ย้อนขบวนการทุจริตขอคืนภาษีไทย ปี 35-40 เสียหายเกือบ4หมื่นล. บทเรียนราคาแพงที่รัฐไม่เคยจำ
"... จากการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่ม พบว่า ช่วงปี พ.ศ. 2535 - 2539 รัฐสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้รวม จำนวน 659,363,310,000 บาท แต่มีการทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหลายรูปแบบหลายวิธีการด้วยกัน รวมเป็นเงินที่จ่ายคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นเงิน รวมทั้งสิ้น 38,438.72 ล้านบาท..."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปแบบพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้เกี่ยวข้องในคดีทุจริตขอคืนภาษีทั้งส่วนของข้าราชการและเอกชน นับรวมความเสียหายเป็นวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2554-2560 ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำข้อมูลที่ปรากฎอยู่ใน ผลวิจัยการศึกษากลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) จำแนกตามภาคเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย จัดทำโดยทีมวิจัยที่มีนางสาววัชรา ไชยสาร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องกันไปแล้ว
โดยรูปแบบพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีทุจริตดังกล่าว เป็นลักษณะกลุ่มบริษัทเอกชน ที่จดทะเบียนตั้งบริษัทขึ้นมา ใช้ห้องเช่าเป็นสำนักงาน อ้างว่าทำธุรกิจส่งออกไปต่างประเทศ ใช้ชื่อชาวบ้านถือหุ้นและเป็นกรรมการ (ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ จ.พิจิตร) อ้างว่ามีต้นทุนจากการซื้อขายสินค้า แต่ไม่ได้ส่งออกจริง แล้วมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรค่อยให้ความร่วมมือสนับสนุนการกระทำความผิด (อ่านประกอบ : รับผลปย.ซื้อทองคำ179 ล.! เบื้องลึกพฤติการณ์อดีตอธิบดีสรรพากร เอี่ยวทุจริตคืนภาษี 5 พันล.รับผลปย.ซื้อทองคำ179 ล.! เบื้องลึกพฤติการณ์อดีตอธิบดีสรรพากร เอี่ยวทุจริตคืนภาษี 5 พันล., ฉบับเต็ม! ผลสอบลับ พฤติการณ์กระทำความผิดขรก.กรมสรรพากร เอี่ยวคดีทุจริตคืนภาษี 5 พันล.)
แต่ทว่าความจริงแล้ว การทุจริตขอคืนภาษีเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในประเทศมาแล้ว ในช่วงปี 2535- 2540 รวมวงเงินเกือบสี่หมื่นล้านบาท มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากนับพันราย
ทั้งนี้ ในงานวิจัยการศึกษากลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) จำแนกตามภาคเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย ระบุข้อมูลผลศึกษาว่า ประเทศไทยได้พยายามนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีปัญหาและอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะการต่อต้านจากนักการเมืองและผู้ประกอบการ จนกระทั้งในสมัยรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้โดยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535
ในระยะเริ่มแรก เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรผู้มีหน้าที่จัดเก็บภาษี รวมทั้งประชาชนและผู้ประกอบการต่างประสบความยุ่งยาก เนื่องจากยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริง ผู้ประกอบการจึงไม่มั่นใจที่จะจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประชาชนก็รู้สึกเป็นภาระที่จะต้องกลายเป็นผู้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งความไม่พร้อมและความไม่สมบูรณ์ของระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ทำให้การคืนเงินภาษีให้แก่ผู้ประกอบการล่าช้าไปมากถึง 3 เดือน ถึง 6 เดือน ทั้งที่กรอบเวลาในการดำเนินการคืนภาษีนั้น กำหนดไว้เพียง 15 วัน ถึง 1 เดือน และในขณะเดียวกันราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอ้างสาเหตุจากภาษีมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งที่เกิดขึ้น คือ การเกิดขบวนการฉ้อโกงปลอมแปลงเอกสารใบเสร็จรับเงิน ด้วยเป็นการแสดงหลักฐานการซื้อขายซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ใบกำกับภาษี) อันเป็นเท็จ ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในช่วงปีแรกของการนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ มีรายได้ต่ำกว่ารายได้จากภาษีการค้าตามระบบเดิมในปีก่อนการนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้มากถึงร้อยละ 6 หรือ นับเป็นเงินจำนวนมากถึงหมื่นกว่าล้านบาท
ต่อมาหม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล อธิบดีกรมสรรพากร ในขณะนั้น ได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ และเร่งแก้ไขปัญหาการตรวจสอบเอกสารภาษีซื้อภาษีขายเพื่อให้การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามที่ระยะเวลาที่กำหนดโดยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบเอกสารภายหลัง แต่ระบบดังกล่าวได้กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดขบวนการสร้างเอกสารปลอมเพื่อขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ตัวเลขการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนเงินเพิ่มขึ้นอย่างมาก
จนถึงกับมีการกล่าวกันว่า เป็นที่ชื่นอกชื่นใจของรัฐบาล นายกฯ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ถึงกับเปิดทำเนียบจัดงานฉลองใหญ่โตที่ยอดส่งออกสินค้าของไทยทะลุ 1 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2537 โดยเชิญผู้เสียภาษีระดับบิ๊กของไทยร่วมงานกันคับคั่ง ซึ่งหารู้ไม่ว่ายอดส่งออกดังกล่าวเป็นตัวเลขลมอยู่บ้านเบอะ โดยในปี พ.ศ. 2535 ยอดการส่งออกสินค้าของประเทศไทย มีมูลค่า 824,643 ล้านบาท มากกว่าปี พ.ศ. 2534 คิดเป็นร้อยละ 13.67
แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ซึ่งใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นปีที่สอง ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการบางรายสมคบกับเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรใช้หลักฐานเท็จ หรือบางรายที่รู้ช่องโหว่ของระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทำตัวเลขยอดการส่งสินค้าออกเกินความเป็นจริงเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ยอดส่งออกสินค้าเพิ่มสูงตามไปด้วย โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าสูงถึง 940,863 ล้านบาท มากกว่าปี พ.ศ. 2535 ถึงร้อยละ 14.09
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่ม พบว่า ช่วงปี พ.ศ. 2535 - 2539 รัฐสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้รวมจำนวน 659,363.31 ล้านบาท แต่มีการทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหลายรูปแบบหลายวิธีการด้วยกัน รวมเป็นเงินที่จ่ายคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นเงิน รวมทั้งสิ้น 38,438.72 ล้านบาท รายละเอียดปรากฏตามตารางต่อไปนี้
การฉ้อโกงภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเป็นการกระทำในลักษณะขบวนการที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างข้าราชการกรมสรรพากรและนักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการตั้งบริษัททั้งที่มีอยู่จริงและไม่มีอยู่จริง แล้วส่งคำสั่งซื้อขายสินค้าระหว่างกันเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการซื้อขายและส่งสินค้ากันจริง มีเพียงข้อมูลตัวเลขที่ปรากฏในหลักฐานการสั่งซื้อและใบกำกับภาษี ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญเพื่อนำไปขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ขั้นตอนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นกรมสรรพากรได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดไปก่อนแล้วจึงทำการตรวจสอบเอกสารในภายหลัง จนกระทั่งพบว่า สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่บางแห่งมียอดการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในวงเงินที่มากกว่ารายรับของสำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่นั้น
ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่ามีการฉ้อโกงภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เช่น สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 8 พบว่า มีผู้ส่งออกจำนวนมากที่ฉ้อโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีพยานหลักฐานยืนยันการกระทำความผิดเพียง 43 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากถึง 508.601 ล้านบาท หากคำนวณเป็นตัวเลขการส่งออก "ลม" ก็มีมูลค่าเกือบ 8 พันล้านบาท โดยตัวเลขมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2535 -2539 นั้น มีมูลค่าเพิ่มค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างในปี พ.ศ. 2537 มีมูลค่าการส่งออกรวมจำนวน 1,137,602 ล้านบาท มากกว่าปี พ.ศ. 2536 คิดเป็นร้อยละ 20.91 เป็นต้น ซึ่งมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดจากการส่งออกที่แท้จริงดังกล่าวข้างต้น
นอกจากนี้ ยังมีผู้ยื่นเสียภาษีที่น่าสงสัยว่าอาจจะมีการทุจริต ซึ่งกรมสรรพากรได้ตรวจสอบพบว่า ในปี พ.ศ. 2537 มีผู้ประกอบกิจการขายส่ง - ปลีกขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือนติดต่อกันจำนวน 1,898 ราย คิดเป็นเงินภาษีที่ขอคืนจำนวน 13,926.40 ล้านบาท และในปีพ.ศ. 2538 พบว่า มีผู้ประกอบกิจการขายรถยนต์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด ทั้งที่ไม่ควรจะขอคืน (ยื่นแบบขอคืนภาษีเป็นจำนวน 8 เดือนขึ้นไป) คิดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,912.39 ล้านบาท และยังมีกรณีที่กรมสรรพากรได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ขอคืนแล้ว แต่ไม่มารับเงินภาษีคืน เป็นจำนวน 378 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 793 ล้านบาท ทั้งนี้ อาจเนื่องจากเกรงว่าหากแสดงตัวมารับเงินภาษีคืนอาจจะถูกตรวจสอบเชิงลึกและอาจต้องเสียเงินภาษี รวมค่าปรับด้วย
และจากข้อมูลของกรมศุลกากรที่ได้รายงานให้กรมสรรพากรตรวจสอบพฤติกรรมผู้ส่งออกจำนวน 2,201 ราย รวมมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งสิ้นจำนวน 178,708.14 ล้านบาท ซึ่งหากกลุ่มนี้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มคาดว่าจะได้รับเงินคืนภาษีจำนวน 12,509.57 ล้านบาท และภาษีนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่จะเข้ารัฐอีกไม่น้อยกว่าจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งอาจมีทั้งที่ส่งออกจริงและเท็จ
ทั้งนี้ การทุจริตระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมีหลายวิธีการ ดังนี้
(1) ผู้กระทำความผิดใช้หลักฐานเอกสารปลอมในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยอาศัยช่องว่างของการประสานงานในระบบราชการที่ในช่วงแรกของการนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้นั้น ยังไม่สามารถพัฒนาระบบข้อมูลออนไลน์ได้ทัน
(2) การจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ได้ประกอบการจริง แล้วยื่นแบบขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จโดยแจ้งว่าเป็นผู้ส่งออก รวมถึงกิจการอื่น ๆ อีกหลายประเภท
(3) การจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีสถานประกอบการและมีการขายสินค้าจริง แต่นำใบกำกับภาษีที่ผู้ซื้อไม่ต้องการใช้ไปขายให้กับ
ธุรกิจอื่นที่ต้องการใช้ใบกำกับภาษี ซึ่งพบมากในธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างและธุรกิจค้าน้ำมัน
(4) กลุ่มขบวนการทำการปลอมใบกำกับภาษี แล้วนำออกขายโดยบริษัทที่มีชื่อเสียงและมีฐานะน่าเชื่อถือ
(5) การจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนขึ้นมาหลาย ๆ แห่ง แล้วจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อขายใบกำกับภาษีของตนให้กับผู้อื่น โดยที่ตนไม่ได้ประกอบการจริง เป็นลักษณะคล้ายกับบริษัทกระดาษ (Paper Company) ซึ่งบางโอกาสบริษัทดังกล่าวก็จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อแสดงใบภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมไว้มากกว่ายอดขาย เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอีกทางหนึ่ง เรียกว่า "กิน 2 ต่อ"
(6) การพิมพ์ใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการรายอื่น แล้วนำมาใช้เป็นใบภาษีซื้อของตนเอง เพื่อนำไปขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยที่มิได้มีการซื้อขายสินค้าจริง
(7) การประกอบกิจการส่งออกเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้ส่งออกเลย แล้วทำการปลอมใบขนส่งสินค้าออกและใช้ใบกำกับภาษีซื้อปลอม เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(8) การประกอบการซึ่งมีแต่ยอดขายแต่ไม่มียอดภาษีซื้อหรือมีน้อยกว่าจึงซื้อใบกำกับภาษีปลอมมาใช้เพื่อลดจำนวนภาษีขายที่ต้องชำระและสร้างค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการค้าอัญมณี และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์
(9) สำนักงานบัญชีใช้วิธีการขอคืนภาษีผ่านบริษัทลูกค้าที่มาใช้บริการว่าจ้างให้ทำบัญชี ยื่นยอดภาษีขายและภาษีซื้อเกินความเป็นจริงโดยใช้ใบกำกับภาษีปลอม
ขณะเดียวกันได้นำใบกำกับภาษีของลูกค้าไปขายต่อให้กับกิจการอื่น ๆ ที่ไม่มีการซื้อขายจริงซึ่งลูกค้าไม่ทราบเรื่องเพราะไว้วางใจสำนักงานตรวจสอบบัญชีที่ให้ทำบัญชีของบริษัทตลอดมา
(10) ผู้ขายหรือให้เซ่าซื้อรถยนต์ มาขอคืนภาษีเมื่อมีผู้ซื้อหรือเช่ารถยนต์ไปแล้ว แต่ไม่นำส่งภาษีตามกำหนดเวลา โดยอ้างว่ารถยนต์ได้ฝากขายไว้ที่รายอื่น
(11) การขายฟอกใบกำกับภาษี โดยการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาหลาย ๆ บริษัทและจัดตั้งบริษัทตัวกลางเพื่อออกใบกำกับภาษี ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีปลอม
จากพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น มีเหตุมาจากความโลภของผู้ประกอบการที่ต้องการเงินสดหมุนเวียนในกิจการโดยไม่ต้องลงทุน และผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องโหว่ของระบบภาษีมูลค่าเพิ่มกระทำการทุจริตได้โดยง่าย ซึ่งจากรายงานการตรวจสอบของกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2539 พบว่า มีการกระทำผิดในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
1) มีการออกใบกำกับภาษีไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยวิธีการออกใบกำกับภาษีปลอมซึ่งผู้ออกใบกำกับภาษีนั้นไม่ได้ประกอบการจริง รวมจำนวน 231 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 2,088 ล้านบาท
2) ใช้ใบกำกับภาษีซื้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาหักภาษีขายรวมจำนวน 1,194 ราย เป็นเงินภาษีรวมจำนวน 2,798.84 ล้านบาท
และ 3) ขอคืนภาษีเท็จโดยไม่ได้ประกอบการจริงจำนวน 73 ราย รวมเป็น เงินจำนวน 650.27 ล้านบาท และความผิดอื่น ๆ ด้วย รวมผู้กระทำความผิดทั้งสิ้นจำนวน 1,945 ราย รวมความเสียหายเป็นเงิน จำนวน 5,572 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกระทำผิดดังกล่าวได้มีการดำเนินคดีอาญาโดยผ่านกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (บก.สศก.) สามารถจับกุมผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมรวมจำนวน 23 กลุ่ม เป็นผู้ต้องหาจำนวน 112 ราย จับกุมได้แล้วจำนวน 43 ราย ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมจับกุมเป็นผู้ต้องหาได้จำนวน 2 ราย และผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเท็จ จำนวน 5 กลุ่ม รวมจำนวน 50 ราย
สำหรับผู้กระทำผิดที่กระทำกันเป็นขบวนการรายใหญ่ คือ กรณีจับกุม ขบวนการปลอมใบกำกับภาษี ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2539 จากการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มโดยการขายใบกำกับภาษีปลอมมาจากแหล่งเดียวกันให้กับบริษัทจำนวน 50 บริษัท กรมสรรพากรจึงได้แจ้งไปยัง บก.สศก. ต่อมาได้มีการตรวจค้นบ้านเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบหลักฐานการสั่งซื้อใบกำกับภาษีและบัญชีรายชื่อผู้ซื้อใบกำกับภาษีปลอมจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าตามใบกำกับภาษีรวมจำนวน 2,293,536,282.65 บาท คิดเป็นยอด เสียภาษีรวมจำนวน 160,547,538.78 บาท ในจำนวนนี้คิดเป็นยอดขอคืนภาษีเท็จ รวมจำนวน 153,074,539.84 บาท จึงได้จับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 3 ราย ในข้อหาร่วมกันออกใบกำกับภาษีปลอม โดยตั้งบริษัทกระดาษขึ้นมาใช้อ้างถึงในการขอคืนภาษี ซึ่งขบวนการเหล่านี้จะได้ค่าตอบแทนคิดเป็นร้อยละ 25 จากยอดเงินที่ได้รับมาจากกรมสรรพากร และเมื่อกระทำความผิดไประยะหนึ่งกลุ่มขบวนการจะปิดบริษัทเดิมไปเพื่อหลบหนีการจับกุม แล้วย้ายไปเปิดบริษัทใหม่ ณ ที่ทำการใหม่ต่อเนื่องกันไป
ทั้งนี้ ได้มีการจับกุมผู้ต้องหาในข้อหาตั้งบริษัท/ห้างหุ้นส่วน และยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ได้ประกอบการจริง รวมจำนวน 30 บริษัท โดยสถานประกอบการดังกล่าวนั้นมีการนำสถานที่ของบุคคลอื่นมาอ้างเป็นสถานประกอบการส่งออก เสื้อผ้า มีผู้รับมอบอำนาจและรับเงินคืนภาษีของบริษัทจำนวน 16 บริษัท เป็นเงินจำนวน 270,755,866.39 บาท และผู้รับมอบอำนาจที่ยังไม่ได้รับเงินคืนอีกจำนวน 14 บริษัท เป็นเงินจำนวน 128,424,519.86 บาท โดยมีกลุ่มบุคคลที่เป็นตัวการใหญ่และข้าราชการของกรมสรรพากรร่วมกระทำความผิดอยู่เบื้องหลังด้วยหลายราย ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมจำนวนหนึ่งได้รับสารภาพว่า ได้ร่วมกันกระทำความผิด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยมีผู้บงการใหญ่อยู่เบื้องหลัง 2 ราย ซึ่งผู้บงการใหญ่ดังกล่าวถูกจับกุมตัวได้เมื่อตันเดือนมกราคม พ.ศ. 2540 พร้อมกับข้าราชการระดับ 5 -7 ของกรมสรรพากร จำนวน 3 ราย ซึ่งร่วมขบวนการอยู่ด้วย และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับข้าราชการรายอื่น จึงได้มีการลงโทษทางวินัยโดยให้พักราชการหรือให้ออกจากราชการไปก่อนจนกว่าผลคดีจะยุติ
จากการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในปีงบประมาณ พ.ศ. 2538 ที่สูงผิดปกติ ถึงจำนวน 54,949.33 ล้านบาท ผนวกกับกรมสรรพากรได้รายงานผลการตรวจสอบว่า มีการกระทำการทุจริตร่วมกันเป็นขบวนการดังกล่าว ซึ่งกรมสรรพากรไม่สามารถปฏิบัติภารกิจนี้แต่เพียงหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นจึงจะสามารถป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดให้หมดสิ้นได้ จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีอาญากับผู้ทำลายระบบภาษีอากร (ตสอ.) ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรชุดปฏิบัติการพิเศษร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐ์กิจ (บก.สศก)
และต่อมาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ก็ได้สั่งการตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยเฉพาะและปรับปรุงระบบการบริหารงานคืนภาษีของกรมสรรพากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
--------------
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลการทุจริตขอคืนภาษีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงปี 2535- 2540 ที่ปรากฎอยู่ในผลการวิจัยเรื่องนี้ ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2554-2560 การทุจริตขอคืนภาษีในประเทศ ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก ส่วนตัวละครที่เกี่ยวข้องก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม คือ เอกชนและข้าราชการเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรนั้นเอง
ขณะที่ความเสียหายที่ประเทศไทยได้รับจากการทุจริตกรณีนี้ ในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องรีบเร่งหาหนทางแก้ไขปัญหาให้หมดไปอย่างจริงจังเสียที
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
องค์ความรู้ใหม่ 'ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์' จุดเริ่มต้นทุจริตคืนภาษีVAT- ภาษีศุลกากร ในไทย
5,000 ล้าน! ย้อนบทเรียนความเสียหาย คดีทุจริตคืนภาษี นำเข้า ส่งออกแร่โลหะ กรมสรรพากร
เชิดคนขับรถนั่งกก.-ใช้ห้องเช่าตั้งสนง.! เบื้องลึก กลุ่มทุจริตคืนภาษีชิ้นส่วนคอมฯ 2 พันล.
เผยผลสอบลับคดีทุจริตคืนภาษี5พันล.! หน้าห้อง 'ซี9' โทรฯ สั่งการอำนวยความสะดวกคืนเช็คบ.
ฉบับเต็ม! ผลสอบลับ พฤติการณ์กระทำความผิดขรก.กรมสรรพากร เอี่ยวคดีทุจริตคืนภาษี 5 พันล.