ส่องคดีทุจริตโลก: เรือขนธนบัตร2.4พันล้าน ‘ล่องหน’ ปริศนา รบ.ไลบีเรียป่วน สั่งตามล่าคืน
"...เมื่อเดือน ก.ย. 2561 สำนักข่าวท้องถิ่นได้รายงานว่าเรือบรรทุกธนบัตรไลบีเรียซึ่งสั่งพิมพ์ใหม่จากประเทศสวีเดนได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยจากท่าเรือนำเข้าประเทศไลบีเรียในช่วงปี 2559 ถึง 2560 ในขณะที่ธนาคารกลางไลบีเรียปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าวและแถลงว่าเงินได้ถูกเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บอีกมุมหนึ่งของเมือง..."
ส่องคดีทุจริตโลกสัปดาห์นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จะขอนำเสนอข้อมูลเบื้องลึกการหายไปของเงินจำนวนมหาศาล อันเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางด้านการเงินของธนาคารกลางประเทศไลบีเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา มีประชากรประมาณ 3.4 ล้านคน และมีการแลกเปลี่ยนใช้เงินสกุลดอลลาร์ไลบีเรียเป็นหลัก
ที่มาที่ไปข้อมูล เริ่มต้นจากสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ ได้รายงานถึงกรณีการประท้วงที่เมืองมันโรเวีย เมืองหลวงของประเทศไลบีเรีย เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ประชาชนชาวไลบีเรียกว่า 5 พันคนได้จัดการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมือง เพื่อประท้วงนายจอร์จ เวอาห์ (George Weah) ประธานาธิบดีไลบีเรีย ในประเด็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรม
นายจอร์จ เวอาห์ (George Weah) ประธานาธิบดีไลบีเรีย
@สาเหตุของการประท้วง
สำนักข่าวบีบีซี ได้ระบุถึงสาเหตุของการประท้วงว่ามาจาก 2 สาเหตุ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกันคือ
1.ข้อกล่าวอ้างเรื่องการหายไปของธนบัตรใหม่จำนวน 15.5 พันล้านเหรียญไลบีเรีย หรือกว่า 2.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในระหว่างการขนส่งจากท่าเรือไลบีเรียไปยังธนาคารกลางไลบีเรีย
และ2. การบริหารจัดการไม่ชอบในนโยบายการอัดฉีดเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเข้าระบบเศรษฐกิจกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 770 ล้านบาท
โดยเมื่อเดือน ก.ย. 2561 สำนักข่าวท้องถิ่นได้รายงานว่าเรือบรรทุกธนบัตรไลบีเรียซึ่งสั่งพิมพ์ใหม่จากประเทศสวีเดนได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยจากท่าเรือนำเข้าประเทศไลบีเรียในช่วงปี 2559 ถึง 2560 ในขณะที่ธนาคารกลางไลบีเรียปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าวและแถลงว่าเงินได้ถูกเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บอีกมุมหนึ่งของเมือง
ทั้ง ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนหน้าการเปิดโปงครั้งนี้ นายจอร์จ เวีย ที่เพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือน ม.ค. 2561 ได้ประกาศปฏิบัติการเปลี่ยนถ่ายธนบัตร ว่าธนาคารกลางไลบีเรียจะอัดฉีดเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจำนวน 25 ล้านเหรียญเข้าระบบเศรษฐกิจแทนที่เงินสกุลไลบีเรีย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะลดจำนวนเงินไลบีเรียในระบบเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากภาวะค่าเงินไลบีเรียอ่อนตัวตั้งแต่ช่วงประมาณเดือน ก.ค. 2560
@รายงานเรื่องเงินที่หายไป
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังคงตั้งคำถามถึงที่มาของเงินจำนวนดังกล่าว จนกระทั่งหน่วยงานสอบสวนของประธานาธิบดี (Presidential Investigative Team:PIT) และ โครล์ (Kroll) บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงได้ออกรายงานวิเคราะห์เรื่องนี้จำนวน 2 ฉบับ
โครล์ระบุว่า ธนาคารกลางไลบีเรียได้สั่งพิมพ์ธนบัตรขึ้นและนำเข้าประเทศไลบีเรียเป็นจำนวนมากกว่าสามเท่าจากที่ธนาคารกลางมีอำนาจสั่งพิมพ์ได้ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำนวนธนบัตรที่พิมพ์ใหม่และได้รับการขนส่งเข้าธนาคารไลบีเรียมากกว่า 20 ครั้งนั้นก็ไม่ได้มีความชัดเจนในเรื่องการบันทึกหรือคำอธิบายเส้นทางการหมุนเวียนของเงิน
โดยถ้าสรุปข้อมูลจากรายงานของทั้ง PIT และโครล์จะพบถึงความไม่ชอบมาพากลในกิจกรรมการเงินจำนวน 3 วาระได้แก่
1.เงินจำนวน 15.5 พันล้านเหรียญไลบีเรียซึ่งหายไปในระหว่างขนส่งนั้น มีเพียงแค่ 5 พันล้านเหรียญไลบีเรียหรือกว่า 800 ล้านบาทเท่านั้น ที่ถูกพิมพ์และนำส่งเข้าระบบตามกฎหมายของไลบีเรีย สำหรับเงินจำนวนที่เหลือนั้น ธนาคารกลางไม่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติให้ดำเนินการ แต่ในท้ายที่สุดกลับเข้าทำสัญญากับเครน เอบี (Crane AB) บริษัทพิมพ์ธนบัตรสัญชาติสวีเดนเพื่อพิมพ์ธนบัตรและส่งเงินจำนวนดังกล่าวมายังไลบีเรีย
2.รายงานของโครล์ยังเปิดเผยถึงยอดการสั่งพิมพ์ธนบัตรเพิ่มอีกจำนวน 2.6 พันล้านเหรียญไลบีเรียหรือกว่า 400 ล้านบาท จากที่เปิดเผยในตอนแรก ซึ่ง PIT ได้รายงานข้อมูลเดียวกัน แต่ยังคงไม่มีผู้ใดทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับเงินจำนวนที่เพิ่มขึ้นมา
3.รายงานจากโครล์ระบุต่อว่า ธนาคารกลางไลบีเรียได้แลกเงินจำนวน 15 ล้านเหรียญสหรัฐให้เป็นเงินไลบีเรียจำนวน 2.3 พันล้านเหรียญไลบีเรีย เพื่อส่งเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจำนวนดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแทนที่เงินไลบีเรียเดิม และ PIT ได้รายงานเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากเงินจำนวน 15 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว เงินอีกจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 62.28 ล้านบาทยังได้ถูกขายให้กับบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ ถึงแม้รายงานทั้งสองฉบับจะพบว่านโยบายมีข้อบกพร่องในทางปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้มีรายงานฉบับใดอธิบายกรณีธนบัตรที่หายไปหรือจำนวนเงินดอลลาร์สหรัฐที่เพิ่มเข้ามาในระบบ
PIT ได้รายงานว่าในบรรดาบริษัทต่าง ๆ ที่พบว่าเข้าร่วมกับธนาคารกลางไลบีเรียในการแลกเปลี่ยนเงิน มีจำนวนกว่า 15 บริษัท ซึ่งทั้งหมดได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว และพบว่าอีก 8 บริษัทได้ปิดตัวลงแล้วในเวลาที่ PIT เข้าตรวจสอบ
@ความพยายามติดตามเงินคืนและจับกุมตัวผู้กระทำความผิด
สำหรับการติดตามเงินจำนวน 2.6 พันล้านเหรียญไลบีเรียที่เพิ่มขึ้นมาและหายไปนั้น คาดว่าเงินจำนวนนี้ไปอยู่กับบุคคลหนึ่งเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลแล้ว
ส่วนเงินที่ธนาคารกลางไลบีเรียได้แลกเป็นจำนวน 15 ถึง 17 ล้านเหรียญสหรัฐที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเปลี่ยนถ่ายธนบัตร ก็ยากที่จะติดตามเนื่องจากเงินได้ถูกกระจายไปตามบริษัทเอกชนหมดแล้วและไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลไว้ในลักษณะที่พร้อมให้ตรวจสอบ
