ผ่าปมปัญหาจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ฯ โครงการเก่าโชยกลิ่น1.6หมื่นล.-มท.รับเต็ม 4.4พันล.
"...หากพิจารณาไส้ในการจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามที่ระบุไปทั้งหมดว่า จะพบว่ากระบวนการทำงานมีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะขั้นตอนการเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ที่อยู่ภายใต้อำนาจของคนบางกลุ่ม ที่เข้ามาทำหน้าที่ค่อยบ่งการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานตนเอง และพวกพ้องมาหลายยุคหลายสมัย ดังนั้น หากจะให้การทำงานของกองทุนฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การหยุดพิจารณาอนุมัติงบประมาณออกไปอย่างน้อย 2ปี เพื่อไปเคลียร์งานโครงการเก่าที่มีปัญหาอยู่ให้เสร็จก่อน และวางระบบการดำเนินงานใหม่ทั้งหมด..."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่มี พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2562 ที่ผ่านมา มีโครงการที่ถูกนำเสนอเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ รวมจำนวน 1,728 โครงการ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 38,285,438,276 บาท แต่มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 400 โครงการ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 6,386,875,816 บาทโดย กระทรวงมหาดไทย ได้รับงบประมาณสนับสนุนไปมากที่สุด จำนวน 234 โครงการ คิดเป็นเงิน 1,940,363,606 บาท รองลงมา คือ อุดมศึกษา จำนวน 32 โครงการ คิดเป็นเงิน 951,312,821 บาท และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 40 โครงการ คิดเป็นเงิน 704,553,086 บาท (อ่านประกอบ : ชัดๆ ตัวเลขจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯรอบสอง 6.3พันล. มท.ได้มากสุด 234 โครงการ 1.9 พันล.)
แต่สาธารณชนอาจจะยังไม่ทราบว่า โครงการที่หน่วยงานต่างๆ ทำเรื่องเสนอขอสนับสนุนงบประมาณเข้ามามีรายละเอียด และข้อสังเกตสำคัญอย่างไรบ้าง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงพลังงานว่า โครงการที่หน่วยงานต่างๆ เขียนมาขออนุมัติสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานรอบล่าสุดนี้ ภาพรวมยังเป็นโครงการที่มีลักษณะการอนุรักษ์พลังงานเหมือนเช่นทุกครั้ง
โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทย โครงการที่นำเสนอเข้ามาส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับภารกิจงานสูบน้ำเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร ส่วนอุดมศึกษา เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัย ส่วนกรมเจ้าท่า และกระทรวงกลาโหม เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ เพื่อประหยัดพลังงานตามจุดต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัด ขณะที่โครงการในส่วนของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ก็ยังคงเป็นโครงการอนุรักษ์พลังงาน ที่ต้องมีการดำเนินงานผ่านที่ปรึกษาเช่นเดิม
อย่างไรก็ดี หากโฟกัสไปที่กรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติไปล่าสุด จะพบว่า ในการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรไปมากที่สุด คือ กระทรวงมหาดไทย เพราะนอกจากจะได้รับการจัดสรรงบประมาณในส่วนของงานภารกิจสูบน้ำเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร จำนวน 234 โครงการ คิดเป็นเงิน 1,940,363,606 บาทแล้ว ยังได้รับการจัดสรรเงินกรอบวงเงินอีก 2,500 ล้านบาท เพื่อนำไปส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ดำเนินการสร้างระบบคัดแยกขยะชุมชนครบวงจร สำหรับนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพด้วย
นับรวมวงเงินทั้ง 2 ส่วน สูงกว่า 4.4 พันล้านบาท เลยทีเดียว
แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ งานสร้างระบบคัดแยกขยะชุมชนครบวงจร สำหรับนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพ ที่ได้รับกรอบวงเงินจำนวนกว่า 2,500 ล้านบาทดังกล่าว เป็นครั้งแรกที่ถูกนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ แต่ไม่ค่อยมีรายละเอียดประกอบอะไรมากนัก และเป็นการเสนอเข้ามาในวาระจร โดยอ้างอิงมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานส่วนนี้ด้วย แต่ที่ประชุมก็ยังเห็นชอบตั้งกรอบวงเงินงบประมาณให้
จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า อาจมีผู้อำนาจบางรายอยู่เบื้องหลังผลักดันให้ อปท.ทำโครงการลักษณะนี้
นอกจากนี้ ในส่วนโครงการที่ถูกปฎิเสธการสนับสนุนงบประมาณในรอบนี้ เพราะมีรายละเอียดไม่ครบถ้วนตามที่เป็นข่าวไปแล้ว นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า จะถูกปฏิเสธไปเลย เพราะในข้อเท็จจริงการอนุมัติงบประมาณของประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่มี พล.