วัดบรรทัดฐาน กกต.! กาง กม.-ขมวดข้อเท็จจริงเงื่อนปม ส.ส.ถือหุ้นสื่อ พิจารณาจากอะไร?
“…เงื่อนปมการจดวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจของเอกชนในตอนแรกเริ่มที่ต้องจดอย่างหลากหลาย-ครอบจักรวาลนี่เอง กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญทำให้เกิดการร้องเรียนว่าที่ ส.ส.-ผู้สมัคร ส.ส. จำนวนหลายสิบรายให้ กกต. ตรวจสอบอยู่ในขณะนี้ โดยยึดเอาบรรทัดฐานในคดีของนายภูเบศวร์เป็นตัวตั้งว่า หากนายภูเบศวร์ที่ทำธุรกิจก่อสร้างอาคาร แต่ถูกศาลฎีกาฯตัดสิทธิเพราะจดในแบบฟอร์มทำธุรกิจข้อหนึ่งว่า ประกอบกิจการสื่อ ว่าที่ ส.ส.-ผู้สมัคร ส.ส. รายอื่นที่แม้ประกอบธุรกิจอื่น แต่หากจดในแบบฟอร์มทำธุรกิจข้อหนึ่งว่า ประกอบกิจการสื่อ ก็ต้องโดนไปด้วย…”
ประเด็นการถือครองหุ้นสื่อของว่าที่ ส.ส.-ผู้สมัคร ส.ส. หลายพรรค กำลังได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก
เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ประกอบธุรกิจสื่อ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่าตกลงทำการโอนหุ้นเมื่อวันใดกันแน่ ระหว่างวันที่ 8 ม.ค. 2562 ตามที่นายธนาธรกล่าวอ้าง หรือวันที่ 21 มี.ค. 2562 ตามที่แจ้งข้อมูลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
เงื่อนปมเหล่านี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงในชั้นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีกระแสข่าวแว่วว่า ยังคงตรวจสอบไม่แล้วเสร็จก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 7-8 พ.ค. 2562 ดังนั้นคาดกันว่า นายธนาธร อาจได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่เป็น ส.ส. ในสภา
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เงื่อนปมเกี่ยวกับการโอนหุ้น-ถือครองหุ้นสื่อ ของบรรดาว่าที่-ผู้สมัคร ส.ส. หลายพรรค ที่แต่ละฝ่ายต่างร้องเรียนให้ กกต. ดำเนินการตรวจสอบนั้น ผิดกฎหมายข้อใด ?
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 ระบุว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดย (3) ระบุว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
ส่วนใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 ระบุว่า บุคคลผู้มีลักษณะต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดย (3) ระบุว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
อธิบายให้ง่ายคือ ถ้าเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นไม่ว่าสัดส่วนเท่าใดก็ตามในบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อ จะไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้
ทั้งนี้ กกต. ประกาศรับสมัคร ส.ส. เขต-บัญชีรายชื่อ ระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ. 2562 นั่นหมายความว่า ผู้ที่ประสงค์จะลงสมัคร ส.ส. จะต้อง ‘เคลียร์’ การเป็นเจ้าของ-ถือครองหุ้นในกิจการสื่อทั้งหลายให้เกลี้ยง ก่อนวันที่ลงสมัคร (4-8 ก.พ. 2562) นั่นเอง ไม่อย่างนั้นถือว่าขัดคุณสมบัติในการสมัคร
กฎเหล็กนี้เข้มงวดอย่างมาก หากพบในช่วงตรวจคุณสมบัติ ส.ส. ว่า มีผู้ใดยังถือครองหุ้นสื่ออยู่ จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และส่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัย โดยให้ผู้ร้องไปชี้แจงต่อศาลเอง หรือหากพบทีหลังจะต้องถูกส่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเช่นเดียวกัน พร้อมกับอาจใช้มาตรา 151 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. เพื่อพิจารณาด้วยว่า ถ้ารู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ต้องถูกระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท-2 แสนบาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปีด้วย (อ่านประกอบ : เปิดขั้นตอน กกต.วินิจฉัยปมโอนหุ้น ’ธนาธร’ส่งศาลฎีกาชี้ชะตา?ถ้าผิดคุก1-10ปี ตัดสิทธิ์20ปี)
ทราบในแง่มุมกฎหมายไปแล้ว คราวนี้มาดูแง่มุมข้อเท็จจริงกันบ้าง ?
