สื่ออย่าเป็นเสียเอง : เด็กขายกล้วยทอด กับ แม่นาคขายหมูปิ้ง
"...หากสื่อต้องการนำเสนอข่าวลักษณะดังกล่าวก็ควรนำเสนอทั้ง ข่าวในเชิงยกย่องชมเชยต่อความคิดสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันต้องตักเตือนต่อพฤติกรรมดังกล่าวควบคู่กันไป เนื่องจากการ ซื้อ-ขาย บนท้องถนนเป็นการกระทำที่ไม่ควรเอาเป็นตัวอย่าง รวมทั้งในยามค่ำคืนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายทั้งแก่ตัวเองและอาจสร้างความเดือดร้อนจากอุบัติเหตุแก่ผู้ขับขี่ยวดยานต่างๆได้ แต่เท่าที่อ่านจากข่าวและดูภาพที่นำเสนอพบว่าทุกสำนักข่าวล้วนแต่ยกย่องชมเชยต่อการกระทำดังกล่าวทั้งสิ้น ทั้งๆที่สื่ออาจเลือกที่จะไม่เสนอข่าวประเภทนี้เสีย ก็ไม่ได้ถือว่าตกข่าวหรือสร้างความเสียหายต่อวิชาชีพสื่อแต่อย่างใด..."
เมื่อต้นเดือน เมษายน ที่ผ่านมา สื่อโทรทัศน์ สำนักพิมพ์สื่อออนไลน์และสื่อโซเชียล จำนวนมาก ต่างพร้อมใจกันเผยแพร่ข่าวหญิงสาวสวยแต่งชุดไทย แต่งหน้าทาปากคล้ายกับแม่นาคพระโขนงที่เคยเห็นจากภาพยนตร์ อุ้มตุ๊กตาที่ดูคล้ายกับทารกแรกเกิด เดินเร่ขายหมูปิ้งให้กับผู้คนในรถที่จอดติดไฟแดงตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงค่ำมืดบน ถนนโรจนะ แถววัดพระญาติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากเธอไม่ได้แต่งตัวชุดแม่นาคเธอก็จะเหมือนกับคนเร่ขายของตามถนนที่พบเห็นโดยทั่วไปบนท้องถนนของเมืองไทย
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหญิงสาวคนดังกล่าวได้สร้างจุดสนใจด้วยการใช้กลยุทธ์การขายที่แหวกแนวต่างจากคนขายของบนถนนอื่นๆและเธอควรได้รับความชื่นชมอย่างจริงใจในเรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ ความกล้า และ ความขยันหมั่นเพียร
ความแปลกของเธอทำให้สำนักข่าวดังๆเกือบทุกสำนัก ทั้งข่าวโทรทัศน์และข่าวสิ่งพิมพ์ออนไลน์ต่างพร้อมใจนำเสนอข่าวและชื่นชมในความคิดนอกกรอบที่สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้ขับขี่รถที่อยู่ในบริเวณนั้นได้อย่างได้ผลและรางวัลที่เธอได้รับคือยอดขายและรายได้ที่เพิ่มขึ้นและเธอกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในชั่วข้ามคืน
มิใช่กรณีของหญิงสาวรายนี้เท่านั้นที่สร้างจุดเด่นเพื่อการขายบนท้องถนน เมื่อสองปีที่แล้วเคยมีผู้ปกครองนำเด็กหญิงตัวเล็กๆเดินมาเร่ขายกล้วยทอดให้กับคนในรถยนต์ แถวสี่แยกแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลกแล้วนำมาโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์นัยว่าเป็นการสั่งสอนลูกให้รู้จักความลำบากในการหาเงิน เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ได้รับความชื่นชมอย่างกว้างขวางจากสื่อ โทรทัศน์ สำนักพิมพ์สื่อออนไลน์และสื่อโซเชียล มากมายไม่แพ้กัน
อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูจากภาพและข่าวการเดินเร่ขายหมูปิ้งกลางถนนลักษณะดังกล่าวนั้น น่าจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย อย่างน้อยที่สุด คือ พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 “ มาตรา 110 ห้ามมิให้ผู้ใด ซื้อ ขาย แจกจ่าย หรือเรี่ยไรในทางเดินรถหรือออกไปกลางทางโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือเป็นการกีดขวางการจราจร “ ซึ่งมีความผิดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
ในสังคมไทยนั้นเป็นที่เข้าใจได้ว่าอาชีพขายของตามท้องถนนให้กับรถที่จอดติดไฟแดงเป็นอาชีพที่คนไทยจำนวนหนึ่งต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แม้ว่าจะผิดกฎหมายแต่ก็มีการอะลุ้มอล่วยและมักไม่มีการกวดขันจับกุม คนทั่วไปรวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่าง เข้าใจ เห็นใจและสงสารต่อผู้ประกอบอาชีพค้าขายตามถนน แต่การนำเสนอข่าวโดยขาดการแยกแยะและยังนำไปขยายความต่อในเชิงชื่นชมต่อการกระทำดังกล่าว อาจเป็นการชี้นำให้คนสังคมเข้าใจว่าว่าสิ่งเหล่านี้คือความถูกต้องและยอมรับว่าเป็นการทำมาหากินโดยสุจริตได้เช่นกัน
แม่นาคขายหมูปิ้งที่อยุธยามิได้ต่างจากผู้ค้าบนถนนรายอื่น แต่ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางน่าจะมาจากวิธีสร้างจุดเด่นและถูกนำมาเผยแพร่บนสื่อโซเชียลโดยสื่อหลักนำมาเผยแพร่ต่อ หากพิจารณาอย่างผิวเผินข่าวชิ้นนี้ควรจบในคราวเดียวและไม่น่ามีประเด็นใดนำมาขยายความต่อเพื่อให้กระทบกระเทือนต่ออาชีพขายหมูปิ้งของเธอ แต่หากมองในมุมของ ความถูกต้อง ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและการนำเสนอข่าวของสื่อแล้วเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะการซื้อ ขาย สินค้าบนถนน อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย เมื่อมีการนำไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อหลักนำไปขยายความต่อในลักษณะยกย่องชมเชยจึงถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความเชื่อของผู้เสพข่าวโดยทั่วไปและครั้งนี้มิใช่เป็นครั้งแรกที่มีการเผยแพร่ข่าวลักษณะดังกล่าว แต่สื่อหลักเคยมีการนำเสนอข่าวประเภทนี้มาแล้วหลายต่อหลายครั้งจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ
หากสื่อต้องการนำเสนอข่าวลักษณะดังกล่าวก็ควรนำเสนอทั้ง ข่าวในเชิงยกย่องชมเชยต่อความคิดสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันต้องตักเตือนต่อพฤติกรรมดังกล่าวควบคู่กันไป เนื่องจากการ ซื้อ-ขาย บนท้องถนนเป็นการกระทำที่ไม่ควรเอาเป็นตัวอย่าง รวมทั้งในยามค่ำคืนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายทั้งแก่ตัวเองและอาจสร้างความเดือดร้อนจากอุบัติเหตุแก่ผู้ขับขี่ยวดยานต่างๆได้ แต่เท่าที่อ่านจากข่าวและดูภาพที่นำเสนอพบว่าทุกสำนักข่าวล้วนแต่ยกย่องชมเชยต่อการกระทำดังกล่าวทั้งสิ้น ทั้งๆที่สื่ออาจเลือกที่จะไม่เสนอข่าวประเภทนี้เสีย ก็ไม่ได้ถือว่าตกข่าวหรือสร้างความเสียหายต่อวิชาชีพสื่อแต่อย่างใด
ข่าวแม่นาคขายหมูปิ้งรวมทั้งข่าวลักษณะเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า มักเริ่มต้นมาจากสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการเผยแพร่จากบุคคลทั่วไปที่มิใช่สื่ออาชีพ ขาดการกลั่นกรอง มองเพียงความแปลกตา ความมีสีสันและมองโลกในแง่ดี แต่ที่น่าแปลกก็คือสื่ออาชีพสำนักต่างๆที่มีชื่อเสียงหลายสำนักที่หยิบข่าวประเภทนี้มาเชียร์กันอย่างเอิกเกริกนั้นล้วนเป็นสื่ออาชีพซึ่งมีความน่าเชื่อถือ แต่ที่น่าแปลกยิ่งไปอีกก็คือผู้นำเสนอข่าวหลายท่านล้วนเป็นผู้ดำเนินรายการที่คร่ำหวอดในวงการสื่อและเป็นที่รู้จักมักคุ้นของผู้คนโดยทั่วไป
ข่าวที่มีแนวโน้มส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายซึ่งแม้ว่าจะเป็นโทษสถานเบาและมีบทลงโทษแค่การปรับ แต่สื่อควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอต่อสาธารณะในวงกว้าง ที่สำคัญคือนอกจากสื่อจะไม่ได้ท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมต่อการกระทำดังกล่าวแล้ว ยังเชิญชวนผู้อ่านไปอุดหนุนหมูปิ้งเสียอีก
สื่อโซเชียลได้สร้างความสับสนและผลิตข้อมูลพิษให้กับสังคมไทยมามากเพียงพอแล้ว สื่ออาชีพควรใช้ศักยภาพและความรับผิดชอบของตัวเองในการสร้างความสมดุลจากข้อมูลที่ล่อแหลมของสื่อสังคมออนไลน์เพื่อจรรโลงสังคมไทยให้กลับคืนสู่ความถูกต้อง รวมทั้งต้องไม่มองสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ควรปล่อยผ่านไปหรือเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่มีผู้หยิบยกมาตำหนิกัน
สื่ออาชีพควรถือหางเสือของตัวให้มั่นคงและต้องไม่ปล่อยให้กระแสสื่อสังคมออนไลน์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่อ่อนไหวต่อความไม่ถูกต้องชักนำไปจนทำให้บรรทัดฐานของสื่อเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายการเสนอความจริงและความถูกต้องดีงามอย่างที่ควรจะเป็น
ด้วยความเคารพอย่างจริงใจต่อวิชาชีพสื่อ
อ่านประกอบ : บทเรียนจากการขายกล้วยทอด : ความลักลั่นของสังคมไทย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก : https://www.tnews.co.th/contents/501559
อ้างอิง
1. https://www.matichon.co.th/region/news_1441772
2. https://www.thairath.co.th/content/1539555
3. https://www.tnews.co.th/contents/501559