นิสัยขับรถแย่ส่อนิสัยโกง : ความสัมพันธ์พิศวง
อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยได้คร่าชีวิตคนไทยไปนับไม่ถ้วนและเป็นปัญหาเรื้อรังที่สะสมมานาน นักเดินทางและนักปั่นจักรยานคนดังๆของโลกต่างเอาชีวิตมาทิ้งในเมืองไทยเสียก็หลายคนและเมื่อจัดอันดับเรื่องอุบัติเหตุทางถนนของโลกทีไรเราจึงอยู่รั้งท้ายเสมอ โดยเฉพาะจักรยานยนต์นั้นขึ้นแท่นเป็นพาหนะที่มีสถิติเสียชีวิตสูงที่สุดในโลกไปแล้ว
การที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักมักจะพูดถึงเมืองไทยว่าเป็นประเทศที่มีถนนที่อันตรายที่สุดในโลกประเทศหนึ่งนั้นจึงไม่น่าเกินความจริงเลย ชีวิตคนไทยวันนี้จึงเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะในแต่ละวันหากออกเดินทางแล้วกลับบ้านด้วยอาการครบสามสิบสองโดยไม่ไปเกิดอุบัติเหตุก็ถือว่าเป็นความโชคดีของวันนั้นและยังไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตบ้าง แม้ว่าเราจะระมัดระวังตัวเองมากเพียงใดก็ตามแต่ถ้าเจอความเห็นแก่ตัวของเพื่อนร่วมทางก็อาจจะเกิดเหตุสลดใจได้เช่นเดียวกัน
อุบัติเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนถนนในแต่ละครั้งเป็นเหตุการณ์ที่น่าหดหู่ต่อญาติพี่น้องและผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่งแต่คนทั่วไปมักไม่ให้ความสนใจเพราะถือว่าธุระไม่ใช่และไม่ถือเป็นปัญหาหลัก ทั้งๆที่เป็นเหตุการณ์ใกล้ตัวที่ทำให้เสียชีวิตได้ทุกวินาที (อ่านประกอบ: https://www.isranews.org/isranews-article/60257-abc-60257.html )
ปี 2560 บริษัท Mastercard เพิ่งจัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิค และปีนี้เช่นเดียวกันประเทศไทยถูกจัดอันดับจาก UN ว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกอันดับที่ 32 ดีขึ้นหนึ่งอันดับจากปีกลายและอยู่อันดับต้นๆของเอเชีย ในขณะเดียวกันเรายังไม่หลุดพ้นจากสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก สถิติความไม่เท่าเทียมเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นหนึ่งในประเทศที่มีรถติดที่สุดในโลกและเมื่อพูดถึงเรื่องคอรัปชั่นคนส่วนใหญ่ต้องหันมามองประเทศไทยเสมอ
สถิติที่สุดในโลกของเมืองไทยแต่ละเรื่องจึงเป็นสถิติที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เราจึงเป็นสังคมที่ภาพลักษณ์ภายนอกเหมือนว่าดูดีแต่ข้างในยังกลวงโบ๋ จึงเป็นไปได้ว่าสังคมไทยน่าจะมีกลไกบางกลไกขาดหายไปหรือไม่ทำหน้าที่อย่างถูกต้องและตรงไปตรงมา
ปริศนาของตัวเลข
ในช่วงปี 1951 ประเทศจีนมีสถิติคนตายจากอุบัติเหตุทางถนน 852 คนขณะที่ปีนั้นจีนมีพลเมืองราว 563 ล้านคน มีรถยนต์บนท้องถนนราว 60,000 คัน ในปีเดียวกันสหรัฐอเมริกามีสถิติคนตายทางถนน 35,309 คน มีรถยนต์ราว 50 ล้านคัน และมีประชากร 154.9 ล้านคน
หลังจากนั้นอีก 48 ปี มีการสำรวจอีกครั้งพบว่า ในปี 1999 ขณะที่จีนมีรถบนท้องถนน 50 ล้านคัน และสหรัฐอเมริกามีรถยนต์ราว 200 ล้านคัน สถิติการตายจากอุบัติเหตุทางถนนของจีนเพิ่มสูงถึง 84,000 คน ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 41,508 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากสถิติเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน เทียบกับจีน จึงเกิดคำถามว่าเหตุใดประเทศที่มีจำนวนรถน้อยกลับมีสถิติการตายมากกว่าประเทศที่มีรถมากกว่าหลายเท่าตัวซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนว่าไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลนัก
คำอธิบายของนักสถิติและนักวิจัย
นักสถิติและนักวิจัยด้านการขนส่งของอังกฤษชื่อ รูเบน จาคอบ สมีด (Reuben Jacob Smeed) ได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้และกลายเป็นกฎที่เรียกว่า “กฎขอสมีด” (Smeed’s law) ซึ่งถูกนำไปใช้ในงานวิจัยอื่นๆต่อมา สมีด ศึกษาตัวเลข
การเสียชีวิตบนท้องถนนของประเทศต่างๆหลายประเทศตั้งแต่สหรัฐอเมริกาไปจนถึงนิวซีแลนด์และพบว่าแนวโน้มของผู้เสียชีวิตทางถนนมีเพิ่มขึ้นเมื่อจำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้น แต่เมื่อจำนวนรถยนต์ขึ้นถึงจุดหนึ่งอัตราการตายของคนกลับลดลงเป็นเหมือน “ตัวอักษร U กลับหัว” (Kuznets curve) สมีดตั้งสมมุติฐานถึงสาเหตุของการลดลงของจำนวนผู้เสียชีวิตว่า อาจเกิดจากสองปัจจัยหลัก คือ เมื่อจำนวนผู้เสียชีวิตจากรถยนต์มากขึ้นสังคมจะเรียกร้องหามาตรการการสร้างความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนมากยิ่งขึ้น ปัจจัยที่สองน่าจะเป็นเพราะว่าเมื่อจำนวนรถบนถนนเพิ่มมากขึ้นผู้ใช้รถใช้ถนนเริ่มมีการเรียนรู้ถึงภัยและการแก้ปัญหาจากอุบัติเหตุรวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจร การออกกฎหมาย รวมทั้งการที่ผู้ผลิตรถยนต์เพิ่มความปลอดภัยให้กับรถยนต์มากขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าเมื่อจำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่งแต่อัตราการตายกลับลดลง
ความสัมพันธ์ระหว่างการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุกับรายได้ต่อหัว
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างการเสียชีวิตกับจำนวนรถยนต์ตามทฤษฎีของสมีดแล้ว ยังมีการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกซึ่งพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนมีความสัมพันธ์กับรายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per capita) โดยอธิบายว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำมากๆจะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่เมื่อประเทศนั้นมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นจะมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นและเมื่อรายได้ต่อหัวเพิ่มถึงจุดหนึ่งปรากฏว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกลับลดลง หลังจากการศึกษาข้อมูล จาก 88 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่ปี 1963-1999 ผู้วิจัยจึงได้ข้อสรุปว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของประชากรเริ่มลดลงเมื่อรายได้ต่อหัวของประเทศขึ้นถึงราว 8,600 เหรียญ (ค่าเงินเหรียญสหรัฐอเมริกาในปี 1985 แต่การศึกษาของนักวิจัยในช่วงหลังใช้ตัวเลข ราว 10,000-11,000 เหรียญ)
การศึกษานี้สอดคล้องกับการศึกษาของนักวิจัยจาก Wuhan University of Technology และ Huazhong University of Science and Technology ของประเทศจีน เผยแพร่เมื่อปี 2012 ซึ่งพบว่าอัตราการตายของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศจีนเพิ่มขึ้นในช่วงการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะแรก แต่เมื่อเศรษฐกิจเติบโตถึงจุดหนึ่งอัตราการตายจะเริ่มลดลง เป็น “ตัวอักษร U กลับหัว” ผู้วิจัยจึงสรุปว่ากฎของสมีดสามารถนำมาใช้กับประเทศจีนได้ภายใต้มาตรการป้องกันต่างๆที่ควบคู่กันไป พูดโดยรวมก็คือประเทศไหนรวยขึ้นถึงจุดหนึ่งอัตราการตายจากอุบัติเหตุมีแนวโน้มลดลงซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับกฎของสมีดนั่นเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกับคอรัปชั่น
การศึกษาหลายกรณีพบถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญที่ไม่น่าเป็นไปได้อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง “อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกับการคอรัปชั่น” ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนว่าไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผล นักวิเคราะห์ข้อมูลมักเรียกความสัมพันธ์ประเภทนี้ว่า ความสัมพันธ์จอมปลอม(Spurious correlation) ซึ่งสร้างความพิศวงและท้าทายต่อการหาคำตอบของนักวิชาการตลอดมา
จากข้อมูลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันและข้อมูลที่เผยแพร่ทั่วไปบ่งชี้ว่า “อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกับการคอรัปชั่น” มีความสอดคล้องกันอย่างมีนัยสัมพันธ์และมีความสัมพันธ์ที่เข้มข้นกว่าอัตรา การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวของประชากรเสียอีก
แม้ว่าหลายคนอาจมีความเห็นว่าการคอรัปชั่นมิได้เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติเหตุมิได้เกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่น แต่ผลที่ชี้ชัดจากการศึกษาหลายการศึกษาและข้อมูลที่เผยแพร่จากสื่อต่างๆ พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุกับคอรัปชั่นเกิดขึ้นจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้
จากข้อมูลการศึกษาโดยการนำสถิติการเกิดอุบัติเหตุการเสียชีวิตทางรถยนต์ต่อประชากร 100,000 คน เปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of law index) พบว่า ประเทศที่มีดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมต่ำจะมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและเสียชีวิตสูง เมื่อเทียบกับประเทศที่มีดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมสูง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่ำกว่า โดยใช้ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของโครงการความยุติธรรมของโลก ( World Justice Report ) และอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนขององค์การอนามัยโลก
รูปแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง จำนวนคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน(แกนตั้ง) กับดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม(แกนนอน) และรายได้ของประชากร
(ที่มา https://qz.com/666924/bad-drivers-are-a-good-indicator-of-a-corrupt-government/)
แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกับการคอรัปชั่นจะมีความสัมพันธ์กันตามที่มีผู้อธิบายไว้ก็ตาม ก็ยังไม่สามารถจะฟันธงได้ว่าการคอรัปชั่นคือต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต แต่ผลการศึกษาต่างๆ แสดงให้เห็นแนวโน้มที่น่าสนใจและสามารถชี้ให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของรัฐบาลต่อความโปร่งใสในการบริหารงานและคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศนั้นๆได้ในระดับหนึ่ง เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและมีการทุจริตต่ำ เช่น ประเทศ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ สวีเดน และสิงคโปร์ พบว่าประเทศเหล่านี้มีความปลอดภัยต่อการขับรถและใช้ถนนมากกว่า
ปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกับการคอรัปชั่นจึงพอจะอธิบายด้วยสมมุติฐานต่างๆ เป็นต้นว่า
-การคอรัปชั่นในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทำให้ถนน สะพาน รวมทั้งองค์ประกอบการใช้ยวดยาน เช่น ป้ายจราจร สัญญาณไฟ ฯลฯ ชำรุดเสียหาย ก่อนเวลาอันควร
-การออกแบบถนน ทางแยก ทางร่วม ทางกลับรถ รวมทั้งไฟจราจร ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะมีการลดเนื้องานเพื่อเอาส่วนต่างไปจ่ายสินบนหรือล็อค สเป็กเพื่อพวกพ้องตัวเองหรือตามใบสั่งนาย
-ผู้ขับขี่ยวดยานเห็นว่าถนนคือของฟรีที่ทุกคนต้องรุมทึ้งแก่งแย่งกันเพื่อให้ได้เปรียบผู้อื่นให้มากที่สุดโดยปราศจากความละอายและไม่ใส่ใจต่อกฎหมาย
-การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน ล้มเหลว เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยและนำไปสู่อุบัติเหตุในที่สุด
-มีการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้ใบขับขี่ซึ่งถือว่าเป็นการคอรัปชั่นตั้งแต่เริ่มต้นการขับรถ
-เจ้าหน้าที่รับสินบนจากผู้ทำผิดกฎจราจรบนท้องถนน
ทั้งนี้รวมถึงปัจจัยที่มิใช่การคอรัปชั่นโดยตรง เช่น ความผิดพลาดที่เกิดจากผู้ใช้รถใช้ถนนเอง สภาพรถและองค์ประกอบอื่นๆในการขับขี่ ฯลฯ และสิ่งที่คนมักมองข้ามไปเสมอก็คือ กลไกการเรียนรู้และการป้องกันเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนรวมทั้งการรับรู้เกี่ยวกับภัยจากเทคโนโลยีของประชาชนในประเทศนั้นยังไม่ทำงานหรือทำงานบกพร่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขและต้องถือว่าการสร้างการรับรู้และการป้องกันภัยจากอุบัติเหตุคืองานประจำที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับงานป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ ดีกว่าเน้นการสร้างกิจกรรมรณรงค์เป็นครั้งคราวช่วงเทศกาลซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
นอกจากการคอรัปชั่นจะมีความสัมพันธ์กับอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว จากการศึกษาของบางสำนักพบว่าคอรัปชั่นเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับอีกหลายสิ่งหลายอย่าง เป็นต้นว่า คอรัปชั่นมีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม คอรัปชั่นมีความสัมพันธ์กับจำนวนการทิปเมื่อใช้บริการ คอรัปชั่นมีความสัมพันธ์กับความไม่เท่าเทียมของมนุษย์และคอรัปชั่นมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการจอดรถ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์ความสัมพันธ์เชิงลบต่างๆที่อธิบายไม่ได้เหล่านี้ล้วนเกิดจากการคอรัปชั่นเป็นตัวยืนทั้งสิ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างการคอรัปชั่นกับการเสียชีวิตทางถนนนั้นแม้ว่าจะยังไม่ทราบเหตุที่แท้จริง แต่สามารถเป็นตัวชี้วัดหยาบๆได้ถึงความไม่ปกติในสังคมและความไม่มีประสิทธิภาพของฝ่ายบริหารต่อการบังคับใช้กฎหมายได้เช่นกัน เพราะถ้าเรายังเห็นความโกลาหลไร้ระเบียบในการใช้รถใช้ถนนของคนในประเทศหนึ่งที่ทำผิดกฎจราจรกันอย่างโจ่งแจ้ง เช่น ขับรถบนทางเท้า วิ่งรถย้อนทาง ไม่หยุดให้คนข้ามทางข้าม ขาดการป้องกันตัวเองจากอุบัติเหตุ ฯลฯ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่จับกุมและคนทั่วไปมองเป็นเรื่องปกติ ขอให้ตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้เลยว่านอกจากจะมีสถิติอุบัติเหตุที่สูงมากแล้วยังสะท้อนถึงความน่าสงสัยต่อพฤติกรรมในการบริหารงานของรัฐบาลและวินัยของประชาชนรวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในประเทศนั้นๆด้วย คำพูดที่ว่า “วินัยจราจรสะท้อนวินัยชาติ” ซึ่งไม่รู้ใครพูดไว้จึงยังคงเป็นคำพูดที่น่าจดจำอยู่ทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะประเทศไทยที่คนต่างชาติยกย่องเสมอมาว่าเป็นประเทศที่รวยน้ำใจ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็นประเทศที่ใครต่อใครพูดถึงอยู่เสมอว่าไร้วินัยเป็นที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งวินัยบนท้องถนนทุกสายของเมืองไทย
แม้ว่าในอนาคตประเทศไทยอาจมีจำนวนรถมากจนถึงจุดอิ่มตัวต่ออุบัติเหตุและรายได้ประชากรอาจขยับขึ้นตามการพยากรณ์ของธนาคารโลกไปสู่ความมั่งคั่งจนถึงจุดหักเหตามกฎของสมีดแล้วก็ตาม ก็ยังไม่แน่เสมอไปว่าสถิติการเสียชีวิตทางถนนของคนไทยและการคอรัปชั่นจะลดลง เมื่อถึงวันนั้นจะเป็นการพิสูจน์ว่ากฎของสมีดจะเป็นจริงสำหรับสังคมไทยหรือไม่
ทั้งปัญหาคอรัปชั่นและปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทย เป็นปัญหาที่ท้าทายต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลทุกยุคสมัย แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งสองเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของอุบัติเหตุทางถนนที่ประเทศไทยถูกกล่าวถึงจากสื่อทั่วโลกตลอดมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงพิษภัยของการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้เทคโนโลยีอย่างขาดสติของคนบางกลุ่มบางพวก จึงเป็นความเร่งด่วนที่ภาครัฐควรถือเป็นวาระแห่งชาติอีกเรื่องหนึ่ง
รัฐบาลควรใช้โอกาสและเวลาที่มีอยู่จำกัดรวมทั้งใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่มีอยู่ในมือจัดทำแผนแม่บทการป้องกันภัยทางถนนที่จับต้องได้และเป็นรูปธรรมสามารถนำไปใช้อย่างได้ผลในทางปฏิบัติและจัดตั้งองค์กรดูแลความปลอดภัยทางอุบัติเหตุแห่งชาติให้เสร็จสิ้นเสียก่อนที่รัฐบาลนี้จะหมดวาระลง เพราะเรื่องของอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่รอไม่ได้แม้แต่นาทีเดียว หากรอไปจนถึงรัฐบาลหน้า ประชาชนคนไทยอาจต้องสังเวยชีวิตต่อไปอีกนับพันศพซึ่งไม่เป็นที่พึงประสงค์ของใครทั้งสิ้น
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก daily-sun.com