- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- หมัดต่อหมัด! ‘วัฒนา’ vs ‘แก้วสรร’ เส้นทางเงินคดีบ้านเอื้อฯ-‘เสี่ยเปี๋ยง’ คีย์แมน?
หมัดต่อหมัด! ‘วัฒนา’ vs ‘แก้วสรร’ เส้นทางเงินคดีบ้านเอื้อฯ-‘เสี่ยเปี๋ยง’ คีย์แมน?
“…ประเด็นเส้นทางเงินการให้สินบน นายวัฒนาซักว่า มีเอกชนจำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทร ทำไมตรวจสอบแค่ 11 รายในชั้น คตส. นายแก้วสรร เบิกความว่า “เอกชน 11 รายดังกล่าว เป็นรายใหญ่ และได้รับการร้องเรียนเรื่องทุจริต เมื่อไต่สวนแล้ว กรรมการผู้จัดการของเอกชนอย่างน้อย 8 ราย เล่าพฤติการณ์การทุจริต จึงเริ่มดำเนินการจากจุดนั้น เอาแค่เฉพาะตัวใหญ่ ต่อมามีการพบเส้นทางการเงินไหลไปถึงท่าน” นายวัฒนา เบรกว่า “ท่านหมายถึงใคร หมายถึงผมหรือไม่ ขอให้พูดให้ดี มิฉะนั้นระวังเบิกความเท็จ” นายแก้วสรร แก้ไขว่า “หมายถึงท่านกับพวก ตามคำฟ้องคือ นายวัฒนา นายอภิชาติ กับพวก”...”
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นักไต่สวนพยานครั้งที่ 2 คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 14 ราย เป็นจำเลย กรณีถูกกล่าวหาว่า ทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ
หลายคนคงทราบไปแล้วว่า นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ (คตส.) ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าวในชั้น คตส. เป็นผู้มาเบิกความเป็นพยานให้ฝ่ายโจทก์ (อัยการ)
ถ้อยความสำคัญของนายแก้วสรรคือ การเล่าเบื้องลึกฉากหลังเกี่ยวกับเส้นทางการเงินในคดีดังกล่าวกว่า 1.4 พันล้านบาทว่า คีย์แมนสำคัญคือ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง (จำเลยที่ 4) จากการตรวจสอบในชั้น คตส. พบว่ามีการไหลไปสู่บัญชีเงินฝากคนใกล้ชิด หรือเป็นลูกน้องของนายอภิชาติ เช่น น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา เป็นต้น หลังจากนั้นไหลต่อไปยังสถานที่หนึ่ง ซึ่งทราบภายหลังว่า คือร้านก๋วยเตี๋ยว กระทั่งเงินจากร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งนี้ ไหลออกไปนอกประเทศ และเวียนกลับเข้ามาสู่งบการเงินของบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยอ้างว่าเป็นรายได้จากการขายข้าว (อ่านประกอบ : 'แก้วสรร'เบิกความคดีบ้านเอื้อฯ-เส้นทางเงินพันล.พักร้านก๋วยเตี๋ยวก่อนวกเข้า บ.เสี่ยเปี๋ยง)
อย่างไรก็ดีสาระสำคัญนายวัฒนา เมืองสุข จำเลยที่ 1 ที่ขึ้นซักถามพยานเอง ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า โครงการนี้มีการเปลี่ยนแปลง TOR เพื่อความรัดกุม และการวางหลักประกัน 5% เป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมายทุกประการ ไม่ได้เป็นการเรียกรับเงินสินบน หรือค่านายหน้า ประการสำคัญคือในการไต่สวนข้อเท็จจริงในชั้น คตส. ชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และในคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. ไม่มีข้อมูลว่า มีเงินไหลเวียนเข้ามาสู่ตนแต่อย่างใด ?
