บทเรียนจากการขายกล้วยทอด : ความลักลั่นของสังคมไทย
ผู้เขียนมีกิจธุระที่มักต้องเดินทางผ่านตลาดนางเลิ้งและละแวกใกล้เคียงเป็นประจำ ทุกครั้งที่ผ่านตลาดนางเลิ้ง จะมีกลุ่มคนนับสิบคนทั้งหญิงและชายใส่เอี๊ยมสีต่างๆในมือถือถุงกล้วยทอดเดินเร่ขายให้กับผู้ที่ขับรถยนต์ที่จอดติดไฟแดงบริเวณนั้นตลอดทั้งวัน
ผู้เขียนสังเกตว่าจำนวนของผู้ขายกล้วยทอดเพิ่มขึ้นจากเมื่อหลายปีก่อนค่อนข้างมากจนกลายเป็นตลาดย่อมๆกลางถนนเลยก็ว่าได้ เป็นสิ่งที่ไม่น่าดูอย่างยิ่งบนท้องถนนใจกลางเมืองหลวงที่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลเพียงนิดเดียว ที่น่าแปลกใจคืออยู่ห่างจากสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งและสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แค่ไม่กี่ร้อยเมตร
ผู้เขียนจำได้ว่าในยุคหนึ่งตำรวจนครบาลได้กวาดล้างกลุ่มผู้ค้าเหล่านี้และ เป็นข่าวตามสื่อต่างๆอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้กลุ่มผู้ค้าเหล่านี้หายจากท้องถนนไปชั่วคราว
ปัจจุบันผู้ค้ากล้วยทอดเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีจำนวนเพิ่มขึ้น กลับขยายพื้นที่ออกไปละแวกใกล้เคียง เช่น ถนนหลานหลวง ถนนราชดำเนิน และแยกสนามม้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังขยายออกไปพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพ เช่น รามคำแหง และออกไปไกลถึงแยกลำลูกกาก็มี ซึ่งแสดงว่ามาตรการการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ผล ไม่จริงจังและไม่ต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปีนับจากการกวาดล้างในยุคก่อน รวมทั้งความสำนึกและมาตรฐานของคนไทยต่อการมีจิตสาธารณะและการปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ไม่ได้พัฒนาขึ้นตามความเจริญของวัตถุที่มักใช้วัดความเจริญของบ้านเมืองแม้แต่น้อย
ผู้เขียนเข้าใจดีว่าอาชีพขายของตามท้องถนนให้กับรถที่จอดติดไฟแดงนั้นเป็นอาชีพที่คนไทยบางกลุ่มใช้หาเลี้ยงชีพ แม้ว่าจะผิดกฎหมายบางครั้งก็มีการอะลุ้มอล่วย แต่กรณีของการยึดถนนเพื่อขายกล้วยทอดจนกลายเป็นตลาดย่อมๆนั้น เป็นเรื่องที่ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องกวดขัน จับกุม อบรม หรือหามาตรการใดๆก็ตามที่จะไม่ให้เกิดภาพอุจาดตาและมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการย่านนางเลิ้งที่มีอยู่ไม่รู้กี่เจ้านั้นควรต้องขอความร่วมมือให้มากกว่าเดิมและหามาตรการที่เข้มข้นขึ้น เพื่อที่จะไม่ทำให้ท้องถนนต้องกลายสภาพเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ที่สำคัญคือตัวผู้ซื้อซึ่งนั่งรถราคาแพงๆที่อุดหนุนผู้ขายกล้วยทอดเหล่านี้คือตัวการที่สนับสนุนให้เกิดการค้าขายบนถนนและท้าทายกฎหมายอย่างไม่เกรงกลัวต่อความผิด
ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ให้มีการปฏิรูปงานตำรวจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมีระเบียบวินัยบนท้องถนนที่พิสูจน์มานานหลายสิบปีแล้วว่าตำรวจทำงานได้ไม่ดี ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่มีศักยภาพและความพร้อมมากกว่าไปทำเสีย
อีกประเด็นที่ผู้เขียนต้องหยิบยกมานำเสนอในบทความนี้เป็นเรื่องการขายกล้วยทอดเช่นเดียวกัน ต่างกันตรงสถานที่ และวัตถุประสงค์ของการขาย เป็นข่าวที่น่าตกใจต่อกระแสของสังคมไทย เมื่อมีสื่อหลายสำนักเสนอข่าวผู้ปกครองรายหนึ่งนำเด็กออกไปเร่ขายกล้วยทอดตามถนนในต่างจังหวัดแล้วนำมาเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์โดยมีนัยว่าต้องการสอนให้ลูกรู้จักความลำบากในการหาเงิน ซึ่งข้อความและรูปดังกล่าวได้รับการชื่นชมมากมายจากสื่อสังคมออนไลน์และสื่อกระแสหลักบางสื่อ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องย้อนกลับมามองสังคมไทยอย่างพินิจพิเคราะห์ว่า ยอมรับและชื่นชมต่อการกระทำผิดกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ในอีกทางหนึ่งได้อย่างไรกัน
ในมุมมองของผู้เขียนเองเห็นว่า การสอนให้ลูกออกมาทำงานเพื่อให้รู้คุณค่าของเงินนั้นเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่การนำเด็กมาขายกล้วยทอดตามถนนนั้นคือการทำผิดพระราชบัญญัติจราจรอย่างชัดแจ้งซึ่งมีความผิดทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ เป็นเรื่องที่ไม่ควรนำมาอวดแก่สาธารณะหรือเผยแพร่ต่อเพราะเป็นสิ่งที่น่าอายและยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแก่เด็ก รวมถึงเป็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทางที่ไม่เหมาะสมด้วย ซึ่งผู้ปกครองควรถูกตำหนิและคนทั่วไปไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่กลับได้รับความชื่นชมอย่างกว้างขวางจากสังคม
กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่านอกจากไม่สอนเด็กให้เกรงกลัวต่อการทำผิดกฎหมายแล้ว พ่อ แม่ ยังส่งเสริมให้เด็กทำผิดกฎหมายเสียเอง แถมยังภูมิใจที่ต่อการกระทำนั้นอีกด้วย สิ่งเหล่านี้คือความอ่อนแอของสังคมไทยที่ยังปรากฏให้เห็นตลอดมาทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าอาชีพขายกล้วยทอดเป็นอาชีพที่สุจริต แต่การนำสินค้ามาค้าขายบนถนนนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย ปรากฏการณ์นี้ จึงเป็นความลักลั่นในสังคมไทยที่ยังแก้ไม่ตก
จากตัวอย่างการขายกล้วยทอดทั้งสองเหตุการณ์ ผู้เขียนจึงมองไม่เห็นอนาคตอันใกล้ของประเทศไทยในแง่มุมของมาตรฐานการปฏิบัติตามกฎหมายของคนไทยซึ่งถือว่ายังอยู่ในภาวะขั้นต่ำและคงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีหรือๆอาจถึงร้อยปีที่จะยกระดับมาตรฐานของคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทยที่อ่อนไหวต่อการชี้นำ เพื่อทำให้คนไทยกลายเป็นคนที่เต็มคน ในแง่มุมของจิตสำนึกต่อการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆในสังคมภายใต้กฎกติกาของบ้านเมืองได้
นานมาแล้วสังคมไทยเคยเป็นสังคมที่น่ารัก ผู้คนเกรงใจซึ่งกันและกันและระมัดระวังต่อการละเมิดกฎหมาย เช่น ผู้เขียนเคยเห็นจักรยานยนต์รับจ้างแถวถนนรามอินทรา เมื่อต้องการใช้ทางเท้าเพื่อนำรถผ่านย้อนไปอีกซอยหนึ่งเขาจะดับเครื่องรถและจูงจักรยานยนต์เพื่อหลีกทางให้คนเดินเท้า เป็นต้น แต่ภาพเหล่านี้ไม่มีให้เห็นเสียแล้วในสังคมไทย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ากลไกบางอย่างของสังคมขาดความต่อเนื่องหรือขาดการทำงาน ประเทศไทยจึงกลายเป็นสังคมที่ยุ่งเหยิงและไร้ระเบียบอย่างไม่รู้ตัว
ผู้เขียนเคยเห็น พ่อ แม่ นำลูกเล็กๆซ้อนจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อกวิ่งย้อนทางหรือวิ่งบนทางเท้าไปโรงเรียนเป็นประจำโดยไม่รู้สึกละอายใจว่าเป็นการกระทำความผิดและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น ซึ่งเด็กก็คงเลียนแบบพ่อ แม่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ผู้เขียนเคยเห็นคนหนุ่มสาวหน้าตาดี แต่งตัวสวยงาม ดูท่าทางมีการศึกษา ซ้อนท้ายจักรยานยนต์รับจ้างวิ่งบนทางเท้าเพื่อไปทำงานหรือกลับบ้านอยู่เสมอ
ผู้เขียนเคยเห็นรถจักรยานยนต์ส่งพิชซ่า แบรนด์ดังๆรวมทั้งรถไปรษณีย์ วิ่งย้อนทาง เพื่อให้ไปถึงจุดหมายโดยไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นขัดต่อธรรมาภิบาลขององค์กรหรือไม่ และบ่อยครั้งที่ผู้เขียนเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้าและวิ่งย้อนทางเสียเองโดยไม่ได้แสดงตัวว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่
ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามว่า สังคมไทยชินชากับการกระทำความผิดหรือเอาแต่ความสะดวกและเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยจนกระทั่งลืมกฎกติกาต่างๆที่สร้างขึ้นเพื่อจรรโลงให้มนุษย์ในสังคมอยู่ร่วมกันได้ไปหมดแล้วหรือ นี่ขนาดเราอยู่ในยุคของการปฏิรูปโดยคณะ คสช.ที่มีนโยบายการปฏิรูปอย่างจริงจังในหลายด้านก็ยังเห็นการทำผิดกฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่จนชินตา แล้วเราจะไปคาดหวังอะไรจากนักการเมืองในอนาคตได้เล่า
หากเรายังละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเห็นว่าบางอย่างเป็นเรื่องเล็ก เราก็จะยังคงเห็นคนบางกลุ่มบางพวกเข้าไปยึดที่ดินหลวงมาอย่างง่ายๆ เพื่อมาจัดสรรขายบ้าง สร้างรีสอร์ทบ้าง สร้างวัดบ้าง ต่อไปมิรู้จบสิ้น
ลา ลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเคยพรรณนาถึงอุปนิสัยของชาวสยามในจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ไว้ว่า
“ชาวสยามเป็นคนดี –โดยเหตุที่ความอยู่ดีกินดีของชาวสยาม ขึ้นอยู่กับราคาอันย่อมเยาของสรรพสิ่งที่จำเป็นต่อการครองชีพและโดยเหตุที่ศีลธรรมจรรยาอันดีย่อมรักษาไว้ได้ง่ายในการใช้ชีวิตด้วยการสันโดษ (คือยินดีเฉพาะในสิ่งที่มีอยู่หรือพอใจเท่าที่มีอยู่ตามฐานะของตน) ยิ่งกว่าในความคับแค้นแสนเข็ญควบกับการทำงานหนักกรากกรำหรือในความเกียจคร้านไม่มีงานทำ โดยมีเวลาเหลืออย่างฟุ่มเฟือย เราก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าชาวสยามนั้นเป็นคนดี เป็นผู้มีความละอายต่อบาป เขาจะไม่ทำบาปเพื่อความสนุกเพลิดเพลินหรือด้วยมีใจสูงแต่ประการใด…….” (จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร)
จะเห็นได้ว่าคนไทยเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อนในสายตาของคนยุโรปนั้นเป็นคนดีในระดับหนึ่ง แต่มิได้หมายความว่าความดีของคนไทยนั้นจะยังคงอยู่ภายใต้อีกสภาพแวดล้อมหนึ่ง ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่าคนไทยในยุคปัจจุบันจะยังคงรักษาระดับความดีตามความเห็นของ ลา ลูแบร์อยู่ได้หรือไม่ อาจเป็นไปได้ว่าความดีของคนไทยอาจพัฒนาไปไกลกว่าสิ่งที่ลา ลูแบร์ได้พรรณนาไว้ก็ได้หรืออาจตกต่ำจนไม่สามารถนำเอาคำจำกัดความนั้นมาใช้กับคนไทยยุคนี้ก็เป็นได้ หากเป็นอย่างหลัง ก็อาจพูดได้ว่าสังคมไทยสอบตกในเรื่องของการทำความดี
ผู้เขียนเห็นว่าการเติบโตของสังคมไทยนั้นเติบโตในทิศทางที่ขาดความสมมาตร เป็นเสมือนครอบครัวที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวมุ่งแสวงหาความร่ำรวยเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักของความยากจน จนละเลยการสร้าง ความเจริญทางวินัย ของสังคมไปอย่างน่าเสียดาย เป็นการพัฒนาเฉพาะในบางด้านในขณะที่ยังขาดการพัฒนาอีกหลายด้านควบคู่ไปด้วย เหมือนคำพูดที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนมักตำหนิเด็กที่ไม่ค่อยรู้ประสีประสาว่า “โตแต่ตัว” ซึ่ง เป็นความเติบโตที่ขาดสัดส่วน หากไม่ได้รับการแก้ไขเสียตั้งแต่วันนี้สังคมไทยอาจเข้าสู่ภาวะพิการถาวรจนยากที่จะเยียวยาก็เป็นได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากโพสต์ทูเดย์