รายงานจากโครล์ยังระบุอีกว่า การปฏิบัติดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็น "ใช้ธนบัตรในทางมิชอบ" และอาจถือได้ว่าเป็นการฟอกเงิน ซึ่งเป็นไปได้ว่าธุรกรรมต่าง ๆ นั้นจะข้องเกี่ยวกับธุรกิจผิดกฎหมาย
สำหรับการหาตัวผู้กระทำความผิดนั้น ล่าสุด เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไลบีเรียได้จับกุมนายมิลตัน วีคส์ (Milton Weeks) อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางไลบีเรีย และนายชาร์ลส์ เซอร์ลีฟ (Charles Sirleaf) อดีตผู้ช่วยและเป็นบุตรชายของนางเอลเลน จอห์นสัน-เซอร์ลีฟ อดีตประธานาธิบดีไลบีเรียตามคำแนะนำของ PIT
โดยทั้งคู่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะช่วงเวลาที่สั่งพิมพ์ธนบัตรเกิดขึ้น ซึ่งศาลได้นัดฟังคำให้การทั้งคู่ในอีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้ และในปัจจุบันทั้งคู่ได้รับการปล่อยตัวแต่ถูกห้ามไม่ให้ออกนอกประเทศ
นายชาร์ลส์ เซอร์ลีฟ (Charles Sirleaf) อดีตผู้ช่วยและเป็นบุตรชายของนางเอลเลน จอห์นสัน-เซอร์ลีฟ อดีตประธานาธิบดีไลบีเรีย
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไลบีเรียก็ได้สั่งให้ผู้สอบบัญชีดำเนินการติดตามจำนวนเงินที่หายไปอย่างเข้มงวด และ PIT ได้แนะนำว่าให้เริ่มขั้นตอนของการหยุดการไหลเวียนของเงินไลบีเรียในระบบและแทนที่ด้วยตัวเลือกอื่นแทน เพื่อป้องกันกิจกรรมที่ผิดดกฎหมายและสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
ขณะที่นายทา วองเบ (Taa Wongbe) ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลภาวะเงินเฟ้อของประเทศยิ่งแย่ลงไปอีก และการดำเนินการขจัดคอร์รัปชั่นก็ไม่ได้มีความก้าวหน้าใด ๆ
นายทา วองเบ (Taa Wongbe) ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม
@ข้อสงสัยจากต่างชาติ
นอกจากนี้ ต่างประเทศก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนเงินที่หายไป โดยเอกอัครราชทูตจำนวน 9 รายได้ส่งจดหมายเตือนไปยังประธานาธิบดีไลบีเรีย โดยจดหมายแสดงความเป็นกังวลว่ารัฐบาลอาจได้นำเงินที่รัฐบาลต่างประเทศบริจาคให้ออกไปจากธนาคารกลางหรือไม่
นอกจากนั้น ธนาคารโลกหรือ World Bank ก็ยังได้แสดงความไม่พอใจถึงกรณีที่เงินหลายล้านเหรียญสหรัฐถูกถอนออกจากบัญชีสำคัญซึ่งรักษาไว้เพื่อเป็นทุนในโครงการน้ำดื่มหรือโครงการช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ ในประเทศ
@ภาวะเงินเฟ้อซึ่งรุนแรงขึ้นจากนโยบายการเงินชุดปัจจุบัน
ในขณะที่นโยบายปัจจุบันของไลบีเรียต้องการมุ่งไปที่การหยุดภาวะเงินเฟ้อเมื่อเทียบเงินสกุลไลบีเรียกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่การกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลตรงกันข้าม เนื่องจากรายงานของโครล์พบว่า ในช่วงที่มีการอัดฉีดเงินไลบีเรียจำนวนกว่าหมื่นล้านเหรียญไลบีเรียหรือกว่า 1.6 พันล้านบาท เข้าระบบเศรษฐกิจไลบีเรียกลับไม่ได้มีการถอนธนบัตรเก่าออกจากระบบ และนอกจากนั้นเงินอีกจำนวนกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 155 ล้านบาทซึ่งถูกอัดฉีดเข้าระบบก็ไม่ได้มีการถอนเงินสกุลท้องถิ่นออกจากระบบเช่นเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น โครล์ยังได้ระบุในรายงานว่า เงินสกุลไลบีเรียจำนวนเดิมได้ถูกนำกลับเข้าระบบภายในช่วงเวลา 6 เดือนหลังจากที่ถูกถอนออกมา
นอกจากนี้ ยังได้มีผู้ให้ความเห็นว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วก็อาจจะยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการลงทุนในประเทศไลบีเรีย และเศรษฐกิจอาจยังอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
อนาคตประเทศไลบีเรีย จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก :เปิดปม บ.ยักษ์ใหญ่แคนาดา จ่ายสินบนพันล.แลกสัญญา ยุค 'กัดดาฟี่' เรืองอำนาจ
ส่องคดีทุจริตโลก : กรณีอื้อฉาวโคคาโคลา จ่ายสินบน 284 ล. จ้างหน่วยงานวิจัยด้านสุขภาพฝรั่งเศส
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดแผนโจรกรรม 1MDB - ปล้นเงินกองทุนแห่งชาติมาเลย์ 2 หมื่นล้าน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่ออดีตนายกฯฝรั่งเศส ขึ้นศาลปมใช้เงินหลวง35.6ล. จ้างเมีย-ลูก ช่วยงานรัฐสภา
ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงสินบน บ.ยักษ์ใหญ่บราซิล 2.5 หมื่นล. สะเทือนทั่วลาตินอเมริกา
ส่องคดีทุจริตโลก: ศาลจีนจำคุก จนท.มองโกเลีย 18 ปี เลียนแบบหนังสายลับซ่อนเงินสินบน700ล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อ บ.เชลล์-เอมิ เจอข้อหาให้สินบนหมื่นล้าน แลกใบอนุญาตสำรวจบ่อน้ำมัน
ส่องคดีทุจริตโลก : ศึกชิงเก้าอี้ ปธน.ยูเครน เดือด! ข้อกล่าวหาโกงซื้อเสียงเพียบ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อหัวคะแนนพรรครีพับลิกันโกงการเลือกตั้งรัฐนอร์ทแคโรไลน่า
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ป.ป.ช.ยูเครน ดองเรื่องไม่สอบทุจริตขนย้ายอะไหล่อาวุธ
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดโปงขบวนการทุจริตขายอาวุธยูเครน โยงข้อมูลธุรกิจบริษัทประธานาธิบดี?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อรัฐวิสาหกิจขายอาวุธยูเครนส่อโดนยุบจากข้อหาทุจริต 295ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:ตีแผ่ปัญหาคอร์รัปชั่น เส้นสาย ฝังรากลึกในกองทัพปลดปล่อยปชช.จีน
ส่องคดีทุจริตโลก: ความพยายามในการขจัดอิทธิพลกลุ่มทุนในการเมืองสหรัฐ ผ่าน Dark Money
ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตผู้บริหารบ.จีน ส่อโดนโทษประหาร ปมขายความลับเรือบรรทุกเครื่องบิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติวิจารณ์นครดูไบเป็นสวรรค์การฟอกเงิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่จีน เจอข้อครหาฉ้อโกงราคาชิ้นส่วนโดรน 4.6 พันล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อเกม Fortnite กลายเป็นเครื่องมือฟอกเงินของอาชญากรไซเบอร์?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อปธ.คกก.จัดโอลิมปิกญี่ปุ่น ถูกอัยการฝรั่งเศสสอบปมจ่ายสินบน73ล.?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบ.ส่งเสบียงให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกสอบปมฉ้อโกงสัญญา 8 พันล.เหรียญ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อบ.ลูกโฟล์คสวาเกน ยอมรับมีเอี่ยวโกงทดสอบค่าปล่อยมลพิษสหรัฐฯ ด้วย
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดกรณีสินบนจัดซื้อ 'กริพเพน' แสนล.กระทบปมทุจริตอดีตผู้นำบราซิล
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯสอบสวน ปมเอี่ยวฟอกเงินเกาหลีเหนือ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ปธ.ANOC ลงจากตำแหน่ง หลังถูกสอบปลอมแปลงกระบวนการอนุญาโตฯ จัดโอลิมปิก