ประเด็นที่น่าสนใจในการเบิกความเป็นพยานของนายแก้วสรร โดยมีนายวัฒนา ลุกขึ้นซักถามด้วยตนเองคือ นายวัฒนา พยายามให้นายแก้วสรรตอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการไต่สวนคดีนี้ในชั้น ป.ป.ช. รวมถึงข้อมูลรายละเอียดของโครงการบ้านเอื้ออาทร รวมถึงการเปลี่ยนแปลง TOR มาใช้ระบบโควตาแทน
ขณะที่นายแก้วสรร เบิกความตอบหลายครั้งว่า “ผมไม่ทราบรายละเอียด ผมทราบแต่พฤติการณ์” ยิ่งทำให้นายวัฒนาซักจี้เข้าไปอีกเรื่อย ๆ เพื่อให้นายแก้วสรรตอบ ท้ายที่สุดนายแก้วสรรต้องอธิบายในเชิงข้อเท็จจริงว่า ที่ผ่านมาการไต่สวนในชั้น คตส. ไม่ได้ดูรายละเอียดเรื่องเทคนิค หรือการปรับเปลี่ยน TOR ว่าเป็นอย่างไร แต่ดูในเชิงพฤติการณ์ตามข้อร้องเรียนว่า มีการจ่ายเงินสินบนเพื่อวิ่งให้ได้งานประมูลบ้านเอื้ออาทรจริงหรือไม่
นายแก้วสรร ระบุอีกว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงในชั้น คตส. โดยเน้นไปที่เอกชนรายใหญ่อย่างน้อย 11 ราย พบว่ามีเส้นทางการเงินไหลไปสู่บัญชีของลูกน้องคนใกล้ชิดนายอภิชาติ มูลค่าราว 1.4 พันล้านบาท หลังจากนั้นไปพักไว้ที่ร้านก๋วยเตี๋ยว ก่อนจะเวียนไปต่างประเทศ และวกกลับเข้ามาสู่งบการเงินขอบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยอ้างว่า เป็นรายได้จากการขายข้าว
นายวัฒนา ซักอีกว่า การปรับเปลี่ยน TOR เป็นระบบโควตา รวมถึงการวางหลักประกัน 5% ทำให้การเคหะแห่งชาติเสียหายอย่างไร นายแก้วสรร ยืนยันว่า “ไม่ทราบ” ก่อนระบุว่า คตส. ไม่ได้พิจารณาในประเด็นเหล่านั้น แต่พิจารณาในพฤติการณ์ภาพรวมของเกี่ยวกับการแรงจูงใจในการจ่ายเงินสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148
“คตส. จึงไม่ได้ติดใจในประเด็นการปรับเปลี่ยน TOR เป็นระบบโควตา หรือการวางหลักประกัน 5% เราไม่ได้ตั้งประเด็นไต่สวนในส่วนนั้น” นายแก้วสรร ระบุ
นายวัฒนา ซักอีกว่า มีพยานที่เป็นเอกชนหนึ่งใน 11 ราย ตอนแรกให้การกับ คตส. ว่า มีการจ่ายเงินสินบน ต่อมาให้การในชั้น ป.ป.ช. กลับคำว่า สาเหตุที่ต้องให้การในชั้น คตส. เช่นนั้นเนื่องจากกังวลว่าลูกอาจโดนคดีอาญาไปด้วย และนายแก้วสรร เป็นหนึ่งในกรรมการฝ่ายคณะทำงาน ป.ป.ช. คดีนี้ ทราบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
นายแก้วสรร เบิกความยืนยันว่า เป็นกรรมการในคณะทำงานฝ่าย ป.ป.ช. คดีนี้จริง เคยเข้าร่วมประชุม 1 ครั้ง ในวันดังกล่าวพยานรายนี้เบิกความกลับคำให้การในชั้น คตส. จริง แต่เป็นเรื่องของเขาเราไม่ได้เข้าไปก้าวก่าย ส่วนการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. นั้น ยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย นับตั้งแต่สิ้นสุดความเป็น คตส.
