ชคต.ชายแดนใต้ตั้งแล้ว 164 ตำบล - อัตรากำลัง อส. 7.2 พันนาย
มีการรายงานตัวเลข "ชุดคุ้มครองตำบล" หรือ ชคต. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ล่าสุดว่ามีทั้งสิ้น 164 ตำบล ในที่ประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันจันทร์ที่ 15 เม.ย.62
การจัดตั้ง ชคต.มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับ "กำลังประจำถิ่น" หรือคนในพื้นที่เป็นหลัก ตามยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยให้กับชุมชนของตนเอง โดยมีภาครัฐสนับสนุนและให้สวัสดิการ ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน
พล.อ.ปราการ ชลยุทธ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนความคืบหน้าในการจัดตั้ง ชคต. ตามแผนงานเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) รวมทั้ง พล.ต.สมพล ปานกุล รอง ผอ.รมน.ภาค 4 และผู้บังคับกองบังคับการควบคุม กองกำลังอาสารักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (บก.ควบคุม อส.จชต.) รวมทั้งผู้แทนส่วนราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมหารืออย่างพร้อมเพรียง ที่ห้องประชุมมณฑลทหารบกที่ 46 ค่ายอิงคยุทธบริหาร หรือ "ค่ายบ่อทอง" อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ข้อมูลความคืบหน้าที่รายงานต่อที่ประชุม สรุปว่า ขณะนี้สามารถบรรจุอาสารักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อส.จชต.) และชุดคุ้มครองตำบลเรียบร้อยแล้วจำนวน 164 ตำบล รวมทั้งสิ้น 7,120 นาย อยู่ระหว่างการสร้างและปรับปรุงฐานปฏิบัติการให้เหมาะสมและมีความปลอดภัย ขณะนี้ดำเนินการได้ร้อยละ 77.73 มีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาความสงบในพื้นที่ พร้อมถอดบทเรียนและฝึกอาบรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการคัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่ ชคต.ดูแลความปลอดภัยให้กับชุมชน จะมีการตรวจสารเสพติดก่อน ตามยุทธศาสตร์คนดี เพื่อให้ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชนเป็นคนดี โดยจะมีการประเมินประสิทธิภาพตามหลักวิชาการให้มีมาตรฐานและมีคุณภาพ
โอกาสนี้ พล.อ.ปราการ ได้ให้กำลังใจ รวมทั้งรับทราบปัญหาและข้อขัดข้องของการทำงานในระดับพื้นที่ เพื่อนำไปขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาระดับนโยบายต่อไป
ขณะที่ "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เน้นย้ำให้ ชคต.ทำงานประสานกับหน่วยกำลังในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการข่าว เพื่อป้องกันเหตุร้าย สามารถสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่ให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์มากที่สุด
จากการตรวจสอบข้อมูลของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า แต่เดิม "ชุดคุ้มครองตำบล" หรือ ชคต.ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามแผนงานถ่ายโอนภารกิจรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จากทหารหลักสู่กองกำลังประจำถิ่นและกองกำลังประชาชน โดยมอบอำนาจให้ฝ่ายปกครองเป็นผู้ดูแล เริ่มตั้งแต่ปี 2556 โดยขณะนั้นมีการจัดตั้งในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่เป็นรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนเป็นส่วนใหญ่ คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี เน้นไปยัง "พื้นที่ระดับ 3" หมายถึงพื้นที่ที่ประชาชนมีความพร้อมและความเข้มแข็งในการดูแลตัวเอง
ปี 2556 จัดตั้งชุดคุ้มครองตำบลไปทั้งสิ้น 106 แห่ง จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายโครงการมาเป็นระยะตามงบประมาณที่มี กระทั่งปัจจุบันมี ชคต.ทั้งสิ้น 164 ชคต. แยกเป็น ชคต.เก่า 104 ชคต. และ ชคต.ที่ขยายขึ้นใหม่ 60 ชคต. แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 57 แห่ง จ.นราธิวาส 51 แห่ง จ.ยะลา 41 แห่ง และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 15 แห่ง โดยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเขตปกครองระดับตำบล รวม 248 ตำบล แต่ถ้ารวม 4 อำเภอของ จ.สงขลาด้วย จะมีเขตปกครองระดับตำบล 288 ตำบล
ในอดีตช่วงทื่มีการตั้ง ชคต.ใหม่ๆ กองกำลังประจำถิ่นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย โดย ชคต. 1 ชุดจะมีกำลังคน 36 นาย อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ หรือ ศปก.อำเภอ มีเจ้าภาพหลัก คือ กรมการปกครองที่สนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง กับอีกส่วนหนึ่งของบผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน.ภาค 4 สน.
ปัจจุบันได้มีการปรับโครงสร้าง ชคต.ให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของ บก.ควบคุม อส.จชต. โดยมีอัตราโครงสร้างประกอบด้วย ส่วนบังคับบัญชา 3 นาย ชุดปฏิบัติการ ชคต. ชุดละ 11 นาย จำนวน 3 ชุด รวมทั้งสิ้น 36 นาย
แต่ตัวเลขกำลัง อส. 7,210 นาย ไม่ได้หมายถึงกำลังของ ชคต.เท่านั้น แต่เป็นกำลังพลรวมของ บก.ควบคุม อส.จชต. ซึ่งประกอบด้วยส่วน บก.ควบคุม อส.จชต. ร้อย อส.รถไฟ ร้อย อส.เขตเมือง และชุดคุ้มครองตำบลทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่มีการจัดตั้ง ชคต.เป็นต้นมา กองกำลังประจำถิ่นชุดนี้ รวมถึงฐานปฏิบัติการที่ตั้งอยู่ตามพื้นที่ตำบลต่างๆ ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบบ่อยครั้ง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าสาเหตุที่ ชคต.กลายเป้าหมาย เพราะปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ แทรกซึมอยู่ทั่ว และรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ไม่หวังดี จึงส่งผลเป็นการบีบพื้นที่เคลื่อนไหวของผู้ก่อเหตุรุนแรง จึงต้องเปิดปฏิบัติการตอบโต้โจมตี
แต่ฝ่ายความมั่นคงก็พยายามเสริมศักยภาพของ ชคต. เพราะต้องการส่งมอบพื้นที่ให้ประชาชนดูแลกันเอง ตามนโยบายถอนทหารหลักจากดินแดนปลายด้ามขวาน
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ชุดคุ้มครองตำบลกาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
2. พล.อ.ปราการ ชลยุทธ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล
3 บรรยากาศการประชุม
อ่านประกอบ :
ชุดคุ้มครองตำบล...เป้าหมายใหม่กลุ่มป่วนใต้?
ไข 2 ปม "โต้ปราบยา - ไล่ล่าชคต." ต้นเหตุใต้ป่วน!