ส่องคดีทุจริตโลก : อดีตผู้ว่า 'ริโอ' ยอมรับจ่ายสินบน61.5 ล.แลกโหวตเลือกบราซิลจัดโอลิมปิก
"...การให้ข้อมูลของนายเซอร์จีโอเพื่อซักทอดไปถึงบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกรณีสินบนนั้น มีที่ไปที่มาจากคำแนะนำของฝ่ายกฎหมายชุดใหม่ของนายเซอร์จีโอ เป้าหมายเพื่อที่จะให้เขาได้รับโทษน้อยลง จากการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน โดยเฉพาะกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอดีตประธานาธิบดีลูลาของบราซิล ซึ่งก่อนหน้านี้นั้น นางอันเดรียน่า อันเซลโม ผู้เป็นภรรยา ก็ได้ถูกตัดสินจำคุกไปแล้วจากกรณีทุจริตเช่นกัน ภายหลังที่ต้องโทษกักขังอยู่ในบริเวณบ้านเป็นระยะเวลาหนึ่ง..."
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ในสัปดาห์นี้ ยังคงเกาะติดอยู่กันที่ประเด็นการทุจริตในวงการกีฬาโลกเช่นเดิม
หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้นำเสนอกรณีที่นายลามิน เดียค (Lamine Diack )นักธุรกิจชาวเซเนกัลวัย 86 ปี และอดีตประธานสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations (IAAF) ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2542-2558 จะต้องขึ้นศาลที่ประเทศฝรั่งเศสเนื่องจากต้องสงสัยว่า เขาและลูกชายคือนายนายปาป้า มาสซาต้า เดียค (Papa Massata Diack) อดีตผู้บริหารฝ่ายการตลาดของสมาคมกรีฑานานาชาติ ได้ก่อตั้งบริษัท Black Tiding ซึ่งมีพฤติกรรมปกปิดการใช้สารกระตุ้นในหมู่นักกีฬา และต้องสงสัยว่าบริษัทแห่งนี้อาจจะเกี่ยวพันถึงประเด็นการล็อบบี้และการให้สินบนในแวดวงกีฬา โดยเฉพาะกับกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นจะได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 (อ่านประกอบ:ส่องคดีทุจริตโลก : อดีตปธ.กรีฑานานาชาติ รับสินบนปกปิดการใช้สารกระตุ้นนักกีฬาระดับโลก)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา เกิดประเด็นฉาวในแวดวงกีฬาขึ้นอีกครั้ง เมื่อสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ ได้รายงานข่าวกรณีนายเซอร์จีโอ คาบราล (Sérgio Cabral) อดีตผู้ว่าการเมืองริโอ เดอ จาเนโร ของบราซิลได้ยอมรับต่อหน้าผู้พิพากษาของบราซิลว่า ได้จ่ายเงินจำนวน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 61.5 ล้านบาท ในการประชุมโหวตเลือกสถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกเมื่อปี 2552 เพื่อแลกกับการที่ประเทศจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2559 ที่ผ่านมา
นายเซอร์จีโอ ยังระบุ นายคาร์ลอส นูซแมน(Carlos Nuzman) ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของบราซิลในขณะนั้น เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือในเรื่องการเจรจาต่อรองจนสำเร็จลุล่วงไปได้
นายคาร์ลอส นูซแมน (Carlos Nuzman) อดีตประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของบราซิล
โดยในช่วงปี 2560 นายคาร์ลอส ถูกจับกุมในข้อหาว่าซื้อเสียง แต่เขาได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ส่วนนายเซอร์จีโอนั้น ปัจจุบันถูกตัดสินโทษจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 200 ปี อันเนื่องมาจากคดีทุจริตหลายคดี รวมทั้งคดีฟอกเงินและคดียักยอกเงิน
ทั้งนี้ นายเซอร์จีโอ ได้ยอมรับสารภาพด้วยว่า นายลามิน เดียค ซึ่งเป็นประธานประธานสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (IAAF) ในช่วงปี 2552 ยังได้มีส่วนในข้อตกลงดังกล่าวนี้ด้วย ส่วนนายลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) อดีตประธานาธิบดีของบราซิลก็ยังเป็นผู้ที่มีส่วนรับรู้ในเรื่องของการจ่ายเงินดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม ทนายความส่วนตัวของอดีตประธานาธิบดีลูลาได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว โดยยืนยันว่าอดีตประธานาธิบดีนั้นถูกตัดสินจำคุกอันเนื่องมาจากคดีทุจริตอื่นๆ
นายลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) อดีตประธานาธิบดีของบราซิล
@การดำเนินการสืบสวน ณ ขณะนี้
เบื้องต้น มีรายงานข่าวว่า ขณะนี้มีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีการจ่ายเงินสินบนก้อนนี้ โดยอัยการจากบราซิลและฝรั่งเศส ได้พุ่งเป้าไปที่กิจกรรมของนายคาร์ลอส นายลามิน นายปาป้า และนายแฟรงก์ เฟรเดอริก อดีตกรรมาธิการ(บอร์ด)บริหารคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังคงปฏิเสธเกี่ยวกับกรณีการให้สินบน
สำหรับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนายเซอร์จีโอนั้น พบว่า เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการเมืองริโอ เดอจานีโร เป็นเวลา 2 สมัย นับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2557
โดยการให้ข้อมูลของนายเซอร์จีโอเพื่อซักทอดไปถึงบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกรณีสินบนนั้น มีที่ไปที่มาจากคำแนะนำของฝ่ายกฎหมายชุดใหม่ของนายเซอร์จีโอ เป้าหมายเพื่อที่จะให้เขาได้รับโทษน้อยลง จากการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน โดยเฉพาะกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอดีตประธานาธิบดีลูลาของบราซิล ซึ่งก่อนหน้านี้นั้น นางอันเดรียน่า อันเซลโม ผู้เป็นภรรยา ก็ได้ถูกตัดสินจำคุกไปแล้วจากกรณีทุจริตเช่นกัน ภายหลังที่ต้องโทษกักขังอยู่ในบริเวณบ้านเป็นระยะเวลาหนึ่ง
มีรายงานด้วยว่า นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ประเทศบราซิล ได้ใช้ปฏิบัติการกวาดล้างการทุจริต โดยใช้ชื่อว่าปฏิบัติการล้างรถยนต์ หรือ Car Wash จนนำไปสู่การเปิดโปงกรณีทุจริตทั้งในภาคการเมืองและภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก มีผู้ทรงอิทธิพลทั้งในแวดวงธุรกิจและการเมืองของประเทศได้รับการลดโทษเนื่องจากให้การและให้หลักฐานที่เป็นประโยชน์จนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดรายอื่นๆได้
@รายชื่อผู้ที่ถูกซักทอด
ทั้งนี้ นายเซอร์จีโอ ได้ให้ข้อมูลว่า การให้เงินสินบนของเขานั้นก็เพื่อต้องการที่จะทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะกรรมการจำนวน 9 คน จากจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด 95 คน
เขายังระบุด้วยว่า มีนักกีฬาระดับโลกจำนวน 2 คน ได้แก่ นายเซอร์เกย์ บั๊บก้า (Sergey Bubka) อดีตนักกีฬาค้ำถ่อ ดีกรีเหรียญทองโอลิมปิกจากยูเครน และนายอเล็กซานเดอร์ โปโปฟ (Alexander Popov) อดีตนักกีฬาว่ายน้ำจากรัสเซีย ก็มีส่วนร่วมในการรับสินบนและการโหวตสถานที่จัดกีฬาโอลิมปิกเช่นกัน
อย่างไรก็ตามทั้ง 2 คนได้ออกมาปฏิเสธแล้ว และทั้ง 2 คน ได้หารือกันด้วยว่าจะมีการฟ้องกลับหรือไม่ ในข้อหาหมิ่นประมาท
โดยนายอเล็กซานเดอร์ได้ออกมาระบุผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมในการโหวตสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก หรือเข้าไปมีส่วนในการเจรจาแต่อย่างใด
ขณะที่ นายเซอร์เกย์เอง ได้ทวีตข้อความว่าทั้งหมดนั้นเป็นแค่การกล่าวหาที่ผิดๆของอดีตผู้ว่าการเมืองริโอ เดอจานีโร
นายเซอร์เกย์ บั๊บก้า (Sergey Bubka) อดีตนักกีฬาค้ำถ่อ
นายอเล็กซานเดอร์ โปโปฟ (Alexander Popov) อดีตนักกีฬาว่ายน้ำจากรัสเซีย
อย่างไรก็ดี ผลจาการที่นายเซอร์จีโอ ระบุว่าที่ไปที่มาของเงินสินบนนั้นมาจากนายอาเธอร์ ซอเรส (Arthur Soares) นักธุรกิจชาวบราซิลและเป็นเพื่อนสนิทของนายเซอร์จีโอเอง และเงินจำนวนนั้นถูกโอนไปยังนายปาป้า มาสซาต้า บุตรชายของนายลามิน
ทางอัยการบราซิล จึงได้ตั้งข้อหากับนายอาเธอร์ ซึ่งมีชื่อเล่นเรียกกับว่า ‘กษัตริย์อาเธอร์’ ในข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับการให้สินบนในปี 2560 แต่อย่างไรก็ตาม นายอาเธอร์ได้ย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาในช่วงระหว่างการสืบสวนแล้ว
นายอาเธอร์ ซอเรส (Arthur Soares) นักธุรกิจชาวบราซิล
@ท่าทีจาก IOC
ทางด้านคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ (IOC) ได้มีการออกคำสั่งให้หัวหน้าในฝ่ายด้านจริยธรรมติดตามประเด็นที่เป็นข้อกล่าวหาอย่างใกล้ชิด และได้ออกแถลงการณ์ให้สาธารณชนรับทราบว่า IOC นั้นได้ดำเนินการปฏิรูปองค์กรมาตั้งแต่ปี 2557 และพร้อมจะดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆที่ได้รับการร้องเรียนมาแม้ว่าจะเป็นช่วงที่เกิดขึ้นก่อนที่ IOC จะปฏิรูปองค์กร