ข้อเท็จจริงอีกด้าน นายแก้วสรร ระบุว่า ในที่ประชุมกรรมการ คตส. ตนเป็นผู้เสนอแนวทางไต่สวนว่า หากผู้ถูกกล่าวหารายใดให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี สามารถถูกกันไว้เป็นพยานได้ โดยไม่ถูกกล่าวหา ที่ประชุมตอบรับกับแนวคิดนี้ นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เห็นด้วย เพราะในชั้นการไต่สวน ป.ป.ช. ก็ทำเช่นกัน ดังนั้นเวลาไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จึงอธิบายแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้เข้าใจ และมีเอกชน 8 รายจาก 11 ราย ที่ให้การข้อเท็จจริงว่ามีการจ่ายสินบนจึงถูกกันไว้เป็นพยาน ส่วนอีก 3 ราย ให้การกำกวม บางรายปฏิเสธ บางรายอ้างว่าเป็นเงินจ่ายค่าอื่น ๆ และไม่มีเหตุผลเชื่อถือพอหักล้างเส้นทางการเงินได้ จึงตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาจนเรื่องมาถึงชั้นศาลฎีกาฯ
นายวัฒนาพยายามซักนายแก้วสรร ในประเด็นรายละเอียดตัวโครงการหลายครั้ง มีหลายคำถามนายแก้วสรรต้องใช้เวลาคิดชั่วครู่ ก่อนระบุว่า “ไม่ทราบ” “จำไม่ได้” “ไม่ทราบในรายละเอียด” แต่นายวัฒนายังคงซักต่อ
กระทั่งมาถึงประเด็นเส้นทางเงินการให้สินบน นายวัฒนาซักว่า มีเอกชนจำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทร ทำไมตรวจสอบแค่ 11 รายในชั้น คตส. นายแก้วสรร เบิกความว่า “เอกชน 11 รายดังกล่าว เป็นรายใหญ่ และได้รับการร้องเรียนเรื่องทุจริต เมื่อไต่สวนแล้ว กรรมการผู้จัดการของเอกชนอย่างน้อย 8 ราย เล่าพฤติการณ์การทุจริต จึงเริ่มดำเนินการจากจุดนั้น เอาแค่เฉพาะตัวใหญ่ ต่อมามีการพบเส้นทางการเงินไหลไปถึงท่าน”
นายวัฒนา เบรกว่า “ท่านหมายถึงใคร หมายถึงผมหรือไม่ ขอให้พูดให้ดี มิฉะนั้นระวังเบิกความเท็จ” นายแก้วสรร แก้ไขว่า “หมายถึงท่านกับพวก ตามคำฟ้องคือ นายวัฒนา นายอภิชาติ กับพวก”
ท้ายที่สุดหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาต้องออกมาเบรก เนื่องจากเกรงว่า จะเป็นการตอบโต้กันไปมา ระบุว่า อย่าเพิ่งทะเลาะกัน ขอให้แต่ละท่านซักถาม-เบิกความเพื่อนำข้อเท็จจริงมาสู่ศาลให้มากที่สุด ส่วนพยานถ้าจำไม่ได้ ให้ตอบไปเลยว่าจำได้หรือไม่ได้ เพราะทุกอย่างอยู่ในสำนวนหมดแล้ว
เรื่องจึงจบลงด้วยดี และนายวัฒนาซักต่ออีกสักครู่ก่อนมาถึงคำถามสุดท้ายว่า พยานหลักฐาน รวมถึงเส้นทางการเงินทั้งหมด ไม่มีเงินแม้แต่ก้อนเดียวที่ไหลมาถึงตนใช่หรือไม่ นายแก้วสรร เบิกความยืนยันว่า จากการไต่สวนของ คตส. ไม่พบว่ามีเงินไหลมาสู่นายวัฒนา แต่มีการยื่นเรื่องให้ ปปง. ไต่สวนเส้นทางการเงินต่อ กระทั่งปัจจุบันมีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องในคดี และฟ้องต่อศาลแพ่งแล้ว
นายวัฒนาจึงนั่งลง จบการซักถาม หลังจากนั้นเปิดบัลลังก์ให้ทนายฝ่ายจำเลยซักนายแก้วสรรต่อ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเรื่องเส้นทางการเงิน โดยนายแก้วสรร เบิกความยืนยันว่า ท้ายที่สุดเส้นทางการเงินมีการพัวพันกับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร
นี่เป็นเพียงตอนต้นในการไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์เท่านั้น ยังเหลือการไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ และพยานฝ่ายจำเลยอีกจำนวนหนึ่ง หากไม่มีอะไรผิดพลาด นัดสุดท้ายในการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยคือราวเดือน ต.ค. 2562 ก่อนจะให้คู่ความแต่ละฝ่ายทำคำเบิกความปิดคดีต่อศาลฎีกาฯ และศาลฎีกาฯจะนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/