ส่องคดีทุจริตโลก: เบื้องลึก 'พลาตินี' ถูกจับพัวพันทุจริตคดีเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022
"...นอกจากข้อครหาในประเด็นการล็อบบี้สถานที่จัดฟุตบอลโลกในปี 2565 แล้ว ยังปรากฏข้อมูลว่าเมื่อช่วงปี 2558 นายพลาตินีถูกคณะกรรมการจริยธรรมฟีฟ่าสอบสวน เนื่องมาจากกรณีที่นายพลาตินีได้รับเงินจำนวน 2 ล้านฟรังก์สวิส หรือกว่า 60 ล้านบาท จากนายแบลทเทอร์ในช่วงที่เขายังเป็นประธานฟีฟ่าโดยมิชอบ แต่นายพลาตินีก็ได้ปฎิเสธโดยอ้างว่าตนได้รับเงินจากฟีฟ่าเนื่องจากได้ทำสัญญาด้วยวาจากับนายแบลทเทอร์ ว่าจะรับเป็นที่ปรึกษาให้แก่ฟีฟ่าในช่วงปี 2543 ถึง 2545 โดยไม่มีรายละเอียดอื่นใดอีก..."
ส่องคดีทุจริตโลกในสัปดาห์นี้ สำนักข่าวอิศรา wwwww.isranews.org จะขอนำเสนอกรณีการควบคุมตัว นายมิเชล พลาตินี อดีตกัปตันทีมชาติฝรั่งเศสวัย 63 ปี และอดีตดาวยิงสโมสรยูเวนตุสที่เคยนั่งตำแหน่งประธานสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (UEFA) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศส ที่ Nanterre ย่านชานเมืองทางตะวันตกของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเช้าวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นฝรั่งเศส และถูกนำตัวไปสืบสวนในข้อหาทุจริตรับสินบนเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2565
โดยหลังจากการจับกุมดังกล่าว สำนักข่าวบีบีซี สำนักข่าวเดอะการ์เดี้ยน ของอังกฤษ และสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ ของสหรัฐอเมริกา ต่างวิเคราะห์ว่า การจับกุมนายมิเชลนั้น อาจจะเป็นการเปิดโปงการทุจริตครั้งใหญ่ในสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือฟีฟ่า (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) ที่เกี่ยวกับการ ล็อบบี้สถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2565
ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีการเปิดเผยข้อมูลรายได้ของฟีฟ่าในช่วงปี 2558 ถึงปี 2561 ว่า มีจำนวนสูงถึง 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการให้ใช้ลิขสิทธิ์ หักลบค่าใช้จ่ายแล้วคำนวณเป็นกำไรสุทธิเท่ากับ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท
@การควบคุมตัวนายพลาตินี สู่ประเด็นการการล็อบบี้สถานที่จัดแข่งขันฟุตบอลโลก
จุดเริ่มต้นของการสอบสวนนายพลาตินีนั้นมาจากการในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการลงมติเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2553 นายพลาตินีได้ร่วมทานอาหารเที่ยงกับนายนิโคลาส ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้น โดยมีบุคคลสัญชาติกาตาร์หลายคนรวมถึงชีค ทามิม บิน ฮามาด อัลทานิ (Sheikh Tamim bin Hamad al-Thani) ประมุขของประเทศกาตาร์ในปัจจุบัน เข้าร่วมรับประทานอาหารด้วย
จึงก่อให้เกิดความน่าสงสัยว่านายซาร์โกซีพยายามที่จะเข้าทำสัญญามูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐแลกกับการยกให้ประเทศกาตาร์ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก
ต่อมาในปีเดียวกัน นายเซบ แบลทเทอร์ (Sepp Blatter) อดีตประธานฟีฟ่า เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) ว่า ในช่วงแรกนายแบลทเทอร์และนายพลาตินี ได้ตกลง "สัญญาลูกผู้ชาย"ว่า จะลงมติให้สองประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซียและสหรัฐได้เป็นเจ้าภาพการฟุตบอลโลกทั้งในปี 2561 และปี 2565
แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนลงมติ นายพลาตินี กลับบอกเขาว่า ไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้แล้วเนื่องจากผู้นำประเทศบอกกับเขาว่า ควรพิจารณาถึงสถานการณ์ของประเทศฝรั่งเศส และการตัดสินใจของนายพลาตินีจะก่อให้เกิดผลมากกว่าหนึ่งโหวตอีกด้วย จนในท้ายที่สุดประเทศกาตาร์ก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกด้วยคะแนน 14 ต่อ 8
