ชุดคุ้มครองตำบล...เป้าหมายใหม่กลุ่มป่วนใต้?
"ชุดคุ้มครองตำบล" หรือ ชคต. ซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา (01.15 น.วันที่ 31 กรกฎาคม) หลายคนอาจสงสัยว่าคือหน่วยกำลังรูปแบบใดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลุกโชนไปด้วยเปลวไฟแห่งความรุนแรงนานกว่า 10 ปี
"ชุดคุ้มครองตำบล" ถูกจัดตั้งขึ้นตามแผนงานถ่ายโอนภารกิจรักษาความปลอดภัยพื้นที่ 37 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จากทหารหลักสู่กองกำลังประจำถิ่นและกองกำลังประชาชน โดยมอบอำนาจให้ฝ่ายปกครองเป็นผู้ดูแล เริ่มตั้งแต่ปี 2556 โดยขณะนั้นมีการจัดตั้งในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่เป็นรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนเป็นส่วนใหญ่ คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี เน้นไปยัง "พื้นที่ระดับ 3" หมายถึงพื้นที่ที่ประชาชนมีความพร้อมและความเข้มแข็งในการดูแลตัวเอง
ปี 2556 จัดตั้งชุดคุ้มครองตำบลไปทั้งสิ้น 106 แห่ง จนถึงขณะนี้มีประมาณ 200 กว่าแห่ง จากตำบลทั้งหมด 282 ตำบลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี กับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยกระทรวงมหาดไทยได้จัดกำลังอาสารักษาดินแดน หรือ อส.ประมาณ 2,600 อัตราเข้าไปเสริม โดยร่วมกับกำลังชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. กำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ หรือ ผรส.
ชุดคุ้มครองตำบล 1 ชุด มีจำนวน 36 นาย ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ หรือ ศปก.อำเภอ มีเจ้าภาพหลัก คือ กรมการปกครองที่สนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง กับอีกส่วนหนึ่งของบผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน.ภาค 4 สน.
ระยะหลัง ชุดคุ้มครองตำบลตกเป็นเป้าการโจมตีจากกลุ่มก่อความไม่สงบและกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อย่างในปีนี้ก็เกิดมาแล้วหลายหลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม คนร้ายลอบวางระเบิดและใช้อาวุธสงครามยิงซ้ำชุดคุ้มครองตำบลสากอ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดปัตตานี ทำให้ อส.ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 24 เมษายน คนร้ายลอบวางระเบิดชุดคุ้มครองตำบลในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี โชคดีไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
ยุทธศาสตร์งานมวลชนเพื่อเอาชนะจิตใจประชาชนในระดับตำบลและหมู่บ้าน เพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการมาแล้วหลายรูปแบบ เช่น การจัดงบประมาณให้ตำบลละ 1 ล้านบาท ภายใต้โครงการ "ตำบลสันติธรรม" ในยุคที่ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
แต่โครงการจัดตั้งชุดคุ้มครองตำบลนั้น ด้านหนึ่งมีเสียงวิจารณ์จากข้าราชการที่เคยทำงานในพื้นที่ว่า อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในระดับชุมชน เพราะเป็นการติดอาวุธให้กับประชาชนด้วยกัน จึงมีโอกาสนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเข้าใส่กันจากปัญหาขัดแย้งในระดับชุมชน หรือแม้แต่ความขัดแย้งกับกลุ่มก่อความไม่สงบซึ่งก็เป็นคนในพื้นที่ และบางส่วนก็เป็นญาติพี่น้องกัน
อย่างกรณีโจมตีชุดคุ้มครองตำบลบาโร๊ะ อำเภอยะหา ล่าสุดเมื่อคืนนี้ จากการลงพื้นที่ตำบลบาโร๊ะ ชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะเป็นการล้างแค้นตอบโต้จากกรณีเจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นและวิสามัญฆาตกรรม นายสาอูดี สะตาปอ แกนนำผู้ก่อความไม่สงบระดับอำเภอ ที่อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งพรรคพวกและญาติพี่น้องของนายสาอูดีเชื่อว่าคนในชุดคุ้มครองตำบลบาโร๊ะ เป็นผู้แจ้งข่าวให้เจ้าหน้าที่ จนเกิดปฏิบัติการปิดล้อมและนายสาอูดีถูกยิงเสียชีวิตในที่สุด
"ทุกคนมั่นใจว่าเป็นเรื่องนี้ เพราะสาอูดีเป็นคนบ้านกูวิง ตำบลบาโร๊ะ เป็นแกนนำในพื้นที่ เขาหลบหนีอยู่ ต่อมาก็มีคนล่อเขาออกมา จนไปอยู่ที่กาบัง แล้วตำรวจก็ตามไปปิดล้อมจนเขาถูกยิงตาย พวกของเขารู้ว่าเรื่องนี้มีการล่อให้สาอูดีออกมาตายจากคนที่เกี่ยวข้องคลุกคลีในชุดคุ้มครองตำบล ก็เลยเตรียมแผนมา และทำให้เกิดเหตุการณ์เมื่อคืน" ชาวบ้านบาโร๊ะรายหนึ่งให้ข้อมูล
ขณะที่อีกหลายเสียงในพื้นที่บอกว่า แม้การมีชุดคุ้มครองตำบลจะทำให้การรักษาความปลอดภัยในระดับชุมชนหมู่บ้านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลในแง่ลบเหมือนกัน โดยเฉพาะกับพฤติกรรมของสมาชิกชุดคุ้มครองตำบลบางคนที่วางอำนาจกับชาวบ้านเมื่อถือปืนในมือ
เมื่อความขัดแย้งแตกแยกลงลึกถึงระดับชุมชน โอกาสที่ชุดคุ้มครองตำบลจะตกเป็นเป้าการก่อเหตุรุนแรงจึงมีมากขึ้น นอกเหนือจากการเป็นสัญลักษณ์ที่จัดตั้งโดยราชการ และเป็นแหล่งที่สามารถปล้นชิงอาวุธปืน!