง พม.ซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการ (บอร์ด) กคช.ด้วย
ในการไต่สวนทั้งศาล อัยการโจทก์ และฝ่ายจำเลย ได้ซักถาม รวมทั้งการซักค้านประเด็นขั้นตอนการทำรายงานการประชุมของ บอร์ด กคช. และประเด็นสำคัญที่พาดพิงถึงเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 4 ว่าเคยมีการสั่งการจากเลขานุการที่ประชุมบอร์ด ให้จัดส่งเอกสารหนังสือเชิญประชุม , รายงานการประชุม หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ถึงที่ปรึกษา รมว.พม. 7 ครั้ง ที่อ้างว่ามีการระบุถึงชื่อนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 4 หรือไม่ โดยทนายความจำเลยพยายามซักค้านว่าจำเลยที่ 4 ไม่เคยยุ่งเกี่ยวการแทรกแซงกับการประชุมบอร์ด รวมทั้งไม่เคยถูกพาไปแนะนำตัวว่าเป็นที่ปรึกษา รมว.พม. ไม่เคยเข้าร่วมประชุมใด ๆ
นอกจากนี้การไต่สวนพยาน ยังซักถามถึงหลักเกณฑ์การจัดโปรโมท Pre-Sale (ขายจองล่วงหน้า) โครงการให้ได้ตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ กับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าที่จะได้ทำ 15% จากยอดมูลค่าโครงการ ค่าที่ดิน และค่าก่อสร้าง หรือจากยอดค่าก่อสร้าง
เมื่อศาล อัยการโจทก์ และฝ่ายจำเลย ซักถามพยานโจทก์ทั้ง 5 ปากดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์ ครั้งต่อไปวันที่ 5 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น. และที่จำเลยที่ 4 , 8 ขอยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่สองนั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการพิจารณาคดีให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนจึงอนุญาต
ส่วนนายวัฒนา ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ไต่สวนหาผู้รับผิดชอบ กรณีที่อ้างว่าตรวจพบว่าบันทึกคำให้การของพยาน 2 ราย คือ นายพิทยา เจริญวรรณ กับ นายพรศักดิ์ บุณโยดม ในชั้น ป.ป.ช. กับชั้นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อาจคลาดเคลื่อนอย่างมีนัยยะสำคัญที่อาจจะส่งผลเสียหายต่อจำเลยที่ 1
องค์คณะฯแจ้งให้จำเลยทราบว่าตามที่ศาลมีคำสั่งให้อัยการโจทก์ที่ได้แถลงคัดค้านกรณีดังกล่าว ทำคำคัดค้านเป็นเอกสารเสนอศาลมาภายในวันที่ 18 กรกฎาคม นั้น เนื่องจากศาลเพิ่งได้รับเอกสารจากอัยการโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งจะต้องพิจารณารายละเอียด เพื่อประกอบการวินิจฉัย โดยวันนี้มีไต่สวนพยานโจทก์ในคดีอยู่ด้วย จึงให้รอฟังคำสั่งเรื่องคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวในนัดหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการไต่สวนพยานคดีกล่าวหาทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ผ่านมานั้น หลังจากที่มีเหตุการณ์ในการสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลคดีจนอาจกระทบการพิจารณาได้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา องค์คณะฯจึงได้ออกข้อกำหนดระหว่างการพิจารณานี้ ว่า ห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการ ดังนี้
1. ให้ข่าว , รายงาน หรือย่อเรื่องกระบวนพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้อง
2.ทำการวิภาค (ภาษาตามกฎหมาย) โดยไม่เป็นธรรมในการดำเนินคดีของคู่ความ หรือคำพยานหลักฐาน รวมทั้งการแถลงข้อความที่เป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียงของคู่ความ , พยาน
3.ชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ โดยการกระทำนั้นประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล , คู่ความ , พยานหลักฐาน ที่จะมีผลทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป
โดยการออกข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง) มาตรา 30, 32 , 33
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
หมัดต่อหมัด! ‘วัฒนา’ vs ‘แก้วสรร’ เส้นทางเงินคดีบ้านเอื้อฯ-‘เสี่ยเปี๋ยง’ คีย์แมน?
'แก้วสรร'เบิกความคดีบ้านเอื้อฯ-เส้นทางเงินพันล.พักร้านก๋วยเตี๋ยวก่อนวกเข้า บ.เสี่ยเปี๋ยง