อย่างไรก็ตาม นายพลาตินีได้ปฏิเสธมาตลอดว่า เขาเลือกประเทศกาตาร์ด้วยการตัดสินใจของเขาเอง และมื้อเที่ยงวันนั้นเป็นการเดินทางไปเพื่อบอกกับนายซาร์โกซีต่อหน้าว่า เขาจะเลือกประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพ และเขาไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะมีชาวกาตาร์เข้าร่วมรับประทานอาหารมื้อนั้นด้วย
หนึ่งเดือนหลังจากที่ประเทศกาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ ปรากฏว่าประเทศกลุ่มอาหรับได้ประกาศการทดลองเครื่องบินรบราฟาลสัญชาติฝรั่งเศสแทนที่ผู้ผลิตเจ้าเดิม ต่อมาในช่วงเดือนเมษายน 2558 ประเทศกาตาร์ซื้อเครื่องบินรบดังกล่าวจำนวน 24 ลำในราคา 7 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 2.1 แสนล้านบาท พร้อมตัวเลือกให้ซื้อเพิ่มได้อีก 12 ลำ
นอกจากนี้ ยังเป็นที่สงสัยกันมายาวนานว่า ประเทศกาตาร์จะเข้าซื้อสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็งเพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับนายซาร์โกซี
สำหรับกรณีการควบคุมตัวดังกล่าวนี้ โฆษกของนายพลาตินี กล่าวว่า นายพลาตินียังไม่ถูกจับกุมเพียงแต่ถูกเรียกให้เข้าพบพนักงานสอบสวนในฐานะพยานเพื่อให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การลงมติเลือกประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2565 และเรื่องที่ประเทศฝรั่งเศสได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรปปี 2559 ซึ่งในช่วงเวลานั้นนายพลาตินีดำรงตำแหน่งเป็นประธานยูฟ่า
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ช่วงเที่ยงคืนครึ่งตามเวลาท้องถิ่น นายพลาตินีก็ได้รับการปล่อยตัวหลังจากการสอบคำให้การที่ยาวนาน
โดยนายพลาตินีให้สัมภาษณ์โดยสั้นว่า "พวกเขาถามคำถามเกี่ยวกับยูโร 2559, ฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซีย, ฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์, สโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง และฟีฟ่า"
ทั้งนี้ นอกจากข้อครหาในประเด็นการล็อบบี้สถานที่จัดฟุตบอลโลกในปี 2565 แล้ว ยังปรากฏข้อมูลว่าเมื่อช่วงปี 2558 นายพลาตินีถูกคณะกรรมการจริยธรรมฟีฟ่าสอบสวน เนื่องมาจากกรณีที่นายพลาตินีได้รับเงินจำนวน 2 ล้านฟรังก์สวิส หรือกว่า 60 ล้านบาท จากนายแบลทเทอร์ในช่วงที่เขายังเป็นประธานฟีฟ่าโดยมิชอบ
แต่นายพลาตินี ก็ได้ปฎิเสธโดยอ้างว่าตนได้รับเงินจากฟีฟ่าเนื่องจากได้ทำสัญญาด้วยวาจากับนายแบลทเทอร์ ว่าจะรับเป็นที่ปรึกษาให้แก่ฟีฟ่าในช่วงปี 2543 ถึง 2545 โดยไม่มีรายละเอียดอื่นใดอีก ส่งผลให้สุดท้ายทั้งนายพลาตินีและแบลทเทอร์ก็โดนลงโทษเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยถูกสั่งห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางฟุตบอลเป็นเวลา 8 ปี แต่ต่อมาได้รับการลดเหลือ 4 ปีในชั้นอุทธรณ์ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนตุลาคมปี 2562
นายเซบ แบลทเทอร์ (Sepp Blatter) อดีตประธานฟีฟ่า
@ข้อพิรุธกับการประมูลสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2565
สำหรับข้อครหาในกรณีนี้นั้นต้องย้อนกลับไปช่วงปี 2553 ซึ่งมีการเปิดประมูลสถานที่เพื่อคัดเลือกประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2565 เป็นการแข่งขันระหว่างประเทศกาตาร์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จนต่อมาประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศทะเลทรายขนาดเล็กเพียง 11,581 ตร.กม. (ใหญ่กว่าจังหวัดพิษณุโลกเล็กน้อย) ก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูล
นายเกรก ไดค์ (Greg Dyke) อดีตสมาคมฟุตบอล (ประเทศอังกฤษ) เคยกล่าวไว้ในรายการวิทยุของสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ว่าการตัดสินใจเลือกให้ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพนั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างมาก และทุกคนที่เข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจดังกล่าวควรถูกตั้งข้อสงสัย เนื่องจากเป็นมติที่ขัดแย้งกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการทางด้านเทคนิค ซึ่งเห็นว่ามีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย จนกระทั่งต่อมาต้องย้ายช่วงเวลาการจัดการแข่งขันไปไว้ในช่วงฤดูหนาวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย นอกจากนั้นประเทศกาตาร์ยังไม่เข้าลักษณะคุณสมบัติที่เพียงพอต่อความต้องการโดยรวมเลย นี่จึงนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดแปลกอย่างมาก
นายเกรก ไดค์ (Greg Dyke) อดีตสมาคมฟุตบอล (ประเทศอังกฤษ)
อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา บรรดานักข่าวสายสืบสวนสอบสวนโดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส ได้พยายามสืบสาวเรื่องราวของการคอร์รัปชันทุจริต อันเกี่ยวข้องกับการลงมติตั้งแต่ช่วงปี 2553
@การสืบสวนในหลายประเทศ
และต่อมาช่วงต้นปี 2558 กระทรวงยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มต้นกระบวนการสืบสวนสอบสวนของตัวเอง และพบว่าภาคเอกชนทั้งในสหรัฐเองและประเทศอื่นได้มีการส่งผ่านเงินอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบที่ฝังรากลึกเพื่อให้ได้สิทธิทางการตลาดหลายด้านโดยไม่ชอบ คำนวณเป็นเงินมากกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 4.6 พันล้านบาท จนนำไปสู่การจับกุมทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ และตั้งข้อหาคอร์รัปชัน อั้งยี่ ฉ้อโกง ให้สินบนและความผิดฐานฟอกเงินแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงฟีฟ่า 9 คนและผู้บริหารเอกชนสาขาการกีฬาระดับสูงอีก 5 คน รวมถึงประธานฟีฟ่าสองคน ประธานและอดีตประธานสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน (CONCACAF) ซึ่งใช้อำนาจของตนโดยไม่ชอบแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง โดยในระหว่างการสืบสวนนั้น กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้หมายเรียกไปยังธนาคารต่าง ๆ รวมถึงซิตี้แบงค์และธนาคารเครดิตสวิสเพื่อให้ปากคำเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นครั้งนี้ จนในช่วงปลายปี 2558 สหรัฐได้จับกุมและตั้งข้อหาจำเลยมากกว่า 40 คน จาก 24 ประเทศ (ดูรายชื่อเพิ่มเติม: https://www.nytimes.com/interactive/2015/05/27/sports/soccer/fifa-indictments.html?mtrref=www.nytimes.com&gwh=07866CD9330BDCD37A248FA309BB55C1&gwt=pay)
และในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ยังได้มีการเริ่มกระบวนการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งมีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐอเมริกาสำหรับผู้ที่ถูกตั้งข้อหาโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐด้วย
นอกจากนี้ ในปี 2557 ฟีฟ่าเองก็ได้เคยเริ่มกระบวนการสอบสวนทีมงานของประเทศกาตาร์ที่รับผิดชอบเรื่องการประมูลเองว่ากระทำการคอร์รัปชั่น แต่ได้พ้นข้อกล่าวหาหลังจากการการสืบสวนที่ยาวนานกว่า 2 ปี
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ในหลายประเทศยังคงสืบสวนสอบสวนเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง โดยได้ควบคุมตัวนายพลาตินีมาให้ปากคำกับกรณีการเลือกประเทศการ์ตาให้มาเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อช่วงวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการประมูลนั้นจะเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 2553 และขณะนี้เหลือแค่ประมาณ 3 ปี ก็จะถึงปี 2565 ซึ่งจะเป็นปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก แต่การสืบสวนนั้นก็ยังคงไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
