พิภพ ธงไชย : คุกศึกษา
"...วิชาคุกศึกษาที่เป็นการเรียนร่วมกันของคนที่เคยติดคุก ผู้คุม นักกฎหมาย อัยการ ผู้พิพากษา นักวิชาการ และคนทั่วไป จะได้มาแลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกัน..."
เช้านี้ตื่นตี 4 เหมือนเคยชินกับการนอนในคุกที่แดน 1 ที่มักตื่นเวลานี้แล้วเล่นโยคะ บริหาร ฟังเสียงสวดมนต์จากทีวี พับผ้าห่ม นับจำนวนรอบที่ 1 ลงเรือนนอน เดิน 100 เที่ยวตามความยาวสนามบาส ได้ 3 กม.จึงอาบน้ำ กินข้าว คนอื่นๆก็แบ่งกลุ่มกินกาแฟ มาม่า ขนมปัง แล้วเคารพธงชาติ สวดมนต์ นับจำนวนรอบที่ 2 จึงแยกเข้ากองงาน นับจำนวนรอบที่ 3 จึงมีอิสระไปทำอะไรก็ได้ในรอบๆแดน 1 ที่มีพื้นที่ ไร่กว่าๆ
ตอนเช้าเรา “แกนนำ” 4 คน มักไปนั่งในห้องผู้คุม อ่านหนังสือก่อนเดินเข้าห้องสมุด หาหนังสือมาอ่าน ซึ่งในช่วงนี้คนจะแน่น จนเก้าอี้ไม่พอนั่ง ต้องนั่งกับพื้นอ่านกันบ้าง
ลุงจำลองก็จะไปนอนกับพื้นปูนในห้องกีฬา ซึ่งจะมีนักโทษนอนคุยนอนเล่นกันหลายสิบคน ส่วนลุงจะมีมุมหนึ่ง ใกล้ที่นั่งผู้คุม
ผมเองกับใส มักมานั่งขอบปูนริมโรงกีฬาเพื่อพูดคุยกับเพื่อนนักโทษในตอนเช้าๆที่อากาศกำลังเย็นสบาย
นี่ก็เข้าวันที่ 23 ที่พ้นคุกมาตั้งแต่ 10 พค. ร่างกายเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นมาก นำ้หนักขยับมา 72 กก.เพิ่มขึ้นอีก 2 กก. หมอลืลี่ที่ดูแลเบาหวานบอกว่าคราวหน้าจะให้ไป X-ray ปอดว่าติดเชื้ออะไรมาบ้าง ก่อนหน้านี้พบว่ามีสำลีไปยัดในรูหู ทำให้หูดับไปข้างหนึ่ง ก็เลยนอนหลับได้สนิท ไม่ได้ยินเสียงละครน้ำเน่าจาก TV 14 ตัว ที่อยู่ตามห้องต่างๆ 10 ห้องกับห้องซอยกลางที่ยาวไปชนส้วมท้ายห้องร่วม 50 เมตร นอนแถวยาวเกือบ 80 คน ใต้พัดลมเพดานกับแสงไฟที่ส่องสว่างทั้งคืน กว่าอากาศจะอุ่นจนเย็น ก็ต้องรอจน TV ปิดเสียงตอนสามทุ่มครึ่ง
หมอสมบูรณ์ หมอหู ตา คอ จมูก ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยา สังเกตว่าผมมีอาการผิดปกติอะไรบางอย่างตามประสาคนเพิ่งออกจากคุกใหม่ๆ เพราะญาติแกก็มีอาการแบบนี้ เมื่อได้พบเพื่อนชาวคุกวันก่อน บอกว่าเป็นอาการ "ไข้คุก" ที่หลายคนจะมีอาการแบบนี้ ตอนเข้าคุกใหม่ๆ บางคนก็จะติด "ไข้คุก" ในสัปดาห์แรกๆ ออกมาข้างนอกก็ปิดท้ายเป็น "ไข้คุก" แถมอีกหน่อยหนึ่ง
ผมนั้นมีอาการอ่อนเพลียร่วมสิบวัน ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว วันนี้ Marvin Blunte ผู้กำกับหนังสารคดี 6 Weeks to Mother’s Day มาที่หมู่บ้านเด็กกับเพื่อนชาวไทยจาก LA. เห็นผมก็บอกว่าดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับวันที่เขาไปเห็นผมที่คุก
