ป.ป.ช. ตีตกคดี‘สุเทพ’ปล่อยน้ำมันปาล์มขาดแคลน ชี้ รธน.ใหม่ไม่บัญญัติความผิดส่อทุจริต
ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ ปมปล่อยน้ำมันปาล์มขาดแคลน เหตุ รธน.ปี’60 ไม่บัญญัติความผิดเกี่ยวกับพฤติการณ์ส่อทุจริต กก.ป.ป.ช. ไร้อำนาจดำเนินการต่อ จึงให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริง
จากกรณีเมื่อปี 2555 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติตั้งองค์คณะไต่สวน (มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ถูกร้องให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง เนื่องจากส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการปล่อยให้สต๊อกน้ำมันปาล์มขาดแคลนเมื่อปี 2554 โดยปั่นให้ราคาน้ำมันปาล์มในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เพื่อประโยชน์แก่พวกพ้องของตน โดยเมื่อปี 2559 มีการแจ้งข้อกล่าวหานายสุเทพไปแล้วนั้น (อ่านประกอบ : โชว์ข้อหาทางการ! ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวน‘สุเทพ’ปั่นราคาน้ำมันปาล์ม, ป.ป.ช.ไต่สวน-รวมพยานหลักฐานปมวิกฤติน้ำมันปาล์มยุค“สุเทพ”แล้ว)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกข้อกล่าวหาดังกล่าวของนายสุเทพไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับ ปรากฏว่า ไม่มีการบัญญัติเกี่ยวกับพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปได้ จึงให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้ในช่วงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเดือนมีนาคม 2554 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และฝ่ายค้าน (ขณะนั้น) อภิปรายเรื่องปัญหาน้ำมันปาล์ม โดยชี้ว่าน่าจะมีการสมคบกันเพื่อเอื้อประโยชน์ แม้ว่ารัฐบาลจะทราบว่าน้ำมันปาล์มกำลังขาดตลาด แต่คณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ซึ่งมีนายสุเทพเป็นประธาน ได้อนุมัติน้ำเข้าล่าช้า เหมือนเป็นการดึงเวลาจนทำให้มีผู้ได้รับผลประโยชน์ถึงกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งมีบุคคลใกล้ชิดสุเทพรวมอยู่ด้วย อีกทั้งการนำเข้าน้ำมันปาล์ม 30,000 ตันนั้น มีการกำหนดสเปกนำเข้าที่มีเงื่อนงำ
อย่างไรก็ดีนายสุเทพ รองนายกฯ (ขณะนั้น) ชี้แจงว่า ปัญหาน้ำมันปาล์มดังกล่าวเป็นเพราะคำนวณผลผลิตผิดพลาด เป็นความผิดพลาดไม่มีเจตนา ส่วนกรณีที่นำเข้าน้ำมันปาล์มผิดสเปกนั้น เป็นเพราะประเทศผู้ผลิตไม่ยินยอมให้นำเข้าน้ำมันปาล์มแบบธรรมดาเข้ามา ประเทศไทยจึงต้องน้ำมันปาล์มแบบแยกไขมาผลิตต่อในประเทศ
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยตีตกข้อกล่าวหา กรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ไปแล้ว (ถูกกล่าวหาร่วมกับนายอภิสิทธิ์) และตีตกข้อกล่าวหา กรณีจัดซื้อรถยานเกราะยูเครน เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า กระทำผิดตามข้อกล่าวหา อย่างไรก็ดียังเหลือกรณีการก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน 596 แห่ง ทั่วประเทศ วงเงินกว่า 4 พันล้านบาท ที่ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/