ต้องไร้อิทธิพลแทรกแซง! วงประชุมต่างชาติชี้ไทยองค์กรปราบโกงเยอะส่งผล ป.ป.ช.ไม่อิสระ
อิหร่าน-ภูฏาน-เลขาฯ สนง.ยาเสพติดและอาชญากรรมสหประชาชาติ ชี้ไทยมีองค์กรปราบทุจริตซ้ำซ้อนหลายหน่วยงาน ส่งผลถึงอิสระในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ควรดำเนินงานโดยไร้อิทธิพล-ถูกแทรกแซง ชี้ไม่มีความจำเป็นต้องมี คตช.-ศอตช.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือลงนามโดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ถึงคณะรัฐมนตรี รายงานผลการประชุมประเมินติดตามการปฏิบัติงานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 หรือ UNCAC เมื่อช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนที่เกี่ยวข้องจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วมจำนวน 41 หน่วยงานชี้แจง และนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม
ทั้งนี้ไทยได้รับการประเมินติดตามจากสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และราชอาณาจักรภูฏาน รวมถึงมีเลขานุการสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ร่วมประเมินด้วย ผลการประเมินเบื้องต้น ระบุว่า กฎหมายและการดำเนินการของไทยมีความสอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าวเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดีฝ่ายรัฐผู้ประเมิน และ UNODC มีข้อสังเกตตอนหนึ่งว่า องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดและกำกับนโยบายป้องกันการทุจริตของไทยไม่ควรมีความซ้ำซ้อน และ UNODC เห็นว่า นโยบายป้องกันการทุจริตของประเทศที่ดีควรริเริ่มและพัฒนามาจากการถอดบทเรียนจากการปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะคดีทุจริตระดับชาติ เพื่อให้นโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตมีความสอดคล้องเหมาะสมและส่งเสริมซึ่งกันและกัน
การจัดตั้งหน่วยงานด้านการป้องกันการทุจริตของไทย รัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ด้านการป้องกันและด้านการปราบปรามการทุจริต อย่างไรก็ดีในช่วงปฏิรูปประเทศ มีการจัดตั้งหน่วยงานของฝ่ายบริหารเพื่อป้องกันการทุจริตเพิ่มเติม ได้แก่ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) มีอำนาจหน้าที่ในการประสานและติดตามผลการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางและประสานการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
ประเด็นการจัดตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานข้างต้น ผู้ประเมินจาก UNODC มีข้อสังเกตเกี่ยวกับประสิทธิภาพการดำเนินการต่อต้านการทุจริตของไทย เนื่องจากการมีหน่วยงานต่อต้านการทุจริตหลายหน่วยงานอาจก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนด้านอำนาจและหน้าที่ และอาจส่งผลกระทบต่ออิสระของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งควรดำเนินงานโดยปราศจากอิทธิพลและการแทรกแซงใด ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและเป็นไปตามหลักสากล
ทั้งนี้การบูรณาการการทำงานระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. และรัฐบาลเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตสามารถดำเนินการร่วมกันได้เป็นอย่างดี ตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) จึงอาจไม่มีความจำเป็นในการกำหนดหน่วยงานพิเศษเพิ่มเติม (ดูเอกสารประกอบ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/