เมื่ออยู่ในคุกผ่านไปหนึ่งเดือน ผมมองคนคุกที่มีหลายสิบคดีความที่อยู่ในแดน 1 ร่วม 400 คน ด้วยมนุษยธรรม ความที่ทำงานกับเด็กมีปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงดูและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีในวัยเด็ก จึงมีพฤติกรรมต่างๆนานาในตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ผมก็เห็นคนคุกเหล่านี้แบบเดียวกับที่เห็นพฤติกรรมของเด็กหมู่บ้านเด็ก ถ้าเราจำแนกพฤติกรรมของคนคุกเหล่านี้ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ก็จะพบความเชื่อมโยงพฤติกรรมวันนี้ของพวกเขากับการเลี้ยงดูในอดีตได้ แต่ความยากจนก็เป็นตัวแปรอันหนึ่ง ที่เราลืมไม่ได้
ผมจึงเสนอให้มีนักจิตวิทยามาทำงานในคุก เพื่อหาทางเปลี่ยนพฤติกรรมของเขา ทำให้นึกถึงหนังสือ"เหยื่ออธรรม-Les Miserables" ของ Victor Hugo เพียงขนมปังที่ ฌอง วัลฌอง ชาวนายากจนขโมยให้ครอบครัว ทำให้เขาต้องติดคุกถึง 19 ปี เมื่อหนีออกมาได้ เพียงพบบาทหลวงที่เมตตาก็เปลี่ยนชืวิตเขาทั้งหมดให้ทำงานเพื่อสร้างมนุษยชาติใหม่
ผมอยากให้คนคุกเหล่านี้ได้มีโอกาสดังกล่าวบ้าง ฮูโกเชื่อว่าความเมตตา การให้อภัย เปลี่ยนจิตสำนึกคนได้ สุดท้ายนายตำรวจ ฌาแวร์ ที่ตามหาเขาก็เปลี่ยนความคิดเพราะเห็นความตั้งใจทำความดีของฌอง วัลฌอง แต่ทนกับจิตสำนึกที่ยึดมั่นกับกฏหมายที่ตัวเองเชื่อมาตลอดว่าจะให้ความยุติธรรมได้ จึงต้องหนีออกจากชีวิตของตัวเองในโลกนี้ไปสู่โลกหน้า
เช้านี้ผมหยิบหนังสือ The Dawin Economy ของ Robert H. Frank ที่วิเคราะห์วิธีคิดของอดัม สมิท กับ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ถึงการใช้เหตุผลของมนุษย์ ตอนอยู่ในคุก ผมก็ได้อ่านหนังสือทางเศรษฐศาสตร์ที่นำมาใช้กับพฤติกรรมมนุษย์ที่เราจะใช้เพียงจิตวิทยากับศาสนามาดูความเป็นไปของสังคมมนุษย์ คงทำความเข้าใจได้ไม่เพียงพอ
วิชาคุกศึกษาที่ผมพยายามขายความคิดนี้กับทุกคนที่มาเยี่ยมผมในสองเดือนแรก ว่าเราจะปล่อยให้คน 400,000 คน ลอยคออยู่ในทะเลเพียงลำพังไม่ได้ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้ไม่ต้องการเป็นคนเลว ขอแต่โอกาสและนักพฤติกรรมศาสตร์มาช่วยปรับพฤติกรรม
วิชาคุกศึกษาที่เป็นการเรียนร่วมกันของคนที่เคยติดคุก ผู้คุม นักกฎหมาย อัยการ ผู้พิพากษา นักวิชาการ และคนทั่วไป จะได้มาแลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกัน
การเรียนในมหาวิทยาลัยจะทำให้หลุดกรอบวิธีคิดแบบราชการและอำนาจนิยม ดีกว่าวิธีการทำวิจัยที่เราเห็นกันทั่วๆไป ที่เข้าไม่ถึงความรู้และความจริง
มาหมู่บ้านเด็กเที่ยวนี้กับแอ๊ว เข้ม อุบล เข้มอายุเกือบ 2 ขวบแล้ว ทั้งฉลาด และแก่นแก้ว ซึ่งแอ๊ว ที่เข้มเรียก”ยาย” ชอบเด็กแบบนี้มาก
อ่านประกอบ :