ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลฎีกาคดี ‘ภูเบศวร์’ ถือหุ้นสื่อ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
"...แม้ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิสแล้ว แต่เป็นระยะเวลาหลังจาก ผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จึงต้องถือว่า ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้คัดค้านยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้น ในกิจการหนังสือพิมพ์หรือ สื่อมวลชน..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบ กรณี นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จ.สกลนคร ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2562 เพิกถอนการรับสมัครเลือกตั้ง อันเนื่องมาจากการถือหุ้นสื่อมวลชน ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส โดยตกเป็นข่าวเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 กับ กรณีการจดทะเบียนโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าอนาคตใหม่ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 โดยนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ กรรมการ บริษัทฯ ต่อนายทะเบียนเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 (อ่านประกอบ : วันจดทะเบียนโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ 21 มี.ค.62 มาทีหลัง คดีเพิกถอน‘ภูเบศวร์’ถือหุ้นสื่อ ? )
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซต์ ศาลฎีกา พบว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2562 ศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ณ จ.สกลนคร ได้เผยแพร่รายละเอียดคำพิพากษาคดี นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จ.สกลนคร ไว้โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
คดีนี้มีผู้ร้องคือ ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร
ผู้คัดค้านคือ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด
โดยผู้คัดค้านได้ค้านในเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรฯ (ขอให้ถอนชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต)
ซึ่งผู้ร้องยื่นคําร้องว่า ผู้ร้องประกาศรายชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือก ตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่
ต่อมาผู้ร้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้คัดค้านแล้วพบว่า ผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับ เลือกตั้งหรือเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของ ห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมี วัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานี วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์
ผู้คัดค้านจึงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ขอให้ถอนชื่อผู้คัดค้านออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคต ใหม่
สำหรับในส่วนของผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านว่า ห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ประกอบกิจการการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ที่ระบุในวัตถุประสงค์ข้อที่ 43 ว่า ประกอบ กิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รับจัดทําสื่อโฆษณา สปอร์ตโฆษณา เผยแพร่ข้อมูล เป็น เพียงแบบวัตถุประสงค์สําเร็จรูปแนบคําขอจดทะเบียน เท่านั้น
อีกทั้งหจก.ฯ ดังกล่าวได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2562 แล้ว จึงขอให้ยกคําร้อง
ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ตรวจพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่เสนอต่อศาล แล้ว เห็นว่าคดีไม่จําเป็นต้องไต่สวนพยานหลักฐาน จึงให้งดการไต่สวน
จากนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความ ไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องประกาศรายชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่
โดยที่ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิก ห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
.... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ...”
และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 บัญญัติเช่นเดียวกันว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ...” ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ มิได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการ ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3)
และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3)
ผู้ร้องอ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวแต่ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ จึงฟังไม่ขึ้น
แม้ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิสแล้ว แต่เป็นระยะเวลาหลังจาก ผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จึงต้องถือว่า ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้คัดค้านยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้น ในกิจการหนังสือพิมพ์หรือ สื่อมวลชน
ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติดังกล่าวและไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คําร้องของผู้ร้องฟังขึ้น
จึงมีคําสั่งให้ถอนชื่อ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้คัดค้าน ออกจากประกาศรายชื่อ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร ของพรรคอนาคตใหม่
(สามารถดาวน์โหลดคำพิพากษาต้นฉบับได้ที่ http://www.supremecourt.or.th/file/election_18032019/1706-62.pdf)
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายภูเบศวร์ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราว่า ตัวเองต้องโทษแค่ถูกถอนชื่อออกจากการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เท่านั้น เนื่องจากเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ แต่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่าถ้าหากมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้น ก็พร้อมจะสมัครเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ได้
"กรณีนี้ ผมเข้าใจผิดเอง นึกว่าคนที่ปรึกษานั้นเป็นฝ่ายกฎหมายของพรรค แต่ว่าตอนนั้นพรรคก็ยังใหม่ เพิ่งจะก่อรูปได้ไม่นาน ผมก็นึกว่าเขาทำงานให้ฝ่ายกฎหมายของพรรค แต่ปรากฎว่าเป็นคนละคนกัน ดังนั้น ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความสะเพร่าของผมเอง" นายภูเบศวร์กล่าว (อ่านประกอบ:19 มี.ค.62 ลูกพรรค‘ธนาธร’ถูกศาลฎีกาฯ ถอนชื่อ‘ผู้สมัคร ส.ส.’ปมถือหุ้นสื่อ-เจ้าตัวรับพลาดเอง)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
วันจดทะเบียนโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ 21 มี.ค.62 มาทีหลัง คดีเพิกถอน‘ภูเบศวร์’ถือหุ้นสื่อ ?