ช่วงหลังเหตุปรากฎการณ์ของนายธนาธร มีทุกฝ่าย-ทุกพรรคต่างตบเท้ายื่นเรื่องให้ กกต. ดำเนินการไต่สวนกรณีว่าที่ ส.ส.-ผู้สมัคร ส.ส. หลายพรรค อาจขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามเนื่องจากขาดคุณสมบัติ โดยเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจสื่อ แบ่งเป็น 2 กรณี
หนึ่ง กรณีเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการด้านสื่อโดยตรง
หมายความว่า บริษัทเอกชนแห่งดังกล่าว แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า ประกอบกิจการด้านสื่อโดยตรง สามารถดูข้อมูลได้จากงบการเงินที่แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า มีรายได้มาจากการประกอบธุรกิจอะไร ยกตัวอย่าง นาย A ตั้งบริษัทขึ้นมา ระบุว่า ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่แจ้งงบการเงินว่า มีรายได้หลักมาจากการทำสื่อ นั่นหมายความว่า บริษัทของนาย A ประกอบธุรกิจด้านสื่อ หรือนาย B ตั้งบริษัทมา ระบุว่า ทำธุรกิจด้านยานยนต์ แจ้งงบการเงินว่ามีรายได้หลักมาจากธุรกิจยานยนต์ นั่นคือบริษัทของนาย B ทำธุรกิจด้านยานยนต์ เป็นต้น
สอง กรณีเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในบริษัทเอกชนอื่น ๆ แต่เขียนแบบฟอร์มวัตถุประสงค์ทำธุรกิจครอบจักรวาล
ประเด็นนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคม เนื่องจากมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่ 1706/2562 กรณีนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่า นายภูเบศวร์ ถือครองหุ้นใน หจก.แห่งหนึ่ง ที่แจ้งประกอบกิจการก่อสร้างอาคาร แต่เขียนแบบฟอร์มวัตถุประสงค์ทำธุรกิจครอบคลุมถึงการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รับจัดทำสื่อโฆษณา สปอร์ตโฆษณา ส่งผลให้นายภูเบศวร์ ถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไป
ต้องเข้าใจก่อนว่า ในการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท หรือ หจก. ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ต้องมีการระบุในแบบฟอร์มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจ ส่วนใหญ่เอกชนต่าง ๆ มักระบุเบื้องต้นตั้งแต่ 18-24 ข้อ ให้ครอบคลุมการทำธุรกิจหลากหลาย หากในอนาคตมีการขยายธุรกิจ จะได้ไม่ต้องมาจดทะเบียนเพิ่มเติมทีหลัง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ
เงื่อนปมการจดวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจของเอกชนในตอนแรกเริ่มที่ต้องจดอย่างหลากหลาย-ครอบจักรวาลนี่เอง กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญทำให้เกิดการร้องเรียนว่าที่ ส.ส.-ผู้สมัคร ส.ส. จำนวนหลายสิบรายให้ กกต. ตรวจสอบอยู่ในขณะนี้ โดยยึดเอาบรรทัดฐานในคดีของนายภูเบศวร์เป็นตัวตั้งว่า หากนายภูเบศวร์ที่ทำธุรกิจก่อสร้างอาคาร แต่ถูกศาลฎีกาฯตัดสิทธิเพราะจดในแบบฟอร์มทำธุรกิจข้อหนึ่งว่า ประกอบกิจการสื่อ ว่าที่ ส.ส.-ผู้สมัคร ส.ส. รายอื่นที่แม้ประกอบธุรกิจอื่น แต่หากจดในแบบฟอร์มทำธุรกิจข้อหนึ่งว่า ประกอบกิจการสื่อ ก็ต้องโดนไปด้วย
อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงอย่างที่อธิบายไปแล้วว่า หากต้องการทราบว่าเอกชนใดประกอบธุรกิจใด ให้ดูที่การแจ้งงบการเงินเป็นหลักว่า มีรายได้จากการทำธุรกิจอะไร ดังนั้นเงื่อนปมนี้จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้หลายคนกังขาอยู่ในขณะนี้ ?
ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ‘ซือแป๋ด้านกฎหมาย’ ยังออกมายอมรับว่า “แปลกใจ” กับคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ใช้คำว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการที่เป็นสื่อสารมวลชน ซึ่งคำว่ากิจการนั้น น่าจะเป็นคนละอย่างกับคำว่าบริษัทหรือนิติบุคคล และในความเป็นจริงคนที่ไปถือหุ้นก็ไม่รู้ว่าบริษัทนั้นมีวัตถุประสงค์อะไรบ้าง
“รู้สึกเห็นใจว่าแบบนี้ไม่น่าจะเข้าข่าย และเมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นมาก็มีคนไปร้องศาล เพื่อให้ศาลพิจารณา ทั้งนี้ ยังมีกรณีที่ จ.สระแก้ว ซึ่งศาลกลับตัดสินว่าไม่เป็นลักษณะต้องห้าม” นายวิษณุ ระบุ
แต่นายวิษณุ ระบุว่า กรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯข้างต้น จะเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ คงพูดอย่างนั้นไม่ได้ ต้องร้องศาลก่อน ซึ่งอาจมีการเปรียบเทียบแบบคดีต่อคดี เพียงไม่กี่คดีก็รู้แล้ว แต่วันนี้คดีที่ต่างจากคำพิพากษาดังกล่าวยังไม่มีบรรทัดฐาน
ทั้งหมดคือข้อกฎหมาย-ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับกรณีว่าที่ ส.ส.-ผู้สมัคร ส.ส. ถือครองหุ้นสื่อ ที่ชวนให้ กกต. ปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ในขณะนี้
ท้ายที่สุดจะมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานออกมาหรือไม่ คงต้องรอผลการตรวจสอบจาก กกต. อีกครั้ง!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ไขปม เช็คค่าโอนหุ้น 6.7 ล. ‘ธนาธร’ ยังไม่ได้ขึ้นเงิน มีความหมายอย่างไร?
‘ธนาธร’แจงปมโอนหุ้น 4 ชม.ยันเป็นคดีการเมือง จ่อฟ้อง ม.157 กกต.-คสช.หมดอำนาจโดนด้วย
'ปิยบุตร' จี้ กกต.ใช้สูตรคำนวณ ส.ส. ตามรธน.- ชี้ปม'ธนาธร' หุ้น วี-ลัค รีบพิจารณาผิดปกติ
ใบสั่งความเร็วรถภรรยา3 ฉบับ-ปริศนาอีซี่พาส? หลักฐานใหม่ ธนาธร แจงปมโอนหุ้นบ.วี-ลัคฯ
เปิดขั้นตอน กกต.วินิจฉัยปมโอนหุ้น ’ธนาธร’ส่งศาลฎีกาชี้ชะตา?ถ้าผิดคุก1-10ปี ตัดสิทธิ์20ปี
23 เม.ย.กกต.ถกต่อปมหุ้น'ธนาธร' เชื่อได้ข้อสรุปชัดเจน-ยังไม่ถึงขั้นแจก'ใบเหลือง-ส้ม'
ผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ ยัน 8 ม.ค.'ธนาธร' เข้ากทม.10.30 น.- 'ปิยบุตร'แถลงใหม่กลับตอนสิบโมง
อนค.งัดหลักฐานโชว์ปมโอนหุ้ น‘ธนาธร’-หลาน 2 คนมาเพื่อตามหนี้ หอบเอกสารแจง กกต.แล้ว
จาก อ.สตึก ถึงด่านธัญบุรี ใช้เวลา 5 ชม.27 นาที! 'ธนาธร'ออกมาตอนบ่าย ไฉนถึง กทม. เร็วแท้
เปิดตัว 'หลานเอ-บี' ผู้รับโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ เป็น ผจก.สนามไดร์ฟกอล์ฟ ลูก 'พี่ชายสมพร'
ปริศนา! คำชี้แจง‘ธนาธร’ โอนหุ้น 8 ม.ค.62 ก่อนรับสมัคร ส.ส. 30 วัน แค่เรื่องบังเอิญ?
กกต.ตั้ง กก.สอบปมโอนหุ้น‘ธนาธร’ ทางการ! เชิญ 7 ผู้ทรงฯร่วม-ทำให้เสร็จก่อน 9 พ.ค.
ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลฎีกาคดี ‘ภูเบศวร์’ ถือหุ้นสื่อ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
วันจดทะเบียนโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ 21 มี.ค.62 มาทีหลัง คดีเพิกถอน‘ภูเบศวร์’ถือหุ้นสื่อ ?
19 มี.ค.62 ลูกพรรค‘ธนาธร’ถูกศาลฎีกาฯ ถอนชื่อ‘ผู้สมัคร ส.ส.’ปมถือหุ้นสื่อ-เจ้าตัวรับพลาดเอง
9 ข้อเสี่ยงจุดตาย 'ธนาธร' ปมโอนหุ้น 8 ม.ค.62 อยู่ที่ไหน - เช็ค 6.7 ล. หลาน 2 คน
'ศรีสุวรรณ'ยื่นหลักฐานเพิ่ม กกต.สอบปมโอนหุ้น 'ธนาธร' เหตุยังแจงไม่เคลียร์
เปิดภาพชุด 7- 9 ม.ค. ‘ธนาธร’ อยู่ที่ไหน? ก่อนปมโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ ให้แม่ 8 ม.ค.62
‘ศรีสุวรรณ’จ่อนำหลักฐานใหม่ยื่น กกต. สอบปมหุ้น‘ธนาธร’ จ่ายเช็คเมื่อไหร่-โอนให้หลานทำไม
8 ม.ค.62 ‘ธนาธร’ช่วยผู้สมัครหาเสียง จ.บุรีรัมย์ วันเดียวโอนหุ้นให้‘สมพร’-เจ้าตัวยันอยู่กทม.
‘ธนาธร’ ยิ่งดิ้น แจงโอนหุ้นให้ ‘หลาน’ ยิ่งเกิดคำถามที่ซับซ้อนมากขึ้น?
ปมหุ้น‘ธนาธร’ให้ยึด ป.แพ่งฯ ม.1139 เป็นหลัก-โอนสลับไปมากี่รอบก็ได้แต่ต้องแจ้งกรมพัฒฯ
'ธนาธร'แจงโอนหุ้น 8 ม.ค.'แม่'โอนต่อให้'หลาน'จึงมีผู้ถือหุ้น 10 คน-ยันไม่ได้ร่วมประชุม
7 เงื่อนปม โอนหุ้น ‘ธนาธร’ 8 ม.ค. หรือ 21 มี.ค.62 ?
พนักงานยัน เห็นพี่สาว'ธนาธร' ร่วมประชุม วันที่ 19 มี.ค. ใช้ชื่อ 'วี-ลัค' จองสถานที่
หุ้นสื่อมวลชนของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ !
กกต.ใช้ข้อมูล‘อิศรา’สอบปมโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ ชงขอ ก.ล.ต.เพิ่ม-‘ธนาธร’ปัดเอี่ยวยันปิดกิจการแล้ว
บ.วี-ลัค มีเดีย แจ้ง 22 มี.ค.62 ‘เมียธนาธร’ลาออก กก. - มี‘กก.ผู้ถือหุ้น’ร่วมประชุม 10 คน
‘ศรีสุวรรณ’ยื่น กกต.สอบ‘ธนาธร’ปมโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ ทำวันไหน-เสียภาษีหรือไม่
เปิดเอกสารดูชัดๆ ‘ธนาธร-เมีย’ โอนหุ้น ‘วี-ลัค มีเดีย’ 21 มี.ค.2562
‘ธนาธร’โชว์เอกสารโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯให้ ‘แม่’ 1 เดือนก่อนสมัคร ส.ส.-ไม่หวั่นมีปัญหาทางกฎหมาย
‘ธนาธร-เมีย’ โอน บ.วี-ลัค มีเดีย 900,000 หุ้น ให้แม่ ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน