ต้องเชื่อมยุทธศาสตร์ชาติ! เจาะเกณฑ์ชี้วัด ป.ป.ช.ชง กกต.ตรวจนโยบายพรรคไหนเสี่ยงโกง
ชำแหละหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายของ ป.ป.ช. ก่อนชงให้ กกต. บังคับใช้ เผยที่มาเพราะการทุจริตพัฒนารวดเร็วมาก มีการคิดค้นวิธีการโกงใหม่ ๆ ตลอด ระบุชัดนโยบายต้องเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ชาติ จะเอาเงินจากไหนมาใช้ ใครเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และคู่มือการใช้เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งว่า ดำเนินโยบายเป็นไปตามหลักเกณฑ์นี้หรือไม่ โดยหลักเกณฑ์สำคัญคือ นโยบายทั้งหมดต้องมีความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาตินั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ส่งเกณฑ์ชี้วัดการทุจริตให้ กกต. สอบนโยบายแต่ละพรรคเสี่ยงโกงหรือไม่)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ ป.ป.ช. สรุปที่มาที่ไปถึงสาเหตุต้องจัดทำหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ระบุว่า การดำเนินการที่ลดการทุจริตในสังคมไทย นอกจากจะใช้กระบวนการปลูกฝังความคิดให้ประชาชนทุกช่วงวันมีฐานคิดในการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตน กับผลประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงการใช้กระบวนการปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มข้นเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษแล้ว การนำหลักความโปร่งใสซึ่งเป็นสิ่งที่นานาประเทศยอมรับว่าเป็นหลักการพื้นฐานในการป้องกันการทุจริตให้ความเท่าทันต่อพลวัตของการทุจริตได้
คณะอนุกรรมการฯ ระบุอีกว่า เนื่องจากพัฒนาการทุจริตในปัจจุบันพัฒนารวดเร็วมาก เปรียบเสมือนวัฏจักรของสิ่งมีชีวิต ที่เมื่อวงจรหรือวิธีการทุจริตที่เคยได้ทำไปก่อนหน้านี้ สามารถถูกยับยั้งหรือเปิดโปงได้แล้ว วงจรดังกล่าวก็ไม่อาจนำมาใช้ใหม่ เปรียบได้กับสิ่งมีชีวิตที่ตายไปแล้ว แต่บทเรียนในการทุจริตที่ถูกยับยั้ง กลับกลายเป็นประเด็นการเรียนรู้ที่จะพัฒนาการทุจริตให้มีความซับซ้อนขึ้น เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัวต่อสถานการณ์หรือภัยคุกคามต่าง ๆ เพื่อให้อยู่รอด และเดินทางไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ คือความสำเร็จในการกระทำทุจริต
การนำประเด็นเรื่องความโปร่งใสมาเป็นกรอบชี้นำในการป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะอย่ายิ่งในกระบวนการทางนโยบายสาธารณะหรือการดำเนินงานของรัฐ ดังตัวอย่างเหตุการณ์การเมืองไทยหลายครั้งที่ผ่านมา มีประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองต่อนโยบายรัฐ จนกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ทำให้ไทยติดกับดักทางการเมืองและไม่สามารถก้าวผ่านกับดักนี้ไปได้ เป็นผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต้องหยุดชะงัก สาเหตุหนึ่งที่เป็นปัจจัยปลุกเร้าประชาชนให้ออกมาแสดงความเห็นคือ การได้รับทราบบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งประเด็นดังกล่าวรุนแรงจนกระทั่งประชาชนทนไม่ได้ จนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองดังกล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์การชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายนั้น สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ในหลักเกณฑ์แรก คือ นโยบายต่าง ๆ ต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ โดยต้องมีการศึกษาและอ้างอิงจากยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงการจัดทำเนื้อหาสาระที่แสดงความเชื่อมโยงดังกล่าว และการเชื่อมโยงนั้นนำไปสู่เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร ซึ่งวิธีปฏิบัติของพรรคการเมืองคือ นโยบายที่พัฒนาขึ้นมาจะทำให้ประเด็นใดในยุทธศาสตร์ชาติประสบความสำเร็จตามเป้าหมายด้วย
นอกจากนี้ยังมีส่วนของเกณฑ์ความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ที่ให้พรรคการเมืองอธิบายถึงแหล่งที่มางบประมาณ และ/หรือการสนับสนุนอื่นใดแก่นโยบายที่ได้พัฒนาหรือไม่ งบประมาณที่ใช้จ่ายมาจากเงินคงคลัง เงินกู้ยืม หรือเงินอุดหนุน หรือเงินอื่น ๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันนโยบายที่พัฒนาขึ้นนั้น เป็นนโยบายของไทยหรือต่างประเทศ มีผลลัพธ์จากนโยบายดังกล่าวหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องระบุถึงกลุ่มเป้าหมาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจน หากมีผู้เสียผลประโยชน์จะเยียวยาอย่างไร เป็นต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/