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน เป็นการอนุมัติกรอบวงเงินเท่านั้น เพราะโครงการและกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว จะมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะทำงานกลั่นกรอง ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติคัดเลือกโครงการเป็นทางการอีกครั้ง ก่อนส่งเรื่องกลับไปให้ คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งโครงการที่ได้รับความเห็นชอบไป อาจจะถูกตัดหรือเพิ่มวงเงินงบประมาณให้ก็ได้ เพราะล่าสุดมีการแจ้งเวียนหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า สำหรับโครงการที่มีปัญหาในเรื่องการจัดทำรายละเอียดไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ก็สามารถที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอนุมัติงบประมาณให้ใหม่ได้ หากเป็นโครงการที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีหน่วยงานบางแห่ง เตรียมที่จะกลับเข้าไปผลักดันโครงการของหน่วยงานตนเองที่ถูกตัดตกไปแล้ว ให้กลับมาได้รับอนุมัติใหม่ โดยอาศัยช่องทางคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่คนในหน่วยงานตนเอง เข้าไปร่วมนั่งเป็นกรรมการพิจารณารายละเอียดโครงการด้วย ซึ่งตั้งข้อสังเกตเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน กรณีคนชงเรื่องขออนุมัติโครงการ เข้าไปนั่งไปคนพิจารณากลั่นกรองโครงการเอง มานานมากแล้ว
อย่างไรก็ดี เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการจัดสรรงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ คือ ผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พลังงานเก่าได้รับอนุมัติงบประมาณไปแล้ว ของ 2หน่วยงานใหญ่ นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึง2561 รวมวงเงินกว่า 1.6 หมื่นล้าน ที่ล่าสุดยังปิดโครงการไม่ได้ และยังมีข้อสังเกตในขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดสรุปผลการดำเนินงาน ที่ส่อว่าจะมีลักษณะการปั้นตัวเลข ไม่อนุรักษ์พลังงานได้จริง แต่ในการขออนุมัติงบประมาณรอบใหม่ ทั้ง 2 หน่วยงาน กลับนำเสนอโครงการแบบเดิมเข้ามาให้พิจารณาอีก และที่ประชุมก็ยังเห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณใหม่ไปให้ด้วย
จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสมตามมาอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่า ถ้าหากมีการเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานในส่วนโครงการเก่า ที่ยังค้างอยู่วงเงินกว่า 1.6 หมื่นล้านบาทดังกล่าว จะพบปัญหาซ่อนอยู่ใต้พรมจำนวนมาก และจะต้องมีคนรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจำนวนมากเช่นกันด้วย
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ยังระบุทิ้งท้ายด้วยว่า "หากพิจารณาไส้ในการจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามที่ระบุไปทั้งหมดว่า จะพบว่ากระบวนการทำงานมีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะขั้นตอนการเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ที่อยู่ภายใต้อำนาจของคนบางกลุ่ม ที่เข้ามาทำหน้าที่ค่อยบ่งการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานตนเอง และพวกพ้องมาหลายยุคหลายสมัย"
"ดังนั้น หากจะให้การทำงานของกองทุนฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การหยุดพิจารณาอนุมัติงบประมาณออกไปอย่างน้อย 2ปี เพื่อไปเคลียร์งานโครงการเก่าที่มีปัญหาอยู่ให้เสร็จก่อน และวางระบบการดำเนินงานใหม่ทั้งหมด พร้อมเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบ และมีส่วนเข้าไปร่วมตรวจสอบกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนด้วย ซึ่งถ้าไม่ทำแบบนี้ ปัญหากองทุนฯ ก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้จบสิ้นแบบนี้"
ทั้งหมดนี่ คือ ภาพรวมปัญหาการจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน วงเงินนับหมื่นล้านบาท ที่มาจากเงินภาษีประชาชน ที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลล่าสุด ส่วนข้อเสนอเรื่องการหยุดพักการจัดสรรเงินเป็นระยะเวลา 2ปี เพื่อเคลียร์งานโครงการเก่า และจัดระบบโครงสร้างการบริหารงานกองทุนฯ ใหม่ จะได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลหรือไม่ คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ชัดๆ ตัวเลขจัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯรอบสอง 6.3พันล. มท.ได้มากสุด 234 โครงการ 1.9 พันล.
จัดงบกองทุนอนุรักษ์ฯรอบ2 มท.ได้เพียบ2.5พันล.-ส่วนงานสาธิตเปลี่ยนหลอดไฟ-แอร์ โดนตีกลับ
ถึงคิว! เปิดตัวบ.ทำงานที่ปรึกษาแอร์ประหยัดไฟพันล.สัญญาม.เกษตรฯ- เคยรับจ้างพพ.เพียบ
เปิดตัวผู้เชี่ยวชาญสอท.รับงานที่ปรึกษาแอร์ประหยัดไฟพันล.-บางรายยันไม่รู้เรื่อง?
ฉบับเต็ม! ผลสอบสตง.ชำแหละแอร์ประหยัดไฟพันล. ว่าด้วยปมเอื้อปย.จ้างที่ปรึกษา
เปิดปมใหม่! โครงการปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟพันล. สตง.พบข้อสังเกตเอื้อปย.จ้างที่ปรึกษา
ติดตั้งครบ30ตัวไม่เย็นเครื่องเดียว! ศูนย์วิจัยข้าวโพดฯ สรุปผลเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟส่งพพ.
เช็คสถานะโครงการเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ 1.2 พันล. หลัง สตง.สั่งสอบ พพ.ทำอะไรบ้าง?
ฉบับเต็ม! สตง.สั่งพพ.สอบเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ1.2 พันล.-ซัยโจเด็นกิฯ ได้งาน 4สัญญารวด
เผยชื่อ บ.ซัยโจเด็นกิฯ คู่สัญญา พพ. เปลี่ยนแอร์1.2พันล.-ผู้บริหารขอตรวจสอบข้อมูลก่อน
สตง.สั่งสอบโครงการเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ 1.2 พันล.-เจอเครื่องติดตั้งมีปัญหา ส่งมอบงานล่าช้า
ฉบับเต็ม! สตง.สั่งพพ.สอบเปลี่ยนแอร์ประหยัดไฟ1.2 พันล.-ซัยโจเด็นกิฯ ได้งาน 4สัญญารวด