ป.ป.ช.ชี้คลอดเกณฑ์ป้องโกงนโยบายสกัดพวกพูดลอย ๆ-รธน.กำหนดให้เชื่อมยุทธศาสตร์ชาติ
ผช.เลขาฯ ป.ป.ช. ยันหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย เพื่อความโปร่งใส ชี้เงินงบประมาณเป็นของทุกคน ไม่ใช่แค่ของ รบ. ถ้าไปยืมมา คนทั้งประเทศร่วมเป็นหนี้ด้วย ไม่ใช่แค่พูดลอย ๆ แต่พรรคไหนไม่ทำไร้บทลงโทษ แต่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง เผยเหตุต้องให้นโยบายทุกพรรคเชื่อมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะ รธน.บัญญัติไว้
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และคู่มือการใช้เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งว่า ดำเนินโยบายเป็นไปตามหลักเกณฑ์นี้หรือไม่ โดยหลักเกณฑ์สำคัญคือ นโยบายทั้งหมดต้องมีความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาตินั้น (อ่านประกอบ : ใช้เงินจากไหน-คุ้มค่าไหม! โชว์เกณฑ์ ป.ป.ช.ป้องโกงนโยบาย-ปิดฉากพรรคการเมืองขายฝัน?)
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 นายอุทิศ บัวศรี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมาเชื่อมโยงในหลักเกณฑ์ป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย ตอนหนึ่งว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 162 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาลต้องนำแผนยุทธศาสตร์ชาติไปปฏิบัติด้วย และตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 25 กำหนดว่า ถ้าหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา จะพิจารณาว่าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวจงใจไม่ทำตามหรือไม่ หากมีมติเห็นว่าจงใจให้ส่งเรื่องดังกล่าวต่อให้ ป.ป.ช. และถ้า ป.ป.ช. เห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการ หรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการ หรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป
นายอุทิศ กล่าวว่า ดังนั้นในเมื่อรัฐบาลชุดนี้วางรากฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีการออกเป็น พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ เพื่อวางเป้าหมายให้ประเทศก้าวสู่จากจุดปัจจุบัน ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีการจัดทำแผนต่าง ๆ พรรคการเมืองต้องทำแผนตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้วย ไม่ใช่อยากทำอะไรตอบสนองตามที่ตัวเองต้องการ ดังนั้นการจัดทำหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายจึงต้องวางกรอบให้นโยบายของพรรคมีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ
เมื่อถามว่า หลักเกณฑ์ชี้วัดดังกล่าว มีบางฝ่ายมองว่า อาจเป็นการล้วงลูกล้วงการทำงานของฝ่ายบริหารเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต นายอุทิศ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลต้องยึดโยงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนั้นการบริหารประเทศต้องอยู่ภายใต้กรอบนี้ ป.ป.ช. แค่ทำตามรัฐธรรมนูญและที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้คิดเอง และยังมีการกำหนดไว้ว่า หากรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐไม่ทำตาม ต้องมีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวน ดังนั้นหลักเกณฑ์ของ ป.ป.ช. จึงไม่ได้เป็นการก้าวล่วง หรือแทรกแซงฝ่ายบริหาร แต่เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
นายอุทิศ กล่าวถึงหลักเกณฑ์ชี้วัดดังกล่าวว่า ในช่วงนี้คือการหาเสียงเลือกตั้ง มีเกณฑ์อยู่ 5 ข้อที่ต้องชี้วัด เช่น นโยบายต้องแสดงความเชื่อมโยงต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ อย่างที่เรียนแล้วว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ต่อมาต้องกำหนดวัตถุประสงค์นโยบายว่า ใครได้ประโยชน์บ้าง ต้องมีการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริต วิเคราะห์ว่านโยบายนี้ที่จะออกมามีความเสี่ยงไหม ถ้ามีต้องบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างไร รวมถึงความคุ้มค่าของนโยบายต่าง ๆ ความเป็นไปได้ในการนำงบประมาณมาจัดทำ
“พรรคการเมืองต้องดูทั้งหมด เอางบประมาณจากไหนมาทำ เพราะเป็นเงินภาษีประชาชน เอาเงินมาจากไหน ไม่ใช่มาลอย ๆ เพราะงบประมาณเป็นเงินที่คนทั้งประเทศรับผิดชอบ ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายบริหารอย่างเดียว ถ้าไม่มีเงินจัดทำ แล้วไปยืมเขามา เท่ากับว่าคนทั้งประเทศร่วมเป็นหนี้ด้วย ตรงนี้ต้องวิเคราะห์นำเสนอ” นายอุทิศ กล่าว
นายอุทิศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องมีกระบวนการเสริมสร้างความโปร่งใสในการพัฒนานโยบายพรรคการเมือง ไม่ใช่คิดขึ้นเองว่านโยบายนี้โปร่งใส นโยบายนี้เอามาจากต่างประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่ ไม่ใช่คิดเอาเอง ฝันเอาเอง ทั้งหมดนี้เป็นหลักเกณฑ์ชี้วัดที่ต้องการให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีความมั่นใจว่านโยบายดังกล่าวเป็นไปได้ หรือบางนโยบายอาจมีความเสี่ยงต่อการทุจริต หรือเรื่องความคุ้มค่า ประชาชนได้ตัดสินใจได้ถูก ไม่ใช่เลือกตามความรู้สึก แต่ต้องเลือกบนหลักการของเหตุผล และคำนึงถึงผลที่จะตามมาด้วย
ส่วนถ้าบางพรรคการเมืองไม่ทำตามหลักเกณฑ์ชี้วัดดังกล่าวจะมีผลอะไรหรือไม่นั้น นายอุทิศ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวในช่วงแรกคือช่วงหาเสียง ยังไม่มีบทลงโทษอะไร แต่เน้นความสมัครใจของพรรคการเมือง เพื่อประกอบการตัดสินใจให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ใช่ฟังนโยบายล่องลอย จริง ๆ อยากให้ทุกพรรคทำ เพราะเป็นการพัฒนาเรื่องความโปร่งใส และแสดงถึงการเตรียมพร้อม เมื่อได้อำนาจรัฐมา จะเป็นธรรมกับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ต้องเชื่อมยุทธศาสตร์ชาติ! เจาะเกณฑ์ชี้วัด ป.ป.ช.ชง กกต.ตรวจนโยบายพรรคไหนเสี่ยงโกง
ป.ป.ช.ส่งเกณฑ์ชี้วัดการทุจริตให้ กกต. สอบนโยบายแต่ละพรรคเสี่ยงโกงหรือไม่