ฉบับเต็ม! ผลสอบลับ พฤติการณ์กระทำความผิดขรก.กรมสรรพากร เอี่ยวคดีทุจริตคืนภาษี 5 พันล.
"... คำชี้แจงของผู้ประกอบการดังกล่าว น่าจะเป็นคำให้การเท็จ เนื่องจากผู้ประกอบการรายนี้ เคยไปให้ปากคำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า บริษัทไม่มีการสำรองสินค้าไว้เพื่อขาย เมื่อรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าแล้วบริษัทจะส่งสินค้าไปยังท่าเรือ ไม่น่าจะมีการเบิกสินค้ามาจากโรงเก็บสินค้า นอกจากนี้ในวันที่ซื้อสินค้าและวันที่ขายสินค้าเป็นวันเดียวกัน ข้อเท็จจริงคือวันนั้นไม่มีสินค้าคงเหลือในสต็อก ผู้ประกอบการรายนี้ไม่น่าหาเศษเหล็ก หรือเศษโลหะอื่นเป็นจำนวนมาก ส่งออกไปขายได้เลย..."
"จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 สำนักสรรพากรพื้นที่สาขาบางรัก 1-3 ให้ปากคำต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ สอดคล้องต้องกันว่า มีหน้าห้องของข้าราชการของกรมสรรพากรระดับ 9 โทรศัพท์มาสั่งการให้เจ้าหน้าที่สรรพากรในพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทที่กระทำผิดให้มารับเช็คคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยให้เหตุผลว่าเป็นกลุ่มเพื่อนของตนเอง"
คือเนื้อหาสำคัญในรายงานผลสอบข้อเท็จจริงคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ของกรมสรรพากร ที่สร้างความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านบาท ซึ่งปรากฎอยู่ในผลวิจัยการศึกษากลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) จำแนกตามภาคเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย จัดทำโดยทีมวิจัยที่มีนางสาววัชรา ไชยสาร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว (อ่านประกอบ เผยผลสอบลับคดีทุจริตคืนภาษี5พันล.! หน้าห้อง 'ซี9' โทรฯ สั่งการอำนวยความสะดวกคืนเช็คบ.)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลพฤติการณ์และลักษณะการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ที่จับมือร่วมกับเอกชนกระทำการทุจริตในคดีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดเนื้อหาข้อมูลส่วนนี้ที่ปรากฎในผลวิจัยมานำเสนอเป็นทางการอีกครั้ง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
--------------------
บุคคลกลุ่มหนึ่งนำโดยนาย WS ได้ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้วอ้างว่า ประกอบกิจการธุรกิจรับซื้อจำหน่าย นำเข้าและส่งออกแร่โลหะทุกชนิด ในพื้นที่ เขตบางรัก ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 รวมจำนวน 30 บริษัท และพื้นที่เขตบางคอแหลม ทุ่งครุ กรุงเทพฯ อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ อีกจำนวน 33 บริษัท แล้วมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และกรมสรรพกรได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่
บริษัทดังกล่าว รวมจำนวนประมาณ 4,000 ล้านบาท
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2557 กลุ่มบุคคลที่นำโดยนาย WS ดังกล่าวข้างต้นได้รวมเครือข่ายกว่า 40 บริษัท จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัด
สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่า ประกอบธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ปรากฎว่า กลุ่มบริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบการหรือส่งออกจริงและแม้ส่งออกจริงก็มีจำนวนไม่มาก แต่ยื่นขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งพฤติการณ์นี้เข้าข่ายทุจริตโดยแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ เชิดบุคคลถือหุ้นและเป็นกรรมการ มีตัวการอยู่เบื้องหลัง โอนเงินกันไปมาระหว่างบริษัทและบุคคลในกลุ่ม
ในขณะที่กรมสรรพากรมีการเร่งรัดให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มเร็วผิดปกติโดยไม่มีการสอบยันผู้ขายสินค้า แต่มีการแก้ไขระเบียบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เอื้อประโยชน์ต่อการคืนภาษีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งๆที่ผู้ประกอบการกลุ่มที่ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีความน่าเชื่อถือตามเกณฑ์ที่จะพิจารณาคืนภาษี นอกจากนั้น ยังพบว่ากลุ่มบริษัทผู้ขายสินค้ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ขอคืนภาษี ซึ่งน่าเชื่อว่ามีการออกใบกำกับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 รวมจำนวน 4 ราย และอดีตเจ้าหน้าที่ สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับผู้ประกอบกิจการ รวมจำนวน 4 ราย ว่าได้ร่วมกันทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 1,000 กว่าพันล้านบาท