19 มี.ค.62 ลูกพรรค‘ธนาธร’ถูกศาลฎีกาฯ ถอนชื่อ‘ผู้สมัคร ส.ส.’ปมถือหุ้นสื่อ-เจ้าตัวรับพลาดเอง
9 ข้อเสี่ยงจุดตาย 'ธนาธร' ปมโอนหุ้น 8 ม.ค.62 อยู่ที่ไหน - เช็ค 6.7 ล. หลาน 2 คน
'ศรีสุวรรณ'ยื่นหลักฐานเพิ่ม กกต.สอบปมโอนหุ้น 'ธนาธร' เหตุยังแจงไม่เคลียร์
เปิดภาพชุด 7- 9 ม.ค. ‘ธนาธร’ อยู่ที่ไหน? ก่อนปมโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ ให้แม่ 8 ม.ค.62
‘ศรีสุวรรณ’จ่อนำหลักฐานใหม่ยื่น กกต. สอบปมหุ้น‘ธนาธร’ จ่ายเช็คเมื่อไหร่-โอนให้หลานทำไม
8 ม.ค.62 ‘ธนาธร’ช่วยผู้สมัครหาเสียง จ.บุรีรัมย์ วันเดียวโอนหุ้นให้‘สมพร’-เจ้าตัวยันอยู่กทม.
‘ธนาธร’ ยิ่งดิ้น แจงโอนหุ้นให้ ‘หลาน’ ยิ่งเกิดคำถามที่ซับซ้อนมากขึ้น?
ปมหุ้น‘ธนาธร’ให้ยึด ป.แพ่งฯ ม.1139 เป็นหลัก-โอนสลับไปมากี่รอบก็ได้แต่ต้องแจ้งกรมพัฒฯ
'ธนาธร'แจงโอนหุ้น 8 ม.ค.'แม่'โอนต่อให้'หลาน'จึงมีผู้ถือหุ้น 10 คน-ยันไม่ได้ร่วมประชุม
7 เงื่อนปม โอนหุ้น ‘ธนาธร’ 8 ม.ค. หรือ 21 มี.ค.62 ?
พนักงานยัน เห็นพี่สาว'ธนาธร' ร่วมประชุม วันที่ 19 มี.ค. ใช้ชื่อ 'วี-ลัค' จองสถานที่
หุ้นสื่อมวลชนของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ !
กกต.ใช้ข้อมูล‘อิศรา’สอบปมโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ ชงขอ ก.ล.ต.เพิ่ม-‘ธนาธร’ปัดเอี่ยวยันปิดกิจการแล้ว
บ.วี-ลัค มีเดีย แจ้ง 22 มี.ค.62 ‘เมียธนาธร’ลาออก กก. - มี‘กก.ผู้ถือหุ้น’ร่วมประชุม 10 คน
‘ศรีสุวรรณ’ยื่น กกต.สอบ‘ธนาธร’ปมโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ ทำวันไหน-เสียภาษีหรือไม่
เปิดเอกสารดูชัดๆ ‘ธนาธร-เมีย’ โอนหุ้น ‘วี-ลัค มีเดีย’ 21 มี.ค.2562
‘ธนาธร’โชว์เอกสารโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯให้ ‘แม่’ 1 เดือนก่อนสมัคร ส.ส.-ไม่หวั่นมีปัญหาทางกฎหมาย
‘ธนาธร-เมีย’ โอน บ.วี-ลัค มีเดีย 900,000 หุ้น ให้แม่ ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน