ศาลปค.ทุเลาคำสั่งปลด 'คิม ปรีเปรม' พวก 89 ราย ออกจากราชการ รอผลคดีทุจริตสอบนายอำเภอปี 52
ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลด 'คิม ปรีเปรม' พวกรวม 89 คน ออกจากราชการ กรณีทุจริตสอบเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอปี 52ไว้ชั่วคราว หลังยื่นฟ้องคกก.พิทักษ์ระบบคุณธรรม-พวกรวม 6 คน ออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกม. ชี้เป็นประโยชน์แก่การบริหารราชการรัฐ-บริการสาธารณะ ระหว่างรอการพิจารณาคดี
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2562 ศาลปกครอง ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ฟบ.11/2559 ของ ศาลปกครองสูงสุด ระหว่าง นายคิม ปรีเปรม กับพวกรวม 89 คน ผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ถูกฟ้องคดี
ระบุว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า คำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ กรณีทุจริตสอบเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอประจำปี 2552 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีมีคำขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในการไต่สวนกรณีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้น หากการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำความผิดวินัยฐานอื่น อันมิใช่ฐานทุจริตต่อหน้าที่เช่นในคดีนี้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชี้มูลว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กรณีดังกล่าว
จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (อธิบดีกรมการปกครอง) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 6 (อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) จะต้องถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้วพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีกได้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 จึงต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนตามขั้นตอนของกฎหมาย แล้วออกคำสั่งลงโทษตามฐานความผิดที่ได้ดำเนินการสอบสวนใหม่ต่อไป ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 มีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามข้อพิพาทนี้ โดยไม่ได้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยก่อนออกคำสั่ง คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ ผู้ฟ้องคดีมิได้รับราชการ ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีหมดโอกาสในการเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษหรือตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น หรือหากได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวย่อมไม่อาจกลับเข้ารับราชการได้ ดังนั้น หากให้คำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป ย่อมเป็นกรณีที่ยากจะเยียวยาแก้ไขความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ในภายหลัง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะระหว่างการให้ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลไปก่อน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการที่จะได้บุคลากรกลับมาปฏิบัติหน้าที่ อันจะเป็นผลให้มีกำลังคนหรือบุคลากรเพิ่มขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดินหรือการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ ก่อให้เกิดความรวดเร็วและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
อนึ่ง สำหรับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า ในช่วงปี 2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง นายสำราญ ตันเรืองศรี ผู้อำนวยการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายครรชิต สลับแสง เลขานุการกรม และผู้เข้าสอบและผ่านการคัดเลือกเข้าอบรมหลักสูตรนายอำเภอในรุ่น 68, 69 และ 70 จำนวน 119 คน ในคดีการสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าอบรมหลักสูตรนายอำเภอประจำปี 2552 ว่า ผิดกฎหมายอาญา 157, 161 และ 162 (1) (4)