ทั้งนี้ พฤติการณ์หรือลักษณะของการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดดังนี้
1) ความผิดข้อหาเจ้าพนักงาน มีหน้ำที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
2) ความผิดข้อหาเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือ รักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151
3)ความผิดข้อหาเจ้าพนักงานมีหน้าที่หรือแสดงว่าตนมีหน้าที่ เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใด โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากรค่าธรรมเนียมหรือเงินนั้นหรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดเพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่ำธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย หรือเสียน้อยไปกว่ำที่จะต้องเสีย ตามประมวลกฎหหมายอาญามาตรา 154
4) ความผิดข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
5) ความผิดข้อหาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลาย เอกสารสิทธิผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
6) ความผิดข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือ หน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชำติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1
7)ความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542 กรณีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ทวิ หรือมาตรา 90/4 ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร และเป็นความผิดที่เกี่ยวกับจำนวนภาษี อากร ที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือจำนวนภาษีอากรที่ขอคืนโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตั้งแต่สองล้านบาท ต่อปีภาษีขึ้นไป และผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรดังกล่าวได้กระทำในลักษณะที่เป็นขบวนการหรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากรและมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่ายความผิดมูลฐานส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แล้วให้ดำเนินการตามกฎหมาย
ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี
8) ความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าร่วมกระทำการด้วย
อนึ่ง โดยหลักการในทางปฏิบัติก่อนที่กรมสรรพากรจะคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ส่งออกนั้น เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติกรมสรรพากร ที่ มก. 4/2549 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2549 ข้อ 3 (3) (3.2) ต้องชะลอการคืนภาษีไว้ก่อน จากนั้นให้ส่งทีมกำกับดูแลเข้าไปตรวจสอบ และให้ใช้ผลการตรวจสอบมาประกอบการพิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากพบว่า ผู้ประกอบการมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้
1) ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่เพิ่งจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถึง 6 เดือน เริ่มเสียภาษีเดือนแรก ขอคืนเงินสดทันทีตามระเบียบกรมสรรพากร
2) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่งจะย้ำยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่สำนักงานสรรพากรรับผิดชอบ
3) มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หรือเคยมีเจตนำใช้ใบกำกับภาษีปลอม
4) เคยถูกตรวจสอบคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและเคยกระทำความผิด
5) ขาดการยื่นแบบเสียภาษีมูลค่ำเพิ่มเดือนใดเดือนหนึ่งหรือหลายเดือน
6) ขาดการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้
7) ขอคืนภาษีสูงกว่ำ 1.5 เท่าของภาษีที่ขอคืนเฉลี่ยต่อเดือนในช่วงระยะเวลา 3 เดือนภาษีก่อนเดือนภาษีที่ขอคืนแนวปฏิบัติดังกล่าว ยังมีแนวปฏิบัติปลีกย่อยอีกมากมาย
