ละเอียด!เหตุผลที่ปรึกษากฎหมาย กกต. ‘ความจำเป็นต้องมี’ คสช.-ฟันธงมิใช่ จนท.รัฐ
“…การจะให้มีการลาออกของ คสช. หรือบุคคลที่เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อไปสมัครรับเลือกตั้งย่อมเป็นกรณีที่ไม่สามารถกระทำได้ เพราะอาจทำให้กลไกลทางการเมืองสะดุดหยุดลงและกลายเป็นความเสียหายร้ายแรงของประเทศชาติ ในทำนองเดียวกันกับการกำหนดห้ามมิให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่รักษาการหรือครบวาระหรือหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรลาออกมาเพื่อสมัครรับเลือกตั้งใหม่นั่นเอง…”
สาธารณชนคงทราบไปแล้วว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 ราย มีมติเอกฉันท์ ‘ฟันธง’ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมวกอีกใบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน ร้องเรียนว่า การเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (15) ประกอบมาตรา 160 เกี่ยวกับเรื่องลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี
เหตุผลของคณะกรรมการ กกต. คือ การเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 88 และ 89 รวมถึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 13 และ 14 และไม่ได้มีลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐแต่อย่างใด
ความเห็นของคณะกรรมการ กกต. ดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กกต. พิจารณาความเห็นในข้อกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา
มีสาระสำคัญอะไรบ้าง ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงให้ทราบ ดังนี้
ที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กกต. พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายตามที่ กกต. ขอหารือ ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีคัดค้านว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เนื่องจากมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐและเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. หรือไม่ และมีความเห็นทางกฎหมายเพื่อเสนอต่อ กกต. ดังต่อไปนี้
หนึ่ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญให้เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย และมาตรา 98 กำหนดในเรื่องรายชื่อของผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอให้นำเอาคุณสมบัติและและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีมาบังคับใช้โดยอนุโลม ดังนั้นมาตรา 98 จึงต้องนำมาใช้กับรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอด้วย
สอง หากพิจารณาลักษณะต้องห้ามอันมีที่มาจากสถานะการดำรงตำแหน่งของบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตั้งแต่มาตรา 98 (12) ถึง (16) พบว่า มีการกำหนดห้ามผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ ของรัฐ มีลักษณะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย อยู่ในบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลขององค์กรนั้นหรือดำรงตำแหน่งประจำที่มีการแต่งตั้ง ได้แก่ ตำแหน่งข้าราชการซึ่งมีค่าตอบแทน หรือเงินเดือนประจำสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกวุฒิสภา พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มิให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพราะเมื่อเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีตำแหน่งประจำหรืออยู่ในระบบการบังคับบัญชา ผู้นั้นไม่อาจมาสมัครรับเลือกตั้งเพื่อปฏิบัติภารกิจเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติมอบหมายของบุคคลใด ๆ ได้อย่างเป็นอิสระ ตามลักษณะของผู้แทนราษฎร หากผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องแสดงเจตนาลาออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่เสียก่อน
สาม ข้อยกเว้นประการเดียวที่มาตรา 98 ตั้งแต่ (12) ถึง (16) ยินยอมให้สมัครรับเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งเสียก่อนก็คือ ที่บัญญัติไว้ในตอนท้ายของมาตรา 98 (12) ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งของข้าราชการการเมือง ซึ่งมีได้ตั้งแต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่ปรึกษา และเลขานุการรัฐมนตรี ไปจนถึงตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่มีการเลือกตั้ง ในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลรักษาการ ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง การบัญญัติยกเว้นตำแหน่งข้าราชการการเมืองกลุ่มนี้ไว้ มีเหตุผลคือ ประเทศจำเป็นต้องมีการบริหารราชการอยู่ตลอดแม้แต่ในช่วงระยะเวลาระหว่างการเลือกตั้ง หากปราศจากไปย่อมมีผลทำให้การบริหารราชการแผ่นดินหยุดชะงัก และไม่มีผู้รับผิดชอบตัดสินใจในสถานการณ์ที่อาจมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการเพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือแก้ปัญหาร้ายแรงที่จะกระทบต่อประชาชน อีกทั้งผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองเหล่านี้ ต้องลาออกจากตำแหน่งอยู่แล้ว ในวันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ
สี่ เมื่อพิจารณาประเด็นในเรื่องสถานะและอำนาจหน้าที่ของ คสช. และหัวหน้า คสช. เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดอำนาจหน้าที่ของ คสช. ไว้เป็นพิเศษในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายประการ เช่น มาตรา 263 วรรคหก ให้หัวหน้า คสช. เป็นผู้เสนอแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาตรา 269 กำหนดให้ คสช. คัดเลือกและประกาศรายชื่อผู้สมัครได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 265 กำหนดให้ คสช. ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่และให้มีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมาตรา 44
ห้า ดังนั้นโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 สถานะของ คสช. จึงมีลักษณะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบการปกครองโดยคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไปสู่การมีรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้แทนราษฎรในระบอบการเลือกตั้ง ซึ่งจะเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 2562 และหากไม่มี คสช. อยู่เพื่อใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 269 ในการประกาศรายชื่อ ส.ว. การประชุมร่วมกันของ 2 สภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่หลังการเลือกตั้งย่อมเป็นไปไม่ได้ และการบริหารประเทศในระบอบการปกครองที่จะต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนของปวงชน เพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย
ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คสช. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ และหากไม่มี คสช. หรือ คสช. ลาออกจากตำแหน่งไปจนไม่มีองค์ประกอบที่จะดำเนินการประชุมได้ ระบอบการเมืองการปกครองตามรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจดำเนินไปได้อย่างแน่แท้
โดยเหตุผลดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่สิ้นสุดลงของ คสช. ไว้ว่า ให้ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ จึงเห็นได้ว่า การดำรงตำแหน่งของ คสช. มีอยู่อย่างจำกัดเพียงเพื่อในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนี้คืนสู่ความสงบ และจะต้องพ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะพ้นจากตำแหน่งนั่นเอง จึงไม่มีกรณีที่จะเห็นได้ว่า เป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของมาตรา 98 ที่มุ่งจะห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งประจำที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในกำกับดูแลขององค์กรอื่นให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้แต่อย่างใด
หก เหตุผลดังกล่าวคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กกต. จึงมีความเห็นว่า คสช. และหัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งลักษณะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นต้องดำรงอยู่เพื่อเป็นหลักประกันให้ระบอบการเมืองหลังการเลือกตั้งดำเนินการต่อไปได้ตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญและไม่อาจขาดเสียซึ่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อจะให้การดำเนินการหรือการบริหารราชการแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องมีรัฐบาลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งในคราวแรกดำเนินต่อไปได้
การจะให้มีการลาออกของ คสช. หรือบุคคลที่เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อไปสมัครรับเลือกตั้งย่อมเป็นกรณีที่ไม่สามารถกระทำได้ เพราะอาจทำให้กลไกลทางการเมืองสะดุดหยุดลงและกลายเป็นความเสียหายร้ายแรงของประเทศชาติ ในทำนองเดียวกันกับการกำหนดห้ามมิให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่รักษาการหรือครบวาระหรือหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรลาออกมาเพื่อสมัครรับเลือกตั้งใหม่นั่นเอง
เมื่อได้ให้ความเห็นว่า คสช. และหัวหน้า คสช. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และมีหน้าที่ต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งอำนาจที่กำหนดไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจรองรับไว้) เช่นนี้แล้ว คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กกต. จึงเห็นว่า คสช. และหัวหน้า คสช. มิได้อยู่ในความหมายของการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) ตามความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของการกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในมาตราดังกล่าว
เจ็ด อนึ่ง คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กกต. มีความเห็นในประเด็นท้ายที่สุดว่า การที่มีผู้นำนิยามของการเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามบทบัญญัติมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และคำนิยามของคำว่า เจ้าพนักงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาเทียบเคียงกับการตีความคำว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (15) เป็นกรณีที่มีความแตกต่างกัน
เพราะกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นกฎหมายที่กำหนดขอบเขตของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ใต้อำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลปกครองและกำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งการให้คำนิยามตามกฎหมายที่มีลักษณะเป็น พ.ร.บ. อธิบายสถานะการเป็นเจ้าหน้าที่ทางปกครองที่จะใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่อาจถูกตรวจสอบทรัพย์สินหรือไต่สวนสอบสวนภายใต้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้มุ่งหมายให้คำนิยามไปถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกรณี คสช. ที่ได้ให้เหตุผลไว้ข้างต้นแล้ว
อีกทั้งกฎหมายแต่ละฉบับก็ย่อมกำหนดคำนิยามและขอบเขตของคำนิยามนั้นเพียงเพื่อใช้บังคับกับบทบัญญัติในกฎหมายนั้น ๆ เท่านั้น จึงไม่อาจนำคำนิยามดังกล่าวไปใช้กับกฎหมายฉบับอื่นที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะนำเอาคำนิยามตาม พ.ร.บ. มาใช้บังคับกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 98 นี่เอง ดังที่ได้ลำดับมาข้างต้น
ดังนั้นคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (15)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เบื้องหลัง! กกต.การันตี หน.คสช.มิใช่ จนท.รัฐ ชี้ถ้าขาดไปกลไกสะดุด-ชาติเสียหายร้ายแรง
ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินการันตี ‘หัวหน้า คสช.’ มิได้เป็น จนท.รัฐ
ผู้ตรวจการแผ่นดินคอนเฟิร์ม! หน.คสช. ไม่ใช่ จนท.รัฐ-เป็นรัฏฐาธิปัตย์ คุม ปท. ชั่วคราว
กาง กม.-ดูคำวินิจฉัย ศาล รธน.ปี’43 นิยามตำแหน่ง จนท.รัฐ-หัวหน้า คสช.เข้าข่ายไหม?