- Home
- Isranews
- เกาะติดเลือกตั้ง 2562
- เจษฎ์ โทณะวณิก : ว่าด้วยเรื่อง มาร์ค ไม่หนุนบิ๊กตู่-ความเหมือนที่แตกต่างของ ธนาธร &ทักษิณ
เจษฎ์ โทณะวณิก : ว่าด้วยเรื่อง มาร์ค ไม่หนุนบิ๊กตู่-ความเหมือนที่แตกต่างของ ธนาธร &ทักษิณ
"...ถ้าจะมองว่าพรรคการเมืองในขั้วทักษิณนั้นจะได้ความนิยมเกินครึ่งหนึ่งของสภาล่างแบบการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ ผมมองว่าในระบบการเลือกตั้งใหม่เขาคงไม่ได้คะแนนนิยมเกินครึ่งหนึ่งของสภาล่างอยู่แล้ว ดังนั้นทางพรรคขั้วของนายทักษิณเขาคงต้องไปหาพรรคการเมืองที่น่าจะเป็นพันธมิตรกันได้ อาทิพรรคเสรีรวมไทย พรรคอนาคตใหม่เป็นต้น ดังนั้นถ้ามีคนคิดเลือกกลุ่มนี้กันมากจริงๆ มันก็เป็นไปได้ที่เสียงของเขาจะเกิน 250 เสียงในสภาล่าง อย่างไรก็ตามด้วยพื้นฐานวิธีคิด กลุ่มคนที่จะเลือกทั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ ต่างๆนานานั้นจะมีแนวคิดที่ค่อนข้างใกล้กัน ดังนั้น การที่พรรคเพื่อไทยถูกทอนลงเป็น 250 เขต มันก็เป็นการเปิดทางให้กับพรรคการเมืองอื่นได้เข้ามาร่วมอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามฝั่งตรงข้ามพรรคเพื่อไทยนั้น กลับมีแนวคิดต่างๆที่ดูหลากหลายกว่าฝั่งของพรรคการเมืองที่ดูน่าจะเป็นขั้วพันธมิตรในกลุ่มขั้วของนายทักษิณ..."
ภายหลังจากการประกาศจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มีการคาดเดากันไปต่างๆนานาว่าหลังจบศึกการเลือกตั้ง วันที่ 24 มี.ค.2562 นี้ รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไรบ้าง? ในอนาคตจะมีการต่อรองทางการเมืองกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ในกรณีที่ทั้งสองพรรคได้รับคะแนนเลือกตั้งจำนวนมาก เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน หรือพรรคประชาธิปัตย์จะไปอยู่กับทางฝั่งของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอื่นๆที่อยู่ตรงขั้วที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เช่นกัน
เพื่อเปิดมุมมองเกี่ยวกับแนวคิดเหล่านี้ให้มากขึ้น รวมไปถึงรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตที่จะเกิดขึ้น หลังจบศึกษาการเลือกตั้ง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อวิเคราะห์ 'บท' การเมือง ที่กำลังถูกจับตามองในขณะนี้
นายเจษฎ์ เริ่มต้นเปิดประเด็นว่า "การออกมาแสดงท่าทีของนายอภิสิทธิ์นั้นไม่ได้ถือว่าเหนือความคาดหมายเท่าไรนัก แต่มันเป็นการแสดงออกเพื่อย้ำท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ดูว่ายังไม่ชัดเจนเท่าไร ว่าเขามีจุดยืนที่จะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่มันก็ยังไม่ชัดเจนถึงขั้นตอกตะปูอย่างแน่นอนเลย"
"ผมว่าคุณอภิสิทธิ์นั้นเขามองแล้วว่าการออกท่าทีแบบนี้นั้นยังไงก็ได้ประโยชน์มากกว่าเสีย เพราะแม้ว่าจะมีจุดเสียบ้างเพราะพรรคประชาธิปัตย์นั้นอาจจะเสียคะแนนเสียงไปบ้าง แต่คุณอภิสิทธิ์เขาคงมองแล้วว่าในกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นั้นเขาก็น่าจะไปเลือกพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว ไม่น่าจะไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งคะแนนพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นกลุ่มที่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์เองนั้นก็ถือว่าเป็นคะแนนที่ไม่แน่นอน