ตัวอย่างเช่น กรณีกรมสรรพากรส่งทีมเจ้าหน้าที่กำกับดูแลลงพื้นที่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของกิจการ โดยมีคะแนนเต็ม 5 คะแนน หากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตรวจสอบพบกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท 3 คน มีชื่ออยู่ในบริษัทอื่นอีกกว่า 20 แห่ง ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ส่งออกสินค้ามูลค่า 200 - 300 ล้านบาท ใช้เงินจากแหล่งใดสั่งซื้อสินค้า หรือมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย เมื่อตรวจสถานประกอบการ พบมีพนักงาน 1-2 ราย อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ตรวจค่าน้ำและค่าไฟฟ้ามี การใช้เดือนละไม่ถึง 200 บาท แต่มียอดส่งออกหลักร้อยล้านบาท
กรณีตามที่กล่าวมานี้ เจ้าหน้าที่ต้องเกิดข้อสงสัย และให้คะแนนความน่าเชื่อถือในกรณีที่กล่าวนี้ ไม่ควรเกิน 3 คะแนน หากตรวจพบกรณีเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ต้องชะลอการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่อนุมัติคืนเงินสดทันทีและต้องให้ทีมตรวจสอบยันใบกำกับภาษีย้อนกลับไป และตรวจบัญชีกระแสรายวันธนาคารพาณิชย์ หากเจ้าหน้าที่สรรพากรปฏิบัติตามระเบียบที่กรมสรรพากรกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด การตรวจสอบยันในขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าของกรมศุลกากรอาจจะไม่จำเป็น
จากกรณีดังกล่าวคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ของกระทรวงการคลังได้ชี้มูลเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ในความผิดในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยได้ทำการตรวจสอบสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 พบว่า เจ้าหน้าที่สรรพากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการจดทะเบียนจำนวน 7 บริษัท ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดจนหมดข้อสงสัยครบทุกประเด็น ดังนี้
1)ตรวจสอบความน่าเชื่อของสถานประกอบการ พบว่า สถานประกอบการ มีเพียงคอมพิวเตอร์โต๊ะ และเก้าอี้ 1 ชุด ไม่พบพนักงานอื่น ๆ นอกจากผู้ที่รับการตรวจสอบหรือผู้ทีให้การ แต่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรกลับประเมินความน่าเชื่อถือของสถานประกอบการแห่งนี้อยู่ในระดับ 3 ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยหลักการทั่วไปแล้วควรจะประเมินอยู่ที่ระดับ 1 เท่านั้น (ไม่น่าเชื่อถือ)
2) ใบกำกับภาษีซื้อที่มาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมีมูลค่าสูง ตามระเบียบต้องมีการสอบยันก่อนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ในทางปฏิบัติผลปรากฏว่ามีการอนุมัติเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการ โดยไม่รอผลสอบยัน ทั้ง ๆ ที่บริษัทเพิ่งเริ่มประกอบกิจการเดือนแรก
3) รายการส่งออกสินค้าไม่ตรงกับหลักฐานใบกำกับสินค้า (Invoice and packing list)
4) หลักฐานการชำระเงินจากต่างประเทศที่ออกโดยธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ระบุที่มาของเงินแตกต่างกัน และ Ordering custom ไม่ตรงกับผู้ซื้อสินค้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว และจากข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีการโอนเงินจากต่างประเทศ
5) ในการสอบยันใบกำกับภาษีผู้ประกอบการได้แนบบัญชีเงินฝากกระแสรายวันให้เจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งมีการฝาก - ถอนเงินเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการตรวจสอบ แต่จากการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่า เป็นการหมุนเงินกันในกลุ่มผู้ซื้อ-ผู้ขาย เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีการชำระเงินซื้อ-ขายสินค้าผ่านธนาคารกันจริง
6) เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เปิดตู้คอนเทนเนอร์ตรวจสินค้ำ พบว่า มีการสำแดงรายการสินค้าไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในใบขนสินค้าขาออก ผู้ประกอบการชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรว่าถูกบริษัท P ซึ่งเป็นผู้บรรจุสินค้ำ ณ โรงเก็บสินค้ำ ยักยอกสินค้ำ ซึ่งได้ดำเนินคดีต่อศาลแล้ว เจ้าหน้าที่สรรพากรก็เชื่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมศุลกากร
คำชี้แจงของผู้ประกอบการดังกล่าว น่าจะเป็นคำให้การเท็จ เนื่องจากผู้ประกอบการรายนี้ เคยไปให้ปากคำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า บริษัทไม่มีการสำรองสินค้าไว้เพื่อขาย เมื่อรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าแล้วบริษัทจะส่งสินค้าไปยังท่าเรือ ไม่น่าจะมีการเบิกสินค้ามาจากโรงเก็บสินค้า นอกจากนี้ในวันที่ซื้อสินค้าและวันที่ขายสินค้าเป็นวันเดียวกัน ข้อเท็จจริงคือวันนั้นไม่มีสินค้าคงเหลือในสต็อก ผู้ประกอบการรายนี้ไม่น่าหาเศษเหล็ก หรือเศษโลหะอื่นเป็นจำนวนมาก ส่งออกไปขายได้เลย จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ถูกสอบสวนทางวินัยทั้งหมด 4 ราย และมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้รัฐเสียหายอย่างร้ายแรง โดยมีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องจำนวนมากถึง 1,135 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ตรวจพบว่า มีเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ที่ทำหน้าที่ตรวจปฏิบัติการจำนวน 4 ราย ซึ่งรับผิดชอบตรวจสอบภาษีผู้ประกอบการที่มาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 14 ราย มีรูปแบบของการกระทำความผิดคล้ายคลึงกับกรณีแรก กล่าวคือ ตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ครบทุกประเด็นที่เป็นข้อสงสัย โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) จากการที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสถานประกอบการ พบว่า บริษัทไม่มีการประกอบกิจการจริง บริษัทปิด แต่ในวันเดียวกันนั้นมีผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทมาพบกับเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อยื่นเอกสารขอคืนภาษีซึ่งเป็นการตรวจสภาพกิจการก่อนได้รับคำสั่งให้ไปตรวจสอบ จากนั้นเมื่อผู้รับมอบอำนาจบริษัทมายื่นเรื่องขอคืนภาษีก็นำผลการตรวจสอบที่เตรียมไว้ล่วงหน้ามายื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อประหยัดเวลา และช่วยให้รวดเร็วขึ้น
2) เจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการให้คะแนนความน่าเชื่อถือในระดับ 3 ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการประกอบกิจการจริง และยังใช้ผลการตรวจสอบดังกล่าวมาประกอบขั้นตอนพิจารณาอนุมัติคืนภาษี
3) จากคำให้การของผู้ประกอบการว่าโกดังเก็บสินค้าอยู่ในพื้นที่ตำบลสำโรงอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ แต่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่เคยลงพื้นที่ตรวจสอบหรือสั่งให้สรรพากรท้องที่ที่อยู่ใกล้เคียงไปตรวจสอบ
4) หลักฐานการชำระเงินจากต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยมีที่มาของเงินต่างกัน และระบุ Ordering custom ไม่ตรงกับผู้ซื้อสินค้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีการโอนเงินจากต่างประเทศจริง
5) บัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ผู้ประกอบการนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เป็นหลักฐานในการตรวจสอบยัน มียอดฝาก-ถอนจำนวนมาก ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจพบว่า เป็นการหมุนเงินในกลุ่มของผู้ซื้อ-ผู้ขาย เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีการชำระเงินผ่านธนาคารกันจริง
6) วันที่ซื้อและขายสินค้าส่งออกเป็นวันเดียวกัน ซึ่งในวันนั้นไม่มีสินค้าคงเหลือในสต็อก โดยมีข้อเท็จจริงคือบริษัทไม่มีทางหาเศษเหล็กหรือเศษโลหะอื่นส่งออกไปขายต่างประเทศได้
7) บริษัทเริ่มขอคืนภาษีในมูลค่าที่สูงมาก ตั้งแต่ประกอบกิจการเดือนแรกโดยไม่มีการสั่งตรวจสอบยัน
8) จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 สำนักสรรพากรพื้นที่สาขาบางรัก 1-3 ให้ปากคำต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ สอดคล้องต้องกันว่า มีหน้าห้องของข้าราชการของกรมสรรพากรระดับ 9 โทรศัพท์มาสั่งการให้เจ้าหน้าที่สรรพากรในพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทที่กระทำผิดให้มารับเช็คคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยให้เหตุผลว่าเป็นกลุ่มเพื่อนของตนเอง
9) จากการตรวจค้นจากฐานข้อมูลของกรมสรรพากร ไม่พบข้อมูลบริษัทกลุ่มนี้มีการส่งออก จึงทำเรื่องสอบถามข้อมูลไปที่กรมศุลกากร แต่ผู้ประกอบการนำสำเนาใบขนสินค้าจากกรมศุลกากรมาแสดง เจ้าหน้าที่จึงอนุมัติคืนเงินสดไปก่อน โดยไม่รอผลการสอบยันใบขนจากกรมศุลกากร ทั้ง ๆ ที่บริษัทเพิ่งเริ่มประกอบกิจการ และขอคืนภาษีเป็นเดือนแรก
ทั้งนี้ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 มีเจ้าหน้าที่หน้าที่ที่อยู่ในข่ายกระทำความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นปฏิบัติจำนวน 6 ราย ทำให้รัฐเสียหายอย่างร้ายแรง โดยคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องเป็นจำนวนประมาณ 3,209 ล้านบาท และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 ที่ร่วมกกระทำความผิดกลุ่มนี้ซึ่งทำหน้าที่สอบยันใบกำกับภาษีตามที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่อื่น ๆ ส่งมาให้ตรวจสอบยันมี 5 บริษัท เจ้าหน้าที่ กลุ่มนี้ไม่ได้ทำการตรวจสอบอย่างละเอียดครบทุกประเด็นที่สงสัย
กรณีที่น่าสนใจ คือ กรณีบริษัท SUVMT จดทะเบียนเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการส่งออกโลหะอัดก้อน สถานประกอบการเป็นห้องกระจกโล่ง ๆ ไม่มีคนงาน ไม่มีอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ไม่มีวัตถุดิบหรือสินค้าคงเหลือ ตั้งอยู่ใต้อาคารสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร แต่เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 ดังกล่าว กลับออกหนังสือยืนยันว่า “ผลการตรวจสอบยันถูกต้อง” โดยไม่มีการตรวจสอบยันจริง พร้อมกับส่งหนังสือยืนยันไปให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินคืนภาษีให้กับผู้ประกอบการอีกรายที่ยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 ส่งจดหมายแนบแบบ ภ.พ. 20 ถึงบริษัทดังกล่าว ที่ตั้งอยู่ใต้อาคารที่ทำการสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 แต่ปรากฎว่า ไม่มีผู้รับจดหมาย จึงถูกตีกลับไปยังที่ทำการไปรษณีย์สมุทรสาคร โดยมีบุคคลไปรับจดหมายที่ไปรษณีย์ซึ่งจากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจดูชื่อในใบตอบรับจดหมาย พบว่าเป็นข้าราชการกรมสรรพากร สังกัด สำนักงานสรรพากรภาค 2
กรณีสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 มีเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในข่ายร่วมกระทำความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทั้งหมด 5 ราย และกรณีของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 14 มีเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในข่ายความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทั้งหมด 4 ราย ซึ่งทำหน้าที่สอบยันใบกำกับภาษีตามที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ต่างท้องที่ส่งมาให้ตรวจสอบยัน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดครบทุกประเด็นที่สงสัยเป็นเหตุให้รายงานผลการสอบยันไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ทำให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สมุทรสาคร 2 เข้าใจว่ามีการซื้อขายจริง จึงส่งผลการสอบยันไปให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 นำไป ประกอบการพิจารณาอย่างไม่ถูกต้อง
-------------------
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลพฤติการณ์และลักษณะการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ที่จับมือร่วมกับเอกชนกระทำการทุจริตในคดีนี้ ที่ปรากฎอยู่ในผลวิจัยการศึกษากลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) จำแนกตามภาคเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย
แต่ยังมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบทบาทและพฤติการณ์ของอดีตอธิบดีสรรพากรรายหนึ่ง ร่วมอยู่ด้วย รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
องค์ความรู้ใหม่ 'ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์' จุดเริ่มต้นทุจริตคืนภาษีVAT- ภาษีศุลกากร ในไทย
5,000 ล้าน! ย้อนบทเรียนความเสียหาย คดีทุจริตคืนภาษี นำเข้า ส่งออกแร่โลหะ กรมสรรพากร
เชิดคนขับรถนั่งกก.-ใช้ห้องเช่าตั้งสนง.! เบื้องลึก กลุ่มทุจริตคืนภาษีชิ้นส่วนคอมฯ 2 พันล.
เผยผลสอบลับคดีทุจริตคืนภาษี5พันล.! หน้าห้อง 'ซี9' โทรฯ สั่งการอำนวยความสะดวกคืนเช็คบ.