เช็คสถานะล่าสุด บ.โฮปเวลล์ฯ ผู้ชนะคดี รฟท. 1.2 หมื่นล.-ใครต้องรับผิดชอบ?
“…โครงการโฮปเวลล์ขณะนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 ด้วยวงเงินงบประมาณราว 80,000 ล้านบาท โดยบริษัท โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) ที่นำโดยนายกอร์ดอน หวู่ เป็นผู้เสนอโครงการนี้ให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. แลกด้วยการขอสิทธิพัฒนาที่ดิน รฟท. โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุน ทำให้หลายฝ่ายคลางแคลงใจว่า นายกอร์ดอน หวู่ เข้ามาหาผลประโยชน์หรือไม่…”
“...สำหรับคำชี้ขาดในส่วนที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องดำเนินการให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นข้อโต้แย้งต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ที่อ้างเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมายข้อสัญญาของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาโดยถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไร และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ปรากฏเหตุให้อำนาจศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้เช่นกัน…”
เป็นข้อความบางส่วนจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่พิพากษากลับให้ยกคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. มีผลให้ต้องชดใช้ค่าบอกเลิกสัญญาการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับแก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ เป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ : ดูเหตุผลคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.ปิดฉากคดีโฮปเวลล์)
ขั้นตอนการชดใช้คงต้องรอดูท่าทีรัฐบาลกันต่อไปว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อ
แล้วสถานะทางธุรกิจของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะ ‘ผู้ชนะ’ คดีพิพาทดังกล่าว ปัจจุบันเป็นอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบรายละเอียด ดังนี้
บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2533 ทุนปัจจุบัน 15,000,000,000 (1.5 หมื่นล้าน) บาท แจ้งว่ายังดำเนินกิจการอยู่ ประกอบธุรกิจการเดินรถไฟชุมชนระบบขนส่งทางถนน ตั้งอยู่ที่ 1000/217 อาคารลิเบอร์ตี้พลาซ่า ซ.สุขุมวิท 55 แขวงวัฒนา เขตคลองตันเหนือ กทม.
ปรากฏชื่อนายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ นายเฮนรี่ โคลิน เวียร์ นายโยธิน บุญดีเจริญ และ น.ส.วิชชุดา ศรีรัตนประภาส เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2560 มีรายได้รวม 5,138,921 บาท รายจ่ายรวม 5,462,843 บาท แต่มีดอกเบี้ยจ่าย 43,979,504 บาท ขาดทุนสุทธิ 44,303,426 บาท
สำหรับนายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการบริษัทไทยเดินเรือทะเล คือผู้มีบทบาทในการผลักดันโครงการโฮปเวลล์อย่างมาก โดยสื่อหลายสำนักระบุตรงกันว่า เป็นคนสนิทของนายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น)
ส่วนโครงการโฮปเวลล์ขณะนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 ด้วยวงเงินงบประมาณราว 80,000 ล้านบาท โดยบริษัท โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) ที่นำโดยนายกอร์ดอน หวู่ เป็นผู้เสนอโครงการนี้ให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. แลกด้วยการขอสิทธิพัฒนาที่ดิน รฟท. โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุน ทำให้หลายฝ่ายคลางแคลงใจว่า นายกอร์ดอน หวู่ เข้ามาหาผลประโยชน์หรือไม่
เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เบื้องหลังตัวละครสำคัญที่ทำให้เกิดโครงการโฮปเวลล์เกิดขึ้นคือ นายมนตรี พงษ์พานิช และนายกอร์ดอน หวู่
อย่างไรก็ดีแม้โครงการนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 ธ.ค. 2534 แต่รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐประหารเสียก่อน
เว็บไซต์บีบีซีไทย ได้รวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ริเริ่มโครงการ จนถึงยกเลิกสัญญา ตั้งแต่ปี 2532-2541 ดังนี้
ปี 2532 นายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม ริเริ่มโครงการ
ปี 2534-2535 นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็น รมว.คมนาคม รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน (เข้ามาจากการรัฐประหาร) ได้สั่งให้ตรวจสอบและล้มเลิกโครงการ
ปี 2535-2538 พ.อ.วินัย สมพงษ์ รมว.คมนาคม รัฐบาลนายชวน หลีกภัย (1) ผลักดันโครงการนี้ต่อ
ปี 2538-2539 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็น รมว.คมนาคม รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เบื้องต้นนายวันมูหะมัดนอร์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org แล้วว่า ไม่เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าว (อ่านประกอบ : "วันนอร์"ปัดเอี่ยวโฮปเวลล์ - แนะไปดูยกเลิกสมัยใคร)
ปี 2539-2540 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น รมว.คมนาคม รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นช่วงที่โครงการโฮปเวลล์หยุดก่อสร้างโดยสิ้นเชิง โดย รฟท. ขอทราบสาเหตุการหยุดงาน แต่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ระบุว่า มีเหตุอุปสรรคในพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้ นายสุวัจน์ ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีบอกเลิกสัมปทาน
ปี 2540-2541 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.คมนาคม รัฐบาลนายชวน (2) คณะรัฐมนตรีมีมติบอกเลิกสัมปทานเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 โดยกระทรวงคมนาคมมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา และห้ามไม่ให้โฮปเวลล์เข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ ในพื้นที่โครงการในวันที่ 27 ม.ค. 2541
ทั้งหมดคือตัวละครสำคัญในช่วงเหตุการณ์ต่าง ๆ ของโครงการโฮปเวลล์ หลายคนเสียชีวิตไปแล้ว หลายคนยังโลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมืองอยู่ในปัจจุบัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ศาล ปค.สูงสุดพิพากษากลับสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.คดีโฮปเวลล์
ย้อนมหากาพย์ 'คดีโฮปเวลล์' หลังศาลฯ สั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thethaiger.com