เพราะเขาก็มีสิทธิ์ที่จะไปเลือกได้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ หรือจะไปเลือกทั้งพรรคปลังประชารัฐได้ ดังนั้นเขาก็คงมองว่าในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม มันมีกลุ่มประชาชนที่ยังเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์แสดงความชัดเจนและแสดงความเป็นประชาธิปไตยออกมา ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ก็เลยต้องออกมาแสดงท่าทีดังกล่าว ซึ่งมันก็เหมือนกับเป็นการแลกกัน โดยนายอภิสิทธ์คงมองแล้วว่าคนกลุ่มนี้น่าจะมีมากกว่ากลุ่มคนที่เชียร์ทางพรรคประชาธิปัตย์แล้วก็ไปเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย"
"อีกประการหนึ่งก็คือพรรคประชาธิปัตย์นั้นต่อให้ไม่ได้ ส.ส.ถึง 100 ที่นั่ง ตรงนี้ก็มีค่าเท่ากัน เพราะนายอภิสิทธิ์ก็แค่ออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ลูกพรรคคนอื่นก็ยังสามารถไปรวมกับทางด้านของพรรคพลังประชารัฐได้อยู่ดี เพราะไม่ต้องยึดกับคำพูดของหัวหน้าพรรคในเวลานั้นแล้ว แต่ถ้าหากมันเป็นผลโหวตได้คะแนนมากจริงๆ ท้ายที่สุดก็ยังมีโอกาสอีกว่าเขาสามารถโหวตให้นายอภิสิทธิ์ไปเป็นประธานรัฐสภาได้ พอไปเป็นประธานรัฐสภาแล้ว มันมีข้อบังคับว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจการของพรรคการเมือง ดังนั้น ถ้าถึงตอนนั้นจริง ผมว่าทาง ส.ส.เขาก็คงโหวตกันได้โดยไม่ต้องไปสนทางนายอภิสิทธิ์"
"ดังนั้นผมสรุปว่านี่ก็คือการวัดดวงของทางนายอภิสิทธิ์เอง ซึ่งไม่มีผลเสียอะไรอยู่แล้วในภาครวมอีกทั้งเป็นการทำดีได้ใจกลุ่มพลังเงียบมากขึ้นด้วย"
เมื่อถามว่าในกรณีที่ พรรคประชาธิปัตย์อาจจะไม่ได้เสียงข้างมากในสภา พรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากกว่า แต่ก็ไม่ยังสู้เสียง 250 ส.ว.ไม่ได้ ในกรณีดังกล่าวนั้นจะทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมืองขึ้นมาหรือไม่
นายเจษฎ์กล่าวว่า "คิดว่านายอภิสิทธ์คงไม่ได้ประเมินว่าจะมีการเกิดเดดล็อกขึ้นมา ผมคิดว่านายอภิสิทธิ์น่าจะคิดเรื่องการรวมกับพรรคพลังประชารัฐแล้วว่าจะรวมกันแบบไหน"
เมื่อถามต่อว่า ประเมินว่าทางพรรคประชาธิปัตย์ได้คิดถึงไปถึงการโน้มน้าวให้พรรคพลังประชารัฐหรือรวมไปถึง 250 ส.ว. เข้ามาโหวตนายอภิสิทธิ์ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงเกิน 100 เสียง และได้เสียงมากกว่าพรรคพลังประชารัฐด้วย
นายเจษฎ์กล่าวว่า "คงไม่ พรรคพลังประชารัฐรวมไปถึง 250 ส.ว. เขายังไงก็คงจะโหวต พล.อ.ประยุทธ์อยู่เพื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม พอ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วนั้นตรงนี้เขาจะสามารถมาคุยกันกับทางพรรคประชาธิปัตย์ให้มาร่วมรัฐบาลได้ แต่ปัญหาก็คือมีนายอภิสิทธิ์ซึ่งไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เขาก็แก้ปัญหาว่าให้โหวตนายอภิสิทธิ์ให้ไปเป็นประธานรัฐสภาได้ ซึ่งตรงนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทางพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น การประชุมรัฐสภาครั้งแรกอาจจะมีลูกพรรคบางส่วนไปโหวตให้นายอภิสิทธิ์เป็นประธานรัฐสภา แต่ตรงนี้ก็ต้องดูด้วยว่าลูกพรรคประชาธิปัตย์เขาจะกล้าไหม"
เมื่อถามต่อถึงกลุ่มพลังเงียบที่กล่าวมานั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่บางส่วนอาจจะไปเลือกพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเขามีจุดยืนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์เหมือนกัน
นายเจษฎ์กล่าวว่า "พลังเงียบที่จะออกมาเพราะคำพูดของนายอภิสิทธิ์ แน่นอนว่าเขาคงไม่ไปเลือกพรรคอนาคตใหม่อยู่แล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทย และกลุ่มเครือข่ายต่างๆเขาก็คงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักและมีเป้าหมายที่จะเลือกใครชัดเจนอยู่แล้ว และแน่นอนกลุ่มพลังเงียบที่จะออกไปเลือกพรรคอนาคตใหม่นั้นเขาก็มีเหตุผลอื่นที่จะเลือกพรรคอนาคตใหม่ เช่นพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบเป็นต้น ผมว่ากลุ่มที่เป็นคนเลือกพรรคอนาคตใหม่นั้นอย่างไรก็เป็นคนละกลุ่มกับที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่เขาอาจจะยังไม่ออกมาแสดงตัวตอนนี้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้นั้นมักจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะเบื่อการเมืองเก่าๆแล้ว ซึ่งแน่นอนคนลักษณะนี้เขาคงไม่เลือกทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ"
เมื่อถามว่าพรรคอนาคตใหม่จะได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่เคยชอบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เริ่มรู้สึกเบื่อแล้วบ้างหรือไม่
นายเจษฎ์กล่าวว่า "ต้องย้อนไปก่อนว่าตั้งแต่ตอนที่คนมีความนิยมชมชอบนายทักษิณนั้น ถ้าหากมาเปรียบเทียบกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะพบว่านายธนาธรจะมีลักษณะอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดผลลบต่อตัวเองมากกว่านายทักษิณ ในตอนที่คนชอบนายทักษิณ และแม้แต่ตอนที่นายทักษิณเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวทางการเมืองมากขึ้นนั้น ก็เป็นเพราะว่าคนจำนวนหนึ่งมองว่านายทักษิณนั้นถูกกระทำ แต่อย่างไรก็ตามนายธนาธรกลับไม่มีในส่วนเหล่านั้น"
"แต่สิ่งที่นายธนาธรมีแล้วเหมือนกับนายทักษิณนั้นก็คือเรื่องความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งส่วนที่มีอาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะความมั่นใจในตัวเองดังกล่าวนี้เองก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งเริ่มถอยห่างออกมาจากนายทักษิณแล้ว เพราะฉะนั้นผมก็ไม่มั่นใจว่าพลังเงียบดังกล่าวที่เคยนิยมชมชอบนายทักษิณนั้นจะกลับมาเลือกนายธนาธรหรือไม่"
"อีกประการก็คือนายทักษิณนั้นก็ไม่วิจารณ์ในบางเรื่องด้วยท่าทีที่หนักหรือรุนแรงเหมือนกับนายธนาธร หรือนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นพลังเงียบที่จะออกมาเลือกพรรคอนาคตใหม่นั้นก็คงจะเป็นกลุ่มที่มีความคิดสอดคล้องกับทางพรรคอนาคตใหม่อยู่แล้วมากกว่า ซึ่งกลุ่มนี้นั้นมีไม่มาก"
"สรุปก็คือนายทักษิณนั้นจะออกมาพูดเฉพาะตอนที่มีเหตุที่ถูกกระทำหรือเหตุที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่นายธนาธรรวมไปถึงนายปิยะบุตรนั้นกลับพูดดักในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ด้วยท่าทีที่รุนแรงมากกว่านายทักษิณมาก ดังนั้นก็ถือเป็นจุดที่เขาต้องระวังด้วยเช่นกัน"
นายเจษฎ์ ยังกล่าวด้วยว่า "เท่าที่ประเมินนั้นคนที่ชอบวิธีคิดแบบพรรคอนาคตใหม่เขาไม่ได้เป็นพลังเงียบตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นผมว่าพรรคอนาคตใหม่เขาก็มีฐานเสียง มีกลุ่มที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ทั้งเบื่อทหาร และไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็เล็งมายังพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่ต้นแล้วโดยเฉพาะเมื่อพรรคอนาคตใหม่พูดอะไรที่ดูหวือหวาและน่าสนใจ สรุปก็คือถ้าเทียบว่าเป็นบริษัท เขาก็เล็งฐานลูกค้าค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วตั้งแต่ตอนคิดค้นผลิตภัณฑ์สินค้า ไม่ใช่มาคิดจะหาลูกค้าเพิ่มหลังจากที่ออกผลิตภัณฑ์ไปแล้ว และก็ไม่เหมือนกับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ที่พยายามปรับท่าทีการสื่อสารให้ดูนุ่มลงเพื่อจะหากลุ่มฐานเสียงที่มาสนับสนุนมากขึ้น"
เมื่อถามต่อถึงกรณีขั้วที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ว่าเขาต้องการเสียงสนับสนุนมากว่า 250 เสียงใน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช่หรือไม่ เพราะถ้ามีเสียงไม่พอ การบริหารบ้านเมือง การออกกฎหมายต่างๆนั้นก็คงเดินไปไม่ได้
นายเจษฎ์กล่าวว่า "แน่นอน และเขาต้องพยายามเต็มที่ตรงนี้ ดังนั้นถ้าจะมองว่าพรรคการเมืองในขั้วทักษิณนั้นจะได้ความนิยมเกินครึ่งหนึ่งของสภาล่างแบบการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ ผมมองว่าในระบบการเลือกตั้งใหม่เขาคงไม่ได้คะแนนนิยมเกินครึ่งหนึ่งของสภาล่างอยู่แล้ว ดังนั้นทางพรรคขั้วของนายทักษิณเขาคงต้องไปหาพรรคการเมืองที่น่าจะเป็นพันธมิตรกันได้ อาทิพรรคเสรีรวมไทย พรรคอนาคตใหม่เป็นต้น ดังนั้นถ้ามีคนคิดเลือกกลุ่มนี้กันมากจริงๆ มันก็เป็นไปได้ที่เสียงของเขาจะเกิน 250 เสียงในสภาล่าง อย่างไรก็ตามด้วยพื้นฐานวิธีคิด กลุ่มคนที่จะเลือกทั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ ต่างๆนานานั้นจะมีแนวคิดที่ค่อนข้างใกล้กัน ดังนั้น การที่พรรคเพื่อไทยถูกทอนลงเป็น 250 เขต มันก็เป็นการเปิดทางให้กับพรรคการเมืองอื่นได้เข้ามาร่วมอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามฝั่งตรงข้ามพรรคเพื่อไทยนั้น กลับมีแนวคิดต่างๆที่ดูหลากหลายกว่าฝั่งของพรรคการเมืองที่ดูน่าจะเป็นขั้วพันธมิตรในกลุ่มขั้วของนายทักษิณ"
นายเจษฎ์กล่าวว่า "ยกตัวอย่างเช่นพรรคการเมืองในกลุ่มของพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เขาก็จะมีแนวคิดที่หลากหลายกัน และกลุ่มนี้ก็แตกต่างกับทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และแตกต่างจากทางพรรคพลังประชารัฐด้วยเช่นกัน ดังนั้นกลุ่มพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับทางฝั่งพรรคที่น่าจะเป็นเครือข่ายพันธมิตรของนายทักษิณ สามารถเกี่ยวเอาพลังเงียบได้อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์เขาก็อาจจะชนะพรรคขั้วฝั่งทักษิณได้ แต่อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยนั้นก็มีฐานเสียงเดิมของเขาที่ถือว่ามีความเข้มแข็งแล้ว"
-------------
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นแค่การประเมินสถานการณ์เบื้องต้นจากนักวิชาการเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงเรื่องการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอดูหลังจากวันที่ 24 มี.ค.นี้ จึงจะปรากฎภาพที่ชัดเจนให้เห็นโดยทั่วกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage