รับผลปย.ซื้อทองคำ179 ล.! เบื้องลึกพฤติการณ์อดีตอธิบดีสรรพากร เอี่ยวทุจริตคืนภาษี 5 พันล.
"...นาย STR ได้ระงับเรื่องไม่ให้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ ตส. ได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัท ซึ่งอยู่ในระหว่างการเชิญผู้ชำระบัญชีมาพบเจ้าหน้าที่ เนื่องจากทั้งสองบริษัทได้แจ้งเลิก และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีไว้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ต้องการให้พบข้อเท็จจริงว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบการจริง ซึ่งจากการไม่ดำเนินการตรวจสอบหรือไม่สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนาย STR คังกล่าว จึงเป็นเหตุให้นาย SR ปฏิบัติหน้าที่โดยฝาฝืนระเบียบแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากร ให้กับบุคคลและกลุ่มบริษัทที่ร่วมกระทำความผิดหลายครั้งโดยทุจริต และนาย STR ได้รับผลประโยชน์โดยได้นำเงินที่บริษัทขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับจากกรมสรรพากรโดยมิชอบ จำนวน 179,869,250 บาท ไปซื้อทองคำแท่ง ซึ่งนาย STR เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่งดังกล่าว..."
ในหลายตอนก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการตรวจสอบคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ปรากฎอยู่ใน ผลวิจัยการศึกษากลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) จำแนกตามภาคเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย จัดทำโดยทีมวิจัยที่มีนางสาววัชรา ไชยสาร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องไปแล้ว
ทั้งในรูปแบบวิธีการทำงานของเอกชน ที่จดทะเบียนตั้งบริษัทขึ้นมา ใช้ห้องเช่าเป็นสำนักงาน อ้างว่าทำธุรกิจส่งออกไปต่างประเทศ ใช้ชื่อชาวบ้านถือหุ้นและเป็นกรรมการ (ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ จ.พิจิตร) อ้างว่ามีต้นทุนจากการซื้อขายสินค้า แต่ไม่ได้ส่งออกจริง แล้วมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร นับรวมความเสียหายเป็นวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท รวมไปถึงข้อมูลพฤติการณ์และลักษณะการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ที่จับมือร่วมกับเอกชนกระทำการทุจริตในคดีนี้ (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! ผลสอบลับ พฤติการณ์กระทำความผิดขรก.กรมสรรพากร เอี่ยวคดีทุจริตคืนภาษี 5 พันล.)
ในตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา จะขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ บทบาทและพฤติการณ์ของอดีตอธิบดีกรมสรรพากร ที่ถูกตรวจสอบพบว่าเข้ามามีส่วนร่วมกับการทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ปรากฎอยู่ในผลวิจัย ซึ่งมีข้อมูลหลายส่วนสำคัญที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการมาก่อน
โดยข้อมูลส่วนนี้ ทีมงานวิจัยรวบรวมข้อมูลจากการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา คณะกรรมาธิการการเงินการคลังการธนาคารและสถาบันการเงินวุฒิสภา และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
@ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
กระทรวงการคลัง ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนเรื่องดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการแจ้งเลิกและเสร็จการชำระบัญชีนิติบุคคล จำนวน 40 ราย
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับเอกชนผู้เกี่ยวข้องตามคำร้องของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย นาย WS (ชื่อย่อ) นางสาว SS นาย SM นาย PU และนาย Kบ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใด ๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 01/4 (6) และมาตรา 341 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้อายัดทรัพย์สินของกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งด้วย
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ทรัพย์สินที่ ปปง. มีคำสั่งอายัดไว้ทั้งหมด มีจำนวน 117 รายการ รวมราคาประเมินทั้งสิ้น ประมาณ 131,773,846.32 บาท เท่านั้น (ข้อมูล ณ 2 ตุลาคม 2556) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งต่อสาธารณะว่า ผลประโยชน์ของรัฐที่เสียหายโดยกลุ่มบริษัทส่งออกแร่โลหะนี้ สูงถึง 4,343,015,502.86 บาท
ในส่วนของผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไปดำเนินการต่อไป ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบทรัพย์สินและได้อายัดทรัพย์สินข้าราชการจำนวน 3 ราย และเครือญาติอีก 3 ราย จำนวนประมาณ 251 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นทองคำแท่งมูลค่า 170 ล้านบาท
@ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง
ปลัดกระทรวงการคลัง มีคำสั่งแต่งตั้งนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงสรุปผลเบื้องต้น เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2556 ว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวน 18 ราย แบ่งเป็น ข้าราชการอำนวยการระดับสูง (ระดับ 9 บส) จำนวน 4 ราย และข้าราชการระดับปฏิบัติงานอีก จำนวน 14 ราย
โดยไม่ปรากฏชื่อของนาย STR ซึ่งเป็นผู้บริหารกรมสรรพากร (อธิบดี) ในขณะนั้นเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
@ กรมสรรพากร
สำนักตรวจสอบภาษีกลาง (ตส) ได้สุ่มตรวจบริษัท BB จำกัด เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2554 พบว่า สรรพากรจังหวัดสมุทรปราการคืนเงินภาษีให้บริษัท BB เป็นเงิน 230 ล้านบาท จึงส่งเจ้าหน้าที่ ตส. ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ แต่ไม่พบพนักงานบริษัท และบริษัทได้ปิดทำการ
ต่อมาได้สืบค้นข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท BB ปิดกิจการไปแล้ว และเมื่อขยายผลการตรวจสอบพบว่า กลุ่มนี้มีเครือข่ายประมาณ 9 บริษัท แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ และต่อมา ตส. ได้ให้เจ้าหน้าที่สรรพากรมีหนังสือเชิญกรรมการบริษัทมาพบ โดยติดประกาศไว้ที่หน้าประตูสถานประกอบการ กลุ่มบริษัทส่งออกเศษเหล็ก 7 บริษัท นิติบุคคลหรือบริษัท จึงได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ตัวแทนมาชี้แจง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2556 ยืนยันว่า "กลุ่มบริษัท BB ประกอบกิจการส่งออกเศษเหล็กจริง โดยรับซื้อสินค้าในประเทศเป็นเงินสด จากนั้นก็ส่งไปขายฮ่องกงและอินเดีย โดยลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศจะโอนเงินชำระค่าสินค้าผ่านบัญชีเงินฝากของบริษัท"
ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีกลาง (ตส.) จึงได้สรุปผลการตรวจสอบกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มผิดปกติ เสนอต่ออธิบดีกรมสรรพากร (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556
ปรากฏว่า อธิบดีกรมสรรพากรเกษียนหนังสือกลับลงมา สั่งให้ ตส. ยุติการตรวจสอบภาษีกับกลุ่มบริษัทนี้
โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ต้องการให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนกับสรรพากรภาค 5 ซึ่งกำลังตรวจสอบภาษีผู้ส่งออกกลุ่มนี้อยู่แล้ว และให้ ตส. ยุติการตรวจสอบตามคำสั่ง
ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในขณะนั้น) ได้รับทราบข้อเท็จจากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ในเบื้องต้นว่า ประเด็นในจดหมายร้องเรียนที่ ส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และสื่อมวลชน มีมูลความจริง
จึงได้สั่งการให้นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กลุ่มภารกิจด้านรายได้ ประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขยายผลการสอบสวนในเชิงลึก เพื่อทราบข้อเท็จจริง พิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
แต่นายรังสรรค์ฯ ไม่สามารถใช้รหัสผ่านเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าไปค้นหาหรือตรวจดูข้อมูลผู้เสียภาษีของกรมสรรพากรได้ ถึงแม้นายรังสรรค์ฯ จะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร
ดังนั้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรางการคลัง จึงได้ลงนามในประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ฉบับที่ 57 โดยได้แต่งตั้งนายรังสรรค์ฯ เป็นเจ้าพนักงานประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 16 จึงส่งผลให้นายรังสรรค์ฯ มีอำนาจตามกฎหมายคันหาข้อมูลตรวจสอบภาษี เอกสารหลักฐานของผู้เสียภาษีจากฐานข้อมูลภาษีของกรมสรรพากร รวมทั้งออกหมายเรียก ประเมินภาษี และร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดได้เทียบเท่าอธิบดีกรมสรรพากร (ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2556)
ขณะที่ นาย STR ผู้บริหารกรมสรรพากร (ในขณะนั้น) ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับปัญหาทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มว่า "เกิดจากระบบ หรือระเบียบกรมสรรพากรมีช่องโหว่ เปิดช่องทางให้เกิดการทุจริต ปัจจุบันขบวนการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มมีพัฒนาการไปไกลมากสมัยนี้ทำกันถึง 4-5 ชั้น ระบบตรวจสอบยันแบบธรรมดา ๆ ไม่สามารถตรวจสอบพบการกระทำความผิด"
และนาย STR ยังได้กล่าวว่าถ้าเป็นแบบกรณีนี้ "ต้องคืนภาษีให้ทุกราย แต่ปัญหาคือ สรรพากรในพื้นที่ไม่มีอำนาจตรวจสอบยัน เพื่อย้อนกลับในช่วงที่มีการซื้อ-ขายเศษเหล็กจากซาเล้ง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสรรพากรพื้นที่อื่น เมื่อมีคนรู้ว่าระบบมีช่องโหว่ ทำให้มีผู้เข้ามาแสวงหาประโยชน์ตรงนี้"
ขณะที่นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีโกงภาษีมูลค่าเพิ่มยืนยันว่า "ระเบียบกรมสรรพากรไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่คน หากเจ้าหน้าที่ไม่ร่วมมือ ผู้เสียภาษีไม่มีทางโกงได้ เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะคืน VAT"
ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม ตรวจพบว่า มีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรในหลายพื้นที่เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการอย่างรวดเร็วผิดปกติ บางกรณีมีการนำผลการสอบยันแบบไม่ถูกต้องไปใช้พิจารณาประกอบการคืนภาษี บางกรณีเจ้าหน้าที่คืนเงินสดให้ผู้เสียภาษีโดยไม่รอผลการตรวจสอบ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่ามีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับขบวนการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด 18 ราย นี่คือความผิดปกติที่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ตรวจพบ จึงกล้ายืนยันว่า "ระบบไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่คน"
แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมานาย STR ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในระดับกรมสรรพากร และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2556 ว่า มีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเกี่ยวข้องจำนวน 11 ราย แต่ไม่ได้ระบุความชัดเจนว่าทั้ง 11 ราย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วยหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าต้องรอข้อมูลการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกครั้ง
@ กรมศุลกากร
กรมศุลกากรได้รับคำสั่งจากอธิบดีกรมศุลกากร สั่งให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล พบว่า ผู้ส่งออกกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทร้าง ไม่ได้ประกอบกิจการจริง แต่บริษัทผู้ส่งออกกลุ่มนี้แจ้งว่ามีการส่งออกเศษเหล็กมีมูลค่ารวมกันหลายหมื่นล้านบาท และกรมสรรพากรได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วหลายพันล้านบาท แต่เมื่อนำภาพ X -ray ต้คอนเทนเนอร์ มาตรวจสอบ พบว่า บางล็อตมีการส่งออกเศษเหล็กจริง แต่โดยภาพรวมมูลค่าส่งออกเศษทั้งหมดที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วมีมูลค่าน้อยกว่าที่บริษัทกลุ่มนี้แจ้งไว้มาก
ทั้งนี้ การสอบสวนข้อมูลในส่วนของกรมศุลกากร พบว่า ขั้นตอนการทำงานที่เป็นปัญหา ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่กรมสรรพากร ซึ่งมีอำนาจในการอนุมัติคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้เอกชนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม กรณีกรมศุลกากรมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ซึ่ง นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เคยให้ความเห็นสนับสนุนการชำระสะสางปัญหาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มในกรมศุลกากร เมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยระบุว่า "การโกงภาษีมูลค่าเพิ่มในการส่งออกนั้น มีการกระทำทั้ง 2 ทาง คือ (1) การส่งออกโดยไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเลย และ (2) การขอคืนภาษี โดยที่ไม่มีการส่งออกจริง หรือตั้งราคาที่สูงเกินจริงเป็นเหตุให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ซึ่งในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมานี้ มีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเกือบครึ่งหนึ่งของ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ ทำให้รายได้แผ่นดินจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเคยเก็บได้สุทธิเป็นลำดับหนึ่ง ต้องลดลงมาอยู่ในลำดับที่น้อยกว่าภาษีเงินได้ ดังนั้น การที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันการรั่วไหลของภาษีดังกล่าว จะมีผลทำให้ลดการรั่วไหลของรายได้แผ่นดิน และมีผลต่อการลดจำนวนการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มได้ด้วย"
@ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ในฐานะ โฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ในขณะนั้น) ได้แถลงข่าวกรณีกล่าวหานาย SR เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 และนาย STR เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารกรมสรรพากร (อธิบดี) กรณีทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ
ซึ่งมีพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า การกระทำของนาย SR เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากร โดยได้ยุติการตรวจสภาพกิจการของบริษัทผู้ขอคืนภาษีเท็จ ไม่พิจารณาว่ามีการประกอบกิจการจริง แต่ได้พิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทเท็จดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของบริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและเพื่อประโยชน์ของนาย STR ที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินที่บริษัทขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับจากกรมสรรพากรโดยมิชอบนั้นได้นำไปซื้อทองคำแท่ง และนาย STR เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่งดังกล่าว โดยผลการกระทำของนาย SR ทำให้ราชการได้รับความเสียหายจำนวน 3,146.175,47/5.03 บาท (เฉพาะสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22
