คำอธิบาย จาก กสทช.กรณีคสช.ออก ม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล-โทรคมนาคม
"ทีวีดิจิทัลไม่ต้องชำระเงินงวดที่ 5 และงวดที่ 6 เป็นเงิน 1.3 หมื่นล้าน ค่า MUX 1.8 หมื่นล้าน รวม 3.1 หมื่นล้าน แต่ราคาการประมูลคลื่น 700 MHz คาดมีรายได้ 7.5 หมื่นล้านฉะนั้น ยังมีเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน คำสั่งคสช. จึงมองได้หลายมิติ"
วันที่ 17 เมษายน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดประชุมหารือการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงานกสทช.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวถึงการออกมาตรา 44 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา
สำหรับเหตุผลการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.เนื่องมาจาก
โทรคมนาคม
• 21 กันยายน 2560 TUC (ทรูมูฟ) และ AWN (เอไอเอส) มีหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอผ่อนผันการชำระเงิน ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในงวดที่ 4 ออกไปเป็น 7 งวด
• 21 พฤศจิกายน 2561 DTN (ดีแทค) มีหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอแบ่งการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ออกไปเป็น 15 งวด
ทีวีดิจิตอล
• 17 ตุลาคม 2560 ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล มีหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้นำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่กันไว้สำหรับทีวีดิจิตอลมาจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น
นายฐากร กล่าวอธิบายการแก้ไขด้านโทรคมนาคม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. การใช้สิทธิ์แบ่งชำระเงินตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ผู้รับใบอนุญาตโทรคมนาคมจะต้องยื่นขอใช้สิทธิ์ดังกล่าวภายใน 30 วัน หรือภายใน 10 พฤษภาคม 2562
"หากยื่นใช้สิทธิ์แล้ว แต่ไม่ขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ก็จะเป็นการผิดเงื่อนไขและต้องชำระเงินตามเงื่อนไขเดิม"
ในปี 2563 ปีที่ เอไอเอสกับทรูมูฟ ต้องมีการชำระเงินคลื่น 900 งวดสุดท้าย ยอดที่จะมีการชำระทั้งหมด 130,328 ล้านบาท ซึ่งสรุปตามคำสั่งคสช.ที่ออกมา หลายคนเข้าใจว่า แบ่งชำระเงินเป็น 10 งวด หรือ 10 ปี
แต่ที่กสทช.ศึกษาคำสั่งคสช. การแบ่งชำระย้อนไปข้างหน้า 4 งวด ย้อนมาข้างหลังอีก 6 งวด รวมเป็น 10 ปี สรุปรัฐจะมีรายได้ทั้งหมด 203,317 ล้านบาท โดยปี 2563 รัฐจะมีรายได้ 54,800 ล้านบาท ปี 2564 เดิมรัฐจะมีรายได้ 2,151 ล้านบาท แต่เมื่อมีคำสั่งคสช. ทำให้รัฐจะมีรายได้ 20,332 ล้านบาท ปี 2565 ที่ดีแทคชำระเงินค่าประมูล 32,126 ล้านบาท รัฐจะมีรายได้ 20,332 ล้านบาท ไปจนถึงปี 2568 และปี 2569 - 2570 ดีแทคต้องชำระเงินค่าประมูลคลื่น รวมแล้วรัฐได้เงินมากกว่าเดิมเกือบ 40%"
ทั้งนี้ คำสั่งคสช. ผู้ที่จะได้รับเงื่อนไขขยายระยะเวลาคลื่น 900 MHz จะต้องเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ที่จะนำมาประมูล ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นราคาประมูลคลื่น 700 MHz ในเดือนมิถุนายนนี้ ราคาเริ่มต้นต่ำสุดไม่น่าจะต่ำกว่า 25,000 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาต ฉะนั้น รวมสามค่าย 75,000 ล้านบาท และจำนวนในที่นี้ ยังไม่รวม VAT
สุดท้ายเมื่อถึงปี 2572 รัฐจะมีรายได้ 278,317 ล้านบาท
"รายได้ที่เกิดขึ้น จึงเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ประชาชน ในการดำเนินการเรื่องนี้"
นายฐากร กล่าวถึงการแก้ไขด้านโทรทัศน์ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ว่า ปัจจุบันมีทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ 27 ช่อง จาก 48 ช่อง และเป็นเหตุที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ทำหนังสือถึงหัวหน้าคสช. ว่า หากไม่มีการเพิ่มช่องทีวีแล้ว ขอให้นำคลื่นที่เหลือ 694 -790 MHZ นำไปประมูลใช้งานทางด้านโทรคมนาคมก่อน
ขณะนี้ทีวีดิจิตอลได้รับสิทธิ์ให้ใช้ความถี่ย่าน 510-790 MHz ตั้งแต่ 25 เมษายน 2557 ถึง 24 เม.ย. 2572 ระยะเวลา 15 ปี ทาง กสทช. ต้องการคลื่นในย่าน 694 -790 MHZ มาใช้งานก่อนโดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป
"หากวันนี้ ทีวีอนุญาตให้กสทช.นำคลื่น 694 -790 MHZ สามารถนำไปประมูลใช้งานทางด้านโทรคมนาคมก่อน เปิดประมูลเดือนมิถุนายน 2562 และใช้งานได้วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง"
สำหรับประเด็นการคืนใบอนุญาตฯ นายฐากร กล่าวว่า ผู้ประสงค์ต้องแจ้งเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นับแต่คำสั่งมีผลใช้บังคับ คือภายใน 10 พฤษภาคม 2562
ขณที่การชำระเงินประมูลงวดที่ ยังไม่ได้ชำระ งวด 2 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 (ข้อ 12 (1.1 ) (ก)) ต้องชำระภายใน 120 วัน นับแต่วันที่คำสั่งมีผลใช้บังคับ (ข้อ 12 (1.1) (ก)) ภายใน 8 สิงหาคม 2562 จำนวน 17 ช่อง เป็นเงิน 3,215 ล้านบาท ต้องชำระภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2562
หักคืนสามช่อง (ช่อง 7 เวิร์คพอยท์ สปริงนิวส์) ที่ชำระงวด 5 จำนวน 986 ล้านบาท จะมีส่งคืนรัฐประมาณ 2,228 ล้านบาท
"หาก 17 ช่องยังไม่มีเงินมาชำระภายในวันที่ 18 สิงหาคม ต้องมาชำระดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี"
เลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงการยกเว้นเงินประมูลงวดที่ 5 และงวดที่ 6 จำนวน 13,622 ล้านบาท ที่ทีวีไม่ต้องชำระ และชี้แจงการคืนเงินประมูลงวดที่ 5 ตามประกาศประมูลให้กับผู้รับใบอนุญาตที่ได้ชำระแล้ว (ดังตารางด้านล่าง)
นายฐากร กล่าวถึงค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้ MUX กสทช.จ่ายให้ 24 เดือน หรือจ่ายครึ่งหนึ่งของราคา ซึ่งเริ่มภายหลังจากสิ้นสุดมาตรการบรรเทาผลกระทบตามข้อ 8 วรรค หนึ่ง ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 คือ มิถุนายน 2563
ฉะนั้น 1 กรกฎาคม 2563 กสทช.จ่ายค่า MUX 100% ให้กับผู้ให้บริการโครงข่ายโดยตรง จนกว่าจะสิ้นสุดใบอนุญาต ระยะเวลาประมาณ 9 ปี 6 เดือน คิดเป็น 18,775 ล้านบาท
ส่วนการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำ Rating นั้น นายฐากร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันสมาคมทีวีดิจิทัลได้ทำเรื่องมาขอเงินประเดิมกับกสทช.แล้ว 431 ล้านบาท ในการตั้งองค์กรกลางมาจัดทำ Rating
พร้อมกันนี้ กสทช.จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานตรียมความพร้อม ทั้งด้านโทรคมนาคม ด้านโทรทัศน์ คณะทำงานเกี่ยวกับการคืนหลักประกัน และตรวจสอบการชำระเงินตามคำสั่งหัวหน้า คสช. คณะทำงานเกี่ยวกับการสนับสนุนเงินเพื่อสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ (rating) และการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการสร้างความรับรู้ต่อสาธารณะ
"อยากให้ทั้งเรื่องการประมูล การตั้งคณะทำงาน ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2562"
นายฐากร กล่าวเน้นย้ำถึงผู้ประกอบการโทรคมนาคมด้วยว่า การประมูลคลื่น 700 MHz อายุ 15 ปี เป็นการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า ยังไม่ต้องจ่ายค่าประมูลปี 2562 เพราะจะใช้งานได้วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ใบอนุญาตที่จะออกเขียนเงื่อนไขไว้
"การที่ทีวีดิจิทัลไม่ต้องชำระเงินงวดที่ 5 และงวดที่ 6 เป็น 13,622 ล้านบาท ค่า MUX 18,775 ล้านบาท รวมประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท แต่ราคาการประมูลคลื่น 700 MHz ซึ่งคาดว่ามีรายได้ 75,000 ล้านบาท เรายังมีเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ฉะนั้นคำสั่งคสช. จึงมองได้หลายมิติ เรายึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก"
ทั้งนี้ ช่วงท้ายตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ระบุถึงการจัดทำ rating ปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ทำให้วงการโทรทัศน์พัฒนาต่อไปไม่ได้ ซึ่งวันนี้คนดูทางมือถือ อีกทั้งเจอคู่ต่อสู้ คือการไลฟ์สดอีก ใครก็ตั้งสถานีโทรทัศน์การนำ rating ที่วัดจากจอเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องวัดไ้ด้จากแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องมีระบบวัด rating ที่เป็นธรรม ส่วนที่บอกว่า การนำเงินภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ก็ไม่เป็นจริง
-
file download