(เรียบเรียงจาก:https://www.justice.gov/opa/pr/nine-fifa-officials-and-five-corporate-executives-indicted-racketeering-conspiracy-and,https://www.theguardian.com/football/2015/oct/11/fifas-135m-payment-to-michel-platini-there-was-no-written-contract,https://www.theguardian.com/football/2015/dec/21/sepp-blatter-michel-platini-banned-from-football-fifa,https://www.ft.com/content/5457de04-7e48-11e5-a1fe-567b37f80b64,https://www.nytimes.com/2019/06/18/sports/soccer/michel-platini-qatar-world-cup.html,https://www.bbc.com/sport/football/48673461)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก: เรือขนธนบัตร2.4พันล้าน ‘ล่องหน’ ปริศนา รบ.ไลบีเรียป่วน สั่งตามล่าคืน
ส่องคดีทุจริตโลก :เปิดปม บ.ยักษ์ใหญ่แคนาดา จ่ายสินบนพันล.แลกสัญญา ยุค 'กัดดาฟี่' เรืองอำนาจ
ส่องคดีทุจริตโลก : กรณีอื้อฉาวโคคาโคลา จ่ายสินบน 284 ล. จ้างหน่วยงานวิจัยด้านสุขภาพฝรั่งเศส
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดแผนโจรกรรม 1MDB - ปล้นเงินกองทุนแห่งชาติมาเลย์ 2 หมื่นล้าน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่ออดีตนายกฯฝรั่งเศส ขึ้นศาลปมใช้เงินหลวง35.6ล. จ้างเมีย-ลูก ช่วยงานรัฐสภา
ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงสินบน บ.ยักษ์ใหญ่บราซิล 2.5 หมื่นล. สะเทือนทั่วลาตินอเมริกา
ส่องคดีทุจริตโลก: ศาลจีนจำคุก จนท.มองโกเลีย 18 ปี เลียนแบบหนังสายลับซ่อนเงินสินบน700ล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อ บ.เชลล์-เอมิ เจอข้อหาให้สินบนหมื่นล้าน แลกใบอนุญาตสำรวจบ่อน้ำมัน
ส่องคดีทุจริตโลก : ศึกชิงเก้าอี้ ปธน.ยูเครน เดือด! ข้อกล่าวหาโกงซื้อเสียงเพียบ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อหัวคะแนนพรรครีพับลิกันโกงการเลือกตั้งรัฐนอร์ทแคโรไลน่า
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ป.ป.ช.ยูเครน ดองเรื่องไม่สอบทุจริตขนย้ายอะไหล่อาวุธ
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดโปงขบวนการทุจริตขายอาวุธยูเครน โยงข้อมูลธุรกิจบริษัทประธานาธิบดี?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อรัฐวิสาหกิจขายอาวุธยูเครนส่อโดนยุบจากข้อหาทุจริต 295ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:ตีแผ่ปัญหาคอร์รัปชั่น เส้นสาย ฝังรากลึกในกองทัพปลดปล่อยปชช.จีน
ส่องคดีทุจริตโลก: ความพยายามในการขจัดอิทธิพลกลุ่มทุนในการเมืองสหรัฐ ผ่าน Dark Money
ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตผู้บริหารบ.จีน ส่อโดนโทษประหาร ปมขายความลับเรือบรรทุกเครื่องบิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติวิจารณ์นครดูไบเป็นสวรรค์การฟอกเงิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่จีน เจอข้อครหาฉ้อโกงราคาชิ้นส่วนโดรน 4.6 พันล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อเกม Fortnite กลายเป็นเครื่องมือฟอกเงินของอาชญากรไซเบอร์?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อปธ.คกก.จัดโอลิมปิกญี่ปุ่น ถูกอัยการฝรั่งเศสสอบปมจ่ายสินบน73ล.?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบ.ส่งเสบียงให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกสอบปมฉ้อโกงสัญญา 8 พันล.เหรียญ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อบ.ลูกโฟล์คสวาเกน ยอมรับมีเอี่ยวโกงทดสอบค่าปล่อยมลพิษสหรัฐฯ ด้วย
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดกรณีสินบนจัดซื้อ 'กริพเพน' แสนล.กระทบปมทุจริตอดีตผู้นำบราซิล
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯสอบสวน ปมเอี่ยวฟอกเงินเกาหลีเหนือ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ปธ.ANOC ลงจากตำแหน่ง หลังถูกสอบปลอมแปลงกระบวนการอนุญาโตฯ จัดโอลิมปิก