เมาแล้วขับ = โทรแล้วขับ : เป็นไปได้ หรือ ไร้เหตุผล
....ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งผู้ศึกษาได้สรุปว่า “ พฤติกรรมของผู้เสพติดโทรศัพท์ขณะขับรถ เป็นภัยต่อสาธารณะมากกว่าเมาแล้วขับ “ นั้น อาจยังเป็นที่น่าสงสัยของคนทั่วไปว่าเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด เพราะไม่ว่าที่ไหนๆในโลกรวมทั้งประเทศไทยต่างพูดกันติดปากว่า พฤติกรรมเมาแล้วขับ คือภัยบนท้องถนนที่ร้ายแรงที่สุดกว่าพฤติกรรมใดๆและคนจำนวนมากยังมีความรู้สึกว่าการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถเป็นเรื่องเล็กที่ไม่น่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้านแรงเท่ากับเมาแล้วขับได้....
ทุกช่วงเทศกาลสำคัญของเมืองไทยมักพ่วงมาด้วยข่าวความสูญเสียจากอุบัติเหตุเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุทางถนนซึ่งมักเกิดจากความประมาทจากการใช้รถใช้ถนนของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น เราจึงต้องมานับศพผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บกันทุกเทศกาลและประโยคยอดฮิตที่มักพูดกันจนติดปากคือ เมาแล้วขับ และขับรถเร็ว ซึ่งจากรายงานมักอ้างว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดจนต้องต้องมีการรณรงค์กันทุกครั้งเมื่อถึงวันหยุดยาว แต่จำนวนการสูญเสียก็ไม่ได้ลดลงจนเป็นที่น่าพอใจ แสดงว่าผลของการรณรงค์มาโดยตลอดนั้นยังไม่สะท้อนถึงนัยสำคัญของการแก้ปัญหาที่ได้ผล แม้ว่าภาครัฐจะหามาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงมาเพื่อใช้ลงโทษต่อผู้ขับขี่ที่กระทำการจนเกิดอุบัติเหตุร่วมกับมาตรการเสริมอื่นๆก็ตาม
แต่สิ่งหนึ่งที่ในระยะหลังแทบจะไม่เคยได้ยินจาก หน่วยงานที่ทำหน้าที่รณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ผู้ให้บริการโทรศัพท์และองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคม คือ การรณรงค์ “โทรไม่ขับ” ทั้งๆที่ การใช้โทรศัพท์ขณะขับรถหรือการส่งข้อความขณะขับนั้นอาจมีผลทำให้เกิดอุบัติเหตุและการติดขัดของการจราจรบนท้องถนน สร้างความรำคาญและความเสียหายไม่ต่างจากพฤติกรรมเมาแล้วขับ เราจึงยังคงเห็นนักขับจำนวนมากใช้โทรศัพท์ขณะขับรถจนกลายเป็นเรื่องปกติ แสดงถึงพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีที่ผิดที่ผิดทางของมนุษย์และการไม่เข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมายซึ่งส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น
เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าการขับรถยนต์นั้น การควบคุมประสาทการรับรู้ของมนุษย์เช่น ความสนใจ ความจำ และการจัดการเกี่ยวกับเป้าหมาย คือความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการขับขี่ยานยนต์ทุกประเภท การที่ความตั้งใจในการขับรถของผู้ขับขี่ถูกทำให้ไขว้เขวไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ทุกขณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถนั้นจะทำให้สมาธิในการขับรถถูกเบี่ยงเบนไปจนทำให้พฤติกรรมการขับรถอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้โดยง่าย
จากการศึกษาการเกิดอุบัติเหตุของผู้ขับรถโดยใช้โทรศัพท์ทั้งแบบไม่ต้องใช้มือจับ(Hands free) และการจับเครื่องเพื่อโทรแบบปกติ พบว่าการใช้โทรศัพท์ทั้งสองวิธีมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุเท่าๆกัน เพราะสิ่งที่นำไปสู่อุบัติเหตุจากการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถไม่ใช่วิธีการใช้โทรศัพท์ แต่เกิดจากปัจจัย การสูญเสีย “ความตั้งใจ” ในการขับขี่ ทำให้ความสามารถในการควบคุมประสาทการรับรู้ของผู้ขับรถถูกจำกัด
