กางสูตรตั้ง รบ.ใหม่ ปชป.ฝ่า 2 เงื่อนไข-พท.ต้องถล่มทลาย-พปชร.ใช้ซูเปอร์ดีล?
“…พรรคพลังประชารัฐ ถ้าได้ ส.ส.ตามเป้าคงไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าจำนวน ส.ส. ได้ต่ำเกินไป อาจทำให้ดีลพรรคประชาธิปัตย์ยากหน่อย และทำให้อำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ตามครรลองระบบรัฐสภาเดิม (คือให้ ส.ส.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว) ‘เป็นหมัน’ ได้ จึงอาจต้องใช้บริการ ส.ว. ที่ คสช. คัดเองกับมือมาช่วยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนจะต่อรองกับพรรคขนาดกลางอื่น ๆ ให้มาร่วม ?...”
โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งมาถึงแล้ว
อีก 5 วันเท่านั้นจะถึงวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ในวันที่ 24 มี.ค. 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี (ไม่นับการเลือกตั้งปี 2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าโมฆะ) หากย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2554
ท่ามกลางกระแสขับเคี่ยวต่อสู้ทางการเมืองกันมาโดยตลอดระหว่างฝ่าย ‘เอาประยุทธ์’ และฝ่าย ‘ไม่เอาประยุทธ์’ ?
ผลโพลล์ รวมถึงกูรูการเมืองแต่ละสำนักต่างพยากรณ์ว่า มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน สวมหมวกอีกใบในตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ในรายชื่อถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย
มี 3 พรรคใหญ่ที่อาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคเพื่อไทย อดีตแกนนำจัดรัฐบาลก่อน พรรคประชาธิปัตย์ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคบอกปัดไม่สังคายนาดัน ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐที่ใช้ ‘พลังดูด’ กวาดต้อนอดีต ส.ส.จาก 2 พรรคข้างต้นมาร่วมค่ายเพียบ
อย่างไรก็ดีย้อนกลับไปสาระสำคัญที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ยังคงหนีไม่พ้น 2 กลุ่มใหญ่ระหว่างฝ่าย ‘เอาประยุทธ์’ และฝ่าย ‘ไม่เอาประยุทธ์’
สำหรับฝ่าย ‘เอาประยุทธ์’ หลัก ๆ หลายคนคงทราบกันแล้วว่าคือ พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อ ‘บิ๊กตู่’ เป็นบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำสำคัญผลักดันอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง พรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าชู พล.อ.ประยุทธ์ มาแต่ต้น
ฝ่าย ‘ไม่เอาประยุทธ์’ หลัก ๆ แน่นอนนำโดยพรรคเพื่อไทย และเครือข่ายแบงก์ร้อย คือ พรรคประชาชาติ (แกนนำพรรคนี้ คืออดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย) พรรคเพื่อธรรม (มีนางนลินี ทวีสิน อดีต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า และสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเครือข่าย ส.ส.กลุ่มวังน้ำยม ภายใต้สังกัดนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร) พรรคเพื่อชาติ ที่มีนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. และนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย เป็น ‘แฟนคลับ’ ส่วนที่เหลือเป็นเครือข่ายที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน เช่น พรรคอนาคตใหม่ (นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค) พรรคเสรีรวมไทย (พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรค)
แม้ว่าพรรคเพื่อชาติ ถูกหลายคนตั้งคำถามว่า ยังคงเป็นเครือข่ายตระกูล ‘เพื่อ’ อยู่หรือไม่ แต่ท่าทีชัดเจนภายหลังพรรคไทยรักษาชาติ จากอภิมหาเซอร์ไพรส์ จนนำไปสู่การยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสข่าวว่า นายยงยุทธ บินไปดูไบ เพื่อเจรจากับนายทักษิณ แก้เกมดังกล่าว (อ้างอิงข่าวจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
กระทั่งช่วงก่อนสัปดาห์สุดท้ายจะมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อชาติปลุกกระแส ‘พาทักษิณกลับบ้าน’ ขึ้นมาอีกครั้ง สยบข่าวลือเป็น ‘แบงก์ปลอม’ ในยุทธศาสตร์ ‘แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย’ ของตระกูล ‘เพื่อ’ ลงไปได้
ตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้หนีไม่พ้น พรรคเก่าแก่อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้ว่า ‘เดอะ มาร์ค’ ช่วงหลังจะออกโรงไม่สนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ตามที แต่แกนนำพรรคที่เหลือ รวมถึงสมาชิกพรรคบางส่วน อาจไม่เห็นด้วยแบบนั้น ?
เงื่อนไขของนายอภิสิทธิ์ ค่อนข้างลำบากหากต้องการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ จำเป็นต้องได้คะแนนเกิน 100 ที่นั่งก่อน เพราะหากไม่ถึง นายอภิสิทธิ์จะต้องลาออก ตามที่เคยลั่นวาจาไว้
แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง กล่าวคือ เมื่อนายอภิสิทธิ์ ประกาศตัวชัดเจนไม่หนุน ‘บิ๊กตู่’ ย่อมได้ใจผู้สนับสนุน และผู้ที่ยังตัดสินใจไม่ได้บางส่วน เนื่องจากบางคนอาจเบื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ไม่อยากเลือกพรรคเพื่อไทย อาจเบนเข็มมาหาพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นไปได้ และอาจทำ ‘เซอร์ไพรส์’ จำนวน ส.ส. เกิน 100 ที่นั่ง ‘เดอะ มาร์ค’ ได้ไปต่อ แถมมีอำนาจต่อรองตั้งรัฐบาล รวมถึงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งด้วย
แต่หากจำนวน ส.ส. ‘ต่ำร้อย’ นายอภิสิทธิ์ ต้องออกจากหัวหน้าพรรค อาจถูกบางฝ่ายชื่นชมในฐานะที่ไม่ยอมร่วมสังฆกรรมสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อ รวมถึงยอมหักไม่ยอมงอ ไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทยเช่นกัน ทำให้ยังรักษาความนิยมในตัวได้อยู่
ขณะที่พรรคขนาดกลางพรรคอื่น ๆ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา ฯลฯ ต่างยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ มีเพียงนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ออกมายืนยันว่า ไม่เคยพูดว่าจะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล นั่นหมายความว่า สามารถออกหน้าไหนก็ได้ ?
ท้ายที่สุดตัวแปรจึงกลับมาอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ดี หากพรรคประชาธิปัตย์ต่ำร้อย นายอภิสิทธิ์ ไขก๊อกหัวหน้าพรรค โหวตเลือกหัวหน้าใหม่ ทิศทางของพรรคอาจเปลี่ยนไปจากตอนนี้ก็เป็นไปได้
แต่ที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนคือ พรรคประชาธิปัตย์ จับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล
ดังนั้นจึงเหลือ 2 เงื่อนไขคือ 1.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. เกิน 100 ที่นั่ง นายอภิสิทธิ์อยู่ต่อ ต้องดูว่าจะจับขั้วกับพรรคไหนจัดตั้งรัฐบาล 2.พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ต่ำร้อย นายอภิสิทธิ์พ้นเก้าอี้ จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล หรือว่าจะดีลกับพรรคขนาดกลางจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ แต่ที่น่าสนใจคือใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ?
ขณะที่พรรคใหญ่อีก 2 พรรคอย่าง พรรคเพื่อไทย แน่นอนว่าเมื่อทาบทามพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ คงเหลือแค่พรรคตระกูล ‘เพื่อ’ ที่มาร่วมอยู่แล้ว แต่ต้องดีลกับพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย นอกจากนี้ต้องดีลกับพรรคขนาดกลางอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องชนะ ‘ถล่มทลาย’ ถึงมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ถ้าได้ ส.ส.ตามเป้าคงไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าจำนวน ส.ส. ได้ต่ำเกินไป อาจทำให้ดีลพรรคประชาธิปัตย์ยากหน่อย และทำให้อำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ตามครรลองระบบรัฐสภาเดิม (คือให้ ส.ส.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว) ‘เป็นหมัน’ ได้ จึงอาจต้องใช้บริการ ส.ว. ที่ คสช. คัดเองกับมือมาช่วยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนจะต่อรองกับพรรคขนาดกลางอื่น ๆ ให้มาร่วม ?
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ต้องรอให้รู้ผลการเลือกตั้ง ส.ส. หลังวันที่ 24 มี.ค. 2562 นี้เสียก่อน !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
พรรคการเมืองทำสัญญาประชาคมเลือกนายกฯ ให้มาจาก ส.ส. 500 เสียง ก่อน
เจษฎ์ โทณะวณิก : ว่าด้วยเรื่อง มาร์ค ไม่หนุนบิ๊กตู่-ความเหมือนที่แตกต่างของ ธนาธร &ทักษิณ
ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินการันตี ‘หัวหน้า คสช.’ มิได้เป็น จนท.รัฐ
ผู้ตรวจการแผ่นดินคอนเฟิร์ม! หน.คสช. ไม่ใช่ จนท.รัฐ-เป็นรัฏฐาธิปัตย์ คุม ปท. ชั่วคราว
กาง กม.-ดูคำวินิจฉัย ศาล รธน.ปี’43 นิยามตำแหน่ง จนท.รัฐ-หัวหน้า คสช.เข้าข่ายไหม?
อดีตแกนนำ ทษช.อุบช่วยพรรคใดหาเสียงต่อ ‘จาตุรนต์’ยันยังไม่ถึงเวลาสรุปบทเรียน
ฉบับเต็ม!คำวินิจฉัย ศาล รธน.ยุบ ทษช. ‘ทำให้สถาบันฯถูกบ่อนทำลาย-ประชาธิปไตยเสื่อมทราม’
ศาล รธน.พิพากษายุบพรรค ทษช.-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กก.บริหาร 10 ปี
ใครเป็นใคร? กก.บริหาร ทษช.โดนแบน 10 ปี-ปิดฉากผู้สมัคร ส.ส.หลังศาล รธน.สั่งยุบ
บทวิเคราะห์บลูมเบิร์ก ฉายภาพการเมืองไทย 'ชะตากรรม ทษช.-โอกาสบิ๊กตู่' หลังกรณีแคนดิเดตนายกฯ
ชำแหละ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 'พปชร.'กปปส. ผงาด 'พท.-ทษช.'ปิดฉาก นปช.?
ฐิติพล ภักดีวานิช : ปชป.ตัวแปรสำคัญชี้ชะตา 'บิ๊กตู่' ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อหรือไม่?
เปิดชื่อผู้สมัคร 30 ส.ส.กทม.วิเคราะห์สังเวียนเดือด ‘พปชร. VS พท. VS ปชป.’ ชิงดำ
ใครเป็นใคร! เปิดโผบัญชีรายชื่อนายกฯพรรค-‘บิ๊กตู่-ชัชชาติ-หญิงหน่อย-มาร์ค’ตัวเต็ง?