ส่วน นาย STR เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารกรมสรรพากร (อธิบดี) ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสั่งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเขทพมหานคร 22 เป็นอย่างดีว่า บริษัทผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 25 บริษัท ไม่ได้เป็นผู้ส่งออกจริง ไม่มีความมั่นคงและความน่าเชื่อถือ แต่ได้ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นการกระทำที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแจ้งรายชื่อบริษัทที่ไม่มีสิทธิ์ขอคืนภาษีให้กับสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 โดยการเร่งรัดให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างรวดเร็วผิดปกติ ระงับเรื่องไม่ให้มีการตรวจสอบความถูกต้องตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้ขอคืนภาษีเป็นผู้ประกอบการส่งออกจริงหรือไม่ และเมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ พบว่า มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมากผิดปกติ และปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบของกรมสรรพากร
แต่นาย STR กลับสั่งการไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่
นอกจากนี้ นาย STR ยังได้ระงับเรื่องไม่ให้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ ตส. ได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัท ซึ่งอยู่ในระหว่างการเชิญผู้ชำระบัญชีมาพบเจ้าหน้าที่ เนื่องจากทั้งสองบริษัทได้แจ้งเลิก และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีไว้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ต้องการให้พบข้อเท็จจริงว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบการจริง ซึ่งจากการไม่ดำเนินการตรวจสอบหรือไม่สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนาย STR คังกล่าว จึงเป็นเหตุให้นาย SR ปฏิบัติหน้าที่โดยฝาฝืนระเบียบแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากร ให้กับบุคคลและกลุ่มบริษัทที่ร่วมกระทำความผิดหลายครั้งโดยทุจริต และนาย STR ได้รับผลประโยชน์โดยได้นำเงินที่บริษัทขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับจากกรมสรรพากรโดยมิชอบ จำนวน 179,869,250 บาท ไปซื้อทองคำแท่ง ซึ่งนาย STR เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทองคำแท่งดังกล่าว
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของนาย SR และนาย STR มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ได เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานปฏิบ้ติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก้ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7) และตามมาตรา 85 (1) และ (4)
ส่วนนาย STR ยังมีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 123/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 อีกด้วย
@ คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงการคลัง
เมื่อต้นเดือนมกราคม 2550 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงการคลัง (อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง) มีมติไล่ออก นาย STR อดีตผู้บริหารกรมสรรพากร ซึ่ง ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ภายหลังจากที่ อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง พิจารณาหนังสือตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนาย STR อย่างร้ายแรงกรณีมีส่วนพัวพันการโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มูลค่ากว่า 4,111 ล้านบาทดังกล่าว
-----------------
ทั้งหมดนี่ คือ เบื้องลึกเกี่ยวกับ บทบาทและพฤติการณ์ของอดีตอธิบดีกรมสรรพากรรายหนึ่ง ที่ถูกตรวจสอบพบว่าเข้ามามีส่วนร่วมกับการทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ปรากฎอยู่ในผลวิจัยเล่มนี้ ซึ่งมีข้อมูลหลายส่วนที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการมาก่อนตามที่ระบุไปก่อนหน้านี้
ส่วนอดีตอธิบดีกรมสรรพากรรายนี้เป็นใครนั้น เชื่อว่า สาธารณชน รับรู้รับทราบข้อมูลกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
และบทเรียนนี้ น่าจะเป็นอุทธรณ์เตือนใจให้กับข้าราชการกรมสรรพากรในการปฏิบัติหน้าที่นับจากนี้ได้เป็นอย่างดี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
องค์ความรู้ใหม่ 'ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์' จุดเริ่มต้นทุจริตคืนภาษีVAT- ภาษีศุลกากร ในไทย
5,000 ล้าน! ย้อนบทเรียนความเสียหาย คดีทุจริตคืนภาษี นำเข้า ส่งออกแร่โลหะ กรมสรรพากร
เชิดคนขับรถนั่งกก.-ใช้ห้องเช่าตั้งสนง.! เบื้องลึก กลุ่มทุจริตคืนภาษีชิ้นส่วนคอมฯ 2 พันล.
เผยผลสอบลับคดีทุจริตคืนภาษี5พันล.! หน้าห้อง 'ซี9' โทรฯ สั่งการอำนวยความสะดวกคืนเช็คบ.
ฉบับเต็ม! ผลสอบลับ พฤติการณ์กระทำความผิดขรก.กรมสรรพากร เอี่ยวคดีทุจริตคืนภาษี 5 พันล.