ส่องคดีทุจริตโลก :เปิดปม บ.ยักษ์ใหญ่แคนาดา จ่ายสินบนพันล.แลกสัญญา ยุค 'กัดดาฟี่' เรืองอำนาจ
"...มีรายงานข่าวว่าในช่วงปี 2560 หนึ่งในสามของรายได้บ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน ประมาณ 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 2.9 แสนล้านบาทนั้นมีที่มาจากในประเทศแคนาดา ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจำนวนกว่าครึ่งของตัวเลขดังกล่าวมาจากการเข้าทำสัญญากับรัฐบาล แต่ในปัจจุบันบ.เอสเอ็นซี-ลาวาลินยังคงไม่ถูกห้ามประมูลและเข้าทำสัญญารับงานจากรัฐบาลแคนาดา..."
ส่องคดีทุจริตโลกในสัปดาห์นี้ เป็นประเด็นเกี่ยวกับการทุจริตกรณีบริษัทเอสเอ็นซี-ลาวาลิน สัญชาติแคนาดา ซึ่งประกอบธุรกิจออกแบบ จัดซื้อ และควบคุมงานก่อสร้าง (EPC) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ซึ่งมีกำหนดการในวันที่ 7 มิ.ย. ว่าจะต้องแจ้งความประสงค์ต่อศาลของรัฐควิเบกว่าจะให้ศาลหรือลูกขุนเป็นผู้ตัดสินคดี จากข้อกล่าวหาการให้สินบนกว่าหลายพันล้านบาท แก่เจ้าหน้าที่รัฐประเทศลิเบียเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่บริษัทจะได้เข้าทำสัญญางานในสมัยที่พันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี่ ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศลิเบียอยู่
สัญญาการผัดผ่อนคดี
ที่มาที่ไปของเรื่องราวนี้ สำนักข่าว CBCNEWS ของแคนาดา ได้รายงานความเป็นมาเป็นไปของคดีนี้ว่า เริ่มขึ้นในช่วงปี 2558 พนักงานอัยการได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลของรัฐควิเบก ในคดีฉ้อโกงและให้สินบนของบริษัท เอสเอ็นซี-ลาวาลิน
อย่างไรก็ตาม บริษัทเอสเอ็นซี-ลาวาลิน ได้ใช้ความพยายามอยู่หลายเดือนในการวิ่งเต้นหน่วยงานภายในรัฐบาลกลางเพื่อเลี่ยงการดำเนินคดี และหวังว่าจะใช้ขั้นตอนตามกฎหมายใหม่ในเรื่อง "สัญญาผัดผ่อนการดำเนินคดี" (Deferred Prosecution Agreement: DPA) หรือการชำระค่าปรับเพื่อเลี่ยงการถูกตัดสินลงโทษ
โดยมีรายงานข่าวระบุว่า บ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน แห่งนี้เอง ที่เป็นผู้วิ่งเต้นให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ ถึงแม้ว่าต่อมาหัวหน้าหน่วยงานดำเนินคดีกลางได้แถลงว่าจะไม่มีการยื่นข้อเสนอใด ๆ และผู้อำนวยการพนักงานอัยการได้ตัดสินใจแล้วในเรื่องนี้ แต่บ.เอสเอ็นซี-ลาวาลินก็ยังคงไม่ล้มเลิกความพยายามดังกล่าว
จนกระทั่งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาล ได้มีคำสั่งว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอสำหรับข้อกล่าวหาเรื่องฉ้อโกงและให้สินบนของบ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน จึงให้รับคดีไว้พิจารณา
รายละเอียดของคดี
สำหรับปูมเหตุคดีนั้นระบุว่า บ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน ถูกกกล่าวหาว่าบริษัทได้จ่ายเงินไปราว 48 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.5 พันล้านบาท เพื่อให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐลิเบียช่วงระหว่างปี 2544 ถึง 2554 อันเป็นการละเมิดกฎหมายป้องกันการคอรัปชั่นในต่างประเทศ (Corruption of Foreign Public Officials Act)
พนักงานอัยการยังได้กล่าวหาว่า บ.เอสเอ็นซี-ลาวาลินได้โกงเงินจำนวนกว่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 4.1 พันล้านบาทไปจากหน่วยงานต่าง ๆ ของลิเบียในช่วงระยะเวลาเดียวกันอีกด้วย
ส่งผลทำให้ภายหลังจากที่พันเอกกัดดาฟี่ลงจากตำแหน่ง บริษัทฯ นี้ก็ตกเป็นเป้าการตรวจสอบมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมานั้นปรากฎข้อมูลการดำเนินคดีกับบุคคลสำคัญของบริษัทจำนวน 3 รายได้แก่
1.กรณี นายเรียด เบน ไอซ่า (Riadh Ben Aïssa) อดีตผู้บริหารของบ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน ได้ยอมรับสารภาพในประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อปี 2557 สำหรับข้อกล่าวหาให้สินบนแก่หนึ่งในลูกชายของพันเอกกัดดาฟี่เป็นจำนวนกว่าหลายล้านเหรียญสหรัฐ
2.กรณี นายสเตฟาน รอย (Stephane Roy) ผู้ควบคุมการเงินของบ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐลิเบีย ได้ถูกศาลยกฟ้องอ้างเหตุว่าพนักงานอัยการใช้เวลาดำเนินการนานเกินไป
3.คดีของนายซามิ เบบาวิ (Sami Bebawi) อดีตผู้บริหารอีกรายของบ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน จะถึงกำหนดนัดศาลในเดือนตุลาคมในข้อหาให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐลิเบีย
ทั้งนี้ หากบ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจริงนั้น อาจต้องได้รับโทษโดยการถูกแบนไม่ให้เข้าทำสัญญากับรัฐบาลอีกเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งนายเนล บรูซ (Neil Bruce) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทกล่าวว่า ย่อมส่งผลกระทบที่ร้ายแรงแก่บริษัท โดยเฉพาะในเวลาที่บริษัทกำลังฝ่าวิกฤติข้อกล่าวหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นนับตั้งแต่ปี 2555
นายบรูซกล่าวต่อว่า ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ซึ่งบริษัทกำลังเผชิญนั้น เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดในช่วง 7 ถึง 20 ปีที่ผ่านมาจากอดีตพนักงานบางรายซึ่งได้ออกไปจากบริษัทเป็นเวลานานแล้ว โดยช่วงปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เวลาที่พนักงานอัยการได้แถลงข่าวว่า บ.เอสเอ็นซี-ลาวาลินจะไม่ได้รับข้อเสนอผัดผ่อนการดำเนินคดี บริษัทก็ได้สูญเสียมูลค่าทางตลาดไปประมาณ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 6.9 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่าในช่วงปี 2560 หนึ่งในสามของรายได้บ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน ประมาณ 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 2.9 แสนล้านบาทนั้นมีที่มาจากในประเทศแคนาดา ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจำนวนกว่าครึ่งของตัวเลขดังกล่าวมาจากการเข้าทำสัญญากับรัฐบาล แต่ในปัจจุบันบ.เอสเอ็นซี-ลาวาลินยังคงไม่ถูกห้ามประมูลและเข้าทำสัญญารับงานจากรัฐบาลแคนาดา
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนกับว่ากรณีของบ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน นั้นได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงทางการเมืองอย่างกว้างขวาง และจุดประกายให้เกิดการสืบสวนต่อในเมืองออตตาวา
การต่อสู้ทางการเมือง
ขณะที่ นางโจดี้ วิลสัน-เรย์โบลด์ (Jody Wilson-Raybould) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและอัยการสูงสุดแคนาดา ได้กล่าวหาว่า ในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่ง เธอเคยถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักนายกรัฐมนตรีกดดันเร่งรัดให้เธอเพิกถอนการตัดสินใจของอัยการที่จะไม่ทำข้อตกลงผัดผ่อนการดำเนินคดีกับเอสเอ็นซี-ลาวาลิน
ขณะที่บ.เอสเอ็นซี-ลาวาลินเอง ก็ได้เคยเตือนพนักงานอัยการว่า บริษัทอาจทำการแบ่งแยกและย้ายออกไปยังสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ตำแหน่งงานจะลดลงจาก 8,700 ตำแหน่งเหลือเพียง 3,500 ตำแหน่ง และในที่สุดจะปิดทำการสาขาในแคนาดา ถ้าหากบริษัทไม่ได้รับข้อเสนอผัดผ่อนการดำเนินคดี
ส่วนนายปิแอร์ ฟิทซ์กิบบอน (Pierre Fitzgibbon) รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจผู้ซึ่งเคยกดดันให้พนักงานอัยการออตตาวาเสนอข้อสัญญาผัดผ่อนการดำเนินคดี ได้กล่าวว่าเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บริษัท แต่ชื่อเสียงของบริษัทนั้นดูจะเป็นประเด็นหลักในตอนนี้เสียมากกว่า
ขณะที่ ฝ่ายเสรีนิยมในประเทศนั้นยังคงให้การสนับสนุนเอสเอ็นซี-ลาวาลิน โดยนายฟรังซัว ฟิลลิฟ แชมเปญ (François-Philippe Champagne) รัฐมนตรีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานได้กล่าวย้ำว่า ฝ่ายเสรีนิยมมีความเป็นกังวลถึงความเสียหายที่จะเกิดจากการดำเนินคดีอาญาต่อบ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน เนื่องจากในประเทศแคนาดาบริษัทที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ดังเช่นเอสเอ็นซี-ลาวาลิน อยู่เพียงไม่กี่บริษัท
นอกจากนี้สำนักพิมพ์แคนาเดียนยังเคยได้เผยแพร่เอกสารภายในแสดงถึงความกังวลของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ซึ่งโต้แย้งว่าการดำเนินคดีอาญากับบ.เอสเอ็นซี-ลาวาลิน นั้นอาจเป็นการบีบบังคับให้บริษัทย้ายออกจากแคนาดาไปยังสหรัฐอเมริกาอันจะส่งผลต่อการจ้างงานกว่าพันตำแหน่งได้ อย่างไรก็ตาม นายทรูโดได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า "เราเคารพในกระบวนการยุติธรรมของเรา และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณา เราจะต่อสู้เพื่องานของคนแคนาดาในวิถีทางที่เป็นไปตามกฎหมาย"
ความขัดแย้งดังกล่าวยังนำไปสู่การลาออกของนายเจอรัลด์ บัทส์ (Gerald Butts) เลขาธิการนายกรัฐมนตรีทรูโดและนายไมเคิล เวอร์นิค (Michael Wernick) เจ้าหน้าที่คณะที่ปรึกษา ผู้ซึ่งอาจมีส่วนรู้เห็นกับกรณีที่นางวิลสัน-เรย์โบลด์ ถูกกดดันให้ต้อทำสัญญาผัดผ่อนการดำเนินคดีกับบ. เอสเอ็นซี-ลาวาลิน ในเวลาต่อมา
รวมถึงการลาออกจากสภาของนางวิลสัน-เรย์โบลด์เองและนางเจน ฟิลพอท (Jane Philpott) อดีตประธานกรรมการฝ่ายทรัพย์สิน โดยอ้างว่ารัฐบาลไม่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง
การขยายผลการสืบสวน
อย่างไรก็ตาม การสืบสวนการกระทำความผิดของ บ. เอสเอ็นซี-ลาวาลิน ยังคงขยายวงต่อไป ล่าสุดองค์กรตำรวจของแคนาดาได้เริ่มต้นสอบสวนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทว่า มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายเงินให้กับนายมิเชล โฟร์นิแอร์ (Michel Fournier) อดีตหัวหน้าองค์การสะพานแคนาดา (Canada's Federal Bridge Corporation) ซึ่งในปี 2560 นายมิเชลก็ได้รับสารภาพว่าเมื่อช่วงปี 2544 ถึงปี 2546 ได้รับเงินจำนวน 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 72 ล้านบาท จากบริษัทลูกของเอสเอ็นซี-ลาวาลิน เพื่อแลกกับการผลักดันให้บ.เอสเอ็นซี-ลาวาลินได้เข้าทำสัญญามูลค่า 127 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 4 พันล้านบาท เพื่อบูรณะสะพานฌาคส์ กาตีเย ในเมืองมอนทรีออล
ส่วนผลการพิจารณาคดีของบริษัทแห่งนี้ จะมีบทสรุปออกมาอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป
(เรียบเรียงจาก: https://www.cbc.ca/news/canada/montreal/snc-lavalin-trial-corruption-bribery-1.5153429,https://www.ctvnews.ca/politics/enough-evidence-to-send-snc-lavalin-to-trial-judge-rules-1.4442128)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก : กรณีอื้อฉาวโคคาโคลา จ่ายสินบน 284 ล. จ้างหน่วยงานวิจัยด้านสุขภาพฝรั่งเศส
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดแผนโจรกรรม 1MDB - ปล้นเงินกองทุนแห่งชาติมาเลย์ 2 หมื่นล้าน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่ออดีตนายกฯฝรั่งเศส ขึ้นศาลปมใช้เงินหลวง35.6ล. จ้างเมีย-ลูก ช่วยงานรัฐสภา
ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงสินบน บ.ยักษ์ใหญ่บราซิล 2.5 หมื่นล. สะเทือนทั่วลาตินอเมริกา
ส่องคดีทุจริตโลก: ศาลจีนจำคุก จนท.มองโกเลีย 18 ปี เลียนแบบหนังสายลับซ่อนเงินสินบน700ล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อ บ.เชลล์-เอมิ เจอข้อหาให้สินบนหมื่นล้าน แลกใบอนุญาตสำรวจบ่อน้ำมัน
ส่องคดีทุจริตโลก : ศึกชิงเก้าอี้ ปธน.ยูเครน เดือด! ข้อกล่าวหาโกงซื้อเสียงเพียบ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อหัวคะแนนพรรครีพับลิกันโกงการเลือกตั้งรัฐนอร์ทแคโรไลน่า
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ป.ป.ช.ยูเครน ดองเรื่องไม่สอบทุจริตขนย้ายอะไหล่อาวุธ
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดโปงขบวนการทุจริตขายอาวุธยูเครน โยงข้อมูลธุรกิจบริษัทประธานาธิบดี?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อรัฐวิสาหกิจขายอาวุธยูเครนส่อโดนยุบจากข้อหาทุจริต 295ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:ตีแผ่ปัญหาคอร์รัปชั่น เส้นสาย ฝังรากลึกในกองทัพปลดปล่อยปชช.จีน
ส่องคดีทุจริตโลก: ความพยายามในการขจัดอิทธิพลกลุ่มทุนในการเมืองสหรัฐ ผ่าน Dark Money
ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตผู้บริหารบ.จีน ส่อโดนโทษประหาร ปมขายความลับเรือบรรทุกเครื่องบิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติวิจารณ์นครดูไบเป็นสวรรค์การฟอกเงิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่จีน เจอข้อครหาฉ้อโกงราคาชิ้นส่วนโดรน 4.6 พันล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อเกม Fortnite กลายเป็นเครื่องมือฟอกเงินของอาชญากรไซเบอร์?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อปธ.คกก.จัดโอลิมปิกญี่ปุ่น ถูกอัยการฝรั่งเศสสอบปมจ่ายสินบน73ล.?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบ.ส่งเสบียงให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกสอบปมฉ้อโกงสัญญา 8 พันล.เหรียญ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อบ.ลูกโฟล์คสวาเกน ยอมรับมีเอี่ยวโกงทดสอบค่าปล่อยมลพิษสหรัฐฯ ด้วย
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดกรณีสินบนจัดซื้อ 'กริพเพน' แสนล.กระทบปมทุจริตอดีตผู้นำบราซิล
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯสอบสวน ปมเอี่ยวฟอกเงินเกาหลีเหนือ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ปธ.ANOC ลงจากตำแหน่ง หลังถูกสอบปลอมแปลงกระบวนการอนุญาโตฯ จัดโอลิมปิก