สำหรับเมืองริโอ เดอจานีโร นั้น ชนะเลิศการเป็นเมืองจัดกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2552 เหนือเมืองอื่นๆที่เข้ารอบสุดท้ายมาด้วยกัน ได้แก่ ชิคาโก,มาดริดและโตเกียว และถือได้ว่าเป็นเมืองแรกในทวีปอเมริกาใต้ที่ได้โอกาสให้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ส่วนกรณีที่อัยการฝรั่งเศส ได้สืบสวนสอบสวนกรณีการคัดเลือกให้เมืองโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2563
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมายืนยันว่า การคัดเลือกเมืองโตเกียว ให้เป็นสถานที่แข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้น เป็นการดำเนินการที่มีความโปร่งใสมาโดยตลอด
(เรียบเรียงจาก:https://www.bbc.com/news/world-latin-america-48881867)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก : อดีตปธ.กรีฑานานาชาติ รับสินบนปกปิดการใช้สารกระตุ้นนักกีฬาระดับโลก
ส่องคดีทุจริตโลก: เบื้องลึก 'พลาตินี' ถูกจับพัวพันทุจริตคดีเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022
ส่องคดีทุจริตโลก: เรือขนธนบัตร2.4พันล้าน ‘ล่องหน’ ปริศนา รบ.ไลบีเรียป่วน สั่งตามล่าคืน
ส่องคดีทุจริตโลก :เปิดปม บ.ยักษ์ใหญ่แคนาดา จ่ายสินบนพันล.แลกสัญญา ยุค 'กัดดาฟี่' เรืองอำนาจ
ส่องคดีทุจริตโลก : กรณีอื้อฉาวโคคาโคลา จ่ายสินบน 284 ล. จ้างหน่วยงานวิจัยด้านสุขภาพฝรั่งเศส
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดแผนโจรกรรม 1MDB - ปล้นเงินกองทุนแห่งชาติมาเลย์ 2 หมื่นล้าน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่ออดีตนายกฯฝรั่งเศส ขึ้นศาลปมใช้เงินหลวง35.6ล. จ้างเมีย-ลูก ช่วยงานรัฐสภา
ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงสินบน บ.ยักษ์ใหญ่บราซิล 2.5 หมื่นล. สะเทือนทั่วลาตินอเมริกา
ส่องคดีทุจริตโลก: ศาลจีนจำคุก จนท.มองโกเลีย 18 ปี เลียนแบบหนังสายลับซ่อนเงินสินบน700ล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อ บ.เชลล์-เอมิ เจอข้อหาให้สินบนหมื่นล้าน แลกใบอนุญาตสำรวจบ่อน้ำมัน
ส่องคดีทุจริตโลก : ศึกชิงเก้าอี้ ปธน.ยูเครน เดือด! ข้อกล่าวหาโกงซื้อเสียงเพียบ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อหัวคะแนนพรรครีพับลิกันโกงการเลือกตั้งรัฐนอร์ทแคโรไลน่า
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ป.ป.ช.ยูเครน ดองเรื่องไม่สอบทุจริตขนย้ายอะไหล่อาวุธ
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดโปงขบวนการทุจริตขายอาวุธยูเครน โยงข้อมูลธุรกิจบริษัทประธานาธิบดี?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อรัฐวิสาหกิจขายอาวุธยูเครนส่อโดนยุบจากข้อหาทุจริต 295ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:ตีแผ่ปัญหาคอร์รัปชั่น เส้นสาย ฝังรากลึกในกองทัพปลดปล่อยปชช.จีน
ส่องคดีทุจริตโลก: ความพยายามในการขจัดอิทธิพลกลุ่มทุนในการเมืองสหรัฐ ผ่าน Dark Money
ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตผู้บริหารบ.จีน ส่อโดนโทษประหาร ปมขายความลับเรือบรรทุกเครื่องบิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติวิจารณ์นครดูไบเป็นสวรรค์การฟอกเงิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่จีน เจอข้อครหาฉ้อโกงราคาชิ้นส่วนโดรน 4.6 พันล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อเกม Fortnite กลายเป็นเครื่องมือฟอกเงินของอาชญากรไซเบอร์?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อปธ.คกก.จัดโอลิมปิกญี่ปุ่น ถูกอัยการฝรั่งเศสสอบปมจ่ายสินบน73ล.?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบ.ส่งเสบียงให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกสอบปมฉ้อโกงสัญญา 8 พันล.เหรียญ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อบ.ลูกโฟล์คสวาเกน ยอมรับมีเอี่ยวโกงทดสอบค่าปล่อยมลพิษสหรัฐฯ ด้วย
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดกรณีสินบนจัดซื้อ 'กริพเพน' แสนล.กระทบปมทุจริตอดีตผู้นำบราซิล
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯสอบสวน ปมเอี่ยวฟอกเงินเกาหลีเหนือ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ปธ.ANOC ลงจากตำแหน่ง หลังถูกสอบปลอมแปลงกระบวนการอนุญาโตฯ จัดโอลิมปิก