‘ธนาธร’ ยิ่งดิ้น แจงโอนหุ้นให้ ‘หลาน’ ยิ่งเกิดคำถามที่ซับซ้อนมากขึ้น?
"... ในเมื่อนางสมพร ต้องการแจ้งเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัดต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในนามตนเองอยู่แล้ว เมื่อได้รับโอนหุ้นมาจากนายธนาธรเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ทำไมจึงไม่แจ้งชื่อตนเองเป็นผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเลย แต่กลับโอนไปให้คุณเอ คุณบีก่อน แล้วจึงโอนกลับมาให้ตนเองอีกครั้ง เท่ากับโอนหุ้นกลับไปกลับมาสองครั้ง...
"ผมได้โอนหุ้นดังกล่าวทั้งหมดให้แก่คุณสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยทำเป็นหนังสือตราสารโอนหุ้น ระหว่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้โอน กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้รับโอน ฉบับลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคน พร้อมนี้ ผู้โอนและผู้รับโอน กับพยานทั้งสองคน ได้ลงลายมือชื่อในตราสารโอนหุ้นดังกล่าวต่อหน้าทนายความผู้ทำคำรับรอง (ทนายความโนตารี)"
"ผู้โอนและผู้รับโอน กับพยานทั้งสองคน ได้ลงลายมือชื่อในตราสารโอนหุ้นดังกล่าวต่อหน้าทนายความผู้ทำคำรับรอง (ทนายความโนตารี)"
ทนายความผู้ทำคำรับรอง หรือ ทนายความโนตารี ถูกระบุในคำชี้แจง ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงกรณีข้อสงสัยเรื่องการถือหุ้นของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตั้งข้อสังเกต 7 ประเด็น ช่วงค่ำวันที่ 2 เม.ย. 2562 อยู่หลายครั้ง (อ่านประกอบ : 7 เงื่อนปม โอนหุ้น ‘ธนาธร’ 8 ม.ค. หรือ 21 มี.ค.62 ? , 'ธนาธร'แจงโอนหุ้น 8 ม.ค.'แม่'โอนต่อให้'หลาน'จึงมีผู้ถือหุ้น 10 คน-ยันไม่ได้ร่วมประชุม)
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ทนายความผู้ทำคำรับรอง หรือ ทนายความโนตารี เป็นใครมาจากไหน
สืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ https://wordsmakers.com/notary-public/?fbclid=IwAR3rpn-wi_9U0ekUejQRvv1Uo_3uBx103wHBBEOmaipWCopFtN7oBVlOjss พบว่า มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับ ทนายความโนตารี ว่า
ทนายรับรองเอกสาร (Notary Public) ข้อแนะนำการแปลและรับรองเอกสารเพื่อยื่นหน่วยงานราชการ
ในหลายๆประเทศ โนตารี่ พับลิค คือทนายความชนิดพิเศษอย่างหนึ่งที่มีใบอนุญาต ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับรองเอกสาร (Notarization) หรือเป็นพยานในคำให้การ หรือการให้ปากคำโดยการสาบาน งานของโนตารี่พับลิคเป็นประโยชน์มากเมื่อบุคคลที่ได้รับเอกสาร, คำให้การ, หรือให้ปากคำที่รับรองโดยโนตารี่พับบลิค บุคคลนั้นจะยอมรับเอกสารนั้นว่าเป็นของแท้ เพราะได้รับการรับรองจากคนกลางที่มีใบอนุญาตซึ่งรับประกันเอกสารนั้น เอกสารที่รับรองโดยโนตารี่พับลิคนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและหน่วยงานราชการ
นอกจากนั้น การทำนิติกรรมและธุรกรรมต่างๆ ของคนที่อยู่กันต่างประเทศกัน ซึ่งมีความจำเป็นต้องส่งเอกสารไปมาระหว่างกัน เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจนั้นๆรวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีการแปลเอกสารจาก ภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจและบังคับใช้ได้ในอีกประเทศหนึ่งนั้น จำเป็นต้องมีผู้ที่มีความรู้ดีและมีผู้ยอมรับนับถือในความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ในการมาเป็นผู้รับรองความมีอยู่จริงของเอกสาร ความถูกต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของเอกสาร รวมถึงความแท้จริงของเจตนาของผู้ที่ลงนามในเอกสารเมื่อผู้รับรองได้รับรอง แล้ว และได้ส่งไปใช้ในอีกประเทศหนึ่ง ผู้รับก็จะเกิดความมั่นใจ แม้ว่าเอกสารนั้นตนอาจจะไม่ได้มีส่วนทำขึ้น และไม่ได้ลงนามต่อหน้าตนเองก็ตาม นั่นคือ หน้าที่ของ โนตารี พลับลิค (Notary Public) นั่นเอง
ในต่างประเทศหลายๆประเทศมักจะมีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยโนตารี พลับลิค ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ ลักษณะของงานที่จะต้องทำโดยโนตารี พลับลิค ค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บ รวมถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นโนตารี พลับลิค ข้อบังคับ จรรยาบรรณ และบทลงโทษกรณีทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง
สำหรับประเทศไทย สภาทนายความมีการประกาศข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการขึ้น ทะเบียนทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร พ.ศ.2551โดยทนายผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสารในประเทศไทยเรียกว่า “Notarial Services Attorney” ซึ่ง ทนายความที่ได้รับใบอนุญาตผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสารจากสภาทนายความ จะทำหน้าที่รับรองลายมือชื่อที่มีการลงชื่อต่อหน้าในเอกสารนั้นๆ หรือรับรองสำเนาเอกสารเช่นว่านั้นว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงจากต้นฉบับ หรือทำคำรับรองประเภทอื่นๆ รวมทั้งการลงชื่อในฐานะเป็นพยานในเอกสารเช่นว่านั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ในคำแถลงของ นายธนาธร ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ทนายความโนตารี ที่ตนเอง และ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ใช้บริการในการโอนหุ้นครั้งนี้ ว่าเป็นใครมาจากไหน
ความจริงแล้ว ถ้านายธนาธรมั่นใจว่า การทำตราสารการโอนหุ้น เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 เป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่มีการทำเอกสารย้อนหลัง จนเกิดข้อบกพร่องไม่เห็นว่า นายธนาธรจะต้องดิ้นรนอะไรเพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1192 ตราสารการโอนหุ้นที่นายธนาธรนำมาแสดงนั้นเพียงแต่นำไปลงทะเบียนในสมุดทะเบียนของบริษัทก็ถือว่าเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว
(มาตรา 1129 อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่ง ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น)
แต่เมื่อนายธนาธร เขียนคำชี้แจงล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 2 เมษายน 2562 ปรากฏว่า มีตัวละครใหม่ที่เพิ่งปรากฏขึ้นมาอีก 2 คนคือ คุณเอ (หลานชายคนที่ 1) และคุณบี (หลานชายคนที่ 2)ที่ได้รับโอนหุ้นต่อจากนางสมพร หลังจากที่ในการชี้แจงข้อมูลต่อสื่อมวลชนหลายครั้งก่อนหน้านี้ ไม่เคยระบุถึง? นำมาซึ่งคำถามใหม่ตามมาอีกหลายประเด็น
1.คุณเอ และคุณบี ที่บอกว่าเป็นหลาน เป็นลูกใคร? ทำไมเมื่อนางสมพรได้รับการโอนหุ้นมาจากนายธนาธร ต้องโอนให้กับคุณเอ คุณบี (วันที่ 14 มกราคม 2562)
2. เมื่อโอนหุ้นให้คุณเอ คุณบีแล้ว ก่อนจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ทำไมต้องให้คุณเอ คุณบีโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่นางสมพรทั้งหมดอีกครั้ง ก่อนยื่นแจ้งเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันเดียวกัน
3.ในเมื่อนางสมพร ต้องการแจ้งเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัดต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในนามตนเองอยู่แล้ว เมื่อได้รับโอนหุ้นมาจากนายธนาธรเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ทำไมจึงไม่แจ้งชื่อตนเองเป็นผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเลย แต่กลับโอนไปให้คุณเอ คุณบีก่อน แล้วจึงโอนกลับมาให้ตนเองอีกครั้ง เท่ากับโอนหุ้นกลับไปกลับมาสองครั้ง
เสียทั้งเวลา ยุ่งยากทั้งเรื่องเอกสาร และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าจ้างทนายความโนตารี
หรือเป็นวิสัยของนักธุรกิจระดับหมื่นล้านที่คนทั่วไปยากจะเข้าใจ
4. การปรากฏตัวขึ้นของ คุณเอ และคุณบีเกิดขึ้นหลังจากที่มีการนำเสนอข่าวว่า เลขหมายใบหุ้นนายธนาธรโอนให้แก่นางสมพรที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ควรจะลงวันที่ 08/01/2562(วันที่นายธนาธรแสดงตราสารการโอนหุ้น) ไม่ใช่วันที่ 21/03/2562)ตามเอกสารบัญชีผู้ถือหุ้นของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นการสร้างตัวละครรับช่วงการโอนหุ้นอีกทอดหนึ่งเพื่อทำให้วันที่ในการลงเลขหมายใบหุ้นของนางสมพรตรงกับที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่
และที่สำคัญเพื่อให้ตัวเลขการเข้าประชุมวิสามัญของผู้ถือหุ้นตรงกับตัวเลข 10 คน?
5. ก่อนหน้านี้นายธนาธรเคยชี้แจงว่า จะปิดบริษัทวี-ลัคมีเดียมาตั้งแต่ปลายปี 2561 แล้วเมื่อนายธนาธรอ้างว่า ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่นางสมพร เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ยิ่งไม่มีเหตุผลใดๆที่นางสมพรจะโอนหุ้นดังกล่าวต่อให้หลานคุณเอ คุณบีให้ถือครองเพียง 2 เดือน แล้วโอนกลับมาให้ตนเอง
ดูเหมือนว่า นายธนาธร ยิ่งชี้แจงเรื่องนี้มากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดคำถามที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
'ธนาธร'แจงโอนหุ้น 8 ม.ค.'แม่'โอนต่อให้'หลาน'จึงมีผู้ถือหุ้น 10 คน-ยันไม่ได้ร่วมประชุม
7 เงื่อนปม โอนหุ้น ‘ธนาธร’ 8 ม.ค. หรือ 21 มี.ค.62 ?
พนักงานยัน เห็นพี่สาว'ธนาธร' ร่วมประชุม วันที่ 19 มี.ค. ใช้ชื่อ 'วี-ลัค' จองสถานที่
หุ้นสื่อมวลชนของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ !
กกต.ใช้ข้อมูล‘อิศรา’สอบปมโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ ชงขอ ก.ล.ต.เพิ่ม-‘ธนาธร’ปัดเอี่ยวยันปิดกิจการแล้ว
บ.วี-ลัค มีเดีย แจ้ง 22 มี.ค.62 ‘เมียธนาธร’ลาออก กก. - มี‘กก.ผู้ถือหุ้น’ร่วมประชุม 10 คน
‘ศรีสุวรรณ’ยื่น กกต.สอบ‘ธนาธร’ปมโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ ทำวันไหน-เสียภาษีหรือไม่
เปิดเอกสารดูชัดๆ ‘ธนาธร-เมีย’ โอนหุ้น ‘วี-ลัค มีเดีย’ 21 มี.ค.2562
‘ธนาธร’โชว์เอกสารโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯให้ ‘แม่’ 1 เดือนก่อนสมัคร ส.ส.-ไม่หวั่นมีปัญหาทางกฎหมาย
‘ธนาธร-เมีย’ โอน บ.วี-ลัค มีเดีย 900,000 หุ้น ให้แม่ ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน