ม.44 อุ้มมือถือ ทีดีอาร์ไอ แนะออกคำสั่งแก้ไข-ทบทวนข้อบกพร่องด่วน
ดร.สมเกียรติ ชี้กสทช.อธิบายยืดหนี้ 4G ไม่ทำให้รัฐได้เงินน้อยลง เอกชนจ่ายเท่าเดิม บอกแปลกใจ เงินระดับหมื่นล้าน แสนล้าน แต่ไม่พูดถึงดอกเบี้ย ด้านเลขาฯ ACT ระบุ คำสั่ง คสช. ต้องการช่วยผู้ประกอบการที่ไม่มีความสามารถชำระเงิน ถามจริงหรือไม่ ขอสังคมแปะข้างฝา ก่อนโชว์ข้อมูลผลประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ 3 ค่ายมือถือ ฐานะมั่นคง
วันที่ 19 เม.ย. 2562 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และเครือข่ายผู้บริโภค จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง ม.44 อุ้มมือถือ:ใครได้ ใครเสีย และใครเสียท่า ณ ห้อง Conference ทีดีอาร์ไอ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุคำสั่ง มาตรา 44 อุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะเห็นว่า การยืดหนี้การประมูล 4G เป็นการยกผลประโยชน์หมื่นล้านบาทให้แก่ผู้ประกอบการ 3 ราย ซึ่งการยืดการชำระหนี้ออกไปโดยไม่มีการคิดดอกเบี้ย ทำให้เงินที่ควรจะได้กลับไม่ได้วันนี้ แล้วเงินจำนวนนี้มีค่าเสียโอกาส โดยเป็นภาระต้นทุนทางการเงิน
ทั้งนี้ กสทช. พยายามอธิบายว่า การยืดหนี้ 4G ไม่ทำให้รัฐได้เงินน้อยลง เอกชนต้องจ่ายเงินเท่าเดิม และ กสทช. ชี้แจงว่า รัฐได้เงินเท่าเดิม 203,317 ล้านบาท โดยไม่นำดอกเบี้ยมาคิด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก เงินเป็นระดับหมื่นล้านบาท แสนล้านบาท แต่ไม่พูดถึงดอกเบี้ย
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า หากนำดอกเบี้ยมาคิด จะเห็นว่าเงินที่รัฐจะได้รับหายไป เงินที่เอกชนได้งอกขึ้นมา โดยทรูเพิ่มขึ้นมา 8,780 ล้านบาท เอไอเอส 8,380 ล้านบาท และดีแทค 2,580 ล้านบาท รวมกันทั้งหมด รัฐยกผลประโยชน์ให้เอกชน 19,740 ล้านบาท (อ่านประกอบ: 7 เรื่อง คนไทยควรรู้กับคำสั่ง ม. 44 อุ้มผู้ประกอบการมือถือ)
“คสช. ไม่สมควรออกมาตรา 44 มาอุ้ม แต่เมื่อออกไปแล้ว คสช.ยังสามารถใช้มาตรา 44 ได้ก่อนจะมี ครม.ชุดใหม่ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำ คือ ออกมาตรา 44 แก้ไขทบทวนข้อบกพร่องในการดำเนินการครั้งนี้ ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศและประชาชน พร้อมกับอยากเห็นคนไทยต้องตระหนักว่า วิธีจะคุ้มครองจากการเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐและนายทุนผูกขาดสมคบกัน คือ การสร้างความรู้เท่าทันแพร่หลายกว้างในสังคม เหมือนสโลแกนที่ว่า คนไทยตื่นรู้ สู้โกง” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว
ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่ง มาตรา 44 ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชัดเจน เพราะเอื้อให้บริษัทโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลฝ่ายเดียว ไม่มีประเด็นอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเลย อีกทั้งต้นทุนของผู้ประกอบการถูกถ่ายโอนมาที่ผู้บริโภคด้วย
ส่วน กสทช. ล้มหายตายจาก อยู่ได้ตลอดชีวิต แต่ไม่มีอะไรทำ เพราะอำนาจในการประมูลคลื่นถูกยึดไปโดยมาตรา 44 เนื่องจากไม่ต้องประมูล 5G ซึ่งเหมือนแจกให้ผู้ประกอบการ 3 ราย ราคาถูกลง แน่นอนว่า สิ่งที่เราคาดหวังว่า 100 ล้านเลขหมาย หรือผู้ประกอบการให้บริการเครือข่าย 4-6 ราย คงไม่มีแล้ว เพราะเหลือเพียง 3 ราย จึงไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้น
“ผู้ประกอบการได้โชคในการขยายเวลา ซึ่งอย่างน้อย 2 บริษัท คือ เอไอเอสและทรู ต้องจ่ายเงิน 6.3 หมื่นล้านบาท แต่ปรากฎว่าไม่ต้องจ่ายงวดนี้ และดีแทคกว่า 4 พันล้านบาท เลยได้ผ่อนด้วย ทำให้ต้นทุนที่ต้องเป็นของบริษัท ถูกผลักมาที่ผู้บริโภค จาก 5 ปี กลายเป็น 10 ปี และยังได้คลื่น 5G ราคาถูก เมื่อเทียบกับ 4G เดิม ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยไม่ต้องประมูลแข่งขันเลย” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
ขณะที่น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์ผู้บริโภค กล่าวสนับสนุนให้ คสช. ออกมาตรา 44 มาแก้ไขคำสั่งเดิม เพราะการออกมาอุ้มเพียงนายทุนอย่างเดียว โดยผลักภาระทั้งหมดให้ประชาชน ด้วยการยืดหนี้และปลอดดอกเบี้ย โดยในมาตรา 44 ไม่ได้ระบุถึงเลยว่า การดำเนินการดังกล่าว ผู้ใช้บริการมือถือได้รับประโยชน์อย่างไร ดังนั้น จะเห็นว่าไม่มีการพูดถึงภาคประชาชนเลย
"ช่วงนี้เลือกตั้งเรียบร้อยและกำลังประกาศตั้งรัฐบาล ต้องมีความละอายบ้าง พร้อมกับตั้งคำถามเรื่องนี้มีความรีบร้อนอย่างไร หากไม่อุ้ม แล้วเอกชนจะเจ๊งหรือไม่ จึงเห็นควรให้รอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาดำเนินการแทน” นายกสมาคมสหพันธ์ผู้บริโภค ระบุ
สุดท้าย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน ย่อมมีความคาดหวังว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายถึง กสทช. และรัฐบาล ต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ยอมถูกครอบงำ หรือเป็นเครื่องมือให้กับใคร ซึ่งในคำสั่ง คสช. ระบุ ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สุจริต ไม่มีความสามารถชำระเงิน ถือเป็นประเด็นใหญ่ต้องมองต่อไป ขอให้ช่วยกันจดจำ เขียนติดข้างฝาไว้ว่า จากนี้ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. จะมีผู้ประกอบการที่สุจริตและไม่มีความสามารถในการชำระเงินจริงหรือไม่
ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุผลประกอบการ 4 ปีสุดท้าย โดยเอไอเอส มีกำไรสะสม 1.295 แสนล้านบาท มีรายได้รวมกัน 2.79 แสนล้านบาท และกำลังจะมีจ่ายปันผลเป็นเงิน 9.8 พันล้านบาท และยังพบว่า ที่ผ่านมาไม่มีการให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือสาธารณชนเลยว่า มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แต่มักให้ข้อมูลเสมอว่า บริษัทมีฐานะมั่นคง ผลประกอบการดี ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2558-2561 มีรายได้เพิ่มขึ้น 9.38% ดังนั้นในฐานะผู้ประกอบการต้องตั้งคำถามต่อไป
ทรู มีกำไรสะสม 10,954 ล้านบาท กำไรต่อปี สูงสุดในปี 2561 จำนวน 7,034 ล้านบาท มีรายได้ขั้นต้น 165,363 ล้านบาท และในปี 2559 มีการระดมทุนเพื่อเพิ่มการลงทุน 4G จำนวน 61,426 ล้านบาท และบริษัทได้แถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกิจการดี ไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่องจนชำระหนี้แก่ กสทช.ไม่ได้
ดีแทค กำไรสะสม 5,725 ล้านบาท มีรายได้ขั้นต้นเกณฑ์เฉลี่ย 2-3 หมื่นล้านบาท/ปี รวมกันราวกว่า 1 แสนล้านบาท และไม่เคยให้ข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือผู้ร่วมลงทุนว่า จ่ายเงินให้แก่ กสทช.ไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คำอธิบาย จาก กสทช.กรณีคสช.ออก ม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล-โทรคมนาคม
คำอธิบาย มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562