ปัดถูกแทรกแซง! ปธ.ป.ป.ช.ยันไม่ต้องยุบ คตช.-ศอตช.เชื่อเคลียร์คดีเก่าเสร็จทำงานดีขึ้น
ปธ.ป.ป.ช. เผยไม่มีความจำเป็นต้องยุบเลิก คตช.-ศอตช. ตามข้อสังเกตของวงประชุมนานาชาติ ยันไร้การแทรกแซง ปฏิบัติหน้าที่ตาม รธน.-พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยตลอด อยู่ระหว่างบูรณาการร่วมกับ ป.ป.ท.-พนง.สอบสวน เพิ่มประสิทธิภาพไต่สวนคดีให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เชื่อหากเคลียร์คดีค้างเก่าเสร็จแล้ว จะดีขึ้น
จากกรณีวงประชุมประเมินติดตามการปฏิบัติงานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 หรือ UNCAC โดยมีผู้แทนที่เกี่ยวข้องจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม 41 หน่วยงาน ขณะที่ไทยถูกประเมินจากผู้แทนจากอิหร่าน และภูฏาน รวมถึงเลขานุการสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC มีข้อสังเกตว่า ประสิทธิภาพการดำเนินการต่อต้านการทุจริตไทย เนื่องจากมีหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) หรือศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นต้น อาจก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนด้านอำนาจหน้าที่ และส่งผลกระทบต่ออิสระของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ควรดำเนินงานโดยปราศจากอิทธิพลแทรกแซง นอกจากนี้ไม่มีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานพิเศษเพิ่มเติมนั้น (อ่านประกอบ : ต้องไร้อิทธิพลแทรกแซง! วงประชุมต่างชาติชี้ไทยองค์กรปราบโกงเยอะส่งผล ป.ป.ช.ไม่อิสระ)
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2562 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดเห็นของผู้ประเมิน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รายงานความเห็นดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีรับทราบไปแล้ว โดยการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ที่ผ่านมาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ไม่มีการแทรกแซงใด ๆ อย่างที่ถูกตั้งข้อสังเกต
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. จัดตั้งสำนักบริหารงานส่วนกลาง เพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาว่า เรื่องใดเข้าข่ายให้หน่วยงานใดทำหน้าที่ไต่สวน เช่น บางเรื่องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ไต่สวนต่อ หรือบางเรื่องส่งให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ดำเนินการ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทุกเรื่องสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องติดตาม และต้องรู้ความคืบหน้าในการดำเนินการทั้งหมด นี่คือการบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการทุจริต
ส่วนกรณีผู้ประเมินเห็นว่า ไทยมีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานพิเศษอย่าง คตช. หรือ ศอตช. หรือไม่นั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ยังจำเป็นต้องมีอยู่ เพราะเป็นหน่วยงานที่ร่วมกันบูรณาการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และบางหน่วยงานมีข้อจำกัด เช่น ป.ป.ท. บุคลากรมีจำกัด แต่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการบูรณาการร่วมกัน ขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ผ่องถ่ายงานให้กับพนักงานสอบสวนไปดำเนินการมากขึ้น ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 61 และ 63
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวด้วยว่า ปัญหาตอนนี้ของ ป.ป.ช. มีเรื่องร้องเรียนค้างเก่าจำนวนมาก แต่จะพยายามทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ตามกรอบการทำงานที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. หากเคลียร์งานค้างเก่าเหล่านี้เสร็จแล้ว การทำงานในเรื่องใหม่ ๆ จะมีประสิทธิภาพ และยกระดับประสิทธิภาพในการปราบปรามการทุจริตมากยิ่งขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.ต.อ.วัชรพล จาก isohotnews