สมาคมยานยนต์อเมริกัน(American Automobile Association) เปิดเผยผลการศึกษาว่า แม้ผู้ขับขี่จะใช้การส่งข้อความโดยใช้เสียง(Voice texting) เพื่อหลีกเลี่ยงการจับต้องโทรศัพท์และการมองจอก็ตาม น้ำเสียงที่ใช้พูดในการส่งข้อความนั้นจะเป็นเสียงเรียกร้องความสนใจที่มากกว่าเสียงสนทนาตามธรรมชาติหรือเสียงจากการฟังวิทยุ ซึ่งจะทำให้ผู้ขับรถมีข้อจำกัดต่อการควบคุมความตั้งใจในขณะขับรถเช่นเดียวกัน
บริษัท Zendrive ซึ่งเป็นบริษัทที่ศึกษาวิเคราะห์ความปลอดภัยทางถนนและเป็นผู้สร้างแอปพลิเคชั่นประเมินความปลอดภัยของผู้ขับรถแห่งสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยผลการศึกษาพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารและผู้เอาประกันภัย โดยพบว่าผู้มีพฤติกรรมเสพติดโทรศัพท์ขั้นรุนแรงเป็นผู้ขับรถ 1 ใน 12 คน และพยากรณ์ว่าถ้าอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ในอีกสามปีข้างหน้าจะมีผู้มีพฤติกรรมเสพติดโทรศัพท์ขั้นรุนแรงอยู่บนท้องถนนในฐานะผู้ขับรถถึง 1 ใน 5 คน
ข้อมูลจากการศึกษาเดียวกันพบว่าในปี 2018 มีคนเดินเท้า 6,227 คนเสียชีวิตจากการการขับขี่ที่เชื่อได้ว่าเกิดจากการอิทธิพลของการใช้สมาร์ทโฟน ทั้งนี้ผู้วิจัยได้กล่าวถึงพฤติกรรมทั่วไปของผู้ขับรถที่เสพติดโทรศัพท์ดังนี้
๏ เสียเวลา 28 เปอร์เซ็นต์ละสายตาจากถนนจากเวลาในการขับรถทั้งหมด
๏ ใช้เวลามากกว่า 3 เท่าของเวลาขับรถเพื่อเล่นโทรศัพท์
๏ ใช้เวลาอยู่บนถนนมากกว่า 1.5 เท่าของคนทั่วไป
๏ เป็นภัยต่อสาธารณะมากกว่าเมาแล้วขับ
เมื่อถามสอบผู้ขับรถถึงปัญหาการขาดสมาธิในการขับขี่ ผู้ตอบแบบสอบถามเข้าใจต่อปัญหาดังกล่าว แต่ไม่ใส่ใจต่อปัญหามากเพียงพอที่จะทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ได้
ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งผู้ศึกษาได้สรุปว่า “ พฤติกรรมของผู้เสพติดโทรศัพท์ขณะขับรถ เป็นภัยต่อสาธารณะมากกว่าเมาแล้วขับ “ นั้น อาจยังเป็นที่น่าสงสัยของคนทั่วไปว่าเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด เพราะไม่ว่าที่ไหนๆในโลกรวมทั้งประเทศไทยต่างพูดกันติดปากว่า พฤติกรรมเมาแล้วขับ คือภัยบนท้องถนนที่ร้ายแรงที่สุดกว่าพฤติกรรมใดๆและคนจำนวนมากยังมีความรู้สึกว่าการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถเป็นเรื่องเล็กที่ไม่น่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้านแรงเท่ากับเมาแล้วขับได้
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยยูทาห์ เมื่อปี 2006 สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาข้างต้น โดยได้ข้อสรุปว่า การใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ เลวร้ายพอกับเมาแล้วขับและพบว่าผู้ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถแสดงออกถึงความบกพร่องต่อสภาวะการควบคุมรถ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ กับ ผู้ที่มีค่าแอลกอฮอล์ในเลือดเกินค่ามาตรฐานมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุเท่าๆกัน
ผู้วิจัยได้สรุปว่าผู้ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถอาจเกิดความเสี่ยงดังต่อไปนี้
๏ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการชน
๏ ทำให้ขับรถช้าลง
๏ การแตะเบรกช้าลง 9 เปอร์เซ็นต์
๏ มีโอกาสที่จะออกนอกเส้นทาง 24 เปอร์เซ็นต์
๏ หลังจากแตะเบรกโอกาสที่จะดึงความเร็วกลับสู่ความเร็วปกติช้าลง 19 เปอร์เซ็นต์
ถ้าการ “โทรแล้วขับ” ส่งผลเลวร้ายเท่ากับ “เมาแล้วขับ “ เป็นความจริง ดังที่ผลการศึกษาได้รายงานไว้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ขับขี่รถประเภทโทรแล้วขับมีจำนวนมากกว่าพวกเมาแล้วขับและใช้เวลาอยู่บนท้องถนนนานกว่ากลุ่มเมาแล้วขับ โดยผลการศึกษาพบว่าจำนวนผู้ที่เมาแล้วขับจะอยู่บนท้องถนนมากที่สุดระหว่างเที่ยงคืนถึงตีสาม( 3 ชั่วโมง) ขณะที่จำนวนผู้เสพติดโทรศัพท์อยู่บนถนนตลอดทุกชั่วโมงของวัน โดยมีจำนวนสูงสุดที่อยู่บนถนนระหว่าง 7.00 น. ถึง 18.00 น.(11 ชั่วโมง) แสดงว่าผู้ขับขี่กลุ่มที่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถมีโอกาสที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่ากลุ่มเมาแล้วขับ
ภาพแสดงช่วงเวลาการอยู่บนถนนของ กลุ่มเมาแล้วขับ(ซ้าย) และ กลุ่มโทรแล้วขับ(ขวา)
ที่มา http://blog.zendrive.com/2019-distracted-driving-study-phone-addicts-are-the-new-drunk-drivers/
จะเห็นได้ว่า พฤติกรรม เมาแล้วขับ หรือ โทรแล้วขับ ล้วนเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ขาดความระมัดระวังของมนุษย์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีรถยนต์และจักรยานยนต์นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนถึงบาดเจ็บและเสียชีวิต สร้างความสูญเสียแก่คนรอบข้างอยู่เสมอและหากเรายังแก้ปัญหาไม่ถูกจุดประเทศไทยคงขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของโลกในไม่ช้า
ไม่ว่าพฤติกรรม การ “โทรแล้วขับ” จะแย่เท่ากับ “เมาแล้วขับ” หรือไม่ก็ตาม การณรงค์เท่าที่ผ่านมาเพื่อลดอุบัติเหตุเป็นครั้งคราวช่วงเทศกาลนั้นมักไม่ค่อยได้ผล การขยายผลโดยดูปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่มากกว่า เมาแล้วขับและขับรถเร็ว จึงควรต้องนำมาศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโทรแล้วขับ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงยิ่งเสียกว่า เมาแล้วขับหรือขับรถเร็วโดยที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้
หมายเหตุ อ้างอิงจากรายงานการศึกษาของ บริษัท Zendrive ซึ่งเป็นผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นประเมินความปลอดภัยของผู้ขับรถ ระยะเวลาศึกษา เดือน พฤศจิกายน 2018 – มกราคม 2019 และใช้ข้อมูลบางส่วนจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย ยูทาห์ ประเทศ สหรัฐอเมริกา
อ่านประกอบ “ขับรถแย่ส่อนิสัยโกง” https://www.isranews.org/isranews-article/61820-pansak.html
อ้างอิง
- The Distracted Minds โดย Adam Gazzaley และ Larry D. Rosen
- https://www.axios.com/phone-addicts-new-drunk-drivers-zendrive-study-5db67df0-ee39-4277-9825-ae20b50fee15.html?utm_campaign=the_download.unpaid.engagement&utm_source=hs_email&utm_medium=email&utm_content=71618860&_hsenc=p2ANqtz-8uchiCi-08l6LTSmx59B33LZqHzA833J4uiSLuTC6E6H-_XDh56NgW09edk2QB5K196t-4rO4GZxuPqRfDaUX2DskE0DbmRFGqL3NArLrUjxr9Nic&_hsmi=71618860
ภาพประกอบ https://wwl.radio.com/articles/should-hand-held-cell-phones-be-banned-while-driving
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/