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นคือ กรมการปกครองออกประกาศ เรื่องการสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าอบรมหลักสูตรนายอำเภอ โดยกำหนดวันสอบข้อเขียนวันที่ 22 มีนาคม 2552 ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็คเมืองทองธานี แบ่งข้อสอบออกเป็น 2 ภาค ภาคเช้า ภาคความสามารถทั่วไป และภาคบ่าย ภาคความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และแต่ละภาคจะมีข้อสอบอัตนัย 1 ข้อ ซึ่งกรมการปกครองเป็นผู้ออกข้อสอบและตรวจกระดาษคำตอบ
และในการสอบนี้ กรมการปกครองมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการออกข้อสอบอัตนัยคือ นายวุฒิชัย เสาวโกมุท และนายครรชิต สลับแสง เป็นกรรมการออกข้อสอบภาคความสามารถทั่วไป และแต่งตั้งนายสำราญ ตันเรืองศรี เป็นกรมการออกข้อสอบภาคความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง โดยข้อสอบของผู้ใดได้รับการคัดเลือก ผู้นั้นจะเป็นผู้ตรวจข้อสอบ
และในวันเดียวกันมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบอัตนัย ที่มีนายวงศ์ศักดิ์ เป็นประธานกรรมการ และนายวุฒิชัย เป็นกรรมการและเลขานุการ
โดยวันที่ 22 มีนาคม 2552 มีการพิมพ์ข้อสอบทั้ง 2 แบบ โดยข้อสอบอัตนัยภาควิชาความสามารถทั่วไปออกโดยนายวุฒิชัย ส่วนภาควิชาความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งออกโดยนายสำราญ
ทั้งนี้ในเรื่องสมุดกระดาษคำตอบทั้ง 2 ภาค ที่มีผู้ทำข้อสอบเหมือนกันเป็นจำนวนมากนั้น คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ส่งสมุดคำตอบทั้งสองภาคมีร่องรอยไม่เหมือนสมุดคำตอบตัวอย่าง จำนวน 142 คน จึงเชื่อว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขลวดเย็บกระดาษและกระดาษด้านในปก
จึงแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง และข้าราชการกรมการปกครองที่รับผิดชอบในการสอบรวม 8 คน และข้าราชการผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 142 คน
เมื่อคณะกรรมมาธิการ ป.ป.ป. สภาผู้แทนราษฎรได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการทุจริตจึงเชิญนายวุฒิชัย และวงศ์ศักดิ์ไปพบที่ห้องประชุมเพื่อซักถามข้อมูล
พบว่านายวุฒิชัยมีความไม่สบายใจจึงกลับมาพูดกับนายวงศ์ศักดิ์ที่ห้องทำงาน เพื่อหาทางแก้ไขให้นายคิม ปรีเปรม ประธานรุ่นที่ 68 เป็นผู้ติดต่อประธานรุ่นและเลขานุการรุ่นที่ 68, 69 และ 70 มาพบ และนายวงศ์ศักดิ์ได้สั่งให้ประธานและเลขาฯทั้ง 3 รุ่น ประสานกับผู้เข้าสอบตามรายชื่อทั้ง 150 คน ให้เขียนกระดาษคำตอบใหม่ โดยให้นายวุฒิชัยจัดเตรียมสมุดคำตอบเปล่านำมามอบให้นายคิม และประธาน และเลขาฯทั้ง 3 รุ่น เพื่อนำไปให้ผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 150 คน เขียนข้อความตามรูปแบบคำตอบซึ่งได้มอบไป 3 – 4 แบบ โดยให้ปรับปรุงข้อความไม่ให้เหมือนกัน แล้วส่งกลับมายังนายวุฒิชัย
และนายวุฒิชัยจะนำสมุดคำตอบที่เขียนขึ้นใหม่ถอดออกมาใส่เนื้อในของสมุดคำตอบฉบับเดิม โดยไม่มีการแก้ไขปกสมุดคำตอบฉบับเดิมแต่อย่างใด ซึ่งสมุดคำตอบที่มีการเปลี่ยนเนื้อหาดังกล่าวเสร็จแล้ว ได้เก็บไว้ที่ห้องทำงานของนายวุฒิชัย จนพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. มารับไป
คำให้การของนายวุฒิชัยดังกล่าว มีคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการอบรมหลักสูตรนายอำเภอ จำนวน 20 คน โดยให้การว่า ได้เขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่ตามคำแนะนำของประธานหรือเลขาฯรุ่น ซึ่งอ้างว่า เป็นคำสั่งของกรมการปกครอง โดยประธานหรือเลขาฯรุ่นที่นำกระดาษคำตอบเปล่ามาได้ขอให้เขียนคำตอบใหม่ ตามแบบคำตอบที่ให้มา แต่อย่าให้เหมือนกัน แล้วจึงมอบให้ประธานหรือเลขาฯรุ่นรับคืนไปยังกรมการปกครอง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า นายวุฒิชัยและผู้ถูกกล่าวหาทั้งที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าอบรมหลักสูตรนายอำเภอ 20 คนให้ถ้อยคำที่เป็นประโยชน์ต่อการไต่สวน จึงมีมติโดยเสียงข้างมากให้กันนายวุฒิชัย และผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 20 คน ไว้เป็นพยาน โดยไม่ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญา
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุอีกว่า การกันนายวุฒิชัย และผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าอบรมหลักสูตรนายอำเภอทั้ง 20 คน ไว้เป็นพยานเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/6 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 (อ่านประกอบ : ดูเหตุผล ป.ป.ช.ฟันข้อหาหนัก “วงศ์ศักดิ์” คดีโกงสอบ รร.นายอำเภอ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/